Skip to main content
sharethis

สองนักกิจกรรม 'ตะวัน-แบม' ยื่นถอนประกันตัวเองในคดี ม.112 พร้อมอ่านแถลงการณ์ 3 ข้อเรียกร้อง ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม – ยุติการดำเนินคดีทางการเมือง – พรรคการเมืองต้องเสนอนโยบายประกันสิทธิเสรีภาพประชาชน ยกเลิก ม.112 - ม.116 และแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ราดตัวเองด้วยสีแดง "เลือดแลกเลือด" ประกาศให้เวลาศาล-พรรคการเมืองทุกพรรคภายใน 3 วัน ปล่อยผู้ต้องขังทางการเมืองทั้งหมด มิเช่นนั้นจะยกระดับการเคลื่อนไหวจากในคุกและนอกคุก

 

16 ม.ค. 2566 เวลา 13.00 น. ที่ศาลอาญารัชดา กรุงเทพ ตะวัน - ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และแบม อรวรรณ ภู่พงษ์ สองนักกิจกรรม ประกาศยื่นขอถอนประกันตัวเองในคดี ม.112 พร้อมทั้งอ่านแถลงการณ์ 3 ข้อเรียกร้อง และแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ "เลือดแลกเลือด ทวงชีวิตเพื่อนคืน" ราดตัวเองด้วยสีแดง

แบม อรวรรณ ภู่พงษ์ และ ตะวัน - ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ 

ตะวัน-แบม ระบุ สาเหตุในการถอนประกันตัวเองครั้งนี้ เพื่อแลกกับอิสรภาพที่แท้จริง "พวกเราพร้อมแลกอิสรภาพจอมปลอมที่ศาลมอบให้ เพื่ออิสรภาพที่แท้จริงของเพื่อนเรา เลือดต้องแลกมาด้วยเลือด”

ในแถลงการณ์มี 3 ข้อเรียกร้อง ดังนี้

1. ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศาลต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพในการแสดงออกเป็นอย่างแรกมาก่อนสิ่งอื่นใด ต้องเป็นอิสระ ปราศจากอำนาจนำ ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และผู้บริหารศาลต้องไม่แทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดี

2. ยุติการดำเนินคดีกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุม และการแสดงออกทางการเมือง

3. พรรคการเมืองทุกๆ พรรคต้องเสนอนโยบายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยการยกเลิก ม.112 และ ม.116

ตะวัน-แบม ประกาศให้เวลาศาลและพรรคการเมืองทุกพรรคภายใน 3 วัน เพื่อปล่อยผู้ต้องขังทางการเมืองทั้งหมด หากวันที่ 18 ม.ค. 2566 ยังไม่มีการปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมืองทุกคน ตะวัน-แบม ประกาศจะมีการยกระดับทั้งจากข้างในคุกและนอกคุกในวันที่ 19 ม.ค. 2566

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ตะวัน-แบม แสดงเจตจำนงขอถอนประกันของตนเองเพื่อประท้วงความอยุติธรรมของศาล และทวงคืนสิทธิประกันตัวในผู้ต้องขังในคดีจากแสดงออกทางการเมือง โดยตะวันขอถอนประกันในคดีกรณีไลฟ์สดหน้า UN ก่อนเวลาที่ขบวนเสด็จจะผ่านถนนราชดำเนินนอก เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2565 และแบมถอนประกันจากคดีทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ ที่บริเวณห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565

ศาลรับคำร้อง อนุญาตให้ ตะวัน-แบม ถอนประกัน ทั้งสองเผยขอยืนยันว่าจะไม่ยื่นประกันตัวเองจนกว่าคนในเรือนจะได้รับสิทธิประกันตัวคืน

ต่อมานักกิจกรรมทั้งสองราย ได้ยื่นคำร้องต่อศาล ขอยกเลิกการปล่อยตัวชั่วคราว โดยมีใจความสำคัญระบุว่า ศาลเคยมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างพิจารณาคดี โดยมีเงื่อนไขให้จำเลยต้องปฏิบัติตามหลายประการ

จำเลยเห็นว่า เงื่อนไขในการที่ศาลกำหนดให้จำเลยต้องปฏิบัติตามในระหว่างที่ได้รับการประกันตัวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของจำเลยที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ จำเลยจึงไม่ประสงค์ที่จะขอปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาคดีนี้อีกต่อไป จำเลยขอถอนคำร้องปล่อยตั่วชั่วคราวนับตั้งแต่ที่ยื่นคำร้องนี้ จึงขอเรียนมาเพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งประกันตัวของจำเลยในระหว่างพิจารณาคดีนี้เสีย

อนึ่ง จำเลยได้เดินทางมาปรากฏตัวต่อหน้าศาลและให้ศาลรับตัวจำเลยไปดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ต่อไป ทั้งนี้การถอนการประกันตัวเอง เป็นความประสงค์ของจำเลยอย่างแท้จริง

ต่อมาเวลา 14.27 น. ศาลอาญา รับคำร้องขอถอนประกันตัวเองของตะวัน ระบุคำสั่ง ‘อนุญาตรับตัวไว้ ออกหมายหมายขัง และให้ปลดอุปกรณ์กำไล EM แจ้งศูนย์ทราบ ตรวจคืนหลักประกัน’

ผู้พิพากษาที่ลงนามคำสั่ง คือ ชาญชัย ณ พิกุล ผู้พิพากษาศาลอาญา

ในขณะที่แบม อรวรรณ ซึ่งได้เดินทางไปที่ศาลอาญากรุงเทพใต้พร้อมกับทนายความ เพื่อยื่นคำร้องแสดงเจตจำนงขอถอนประกันตัวเองในคดีทำโพลขบวนเสด็จ ก่อนในเวลา 16.06 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้ก็มีคำสั่ง รับคำร้องขอถอนประกันตัวของแบม.

ก่อนที่ตะวันจะถูกส่งตัวลงไปที่ห้องฝากขัง เธอได้เปิดเผยถึงการแสดงเจตจำนงขอถอนประกันตัวครั้งนี้ว่า “เรายืนยันว่าจะไม่ยื่นประกันตัวเอง จนกว่าเพื่อนเราจะได้รับสิทธิประกันตัว เราจะไม่อ้อนวอนร้องขอความเห็นใจใดๆ ทั้งสิ้นจากศาล”

ทางด้านแบม ก็ได้เปิดเผยเช่นเดียวกันว่าตัวเองขอหนักแน่นถึงการประท้วงเพื่อทวงคืนสิทธิประกันตัวของผู้ต้องขังคดีการเมืองในเรือนจำ และการที่เธอได้ประกันตัวออกมายืนอยู่ ณ ที่นี้ มันไม่ใช่อิสรภาพที่แท้จริง ดังนั้นการที่เธอและตะวันแสดงเจตจำนงที่จะถอนประกันของตัวเองเป็นสิ่งที่จะแสดงให้ศาลเห็นว่า พวกเธอไม่ยอมรับความอยุติธรรมของศาล โดยแบมได้กล่าวว่า “เราขอแลกอิสรภาพจอมปลอม เพื่ออิสรภาพที่แท้จริงของทุกคน”

ผลของการดำเนินการดังกล่าว ทำให้ ‘ตะวัน ทานตะวัน’ และ ‘แบม อรวรรณ’ ได้ถูกส่งตัวไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางทันที และทำให้มีผู้ถูกคุมขังในเรือนจำจากการแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดีเป็นจำนวน 15 คนแล้ว โดยเป็นผู้ที่ถูกกล่าวหาในคดีตามมาตรา 112 จำนวน 7 คน

 

 

วันที่ 16 ม.ค. 2565 เวลา 20.47 น. มีการแก้ไข เพิ่มเติมข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net