Skip to main content
sharethis

ครูทั่วไทยแต่งชุดดำ ค้าน ‘ร่างพรบ.การศึกษา’ ฉบับคสช. ด้าน ‘ประธานสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย’ ย้ำ ของขวัญชิ้นนี้ ครูทั่วประเทศกว่า 6 แสนคนไม่ต้องการ ฝ่าย 'ครูทิว-ครูจุ๊ย-ดร.ณหทัย' วิจารณ์ หลายมาตราล้าหลัง-หวังล็อกสเปคเด็ก

13 ม.ค. 66 สืบเนื่องจากข้อกังวลจากหลายฝ่ายเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…ที่เข้าสู่วาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เมื่อช่วงวันที่ 10-11 ม.ค. 66 อย่างไรก็ดี  ร่างพ.ร.บ.การศึกษาฉบับดังกล่าว ได้รับการพิจารณาเพียงไม่กี่มาตราเท่านั้น จากนั้นสภาก็ล่ม หลังมีปัญหาเรื่ององค์ประชุม ส่งผลให้ร่างพ.ร.บ.การศึกษาดังกล่าวยังพิจารณาไม่เสร็จถึงฝั่งดังที่ผู้นำรัฐบาลหวังเอาไว้ว่าจะพิจารณาให้เสร็จเรียบร้อยเพื่อเป็นของขวัญวันครู

ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวจากครูทั่วประเทศ ออกมาคัดค้าน ร่างพ.ร.บ.การศึกษาฉบับดังกล่าว ด้วยการแต่งชุดดำไว้อาลัยตั้งแต่วันที่ 10-16 ม.ค. นี้  สืบเนื่องจากในร่างพ.ร.บ.การศึกษาฉบับดังกล่าว มีความไม่ชอบมาพากลในหลายมาตรา ธีระศักดิ์ สุวรรณปัญญา ประธานยุทธศาสตร์สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) ให้สัมภาษณ์คมชัดลึกออนไลน์ ว่า ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับดังกล่าวมีเนื้อหาบางส่วนที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาผู้เรียน การพัฒนาการศึกษาและการพัฒนาวิชาชีพ อีกทั้งบางประเด็นอาจส่งผลกระทบความเป็นอิสระทางวิชาการ ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ปิดกั้น กดทับศักยภาพของผู้เรียน ในการพัฒนาตนเองสู่อนาคตในศตวรรษที่ 21

‘คุรุสภา’ สะท้อนแนวคิดรวมอำนาจ

"คุรุสภา เป็นสภาแห่งเดียวในโลกที่ไม่มีตัวแทนครู  เป็นสิ่งที่ครูเราไม่สบายใจที่สุด มาตั้งแต่ปี 2558 เมื่อสภาวิชาชีพครูกลายเป็นสภาขุนนางและสภาระดับสูง เพราะร่างพ.ร.บ.การศึกษา ฉบับใหม่ไม่มีการเปลี่ยนคำสั่งคสช." 

ธีระศักดิ์ ประธานยุทธศาสตร์ ส.ค.ท. กล่าวกับคมชัดลึกออนไลน์ พร้อมทั้งขอนายกรัฐมนตรี อย่าเร่งรีบรวบรัดให้ร่างพ.ร.บ.การศึกษา มีผลบังคับใช้เลย หากเร่งรีบไปอาจจะเกิดความเสียหาย เนื่องจากเป็นร่างกฏหมายที่มีการรับฟังเสียงครูแต่ไม่นำมาบรรจุเอาไว้ในร่างพ.ร.บ.การศึกษา ซึ่งมีประเด็นที่น่ากังวลอยู่ 4 มาตรา ดังนี้

1.มาตรา 3 ว่าการยกเลิกคำสั่งคสช. ที่เกี่ยวกับการศึกษา ซึ่งคณะกรรมาธิการเสียงส่วนมากให้แก้ไข แต่ในที่สุดกลับลงมติกลับเป็นร่างรัฐบาล ทำให้มรดกคำสั่งคสช.ทำลายหลักธรรมาภิบาล เช่น คำสั่งคสช.ที่ 7/2558 และคำสั่งคสช.ที่ 17/2560 ยกเลิกพ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา

เดิมคุรุสภามีบอร์ดบริหารมีผู้แทนจากวิชาชีพครู แต่คำสั่งคสช.ที่ 7/2558 ทำให้คุรุสภาไม่มีผู้แทนผู้ประกอบวิชาชีพครูมาเป็นผู้แทน  แต่ปรับเปลี่ยนบอร์ดใหม่ประกอบด้วย รัฐมนตรีศึกษา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารสูงสูดจาก 5 องค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)

2.มาตรา 40 วรรค 2 ว่าด้วยเงินค่าตอบแทนวิทยฐานะ ทำให้บุคลากรในเขตพื้นที่การศึกษาจะไม่ได้รับเงินวิทยฐานะ ประกอบด้วยผอ.เขตพื้นที่การศึกษา รองผอ.เขตพื้นที่การศึกษาและศึกษานิเทศน์ ทำให้ค้างคาใจเนื่องจากเป็นสิทธิที่เคยได้รับมาก่อนแต่ในร่างพ.ร.บ.การศึกษา ไม่มีการแก้ไขให้กลับมาเหมือนเดิม อีกทั้งไม่รับรับฟังเสียงท้วงติงจากครูในเรื่องนี้

3.มาตรา 42 เกี่ยวกับคำสั่งคสช. เป็นการออกแบบสภาวิชาชีพครูใหม่ เดิมคุรุสภาเป็นสภาวิชาชีพ แต่เปลี่ยนใหม่ให้คุรุสภาเป็นองค์กรของครู เมื่อกฏหมายแม่ออกมาแบบนี้ พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษาก็ตกไป

4.มาตรา 106 ว่าด้วยการให้อำนาจ รัฐมนตรี ปลัดศธ. เป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการกระทรวงศึกษาฯ หมายความว่า จะใช้ระบบการสั่งการจากบนลงล่าง หรือ "ซิงเกิลคอมมานต์" ย้อนแย้งกับโลกความจริงที่เปลี่ยนแปลงไปมากหลังวิกฤตโควิด-19 

"ครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง ต้องมีอิสระทางวิชาการหากมีการสั่งการแบบซิงเกิลคอมมานต์ก็เหมือนครูถูกครอบงำ อย่าลืมว่าปัจจุบันครูอยู่ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)บริหารการศึกษาในรูปแบบคณะกรรมการซึ่งเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้วตามรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ร่างพ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ ล้อตามรัฐธรรมนูญ 2560 จึงเป็นที่มาของครูทั้งแผ่นดินลุกฮือแต่งชุดดำเพื่อไว้อาลัยร่างพ.ร.บ.การศึกษา เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค.จนถึงวันครู 16 ม.ค.นี้"

ทั้งนี้ การรวมพลังแต่งชุดดำของครูบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศในครั้งนี้ เป็นการแสดงออกอย่างสงบ อหิสา ตามสิทธิ เสรีภาพที่พึงกระทำได้ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นการส่งพลังใจของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้ง 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ

'ตีกรอบ-ไม่ยืดหยุ่น-ละเลยสายอาชีพ'

ธนวรรธน์ สุวรรณปาล หรือ ครูทิว จากกลุ่มครูขอสอน ร่วมสะท้อนทัศนะเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ กับสำนักข่าววอยซ์ โดยแสดงความกังวลว่า หัวใจของการออกกฎหมายการศึกษาแห่งชาติ คือการจะทำให้เห็นระบบการศึกษาในรูปแบบ ทว่ามาตรา 8 ร่างพรบ.การศึกษาของรัฐบาลได้ระบุรูปแบบการสอนตามช่วงวัย ซึ่งตนมองว่าควรจะระบุเนื้อหาไว้กว้างๆ และยืดหยุ่น

สอดคล้องกับ กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ หรือ ครูจุ๊ย อดีตนักวิชาการอิสระด้านการศึกษา ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ กมธ. การศึกษา สภาผู้แทนฯ กล่าววิจารณ์มาตรา 8 ในสภาฯ ว่ามีการระบุความรู้สึกเชิงนามธรรม อาทิ ความภูมิใจ การตระหนักถึงความสำคัญ ซึ่งเมื่อนำไปปฏิบัติในห้องเรียนแล้วประเมินได้ยาก ทั้งยังมีการกำหนดคุณสมบัติของเด็กตามช่วงอายุ ซึ่งขัดกับความจริงที่ว่าทุกคนมีพัฒนาการไม่เหมือนกันตามช่วงอายุ

ด้าน ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม กรรมการบริหารพรรค และประธานคณะทำงานด้านการส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันของประเทศและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พรรคเพื่อไทย ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมาธิการเพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาและจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเดอะรีพอร์ตเตอร์ วานนี้ (12 ม.ค.) ถึงข้อกังวลมาตรา 8 ที่มีลักษณะล็อกสเปคพัฒนาการเด็ก และ มาตรา 47 ว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนชื่อของระบบการศึกษา

“ส่วนมาตรา 47 เป็นมาตราที่ว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนชื่อของระบบการศึกษาไปโดยสิ้นเชิง จากเดิมคือการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย เป็นการศึกษาเพื่อคุณวุฒิตามระดับ เพื่อพัฒนาตนเอง และเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตนั้น ทำให้เกิดความทับซ้อนกันเพราะการเรียนรู้ตลอดชีวิตคลอบคลุมทุกระบบการศึกษาอยู่แล้ว ซึ่งทำให้เกิดความยุ่งยากในการทำความเข้าใจแก่ประชาชน”

ณหทัย กล่าวย้ำเพราะเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นเลยที่จะเปลี่ยนชื่อระบบการศึกษา แต่ควรให้ความสนใจในส่วนของการจะทำอย่างไรให้การพัฒนาโรงเรียนมีเอกภาพ มีอิสระในการบริหารจัดการ และให้ครูมีงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนน้อยลง มีระบบประเมินวิทยฐานะจากความก้าวหน้าของนักเรียนในห้อง มากกว่าจากเอกสารรายงาน

นอกจากนี้ ณหทัย เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ยังทำให้การเรียนสายอาชีวศึกษาไม่ได้รับความสำคัญ ทั้งที่สายอาชีวศึกษาหรือสายอาชีพ ที่ถือว่าเป็นการศึกษาที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเฉพาะอาชีพเฉพาะทางต่าง ๆ ซึ่ง พ.ร.บ. การศึกษาฯ ฉบับนี้ควรให้ความสำคัญเช่นกัน

ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net