‘กกต.’ อาจไม่รายงานผลเลือกตั้งออนไลน์ อ้างแพงไป-กลัวระบบล่ม หลายฝ่ายกังวลความโปร่งใส

#เลือกตั้ง66 : ‘กกต.’ อาจไม่รายงานผลเลือกตั้งออนไลน์ อ้างงบ 20 ล้านทำระบบแพงเกินไป กลัวระบบล่มแล้วจะมีปัญหา หลังจับมือ 'ม.เอกชนแห่งหนึ่ง' สร้างระบบเกือบปีจนแล้วเสร็จ ด้าน ‘เลขาธิการ กกต.’ ยอมรับ ขาดเทคโนโลยี แต่เชื่อมั่นคนดี ขณะที่หลายฝ่ายกังวลความโปร่งใส

13 ม.ค. 66 ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์รายงานเมื่อวันที่ 11 ม.ค. ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่เห็นชอบกรณีที่สำนักงาน กกต.เสนอแผนงานการจัดทำโปรแกรมการรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.แบบออนไลน์ และการรายงานผลการเลือกตั้ง ส.ส.อย่างไม่เป็นทางการตามที่ก่อนหน้านั้นสำนักงานฯ ได้มีการประสานและได้รับความร่วมมือจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในการสร้างระบบนานเกือบปีจนแล้วเสร็จ

แพงไป - ไม่เชื่อมั่นในระบบ - กลัวมัดตัว

เดลินิวส์รายงานเพิ่มเติมระบุว่าที่ประชุม กกต. ไม่เชื่อว่าระบบที่มีการจัดทำขึ้นจะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ในอดีตที่ทำให้การรายงานผลการเลือกตั้งมีความคลาดเคลื่อนได้ อีกทั้งถ้า กกต.เห็นชอบให้สำนักงานดำเนินการตามที่ขอหากเกิดปัญหาขึ้น ก็จะกลายเป็นสิ่งที่มัดตัว กกต.เพราะเป็นระบบของสำนักงาน กกต. ขณะเดียวกันงบในการจัดทำราว 20 ล้านบาทก็สูงเกินไป

“กกต.ระบุว่า คราวเลือกตั้งปี 62 ที่สำนักงานฯ ให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร.ทำระบบรายงานผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการผ่านแอปพลิเคชัน Rapid Report แต่พอเกิดปัญหาระบบรายงานผลล่ม มีการโจมตีระบบ ก็ไม่มีใครที่จะรับผิดชอบ กลายเป็นปัญหามาตกหนักที่ กกต.” แหล่งข่าวระบุ

ทั้งนี้หลัง แสวง บุญมี ได้รับแต่งตั้งเป็น เลขาธิการ กกต. เคยระบุถึงนโยบายเกี่ยวกับการจัดเลือกตั้ง ส.ส. ทั่วไปที่จะเกิดขึ้นกรณีสภาผู้แทนราษฎรครบวาระในปี 66 ว่า นอกจากระบบการรายงานผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการแล้ว จะเป็นจะพยายามนำใบรายงานผลการนับคะแนน ส.ส.แบบแบ่งเขต หรือ ส.ส. 5/18 ที่คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ติดประกาศไว้หน้าหน่วยเลือกตั้งเมื่อมีการนับคะแนนเสร็จสิ้น เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อความโปร่งใส ให้ผู้สมัครและประชาชนตรวจสอบได้

ขณะเดียวกัน กกต.มอบนโยบายให้สำนักงานหารือกับทางสื่อมวลชนเพื่อขอความร่วมมือในการรายงานผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการเพราะในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.สื่อสามารถดำเนินการเรื่องนี้ได้ดี แต่เมื่อสำนักงานฯ หารือกับตัวแทนสื่อได้รับแจ้งว่าด้วยจำนวนหน่วยเลือกตั้งตั้งเกือบ 1 แสนหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศ สื่อมีกำลังคนไม่พอ ต่างจากเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่มีหน่วยเลือกตั้งราว 6 พันหน่วยเลือกตั้ง และการรายงานผลการเลือกตั้งของสื่อก็ใช้วิธีการสุ่มราว 2 พันหน่วยเลือกตั้งเท่านั้น ทางสำนักงานฯ จึงได้มีการประสานไปยัง สพร. แต่ได้รับแจ้งว่าไม่พร้อมเช่นกัน จนมีการติดต่อไปยัง สจล. ซึ่งเข้ามาศึกษาปัญหาและอุปสรรคต่าง ของการรายงานผลการเลือกตั้งในครั้งก่อน และสร้างระบบการรายงานผลอย่างไม่เป็นทางการขึ้นใหม่ โดยการรายงานผลคะแนนเลือกตั้งหน้าหน่วยเลือกตั้งรวมอยู่ด้วย ซึ่งงบประมาณในส่วนนี้ราว 10 ล้านบาท

ขณะเดียวกันทางสำนักงานฯ เห็นว่าขณะนี้กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.มีการแก้ไขให้สามารถรับสมัครแบบออนไลน์ได้จึงได้ขอให้มีการทำระบบการรับสมัครเลือกตั้งแบบออนไลน์ขึ้นเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้สมัคร และเป็นการเตรียมไว้กรณีหากเกิดปัญหาการปิดล้อมสถานที่รับสมัครเช่นอดีต โดยส่วนนี้ก็จะใช้งบประมาณอีกราว 10 ล้านบาท แต่ที่สุดก็ไม่ได้รับความเห็นชอบจาก กกต.

ด้าน สำราญ ตันพานิช ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงความคืบหน้าการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.ทั้ง 33 เขตเลือกตั้งของกรุงเทพมหานคร ว่า ทาง กกต.กทม. ได้เตรียมความพร้อมโดยมีการแบ่งรูปแบบเขตเลือกตั้งไว้หลาย 3 รูปแบบ แต่ยังไม่สามารถประกาศเผยแพร่ได้ ต้องรอร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ประกาศใช้บังคับ ก่อนเปิดรับฟังความคิดเห็นจากพรรคการเมือง และประชาชน จากนั้นเสนอที่ประชุม กกต.ชุดใหญ่พิจารณาต่อไป

'เลขาฯ กกต.' รับ ขาดเทคโนโลยี แต่เชื่อมั่นคนดี

เมื่อวันที่ 2 ม.ค. ผู้สื่อข่าวมติชนออนไลน์รายงานว่า แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. โพสต์ข้อความในกลุ่มไลน์ผู้บริหารของสำนักงาน กกต. เนื่องในโอกาสวันปีใหม่ 2566 และเตรียมความพร้อมการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในอนาคต ระบุว่า เนื่องในโอกาสวันปีใหม่ โดยอวยพรขอให้มีกำลังกายที่แข็งแรง มีกำลังใจที่เข้มแข็ง มีกำลังสติปัญญาที่เฉียบคมในการที่จะนำสิ่งดีๆ มาสู่ท่านและครอบครัว องค์กร และชาติบ้านเมืองโดยรวม จากนี้คงเป็นการนับถอยหลังไปว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองจะมีผลใช้บังคับ จะมีการยุบสภาหรือไม่ ถ้ายุบจะยุบช่วงใหน หรือสภาจะอยู่จนครบวาระ พวกเราจะมีเวลาเตรียมการและทำงานน้อยลงทุกวัน สิ่งที่พวกเราอยากจะเห็นและได้พูดคุยหารือร่วมกันมาตลอด ก่อนหน้านี้หลายครั้ง

แสวงระบุต่อว่า เรามีเป้าหมายในการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไปครั้งต่อไป คือ ทำให้การเลือกตั้งเป็นทางออกของประเทศให้ได้ การเลือกตั้งเป็นที่ยอมรับทั้งกระบวนการและผลการเลือกตั้ง สร้างความเชื่อมั่น และเกียรติภูมิ แก่ กกต.และสำนักงาน โดยองค์ประกอบที่จะทำให้พวกเราบรรลุตามเป้าหมาย ต้องมีเครื่องยนต์อยู่อย่างน้อย 4 เครื่องยนต์ กล่าวคือ 1.คนดี 2.การบริหารจัดการดี 3.เทคโนโลยีดี และ 4.สื่อสารดี โดยมีความเชื่อมั่นในพวกเราตามข้อ 1 มากที่สุด แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เราไม่ได้เดินครบทั้ง 4 เครื่องยนต์ เราขาดเทคโนโลยี เราไม่มีแอปพลิเคชันที่ใช้อำนวยความสะดวกในการรับสมัครให้แก่พรรคการเมือง ผู้สมัคร เขต สนง. หน่วยงานสนับสนุน เหมือนการเลือกตั้งที่ผ่านมา รวมทั้งไม่มีแอปพลิเคชันในการรายงานผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการเหมือนการเลือกตั้งที่ผ่านมา

“เรื่องที่เกิดขึ้นในฐานะหัวหน้าหน่วยงานผมขอรับผิดแต่เพียงผู้เดียว แต่แม้จะมีข้อจำกัด ผมก็มีความเชื่อมั่นในพวกเรา ว่าเราจะทำการเลือกตั้ง บรรลุตามเป้าหมายทั้ง 3 ข้อข้างต้นได้ แต่อาจจะต้องเก่งขึ้นอีกนิด มันจึงเป็นแค่ความท้าทาย ไม่ใช่ปัญหาหรืออุปสรรคที่จะหยุดเราแต่อย่างใด” แสวงกล่าว

หลายฝ่ายกังวลความโปร่งใส

จากกระแสข่าวว่ากกต.อาจจะไม่รายงานผลเลือกตั้งออนไลน์ มีหลายฝ่ายออกมาแสดงความคิดเห็นกังวลถึงความโปร่งใสทั้งอดีตกกต. ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ 

สมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย และอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์เฟซบุ๊กระบุ กกต. พร้อมเลือกตั้งแค่ไหน มีหลายประเด็นที่กกต.ยังแจงต่อสาธารณะไม่ชัดเจน ทั้งการแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 เขต กฎเกณฑ์เรื่องค่าใช้จ่ายในการหาเสียงของแต่พรรค-แต่ละเขต และไม่ปรากฏความพยายามที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์เลือกตั้ง ทั้งยังมีมติไม่ทำระบบรายงานผลอย่างไม่เป็นทางการผ่านระบบออนไลน์แล้ว โดยอ้างว่ากลัวทำแล้วระบบล่ม ตั้งถาม กกต. ทำงานคุ้มเงินเดือนหรือไม่

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จาก iLaw ทวีตข้อความว่า ทำไมการที่กกต.​จะมีเทคโนโลยีรายงานผลคะแนนสดๆ ที่เชื่อถือได้ มีประสิทธิภาพ เป็นสิ่งที่ต้องเรียกร้องให้ได้มา มันควรจะเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แล้วทำไมถึงต้องเป็นฝ่ายไม่เอารัฐบาลนี้เรียกร้อง ถ้าฝ่ายที่เชียร์รัฐบาล เชื่อมั่นในตัวเอง เชื่อมั่นว่าคนจะเลือกเยอะ ก็ควรผลักดันให้กกต. ทำงานดีดี

 

ด้าน ดร.สติธร ธนานิติโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ให้ความเห็นถึงความสำคัญของ “ระบบรายงานผลนับคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ” กับสำนักข่าวทูเดย์ ระบุ ระบบรายงานผลนับคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ เป็นระบบติดตาม ตรวจสอบ การนับคะแนน ที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงไปแล้วนั้นถูกต้องตกหล่นหรือไม่ และยังสร้างความตื่นตัวให้ประชาชนที่สนใจติดตามผลการเลือกตั้ง

ซึ่งถ้าถามว่า หากไม่มีระบบนี้จะเป็นอะไรหรือไม่ ก็ต้องบอกว่า ความจริงแล้วไม่ใช่หน้าที่ของสำนักงาน กกต. เพราะมีหน้าที่รายงานผลอย่างเป็นทางการเท่านั้น ระบบรายงานผลนับคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ เป็น “ของแถม” ที่กฎหมายไม่ได้บังคับให้ทำ แต่เป็นของแถมที่ปกติก็ทำให้กัน เพื่อยืนยันความโปร่งใสในการทำงานของตัวเอง ถ้าทำสิ่งนี้ก็จะแสดงให้ประชาชนเห็นว่า จัดการเลือกตั้งได้อย่างสุจริต และเที่ยงธรรม สมกับคำขวัญของตัวเอง แสดงถึงความโปร่งใส ยอมให้ตรวจสอบ แต่ถ้าไม่อยากโปร่งใส ก็ไม่ต้องทำ

ส่วนที่เลขาธิการ กกต. ชี้แจงต่อสภาฯ ว่า สำนักงานกกต. จะไม่รายงานผลคะแนนให้ กกต. แต่จะรายงานให้ประชาชนทราบแทน อ.สติธร กล่าวว่า การชี้แจงเช่นนี้หมายความว่าจากการประชุมกกต. อาจจะไม่ต้องการผลนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ แต่สำนักงานกกต. อาจจะมองว่าตัวเองมีหน้าที่ให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง ก็จะมีการรายงานผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการให้ประชาชนทราบ

“ถ้าตอบในสภาฯ แบบนี้ยังพอคาดหวังได้ว่าสำนักงานฯ ก็คงจะหาวิธีการรายงาน ซึ่งก็ไม่บังคับรูปแบบนะ เพราะจริงๆ ทุกวันนี้ เขาก็รายงานด้วยวิธีมีบอร์ดอยู่ที่เขตเลือกตั้ง เอาคะแนนไปรวมก็มีสกอร์บอร์ดแปะ ก็ถือว่ารายงานแล้ว แต่คงจะไม่เรียลไทม์เท่าที่สื่ออยากได้ เพราะต้องแยกเป็นสองส่วน การรายงานผลรายงานช้าก็ได้ เช่น 3 ชั่วโมงหลังปิดหีบค่อยเริ่มรายงาน กับการปิดหีบปุ๊บน่าจะพอได้รู้ความเคลื่อนไหวของคะแนนแล้ว ซึ่งคำตอบวันนี้ยังไม่ได้บ่งชี้ว่าจะได้สิ่งนี้ เพราะการรายงานผลอย่างไม่เป็นทางการผ่านไป 1 วันก็ยังทำได้ ตื่นเข้ามาค่อยบอกก็ได้” ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตยฯ ระบุ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท