Skip to main content
sharethis

โฆษก กมธ.งบประมาณ 2566 เผยภาพรวมพิจารณาแล้ว 48% ตามความคืบหน้าอาเซียนเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ไทยจัดทำแนวทางสร้างสนามความจุ 8 หมื่นที่นั่งใน 'ชลบุรี-สมุทรปราการ' - อนุ กมธ.งบฯ 'เพื่อไทย' เสนอ 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นมหานครทางเศรษฐกิจของโลกมุสลิม เปลี่ยนภาพความรุนแรงเป็นเมืองเศรษฐกิจ พร้อมฝาก ศอ.บต-กระทรวงศึกษา-กรมศิลปกร จัดงบบูรณาการเพิ่มศักยภาพพื้นที่

เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2565 ว่า นพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ นางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนาและ นายเขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ร่วมแถลงว่าการพิจารณางบประมาณมีความคืบหน้าแล้วกว่าร้อยละ 44 ของจำนวนหน่วยงานทั้งหมด ขณะเดียวกันกรรมาธิการต้องการทราบความคืบหน้าการเตรียมพร้อมในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดร่วมจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกของประเทศในอาเซียนโดยมีอธิบดีกรมพลศึกษา ชี้แจงว่าในการประชุม SOMS (ซอม) ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ไทยได้นำเสนอถึงการเป็นเจ้าภาพดังกล่าวในปี ค.ศ.2034และที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนเห็นชอบตามที่ SOMS เสนอพร้อมตั้งคณะทำงานร่วมที่ประกอบด้วยผู้แทนอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์เวียดนาม และมีไทยเป็นหัวหน้าคณะทำงานแต่ต่อมาเกิดสถานการณ์โควิด-19 อย่างไรก็ตาม ตามเกณฑ์ด้านความพร้อมการแข่งขันต้องมีจำนวนสนามแข่งขันไม่น้อยกว่า12-16 สนาม ความจุรอบแรกไม่น้อยกว่า 4 หมื่นที่นั่ง รอบ Semi final ไม่น้อยกว่า 6 หมื่นที่นั่ง รอบชิงชนะเลิศไม่น้อยกว่า 8 หมื่นที่นั่ง แต่เมื่อวิเคราะห์แล้วไทยยังมีจุดอ่อนในเรื่องดังกล่าวเนื่องจากมีสนามราชมังคลากีฬาสถานเพียงแห่งเดียวที่มีความจุเกิน 4 หมื่นที่นั่ง ขณะเดียวกันไทยมี2 ทางเลือกในการเสนอสร้างสนามขนาด 8 หมื่นที่นั่ง ด้วยการสร้างศูนย์กีฬา EECของการกีฬาแห่งประเทศไทย ที่ จ.ชลบุรีหรือที่ตั้งแห่งใหม่ของกรมพลศึกษา ที่ จ.สมุทรปราการ หรือใช้สนามแข่งขันที่มีอยู่และเพิ่มเติมในลักษณะชั่วคราวในรูปแบบน็อคดาวน์เช่นเดียวกับสนามของประเทศกาตาร์ โดยสนามดังกล่าวต้องมีความพร้อมด้านโรงแรมที่พักและการคมนาคม ตามมาตรฐานของ FIFA ทั้งนี้คณะทำงานจะหารือร่วมกับสหพันธ์ฟุตบอลอาเซียน และสหพันธ์ฟุตบอลเอเชียแต่สิ่งสำคัญจะต้องพิจารณาเลือกอีก 1 ประเทศเป็นเจ้าภาพร่วมโดยจะพิจารณาจากสิงคโปร์ หรือเวียดนาม ส่วนประเทศสมาชิกอื่นจะจัดทำข้อมูลเพื่อเสนอให้ประเทศต่าง ๆ พิจารณาเลือกใช้เป็นสนามเก็บตัวฝึกซ้อมก่อนการแข่งขันต่อไป

ตั้งข้อสังเกตต่อผู้ว่าฯ กทม. ห่วงกรณีมีผู้เลี่ยงภาษีที่ดิน ด้วยการปลูกพืชแม้อยู่ใจกลางเมือง

โฆษกคณะกรรมาธิการฯ ยังระบุว่าได้มีการตั้งข้อสังเกตในการพิจารณางบประมาณของ กทม.โดยห่วงการจัดเก็บภาษีที่ดินที่มีผู้หลบเลี่ยงด้วยการปลูกพืช อาทิ บริเวณถนนประชาชื่นเจ้าของที่ดินปลูกกล้วย ปลูกมะนาวจำนวนมากใจกลางเมือง ซึ่งได้รับการตอบชี้แจงจากผู้ว่าราชการกทม. ว่า กทม. ไม่มีอำนาจในการวินิจฉัยที่ดินปลูกต้นไม้เพื่อการเกษตรหรือไม่ แต่อำนาจของกทม.ที่มีอยู่ไม่มาก คือการปรับเพดานภาษี ซึ่งตามกฎหมายกำหนดเพดานการเก็บภาษีทางการเกษตรสูงสุดอยู่ที่ร้อยละ0.15 ขณะที่ปัจจุบัน กทม.ประกาศจัดเก็บไว้เพียงร้อยละ0.05  ดังนั้นหาก กทม.จะเก็บภาษีในส่วนดังกล่าว อาจมีการประกาศจัดเก็บในอัตราสูงสุดร้อยละ 0.15 กับกรณีทำการเกษตรในพื้นที่พาณิชย์สีแดง  โดยจะมีการพิจารณาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกทม. จัดเก็บภาษีเป็นขั้นบันได จึงเกรงว่าหากกำหนดแนวทางดังกล่าว อาจกระทบกับเกษตรกรตัวจริงที่อยู่ในพื้นที่เขตมีนบุรีหนองจอกทั้งนี้ ผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่าหากเจ้าของที่ดินไม่ต้องการปลูกพืชเพื่อเลี่ยงภาษี สามารถมอบพื้นที่ให้กับกทม.เพื่อจัดทำเป็นสวนสาธารณะในระยะเวลา 10 ปีได้ เพื่อไม่ต้องเสียภาษีที่ดิน

โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กล่าวต่อไปว่า ผู้ว่าฯ กทม. ได้ตอบชี้แจงถึงปัญหาการขาดแคลนอาสาสมัครสาธารณสุข กทม. (อสส.) ปัจุบัน กทม. มี อสส.กว่า 1 หมื่นคน ทั้งที่ควรมีกว่า 4 หมื่นคน ทำให้หน่วยงานมีแนวคิดที่จะขอความร่วมมือจากนิติบุคคลคอนโดต่างๆ เพื่อจัดตั้งอาสาสมัครที่ไม่มีค่าตอบแทนด้วย

อนุ กมธ.งบฯ 'เพื่อไทย' เสนอ 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นมหานครทางเศรษฐกิจของโลกมุสลิม

10 ก.ค. 2565 ทีมสื่อพรรคเพื่อไทยรายงานว่านายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล คณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย ในฐานะที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) แผนงานบูรณาการ 2 ในคณะกมธ.วิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 กล่าวว่า ในการประชุมคณะอนุกมธ.ฯ ได้มีการตั้งข้อสังเกต และข้อแนะนำให้แต่ละหน่วยงานที่มาชี้แจง โดยเฉพาะศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) เกี่ยวกับการนำงบประมาณลงไปบูรณาการการทำงานร่วมกันในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยกมธ.เห็นว่า พื้นที่ “ปัตยะรา” (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) ยังเป็นมหานครแห่งโอกาสและความหวัง เป็นประตูเศรษฐกิจสู่อาณาจักรมุสลิมที่มีกำลังซื้อมหาศาล เป็นมหานครฮาลาลที่มีอนาคตที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย เพียงแต่ต้องเข้าใจ และเปลี่ยนเป็นการนำทางด้วยเศรษฐกิจ และการพัฒนา โปรดอย่ามองด้วยสายตาว่าในพื้นที่นี้แข็งกระด้างและรุนแรง ซึ่งพี่น้องในปัตยะราทุกคนต่างต้องการการอยู่ดีกินดี มีอาชีพที่มั่นคง ทั้งนี้ ตนฝากนายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พัฒนาการศึกษาเพื่อการมีงานทำ และการศึกษาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ โดยขอให้ปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับการนำศักยภาพทรัพยากรธรรมชาติของพื้นที่ สู่การสร้างรายได้ที่มั่นคง ยั่งยืน พร้อมขอฝากกรมศิลปากรและกรมโยธา ช่วยพัฒนาการออกแบบสถาปัตยกรรมโครงสร้างพื้นฐานของเมืองให้มีกลิ่นอายของมรดกวัฒนธรรมถิ่น ในหลัก 8 วิถี 9 วัฒนธรรม ที่เคยวางเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาศิลปะวัฒนธรรมให้กับกระทรวง โดย 8 วิถี softpower ประกอบด้วย 1.อาหาร 2.แฟชั่น เครื่องประดับ เครื่องแต่งกาย 3.สถาปัตยกรรมและที่อยู่อาศัย 4.ข้าวของเครื่องใข้ของตกแต่งบ้าน 5.ภาษา 6.ศิลปวัฒนธรรม 7.ดนตรีและบันเทิง และ 8.ความเชื่อความเป็นมงคล ขอเพียงตั้งใจหยิบมาดำเนินการ มหานครปัตยะราจะเปลี่ยนเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สวยงามที่สุดที่จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวมุสลิมจากทั่วโลกจะมาเยือน ด้วยศิลปะ ภาษา วัฒนธรรมที่สอดคล้องและที่สำคัญ การผสานกับ Hospitality’s การต้อนรับขับสู้แบบคนไทยที่ประทับใจคนทั้งโลก

นายวรวัจน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ในดินแดนที่น้ำฟ้าฝนอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเกษตรและผลไม้ที่สำคัญเพื่อการส่งออกสู่โลกมุสลิมถ้า ศอ.บต สามารถยกระดับการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ โดยเฉพาะ Cryogenic หรือการเยือกแข็งด้วยไนโตรเจนที่สามารถคงความสดใหม่ของผลไม้ เช่น ลองกอง ทุเรียน และอาหารทะเล โดยมีโครงการ นวัตภัตรา (การนำนวัตกรรมมาพัฒนาอาหารสู่การส่งออก) ที่จังหวัดแพร่เป็นแนวทางให้ศึกษาดูงานเพื่อการพัฒนา ยังมีอีกหลายประการที่อนุกมธ.ฯฝากข้อสังเกตไว้ หาก ศอ.บตรับเป็นเจ้าภาพบูรณาการอย่างจริงใจ ตนเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่กำลังจะมาถึง อย่างไรก็ตาม พวกเราเป็นกำลังใจให้กับศอ.บต และหน่วยงานบูรณาการทุกหน่วยให้ทำงานร่วมกัน โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาศักยภาพของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ให้เป็นมหานครทางเศรษฐกิจของโลกมุสลิม เปลี่ยนภาพความรุนแรง เป็นภาพแห่งการพัฒนาโดยมีเศรษฐกิจเป็นธงนำ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net