Skip to main content
sharethis

สหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพรวมตัวติดตามข้อเรียกหลายประเด็นทั้งเงินช่วยเหลือค่าครองชีพที่พนักงานต้องเผชิญกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงยกเลิกสวัสดิการพนักงานโดยไม่เป็นไปตามข้อตกลงสภาพการจ้างงานและไม่ได้รับความยินยอมจากพนักงาน

 

11 ม.ค.2566 เวลา 17.03 น. ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ติดตามสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพ (สร.ธก.) ชุมนุมหน้าธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ ถนนสีลม ติดตามข้อเรียกร้องด้านสิทธิแรงงานโดยเฉพาะเงินช่วยเหลือค่าครองชีพพนักงาน และสวัสดิการอื่นๆ ตลอดจนอัปเดตแนวทางการเรียกร้องต่อไป

บัณฑิต จันทร์แก้วแร่

บัณฑิต จันทร์แก้วแร่ ประธานสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวระบุว่า ที่มาชุมนุมวันนี้ สืบเนื่องจากสหภาพฯ มีมตินัดชุมนุมติดตามความคืบหน้าข้อเรียกร้องทั้ 15 ข้อที่มีถึงธนาคารไปตั้งแต่กลางปีที่แล้ว แต่กลับไม่มีผลความคืบหน้า และยังไม่มีการตกลงกันได้เลยสักข้อหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องเงินช่วยเหลือค่าครองชีพ ซึ่งเป็นวาระเร่งด่วนในยุคที่เศรษฐกิจข้าวยากหมากแพง

บัณฑิต ระบุว่า ธนาคารในฐานะนายจ้างควรมีเงินช่วยเหลือค่าครองชีพพนักงานธนาคาร โดยอาจจะจ่ายเงินเพิ่มจากเงินเดือน 2,000 บาท หรือปีละ 30,000 บาท ประธานสหภาพฯ กล่าวย้ำว่าอยากให้พิจารณาเป็นวาระเร่งด่วน เพื่อเยียวยา แต่ธนาคารแจ้งว่าต้องเสร็จสิ้นกระบวนการเจรจาก่อน ถึงจะแจ้งให้กับผู้จัดการได้

"เขา (ธนาคารกรุงเทพฯ) บอกเขาต้องรอทั้งหมด ซึ่งเราบอกมันช้า ความเดือดร้อนไม่ควรจะต้องมารอ ควรเร่งรีบที่จะช่วยเหลือ" บัณฑิต กล่าว 

นอกจากนี้ ทางสหภาพฯ ต้องการมาแจ้งความคืบหน้าข้อเรียกร้องต่อสมาชิกสหภาพฯ ข้อพิพาทแรงงานที่เกิดขึ้นในธนาคารที่เกี่ยวกับเรื่องสิทธิข้อขัดแย้งในเรื่องของข้อบังคับ ข้อตกลงร่วม และทางสหภาพฯ จะดำเนินการต่อไปอย่างไร มากกว่านั้น การชุมนุมครั้งนี้ต้องการให้สมาชิกสหภาพแรงงานได้มีส่วนร่วมเรียกร้อง ได้ต่อสู้ ผลักดันข้อเรียกร้องสิทธิผลประโยชน์

"อยากให้ทางผู้บริหารระดับสูงได้ลงมาดูว่าพนักงานปัจจุบันมีความเดือดร้อนแบบไหนอย่างไร สหภาพแรงงานไม่สามารถสื่อไปถึงผู้บริหารระดับสูงได้ ต้องผ่านตัวแทน ถามว่าเขาทราบปัญหาไหม ผมเชื่อว่าเขาทราบว่า ค่าข้าวค่าแก๊สสูง ค่าตอบแทนในการทำงานของแบงก์กรุงเทพ ถ้าเทียบกับแบงก์อื่น ก็ไม่สูงกว่าแบงก์อื่น" ปธ.สหภาพฯ ระบุ

"การเรียกร้องวันนี้เราไม่ได้คาดหวังว่าจะสำเร็จ แต่เป็นการยืนยันว่าพนักงานที่ออกมามีความเดือดร้อนจริงๆ จึงกล้าที่ออกมา ดังนั้นการต่อสู้เรียกร้อง ไม่ว่าจะครั้งที่หนึ่ง ครั้งที่สอง ครั้งที่สาม เราก็ต้องต่อสู้ไป จนกว่าสำเร็จ" ประธานสหภาพแรงงานฯ ทิ้งท้าย

ด้านชูพงศ์ โชคสิริ พนักงานธนาคารกรุงเทพ ระบุว่า นอกจากปัญหาเรื่องค่าครองชีพแล้ว เขาอยากให้มีการดูแลเรื่องเงินบำนาญ แต่เดิมอยู่ที่ 4 แสนบาทที่เคยเรียกร้องไว้ แต่ต่อมา ลดลงมาเรื่อยๆ จนเหลือแค่ 2 แสนบาท และไม่รู้ว่าปีถัดไปจะได้เท่าเดิมหรือไม่ ซึ่งนี่คือสิ่งที่สหภาพฯ เรียกร้องคือให้ธนาคารเห็นคุณค่าของพนักงาน ใส่ใจความเป็นอยู่ของพนักงานว่าจะดูแลเมื่อเขาเกษียณ 

ชูพงศ์ โชคสิริ

นอกจากนี้ พนักงานธนาคารกรุงเทพคนเดิม ระบุว่า สิ่งที่ควรผลักดันมากกว่าค่าครองชีพ คือสวัสดิการ เพราะมันคือมั่นคงของพนักงานมากกว่าค่าครองชีพ เพราะมันคือความมั่นคงระยะยาวจนเขาเกษียณ สวัสดิการต่างๆ ควรที่จะมากขึ้นในแต่ละปี ดีขึ้น ไม่ใช่ให้มันแย่ลง ถ้าเกิดไม่ทำให้ดีขึ้นก็ควรจะอยู่เท่าเดิม แต่ไม่ใช่ลดลง

"อย่างง่ายๆ เรื่องของสูตินารีแพทย์ที่ตัดไป เวลาตัด เขาไม่ได้ให้สหภาพแรงงานมีส่วนร่วม เข้าไปพูดคุยด้วยไหม ไม่ใช่พวกคุณตัดสินใจกันเองว่าฉันควรตัด เพราะมันคือสิทธิประโยชน์ของแรงงาน อย่างน้อยควรมีสหภาพแรงงานไปร่วมพูดร่วมคุยกันว่าที่ตัดเพราะอะไร นี่ประชุมกันแล้วตัดเลย" ชูพงศ์ กล่าว

สำหรับสวัสดิการสูตินารี ถ้าพนักงานธนาคารไปหาแพทย์ก็สามารถเบิกกับธนาคารได้ แต่เบิกได้ไม่เต็มจำนวน 

"ผมคงเรียกร้องให้ผู้บริหารมีความตั้งใจจริงๆ ที่จะดูแลพนักงานด้วยความจริงใจมากกว่านี้ เพราะว่าเรียกร้องไปตั้งแต่ 2 ส.ค. 2565 จนถึงมกราคมปี 66 ยังไม่มีข้อไหน ที่คุณจะเคลื่อนไหวได้ ที่คุณจะขยับได้เลยว่า ข้อนี้ทำได้ ทำไม่ได้ ให้แสดงออกมาได้เลย

"วันนี้ (10 ม.ค.) เจรจาครั้งที่ 18 มีอะไรคืบหน้าจากผู้บริหารมันยังไม่มีเลย มีข้อเรียกร้องทั้งหมด 15 ข้อ วันนี้เจรจาครั้งที่ 18 ข้อที่ 15 ที่เราได้คุยกัน แต่ข้อที่ 1-14 คุณจะเอายังไง อันไหนที่ทำได้ ทำได้เลย" ชูพงศ์ ทิ้งท้าย

นอกจากประเด็นเรื่องจ่ายเงินช่วยเหลือพิเศษที่ประธานสหภาพได้กล่าวไปข้างต้น จากแถลงการณ์ของสหภาพแรงงานมีการกล่าวถึงปัญหาข้อพิพาท 2 เรื่อง

เรื่องแรกทางธนาคารตัดสวัสดิการพนักงานในการเข้ารับตรวจรักษาฟรีกับแพทย์โรคเฉพาะทางเกี่ยวกับสูตินารีเวช และการเข้ารับกายภาพบำบัดที่ศูนย์บริการสุขภาพสำนักงานใหญ่สีลม ซึ่งเป็นสภาพการจ้างงานตามกฎหมายและไม่ได้เปลี่ยนแปลงในทางที่เป็นคุณกับลูกจ้าง อีกทั้งการยกเลิกก็ไม่ได้รับการยินยอมจากพนักงาน

ปัญหานี้ทางสหภาพแรงงานที่เป็นตัวแทนพนักงานได้ยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานให้ช่วยแก้ปัญหาแล้ว และทางผู้แทนธนาคารรับจะเสนอฝ่ายบริหารของธนาคารแล้ว โดยจะแจ้งความคืบหน้าในวันที่ 30 ม.ค.2565

ข้อพิพาทต่อมาคือข้อตกลงสภาพการจ้าง เช่น เรื่องการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการสะสมวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้สะสมได้ 1 ปี จากเดิมในข้อตกลงที่ให้สะสมได้ไม่เกิน 2 ปี ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ทางธนาคารไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย ซึ่งตามที่ทางธนาคารแจ้งว่าจะแจ้งผลให้ทราบภายใน 7 วันหลังจากสหภาพแรงงานฯ ได้ยื่นหนังสือถึงฝ่ายบริหารแล้วตั้งแต่ 22 ธ.ค. 2565 แต่ขณะนี้ได้เลยเวลามาแล้ว

จากการสอบถามสมาชิกสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพ สหภาพแห่งนี้ก่อตั้งมานานแล้วมากกว่า 30 ปี โดยมีสมาชิกราว 9,000 พันคน โดยการเป็นสมาชิกมีเงื่อนไขคือต้องเป็นพนักงานธนาคารกรุงเทพ นอกจากนี้ ชูพงศ์ ระบุด้วยว่า การชุมนุมครั้งนี้เป็นการกลับมาชุมนุมครั้งแรกในรอบหลายสิบปี 

หมายเหตุ - มีการรายงานความคืบหน้าเมื่อ 10 ม.ค. 2566 เมื่อเวลาประมาณ 19.41 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net