Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการโอลิมปิกสากลปรับแนวทางพิจารณาให้คนข้ามเพศร่วมแข่งขันกีฬาในระดับอาชีพ โดยระบุว่าเป็นการปรับปรุง "ครั้งสำคัญ" ที่จะ "รักษา" ความเที่ยงธรรมในการแข่งขัน และแก้ข้อจำกัดระดับของเทสโทสเตอโรนที่ไม่เพียงปิดกั้นคนข้ามเพศแต่ยังปิดกั้นผู้หญิงที่ตรงตามเพศกำเนิดด้วย

คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ประกาศปรับปรุงแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการให้คนข้ามเพศ (transgender) เข้าร่วมแข่งขันกีฬาเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา (18 ธ.ค. 2565) โดยให้หน่วยงานจัดการของกีฬาประเภทบุคคลของกีฬาแต่ละชนิดกำหนดหลักเกณฑ์การให้คนข้ามเพศเข้าร่วมการแข่งขันโดยคำนึงถึงทั้งความหลากหลายและความเที่ยงธรรม จากเดิมที่พิจารณาแต่ข้อจำกัดฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนอย่างเดียวเท่านั้น

ก่อนหน้านี้กฎเกณฑ์เดิมของ IOC ที่ใช้มากว่า 17 ปีที่ใช้การจำกัดระดับของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนสำหรับนักกีฬาหญิงทำให้เกิดข้อถกเถียงเพราะเป็นนโยบายที่สร้างปัญหาให้แม้แต่ผู้หญิงตามเพศกำเนิด (cisgender women) ที่มีฮอร์โมนสูงแต่กำเนิดบางคนต้องถูกแบนจากการแข่งขันกีฬาหญิงไปด้วย เช่นกรณีของ คริสทีน มโบมา และ เบียทริซ มาซิลลิงกิ ที่ถูกแบนจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวปี 2564

ทาง IOC เคยประกาศว่าจะเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์นี้มาตั้งแต่ปลายปี 2564 แล้ว หลังจากมีการปรึกษาหารือกับทั้งนักกีฬาที่มีเพศสภาพตรงตามเพศกำเนิดและนักกีฬาที่เป็นคนข้ามเพศนานถึง 2 ปี ทางคณะกรรมการสรุปไว้ในตอนนั้นว่านโยบายเดิมที่ใช้การจำกัดระดับเทสโทสเตอโรนจะทำให้นักกีฬาหญิงทุกคนเสี่ยงต่อการถูกบังคับให้ต้อง "พิสูจน์" เพศของตัวเอง

สื่อพิงค์นิวส์ระบุว่า การตัดสินใจเช่นนี้ของ IOC เท่ากับเป็นการยอมรับว่าไม่ควรจะมีการทึกทักเอาเองว่าผู้หญิงข้ามเพศมีข้อได้เปรียบโดยปริยายเมื่อมีการแข่งขันกีฬากับผู้หญิงตรงตามเพศกำเนิด

แนวปฏิบัติเดิมของ IOC เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์จากอดีตนักกีฬาว่ายน้ำหญิงอย่าง ชาร์รอน ดาวีส์ และนักปั่นจักรยานหญิง นิโคล คุก พวกเธอวิจารณ์ว่าแนวปฏิบัติของ IOC นอกจากจะทึกทักเอาเองว่าหญิงข้ามเพศมีข้อได้เปรียบโดยปริยายแล้ว ยังเป็นแนวทางนโยบายที่ไม่มีรายละเอียดมากพอด้วย

IOC ระบุว่าการปรับปรุงในเรื่องนี้ถือเป็นการปรับปรุง "ครั้งสำคัญ" ต่อแนวทางปฏิบัติของพวกเขา โดยคำนึงถึงการไม่กีดกันนักกีฬาที่เป็นคนข้ามเพศ ไปพร้อมๆ กับการคำนึงถึง "ความเที่ยงธรรมกับผู้หญิง" ในเรื่องการแข่งขันกีฬา นอกจากนี้ยังให้ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์, การแพทย์ และสิทธิมนุษยชน มีส่วนร่วมในการวางเกณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับเรื่องนี้ด้วย

ยานนิส พิตสิลาดิส ผู้ร่วมเขียนแถลงการณ์ถึงการปรับปรุงแนวทางปฏิบัติครั้งล่าสุดนี้ว่า การปรับปรุงแนวทางปฏิบัติในเรื่องนี้ถือเป็น "พัฒนาการที่สร้างสรรค์" โดยที่พิตสิลาดิส ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมาธิการด้านการแพทย์และวิทยาศาสตรของ IOC ด้วย

พิตสิลาดิสบอกว่าความสำเร็จหลักๆ ของเรื่องนี้มาจากการที่แนวปฏิบัตินี้ได้รวบรวมเอาทั้งหลักการด้านวิทยาศาสตร์, การแพทย์, กฎหมาย และสิทธิมนุษยชน เข้าไว้ด้วยกัน และถึงแม้จะยังเป็นแค่จุดเริ่มต้น แต่พวกเขาก็หวังว่าองค์กรกีฬาระดับนานาชาติจะพัฒนานโยบายของตัวเองในแบบที่เน้นมีหลักฐานที่พิสูจน์ได้ ความเที่ยงธรรม และการคำนึงถึงอย่างครอบคลุมความหลากหลายให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

รายงานของ IOC ที่มีการหารือกับแพทย์และนักวิทยาศาสตร์มาแล้ว ระบุว่า ถึงแม้ว่าพวกเขาจะเล็งเห็นว่า "ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนอาจจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อสมรรถภาพของนักกีฬาชั้นแนวหน้าในกีฬาบางประเภท" แต่การพิจารณาแค่จากฮอร์โมนนี้อย่างเดียวก็นับว่าหยาบเกินไป ในการตัดสินคุณสมบัติในการเข้าแข่งขัน

รายงานยังระบุอีกว่า แทนที่จะใช้วิธีตัดสินแค่ระดับฮอร์โมน IOC ยังแนะนำว่าควรจะอาศัยข้อมูลที่มาจากกลุ่มนักกีฬาในแต่ละประเภทแยกกันไป และคำนึงถึงว่ากีฬาแต่ละประเภทมีความต้องการความสามารถเฉพาะในรูปแบบใดบ้าง เช่น กรณีของฟุตบอลระดับอาชีพของออสเตรเลียนั้น มีนโยบายการพิจารณาให้คนข้ามเพศเข้าร่วมตามเพศสภาพได้ โดยจะต้องอาศัยการพิจารณาจากคุณสมบัติอย่าง ความสูง, น้ำหนัก, สมรรถนะในการยกน้ำหนักท่าเบนช์เพรส (Bench Press) และท่าสควอด (squad)

กีฬาโอลิมปิคที่กรุงโตเกียวครั้งที่ผ่านมานับเป็นประวัติศาสตร์สำหรับคนข้ามเพศในวงการกีฬา เพราะเป็นครั้งแรกที่มีนักกีฬาโอลิมปิกที่เป็นคนข้ามเพศอย่างเปิดเผย คือนักยกน้ำหนักชาวนิวซีแลนด์ ลอเรล ฮับบาร์ด นอกจากนี้ยังมีนักฟุตบอลแคนาดาที่ชื่อ ควินน์ เป็นคนข้ามเพศคนแรกที่ได้รับเหรียญทองในกีฬาโอลิมปิกด้วย


 

เรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net