Skip to main content
sharethis

ว่าด้วย ‘น้ำบ่อไหนมันก็ไหลไปบ่อนั้น’ เป็นคำกล่าวของ ส.ว.เสรี สุวรรณภานนท์ เมื่อถามถึงทิศทางการโหวตเลือกนายกฯ ปี 66 นี้ ในระหว่างที่ทางหนึ่งก็คาดเดากันว่าเสียงของ ส.ว.จะไปทาง ป. ไหน เมื่อ 2 ป. ไม่ได้อยู่พรรคเดียวกันแล้ว ขณะที่ทางหนึ่งเดินหน้าแลนด์สไลด์เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. ไปเลย ไม่ต้องมาเดาให้ปวดหัว อีกทางก็แก้รัฐธรรมนูญมาแล้ว 6 รอบ ส.ว.ก็ไม่ให้ใครมาแตะกล่องดวงใจนี้เลย

  • หาก ป. ต้องแข่งกัน ส.ว.จะไปทางไหน ‘ส.ว.’ ป.ประวิตร เหนือกว่า ป.ประยุทธ์ จริงหรือ? ขณะที่ ส.ว.เสรี ชี้น้ำบ่อไหนมันก็ไหลไปบ่อนั้น
  • นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ชี้ 'งูเห่า ฝากเลี้ยง แจกกล้วย ยุบพรรค' เงื่อนไขเสริมพลัง ส.ว.พลิกเจตจำนงประชาชน
  • ย้อนดูอำนาจเลือกนายกฯ ของ ส.ว. จากที่มาคำถามที่คลุมเครือ แต่พอเสนอปิดสวิตช์ ส.ว. 6 ครั้ง ไม่เคยผ่าน
  • ขณะที่ ส.ว. บางคนเสนอโหวตสวิตช์ตัวเอง เหตุ ‘ปฏิรูปประเทศ’ ใกล้สำเร็จแล้ว  อำนาจ ส.ว.ส่วนนี้จึงไม่จำเป็นอีกต่อไป

เข้าสู่ปี 2566 ถนนทุกสายเข้าสู่โหมดเลือกตั้งอย่างเข้มข้น แทบทุกพรรคออกมาพูดถึงจำนวน ส.ส.ที่คาดว่าจะได้ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่ต้องการชนะแบบแลนด์สไลด์หรือมากกว่า 251 เสียง เหตุผลเพื่อต้องการชนะพรรคที่มีเสียงโดยไม่ต้องเลือกตั้งรออยู่แล้ว คือ ส.ว. 250 เสียง เพราะเลือกตั้ง 62 ส.ว.ก็โหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แบบไม่แตกแถว คือ 249 เสียง มีเพียง พรเพชร วิชิตชลชัย ส.ว.คนเดียวที่งดออกเสียง เพราะทำหน้าที่เป็นรองประธานสภา ส่งผลชื่อ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ จากพรรคอนาคตใหม่ ที่พรรคได้เสียงอันดับ 1 อย่างเพื่อไทย สนับสนุนเป็นนายกในครั้งนั้นยังแพ้โหวต

หาก ป. ต้องแข่งกัน ส.ว.จะไปทางไหน

ท่าทีของ ส.ว.ที่ยังสามารถร่วมโหวตนายกฯ ได้ถึงกลางปี 67 ก็ยังเป็นที่น่าสนใจว่าจะเอาอย่างไร แน่นอนที่ผ่านมาออกเสียงอย่างไม่แตกแถว ที่เลือกพล.อ.ประยุทธ์ มาเป็นนายกฯ ดังนั้นครั้งนี้จะใช้หลักอะไร หาก 2 ป. (พล.อ.ประยุทธ์ กับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ต้องแข่งกัน ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 2 ม.ค.ที่ผ่านมา พรเพชร ประธานวุฒิสภา ตอบประเด็นนี้ว่า การเลือกตั้งครั้งแรกเป็นการเลือกคนเดียว แต่การเลือกครั้งใหม่ เท่าที่ตนฟังจากสมาชิกบอกว่า เขาต้องดูก่อนว่า เมื่อเขาเลือกไปแล้วจะมีความมั่นคงในระบบรัฐสภาหรือไม่ ซึ่งอาจจะเป็นความคิดของตน

  • ปธ.วุฒิสภาเชื่อ ส.ว.โหวตนายกคนใหม่ จะดูความมั่นคงในระบบรัฐสภา https://prachatai.com/journal/2023/01/102123
  • ส.ว.: ประวัติศาสตร์การแต่งตั้ง (โดยคณะรัฐประหาร) กับคำถาม “ยังจำเป็นต้องมี?” https://prachatai.com/journal/2019/05/82524

"ผมได้ยินมาว่า ส.ว.ก็ควรที่จะเลือกให้ระบบรัฐสภาที่มี 2 สภาอยู่ได้ตามกฎหมายที่ให้สมาชิกวุฒิสภาเลือกนายกฯ ได้ ถ้าเราเลือกไม่ดี ไม่ถูกต้อง ก็จะมีผลกระทบ ไม่ว่า ส.ว.หรือ ส.ส.ทุกคนก็รักประเทศชาติ และอยากให้ประชาธิปไตยเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งนี่เป็นความคิดและเป็นความตั้งใจ แต่แน่นอนว่า ต้องมีบางคนที่เขาผูกพันกับความต้องการอย่างไร เขาก็คงต้องยืนตามนั้น" ประธานวุฒิสภา กล่าว

พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน ส.ว. (แฟ้มภาพ วิทยุรัฐสภา)

‘ส.ว.’ ป.ประวิตร เหนือกว่า ป.ประยุทธ์ ?

วันเดียวกัน (2 ม.ค.) ไพศาล พืชมงคล อดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) และนักกฎหมาย โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก ‘Paisal Puechmongkol’ ระบุที่ประธานวุฒิสภาระบุว่า ส.ว.แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มแล้ว แต่ ไพศาล ระบุว่ายังมีมากกลุ่มกว่านั้น แบ่งเป็น

กลุ่มแรก กลุ่ม ส.ว.เลือกตั้ง 50 คน ที่อาศัยเครือข่ายบ้านใหญ่ ก็ถูกนักการเมืองบ้านใหญ่ดึงไปเป็นพวกโดยเฉพาะเพื่อไทยและภูมิใจไทย

กลุ่มสอง กลุ่มแป๊ะอีกราว 20 กว่าคนที่แบ่งเลือกข้างกันแล้ว

กลุ่มสาม กลุ่มข้าราชการประจำ ประเภทผู้บัญชาการเหล่าทัพ อีก 6 คน ถ้าพูดอะไรในวันไหนเสียงก็จะดังกว่าใครในวันนั้น

ไพศาล ยืนยันว่า ฐานที่เป็นตัวตั้ง ส.ว. 250 คน ไม่เหมือนปี 2562 อีกแล้วทำให้อำนาจต่อรองที่จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี ของพลเอกประยุทธ์ฮวบลงทันที โดยที่ ฐาน ส.ว. ของ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ที่กลุ่ม วปอ .50 และรุ่นพี่รุ่นน้องรวมทั้งสายป๋าเปรม (พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์) บางส่วน มีจำนวนน้อยกว่าฐาน ส.ว.สาย ลุงปัอม (พล.อ.ประวิตร) ซึ่งมีฐานระดับ 100 คน จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศจึงแห่กันเข้าเยี่ยมอวยพรพล.อ.ประวิตรชนิดหัวบันไดไม่แห้ง

ส.ว. แต่งตั้ง กับการรัฐประหาร (ที่มา https://prachatai.com/journal/2019/05/82524)

เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2565 พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผอ.หลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)  กล่าวในรายงาน The Politics ข่าวบ้านการเมือง ทางยูทูบช่วง 'matichon tv' ว่า ส.ว.ไม่ได้มีองค์ประกอบแต่เฉพาะกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่เข้มข้น แต่จะมีอนุรักษ์นิยมเชิงปฏิบัติอยู่ด้วย ซึ่งกลุ่มนี้จะไปกับพล.อ.ประวิตร กลุ่มหนึ่งที่มีการเช็คเสียงกันอยู่ที่ 70-100 เสียง ส่วนกลุ่มอนุรักษ์นิยมเข้มข้นอยู่ที่ 100 เสียง นอกจากนี้ยังมีพวกอิสระหรือไม่แน่นอนประมาณสัก 30 เสียง

หากมีการแข่งขันกันระหว่าง พล.อ.ประวิตรกับพล.อ.ประยุทธ์นั้น พิชาย กล่าวว่า ซีกหนึ่งอาจสนับสนุนพล.อ.ประวิตร อีกซีกสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์

แต่หาก อนุทิน ชาญวีรกูล (หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย) เป็นนายกฯ มาแทน พล.อ.ประยุทธ์ ก็โน้มน้าว ส.ว.สายตนเองให้สนับสนุน อนุทิน ก็มีความเป็นไปได้ที่ ส.ว.อนุรักษ์นิยมเข้มข้นจะมาสนับสนุน แต่อีกส่วนก็สนับสนุนพล.อ.ประวิตร ขณะที่พรรคเพื่อไทยเสนอ แพทองธาร ชินวัตร อาจเป็นไปได้ที่ยังไม่ได้ข้อสรุปในรอบแรก อาจมาคุยกันต่อดีลกันใหม่ว่าใครใครจะสนับสนุนใครให้เป็นนายกฯ จากนั้นก็อาจเป็นไปได้ที่พรรคเพื่อไทยจะสนับสนุน พล.อ.ประวิตร

ส.ว.เสรี ชี้น้ำบ่อไหนมันก็ไหลไปบ่อนั้น

ขณะที่ เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้สัมภาษณ์กับทาง PPTV HD 36 ซึ่งเผยแพร่วันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา https://www.facebook.com/PPTVHD36/videos/2076958969161327/ โดย เสรี ยืนยันว่า ส.ว.สาย พล.อ.ประยุทธ์ กับสาย พล.อ.ประวิตร มีจริง ทั้งที่พูดกันแล้วปรากฏ

เสรี สุวรรณภานนท์ (แฟ้มภาพ)

"สายใครเยอะกว่า ถ้าในปัจจุบันสายนายกฯ เยอะกว่า" 

เสรี กล่าวเปรียบเทียบ ส.ว.สาย พล.อ.ประยุทธ์ กับสาย พล.อ.ประวิตร โดยระบุว่า หากคะแนนแตกมันก็ไม่ใช่ตัวตัดสินเสียทีเดียว

กรณีที่พรรคเพื่อไทยสามารถรวมเสียงได้มากกว่า 250 เสียงนั้น ส.ว.จะไปทางไหน เสรี ตอบว่าไม่สามารถตอบแทน ส.ว.ทั้งหมดได้ แต่แนวโน้มน้ำบ่อไหนมันก็ไหลไปบ่อนั้น อยู่บ่อไหนก็ไปบ่อนั้น แนวโน้มก็ไปทาง พล.อ.ประวิตร และพล.อ.ประยุทธ์ เนื่องจากที่มาของ ส.ว.เป็นอย่างนั้น

"ไม่ได้ฝืนอะไรเลย คำว่ามหาชนคือลงคะแนนเลือก แต่ถามว่าได้เกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภาไหม มหาชนก็จะอยู่ระดับหนึ่ง แต่องค์ประกอบตามรัฐธรรมนูญก็เป็นเงื่อนไขอีกแบบหนึ่ง ผมก็ว่ามันอยู่ที่ ส.ว.จะตัดสินใจอย่างไร" เสรี ตอบคำถามหากประชาชนเลือกพรรคฝ่ายค้านจนได้เสียงในสภามากกว่า

เสรี กล่าวว่า แม้จะเป็นไปได้ที่ฝ่ายค้านจะรวมตัวกันได้ ส.ว.จะลงคะแนนให้ แต่โอกาสที่จะเกิดนั้นยาก โดยย้ำว่าโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาลนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับเสียงของ ส.ส.และ ส.ว. แต่ที่บอกว่ามาทาง พล.อ.ประวิตร และพล.อ.ประยุทธ์ นั้น แต่หากเสียง ส.ส.ได้น้อย แม้ตั้งรัฐบาลได้ก็อยู่ไม่ได้เพราะว่าในสภาเป็นตัวกำหนดทิศทางการบริหารประเทศเหมือนกัน เพราะจะต้องใช้เสียงในสภาในการกำหนดแก้ปัญหาไม่ว่าจะออกกฎหมายสำคัญ อย่างงบประมาณหรือกฎหมายอื่นๆ ที่จะต้องเป็นนโยบายในการบริหารประเทศ หากเสียง ส.ส.ไม่เกิน 250 เสียง รัฐบาลก็อยู่ไม่ได้

"ถ้าเกินก็ต้องมาคุยกัน" เสรี ตอบคำถามกรณีหากพรรคเพื่อไทยได้แลนสไลด์เกิน 250 เสียง โดย เสรี กล่าวด้วยว่า ต้องเข้าใจว่า ส.ว.ไม่ใช่พรรคร่วมรัฐบาล แต่ ส.ว.เข้ามาทำหน้าที่แก้ปัญหาวิกฤตของประเทศในช่วง 5 ปีนี้ ดังนั้นจะเลือกพรรคเพื่อไทยหรือไม่นั้น ตนไม่สามารถตอบแทนได้

"เสียงของ ส.ว.เป็นตัวตั้ง เมื่อเป็นตัวตั้งแล้วพรรคการเมืองอื่นๆ หากอยากเป็นรัฐบาลก็ต้องมาทาง ส.ว." เสรี กล่าว พร้อมระบุว่า หากแลนด์สไลด์จริงๆ ในกลุ่มที่จะเอาชนะ ส.ว.ได้ ต้องรวมแล้วเกินกว่า 375 เสียง ที่เป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะไม่ให้คะแนนเสียงของ ส.ว.มีผล

Nation Insight ประเมิน ประยุทธ์ 140 ประวิตร 80 อิสระ 30-50

เมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา รายการ Nation Insight ประเมิน ส.ว.ออกเป็น 3 กลุ่มคือ 1. กลุ่ม พล.อ.ประยุทธ์มี 140 เสียง 2. กลุ่ม พล.อ.ประวิตรมี 80 เสียง 3. กลุ่มอิสระมี 30-50 เสียง สำหรับการประเมินนั้นพิจารณาจากการโหวตครั้งที่ผ่านๆ มาของ ส.ว. รวมทั้งความใกล้ชิดกับ เพื่อนร่วมรุ่น ตท.6 ของ พล.อ.ประวิตร และเพื่อน ตท.12 สาย พล.อ.ประยุทธ์ ขณะที่กลุ่มอิสระ 30-50 เสียงนั้น รวม 23 คน ที่โหวตปิดสวิตช์ตัวเอง เมื่อวันที่ 7 ก.ย.65 ที่คาดว่าน่าจะโหวตนายกฯไปตามกระแสเลือกตั้งเสียงข้างมากของ ส.ส.หรือประชาชน 

อย่างไรก็ตามหาก พล.อ.ประยุทธ์กับพล.อ.ประวิตร ไม่ได้ไปด้วยกัน ดังนั้น หาก พล.อ.ประยุทธ์ ที่มี 140 ส.ว. แล้ว ส.ส. ได้ 185 เสียง จากการประเมินคือ พรรครวมไทยสร้างชาติ 40 เสียง พรรคภูมิใจไทย 80 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา 15 เสียง และพรรคประชาธิปัตย์ 50 เสียงนั้น ยังได้ได้แค่ 325 เสียง ทำให้ยังขาดอีก 50 เสียงขึ้นไปถึงจะได้มากกว่า 375 เสียงด้วย

งูเห่า ฝากเลี้ยง แจกกล้วย ยุบพรรค เงื่อนไขเสริมพลัง ส.ว.พลิกเจตจำนงประชาชน

ดังนั้นแม้พรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 แต่ช่วงรอจัดตั้งรัฐบาลก็เป็นไปได้ที่จะดึงดูดจากพรรคอื่นๆ โดยเฉพาะพรรคฝ่ายค้านเข้ามา รวมไปถึงใช้กลไกอื่นๆ ในการบีบบังคับ อย่างเช่น ยุทธพร อิสรชัย รองศาสตราจารย์และอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช  ให้สัมภาษณ์กับทางมติชนทีวี เมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา ว่า หากฝ่ายค้านได้คะแนนเสียงเกิน 250 ขึ้นไป ไม่ว่ากรณีที่พรรคเพื่อไทยได้แลนสไลด์ขึ้นมา หรือพรรคเพื่อไทยรวมกับพรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทยและพรรคฝ่ายค้านในปัจจุบันได้คะแนนเกิน 250 จะทำให้รัฐบาลที่นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยหรือไม่ แม้จะเกิดได้จากการเลือกของ ส.ว.ก็ตาม แต่ต้องไม่ลืมว่าการเมืองไทยมันมีความไม่ปกติอยู่มาก เช่น มีเรื่องของงูเห่า เรื่องฝากเลี้ยง เรื่องแจกกล้วยและอาจมีเรื่องยุบพรรคหลังเลือกตั้ง ดังนั้นตรงนี้จึงไม่ใช่ปัญหาหากจะให้ ส.ว.มาโหวตเลือกรัฐบาลเสียงข้างน้อย

ยุทธพร ยืนยันว่า ปรากฏการณ์พวกนี้เป็นสิ่งที่เคยเห็นมาแล้ว ทั้งการยุบพรรคก็มีแล้วหลังการเลือกตั้งปี 62 เรื่องงูเห่า ฝากเลี้ยง แจกกล้วยก็มี ดังนั้นสิ่งเหล่านี้จึงเป็นไปได้ ทำให้พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ แม้จะได้เพียง 50-60 ที่นั่งก็จะจัดตั้งรัฐบาลได้ก็เป็นไปได้

ยุทธพร ชี้ด้วยว่า เงื่อนไขในการจัดตั้งรัฐบาลกับเงื่อนไขในการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 60 นั้น ถูกทำให้แยกส่วนออกจากกันไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน ขณะที่ในอดีตมันเป็นเนื้อเดียวกัน พรรคไหนที่ได้รับเลือกมาเป็นอันดับ 1 ก็ถือว่าเสียงประชาชนสนับสนุนพรรคนั้นจะได้จัดตั้งรัฐบาล หากจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ก็มาดูพรรคอันดับ 2 แต่รัฐธรรมนูญ 60 มันกลับแยกส่วน เงื่อนไขในการจัดตั้งรัฐบาลมี 2 ข้อเท่านั้น 1. ต้องให้พรรคนั้นได้ 25 ที่นั่ง หรือ 5% จาก 500 ที่นั่ง 2. ต้องสามารถฝ่าด่าน ส.ว.ให้ได้ หากมาตรา 272 ยังอยู่ ซึ่งต้องฝ่าใน 2 ลักษณะคือ 1. ได้รับการยอมรับจาก ส.ว. 2. คือแลนด์สไลด์ หรือไม่ก็ปิดสวิตช์ ส.ว. ไปเลย ซึ่งในรูปแบบที่ 2 เป็นเรื่องที่ยาก แต่รูปแบบที่ 1 นั้นเป็นสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้เปรียบในการจัดตั้งรัฐบาล นี่เป็นสิ่งที่สะท้อนมาจากกลไกตามรัฐธรรมนูญ 60 ที่ทำให้กลไกรัฐสภาบิดเบี้ยวไม่สะท้อนเจตจำนงของประชาชน ประชาชนอยากให้พรรคหนึ่งเป็นรัฐบาล แต่กลับเป็นอีกพรรคที่ได้เป็นรัฐบาล ดังนั้นวันนี้ยุทธศาสตร์ที่น่าสนใจอันหนึ่งคือเรื่องปิดสวิตช์แคนดิเดทให้ได้ก่อน หากไม่อยากให้ใครเป็นแคนดิเดทก็ไม่ต้องไปเลือกให้ถึง 25 ที่นั่ง

ที่มาจากคำถามที่คลุมเครือ แต่พอจะปิดสวิตช์ ส.ว. 6 ครั้ง ไม่เคยผ่าน

คำถามพ่วงตอนทำประชามติรัฐธรรมนูญ เป็นที่มาของอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ

รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เป็นที่มาของความบิดเบี้ยวของระบบรัฐสภานี้ ซึ่ง ส.ว.ที่อาศัยอำนาจตรงนี้เพื่อโหวตนายกฯ นั้นก็มักอ้างความชอบธรรมมาจากคำถามพ่วงจากการทำประชามติ ทีเป็นคำถามคลุมเครือ ซับซ้อน ยังไม่รวมกับกระบวนการทำประชามติที่มีปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรม มีการจำกัดเสรีภาพของผู้รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวด้วย แต่อย่างไรก็ตามความน่าสนใจคือ ที่ผ่านมามีความพยายามแก้ไขมาตรา 272 ทั้งจากพรรคการเมืองและภาคประชาชน มี ส.ว.จำนวนหนึ่งออกมาสนับสนุนการแก้ดังกล่าว หรือเรียกว่า ปิดสวิตช์ส.ว.

ผู้เสนอ

คะแนนเสียงรัฐสภา

คะแนนเสียง ส.ว.

1. พรรคร่วมฝ่ายค้าน (17 พ.ย.63)

268

65

2. ภาคประชาชน iLaw (17 พ.ย.63)

212

3

3. พรรคร่วมฝ่ายค้าน (23 มิ.ย.64)

455

15

4. พรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย (23 มิ.ย.64)

461

21

5. ภาคประชาชน Resolution (16 พ.ย.64)

206

3

6. ภาคประชาชน No 272 (7 ก.ย.65)

356

23

7. พรรคเพื่อไทย (16 ธ.ค.65 ยื่นต่อประธานสภาฯ)

-

-

เทียบคะแนนการโหวตปิดสวิตช์ ส.ว. 6 ครั้งที่ผ่านมา โดยครั้งที่ 7 นั้น พรรคเพื่อไทยได้ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ไปเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2565  และ  iLaw ระบุว่าถูกบรรจุในวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภาแล้ว แต่ยังไม่ถึงคิวได้พิจารณา ขณะที่สภาชุดนี้ก็กำลังจะปิดสมัยประชุมในเดือนกุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้แล้ว ในส่วน 'คะแนนเสียงรัฐสภา' ต้องได้เกินกึ่งหนึ่ง หรือราว 376 เสียงขึ้นไป ส่วน 'คะแนนเสียง ส.ว.' นั้นต้องได้ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง

โดยครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ก.ย.2565 เป็นร่างที่ สมชัย ศรีสุทธิยากร พร้อมคณะจากคณะรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 เป็นผู้นำเสนอ  ผลจากการลงมติก็ยังไม่ผ่านเหมือนเดิม มี ส.ว.ออกเสียงรับหลักการเพียง 23 เสียง ขณะที่ ส.ส.ออกเสียงรับหลักการรวม 333 เสียง ส.ส.ที่ไม่รับหลักการ 102 เสียง ส.ว.ที่ไม่รับหลักการ 151 เสียง ส.ส. งดออกเสียง 8 เสียง ส.ว. งดออกเสียง 45 เสียง

สำหรับ ส.ว. 23 เสียงที่โหวตปิดสวิตช์ตัวเองครั้งล่าสุด (เมื่อวันที่ 7 ก.ย.65) ประกอบด้วย 1. กาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ 2. ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ 3. คำนูณ สิทธิสมาน 4.พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา 5. เฉลิมชัย เฟื่องคอน 6. เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ 7. ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ 8. เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ 9. บรรชา พงศ์อายุกูล 10. ประภาศรี สุฉันทบุตร 11. ประมนต์ สุธีวงศ์ 12. ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ 13. พรทิพย์ โรจนสุนันท์ 14. พิศาล มาณวพัฒน์ 15. มณเฑียร บุญตัน 16.พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช 17. วันชัย สอนศิริ 18. วัลลภ ตังคณานุรักษ์ 19. สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ 20. สุวัฒน์ จิราพันธ์ 21.พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว 22. อนุศาสน์ สุวรรณมงคล และ 23. อำพล จินดาวัฒนะ

อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแค่ประเด็น ม.272 เท่านั้นที่แก้รัฐธรรมนูญ 6 ครั้ง ไม่เคยผ่านด่าน ส.ว. เลย iLaw ยังได้รวบรวมสถิติ 26 ประเด็นข้อเสนอ 26 ข้อเสนอ โดยมาจากทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และภาคประชาชนที่ร่วมกันล่ารายชื่อเพื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเอง แต่จนแล้วจนรอด ส.ว. ก็ยังทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  ได้อย่างแข็งขัน ปัดตกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกือบทั้งหมด ผ่านได้เพียงแค่ร่างเดียวคือข้อเสนอแก้ไขระบบเลือกตั้งที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ที่ผ่านเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญว่าต้องได้เสียง ส.ว. 1 ใน 3 ของ 250 คนหรือ 84 คนเป็นอย่างน้อย (ดูตามภาพจาก iLaw ด้านล่าง)

 

‘ปฏิรูปประเทศ’ ใกล้สำเร็จแล้ว  อำนาจ ส.ว.ส่วนนี้จึงไม่จำเป็นอีกต่อไป

หนึ่งใน ส.ว. ที่โหวตสนับสนุนการปิดสวิตช์อำนาจตัวเองคือ คํานูณ สิทธิสมาน ให้สัมภาษณ์กับโมเมนตัม ชี้ถึงอำนาจของ ส.ว. โดยอ้างถึงคำถามพ่วงตอนทำประชามติรับ/ไม่รับรัฐธรรมนูญ ไว้น่าสนใจ โดย คำนูณ ระบุว่า แผนการปฏิรูปประเทศของรัฐบาล คือการให้อำนาจพิเศษกับ ส.ว. ผ่านมาตรา 270 และมาตรา 272 ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งมาตรา 270 ระบุว่าให้สมาชิกวุฒิสภาติดตามเร่งรัดแผนการปฏิรูปประเทศ โดยกำหนดให้คณะรัฐมนตรีเข้ามารายงานกับรัฐสภาทุก 3 เดือน

“และในเมื่อมาตรา 270 นั้นให้อำนาจพิเศษพวกเราในการเป็นองครักษ์พิทักษ์การปฏิรูปประเทศแล้ว ทำไมไม่ให้อำนาจพวกเราเลือกผู้นำของประเทศด้วยล่ะ ทั้งหมดเป็นที่มาของอำนาจในมาตรา 272 และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผมยืนยันว่าผมซื่อสัตย์ต่อภารกิจนี้ และพยายามอย่างเต็มที่ในการพิทักษ์การปฏิรูปประเทศ”

คํานูณ สิทธิสมาน

อย่างไรก็ตาม คำนูณกล่าวว่าเมื่อไม่นานมานี้ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศออกมาเปิดเผยว่าภารกิจในการปฏิรูปประเทศใกล้จะสำเร็จแล้ว รวมทั้งในปัจจุบันก็มีหน่วยงานที่คอยติดตามดูแลประเด็นด้านการปฏิรูปประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลที่ต้องคงไว้ซึ่งอำนาจของ ‘องครักษ์พิทักษ์การปฏิรูปประเทศ’ หรือ ส.ว. อีกต่อไป

  • ‘โรม’ ชี้ปัญหา สตท.หญิง สะท้อน คุณสมบัติ สว.แล้ว - คำนูณ หนุนแก้ ม.272 แจงไม่จำเป็นต้องคงไว้ https://prachatai.com/journal/2022/09/100395
  • ‘เพื่อไทย’ ชง ‘ตัดอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ’ เสนอร่างแก้ไข รธน. ม. 272 คาด ได้พิจารณาในสมัยประชุมนี้ https://prachatai.com/journal/2022/12/101890
  • ‘ส.ว.มณเฑียร’ รับหลังเลือกตั้งครั้งหน้าจะไม่ใช้สิทธิโหวตนายกฯ แล้ว https://prachatai.com/journal/2022/09/100658

คำนูน ยังย้ำในการอภิปรายเมื่อต้น ก.ย. ที่รัฐสภาพิจารณาร่างฯ ของ คณะรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 ด้วยว่า ส่วนตัวเห็นด้วย และจะลงมติเห็นชอบให้มีการแก้ไขมาตรา 272 แต่ตนมีเหตุผลที่มาจากคำถามพ่วงในประชามติ เมื่อวันที่ 7 ส.ค.2559 ที่ระบุโดยสรุปว่า ให้ ส.ว.เข้ามาปฏิบัติภารกิจพิเศษคือการติดตาม ตรวจสอบ เร่งรัดปฏิรูปประเทศในช่วงระยะเวลา 5 ปี ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติฉะนั้นไม่ใช่จู่ๆ ก็ขออนุญาตประชาชนให้ ส.ว.ไปร่วมเลือกนายกฯ

"มาตรา 272 ในเมื่อกำหนดให้ ส.ว.มาทำหน้าที่องค์รักษ์พิทักษ์การปฏิรูปประเทศ ทำไมไม่ให้โอกาสเขาร่วมเลือกผู้นำที่จะมาทำการปฏิรูปด้วย ซึ่งมันสอดคล้องกับคำถามพ่วง"

"ผมเป็นหนึ่งใน 56 เสียง ส.ว.ที่ลงมติเห็นชอบในการตัดมาตรา 272 ออกไปเมื่อช่วงเดือน พ.ย.2563 แต่ขณะนี้ 2 ปีผ่านไป ผมรับทราบด้วยความตระหนักว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ครั้งที่ 2/2565 ได้สรุปว่า นับจากนี้ไปถึงเวลาที่จะสิ้นสุดแผนการปฏิรูปประเทศในช่วงสิ้นปี 2565 แล้ว จะไม่มีแผนปฏิรูปชุดต่อไป หรือคณะกรรมการปฏิรูปฯ แต่งตั้งใหม่ การรายงานแผนปฏิรูป 3 เดือนสุดท้ายของปี 65 จะเป็นฉบับสุดท้าย การปฏิรูป 5 ปีที่ผ่านมาจะเสร็จในเดือน เม.ย.2566 และทางสภาพัฒน์ฯ ได้สรุปรายงานว่าทั้งหมดได้บรรลุเป้าหมายทุกประการแล้ว" คำนูณ กล่าว และย้ำว่าขั้นตอนต่อจากนี้เหลือเพียงขึ้นตอนการออกเป็นมติ ครม.เพื่อสั่งการ แล้วต้องเข้ามาสู่การพิจารณายกเลิกอำนาจ ส.ว.ตามมาตรา 272 จะให้ตนมีความเห็นเป็นอื่นได้อย่างไร

“ในเมื่อฐานแห่งคำถามประชามติที่ขออนุญาตพี่น้องประชาชนเพียงเฉพาะกิจเฉพาะกาลเพียงชั่วคราวเท่า 5 ปี ของอายุวุฒิสภาชุดกระผมนี้มันกำลังจะหมดไปก่อนกำหนดอายุวุฒิสภาชุดแรก 5 ปีนี้ เหลืออยู่อีกปีเศษๆ กระผมจึงเห็นว่า ผมเห็นชอบที่จะให้มีการแก้ไขมาตรา 272 ตามร่างที่ท่านสมชัย ศรีสุทธิยากรแล้วก็พี่น้องประชาชนเสนอมา” คำนูณ กล่าว

ขณะที่ มณเฑียร บุญตัน 1 ใน ส.ว. 23 คนที่เลือกโหวตตัดอำนาจเลือกนายกฯ ของ ส.ว.ครั้งล่าสุด ยืนยันกับประชาไทด้วยว่าหลังการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้เขาเลือกจะไม่ใช้อำนาจตามมาตรา 272 ที่ให้ ส.ว.เลือกนายกฯ แล้ว เพราะไม่มีความจำเป็นต้องใช้แล้ว รัฐบาลก็บอกเองว่าหลังเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาก็ได้เสียงเกินอยู่แล้วไม่ต้องมีเสียง ส.ว. มณเฑียร ยืนยันมาตลอดว่ารัฐธรรมนูญต้องแก้ได้และเขาจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการแก้รัฐธรรมนูญ

แม้มีกระแสเรียกร้องให้ ส.ว.งดออกเสียงในการเลือกนายกฯ ปี 66 นี้ แต่ประธานวุฒิสภากลับระบุว่าให้เป็นไปตามดุลยพินิจของสมาชิกนั้น พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล กล่าวไว้เมื่อวันที่ 3 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่เผยแพร่ทางไทยรัฐออนไลน์ไว้น่าสนใจว่า ท่าทีของ ประธานวุฒิสภาดังกล่าว  แสดงให้เห็นถึงการละเว้นไม่พูดถึงสาระสำคัญของปัญหา เพราะแม้ ส.ว. จะเหลือวาระอีกไม่นาน แต่ระยะเวลาที่เหลือนั้น คาบเกี่ยวกับการเลือกตั้งในปี 2566 ทำให้ ส.ว. ยังคงสามารถแทรกแซงกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรี และการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ซึ่งอาจส่งผลไปอีก 4 ปี ตามวาระรัฐบาลใหม่ ซึ่ง ส.ว. ไม่ควรเลือกนายกรัฐมนตรีตามความเชื่อของตนเอง แต่ควรเลือกจากบุคคลที่ได้รับการสนับสนุนจากเสียงส่วนใหญ่ของ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง หากต้องการให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยที่เคารพเสียงของประชาชนที่แสดงออกผ่านบัตรเลือกตั้งจริงๆ

พริษฐ์ ยังกล่าวต่อไปว่า หาก ส.ว.อยากเห็นประเทศเดินหน้าตามวิถีประชาธิปไตย ที่เคารพ 1 สิทธิ 1 เสียงของประชาชนในการเลือกตั้ง ส.ว. ควรจะต้องทำ 2 เรื่องในอนาคตอันใกล้นี้ ประกอบด้วย 1) ลงมติเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่พรรคเพื่อไทยได้ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ไปเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2565 เพื่อยกเลิกมาตรา 272 และปิดสวิตช์ตนเองก่อนการเลือกตั้ง และ 2) ออกมายืนยันกับประชาชนก่อนการเลือกตั้ง หากพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ทัน ว่า ส.ว. พร้อมจะลงมติสนับสนุนนายกรัฐมนตรีที่ได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่าจะเป็นใคร หรือมาจากพรรคไหน และจะไม่เข้ามาแทรกแซงกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ไม่อนุญาตให้บุคคลหรือพรรคใดเอาเสียงของ ส.ว. ไปต่อรองในกระบวนการจัดตั้งรัฐบาล

พรรคเพื่อไทยได้ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ไปเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2565 เพื่อยกเลิกมาตรา 272

ซึ่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวของ พรรคเพื่อไทยได้ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ไปเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2565 เพื่อยกเลิกมาตรา 272 นั้น  iLaw ระบุว่าถูกบรรจุในวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภาแล้ว แต่ยังไม่ถึงคิวได้พิจารณา ขณะเดียวกันสภาชุดนี้ก็กำลังจะปิดสมัยประชุมในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 และยังไม่แน่ว่าจะมีการยุบสภาก่อนวันนั้นหรือไม่ โอกาสสุดท้ายที่จะทำให้การเลือกตั้งครั้งหน้าปราศจากอำนาจส.ว. ไม่แน่ว่าจะได้ลงมติกันหรือไม่ ยังต้องช่วยกันติดตามต่อไป

ท้ายที่สุดแล้วการมีอำนาจถึง 1 ใน 3 ในการโหวตเลือกนายกฯ ของ ส.ว. เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้การเมืองไทย อย่างที่ ยุทธพร นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ชี้ว่าเป็น “สิ่งที่สะท้อนมาจากกลไกตามรัฐธรรมนูญ 60 ที่ทำให้กลไกรัฐสภาบิดเบี้ยวไม่สะท้อนเจตจำนงของประชาชน” และเอื้อให้เกิดปรากฏการณ์ งูเห่า ฝากเลี้ยง แจกกล้วย ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยด้วย ประชาชนอยากให้พรรคหนึ่งเป็นรัฐบาล แต่กลับเป็นอีกพรรคที่ได้เป็นรัฐบาล

หมายเหตุ : มีการเพิ่มเนื้อหาส่วน Nation Insight ประเมิน เมื่อวันที่ 28 ม.ค.2566

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net