Skip to main content
sharethis

กพท.เปิดข้อกำหนด 7 ข้อต่างชาติบินเข้าไทยเริ่มตั้งแต่ 9-31 ม.ค.นี้ ผู้โดยสารอายุมากกว่า 18 ปีต้องแสดงการรับวัคซีน 2 เข็ม หากเคยติดโควิด-19 ต้องไม่เกิน 6 เดือน มีประกันสุขภาพ - พบสายพันธุ์ XAY.2 ลูกผสมเดลตา-โอไมครอนในไทย แจงไม่รุนแรงกว่าเดิมแค่แพร่เชื้อเร็ว

7 ม.ค. 2566 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.รกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า เมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมาว่าสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ออกประกาศ ข้อกำหนดในการเข้าประเทศไทยสำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ มีรายละเอียดดังนี้ 7 ข้อดังนี้ 

1. ผู้โดยสารอายุมากกว่า 18 ปีต้องแสดงข้อมูลการได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม หรือจดหมายจากแพทย์ที่รับรองว่าหายจากโรคโควิด-19 แล้วไม่เกิน 6 เดือน (180 วัน)​ ส่วนผู้โดยสารที่ไม่ได้รับวัคซีนต้องมีจดหมายจากแพทย์พร้อมแสดงเหตุผล

2. ผู้โดยสารที่มาจากประเทศที่มีมาตรการป้องกันไม่ให้ผู้ที่ติดโควิด-19 เดินทางกลับเข้าประเทศ จะต้องมีประกันสุขภาพครอบคลุมการรักษาโควิดตลอดช่วงระยะเวลาเดินทางในประเทศไทยและบวกเพิ่มอีก 7 วัน สำหรับผู้มาประกอบภารกิจรวมถึงลูกเรืออาจจะใช้หนังสือรับรองจากหน่วยงานเจ้าภาพรับรองแทน

3. ผู้โดยสารที่ถือพาสปอร์ตไทย ได้รับการยกเว้นในการตรวจสอบเอกสารการได้รับวัคซีนและเอกสารประกันสุขภาพ

4. ผู้โดยสารที่เปลี่ยนเครื่อง หรือต่อเครื่องได้รับการยกเว้นจากการตรวจสอบเอกสารการได้รับวัคซีนและเอกสารประกันสุขภาพ โดยผู้โดยสารเหล่านี้ต้องปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดของประเทศปลายทาง

5. สายการบินต้องตรวจสอบเอกสารตามที่กล่าวมา ถ้าผู้โดยสารไม่สามารถแสดงเอกสารเหล่านี้ได้สายการบินจะต้องปฏิเสธไม่ให้ผู้โดยสารเดินทาง

6. สายการบินต้องยึดตามข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องและปฏิบัติตามคู่มือแนวทางตามความเหมาะสม เช่น ขอให้ผู้โดยสารสวมใส่หน้ากากตลอดการเดินทาง ยกเว้นช่วงรับประทานอาหาร หรือในภาวะฉุกเฉิน

7. ผู้โดยสารที่มีอาการของโรคโควิด-19 ระหว่างการเดินทาง จะได้รับการแนะนำให้ทำการตรวจการติดเชื้อเมื่อเดินทางมาถึงจุดหมาย

ข้อปฏิบัติดังกล่าว เริ่มใช้วันที่ 9 ม.ค.นี้ ตั้งแต่เวลา 01.00 น. ถึงวันที่ 31 ม.ค.นี้ เวลา 16.59 น.

พบสายพันธุ์ XAY.2 ลูกผสมเดลตา-โอไมครอนในไทย

เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2566 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ในประเทศไทย ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับเครือข่ายตรวจพบสายพันธุ์ XAY.2 จำนวน 1 ราย ในไทย ซึ่งกรมส่งข้อมูลเผยแพร่ไปยังฐานข้อมูล GISAID ทั้งนี้ สายพันธุ์ XAY.2 เป็นลูกผสมระหว่างเดลตาสายพันธุ์ย่อย AY.45 กับโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4/5 ขณะนี้ทั่วโลกพบ 344 ราย อย่างไรก็ตาม คนที่อยู่ใกล้ชิดยังไม่พบการติดเชื้อ

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่อถึงกรณีที่จีนจะเปิดประเทศว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังสายพันธุ์ที่ระบาดในจีน พบว่า 97% เป็นสายพันธุ์ BA.5.2 และสายพันธุ์ BF.7 ซึ่งไม่ได้เป็นสายพันธุ์ใหม่แต่อย่างใด และไม่ได้มีการแพร่เร็วกว่าสายพันธุ์ในประเทศไทย ดังนั้น จึงไม่น่ากังวล

สำหรับสายพันธุ์ XBB.1.5 ที่มีการระบาดอย่างรวดเร็วในสหรัฐอเมริกา จากการเฝ้าระวังยังไม่พบในประเทศไทย โดยสายพันธุ์หลักที่พบในประเทศไทยขณะนี้เป็นสายพันธุ์ย่อยโอไมครอน BN.1.3 ซึ่งเป็นลูกหลานของ BA.2.75 ซึ่งข้อมูลความสามารถในการหลบภูมิและแพร่เร็ว ใกล้เคียงกับ XBB.1.5

“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับเครือข่าย ยังคงเฝ้าระวังติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง การปฏิบัติตนเพื่อการป้องกันโรค การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือ รวมถึงการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ยังจำเป็น โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายนานเกิน 4 เดือน ขอให้มารับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้น สามารถลดโอกาสติดเชื้อ และลดอาการรุนแรงเมื่อมีการติดเชื้อได้” นพ.ศุภกิจ กล่าวทิ้งท้าย

แจงโควิดสายพันธุ์ XAY.2 ไม่รุนแรงกว่าเดิม แค่แพร่เชื้อเร็ว

นพ.ศุภกิจ ยังกล่าวถึงกรณีการพบสายพันธุ์โควิด-19 ชื่อ XAY.2 ว่าปัจจุบันพบสายพันธุ์นี้รวม 344 คน จากทั่วโลกทั้งในยุโรปและหลายประเทศ ส่วนไทยพบ 1 คน ซึ่งผู้ป่วยมีประวัติป่วยเมื่อเดือน พ.ย.65 และกรมวิทย์ฯ ได้รับตัวอย่างเชื้อมาเมื่อกลางเดือน ธ.ค.65 โดยสายพันธุ์ XAY.2 เป็นการผสมกันระหว่างเดลตาและโอไมครอน ทั่วโลกพบสายพันธุ์ย่อยๆ อีกหลายตัว แต่ที่พบมากที่สุดคือ XAY.2 ส่วนอิทธิฤทธิ์อิทธิเดชนั้น ยังไม่มีความแตกต่างในแง่ของความรุนแรงที่ทำให้ผู้ป่วยอาการหนักหรือเสียชีวิตเร็วขึ้น แต่มีการแพร่เชื้อที่เร็วกว่าเมื่อเทียบกับลูกผสมตัวอื่น เช่น XBC ทั้งนี้ กรมวิทย์ฯ จะถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสทั้งตัวย้อนหลังเพิ่มเติม

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สำหรับข้อห่วงกังวลเรื่องการพบสายพันธุ์ XAY.2 ในไทย ช่วงเดียวกับที่จะมีการรับนักท่องเที่ยวชาวจีน ต้องย้ำว่าสายพันธุ์ที่ระบาดในจีน 97% เป็นสายพันธุ์ BA.5.2 และ BF.7 ซึ่งไม่ได้เป็นสายพันธุ์ใหม่แต่อย่างใด และไม่ได้แพร่เร็วกว่าสายพันธุ์ในไทย โดยย้ำว่าจีนยังไม่พบสายพันธุ์ที่น่าห่วงกังวล ดังนั้น จึงไม่น่ากังวล


ที่มาเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย [1] [2] | Thai PBS

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net