Skip to main content
sharethis

112Watch สัมภาษณ์ดาเนียล มูเนียร์ จ้าหน้าที่โครงการอาวุโสจากเครือข่ายนักวิชาการในภาวะเสี่ยง เกี่ยวกับผลกระทบของมาตรา 112 ต่อเสรีภาพทางวิชาการ พร้อมทั้งมาตรการช่วยเหลือ

20 ม.ค.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านามาเว็บไซต์โครงการ 112WATCH เผยแพร่บทสัมภาษณ์ ดาเนียล มูเนียร์ (Daniel Munier) เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโสจากเครือข่ายนักวิชาการในภาวะเสี่ยง (Scholars at Risk Network) เกี่ยวกับผลกระทบของมาตรา 112 ต่อเสรีภาพทางวิชาการ

ดาเนียล มูเนียร์ เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโสจากเครือข่ายนักวิชาการในภาวะเสี่ยง

โดยมีรรายละเอียดดังนี้

112WATCH: ประเมินสถานการณ์เกี่ยวกับเสรีภาพทางวิชาการในไทยอย่างไร โดยเฉพาะตั้งแต่มีเหตุการณ์รัฐประหารปี 2557?

ดาเนียล: จากข้อมูลและหลักฐานต่างๆที่เราเห็น ทำให้เกิดความน่ากังวลอย่างมากเกี่ยวกับเสรีภาพทางวิชาการในประเทศไทย โครงการเฝ้าสังเกตการณ์เสรีภาพทางวิชาการของเครือข่ายนักวิชาการในภาวะเสี่ยงได้รับเรื่องและลงบันทึกเกี่ยวกับการถูกคุความในระดับอุดมศึกษาถึง 56 ครั้ง ตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 ในประเทศไทย รายงานเหล่านี้รวมไปถึงการที่นักวิชาการและนักศึกษาถูกจับ ดำเนินคดี และ โดนลงโทษทางวินัยที่มีผลเนื่องมากจากการทำงานวิชาการและการแสดงออกในที่สาธารณะ ซึ่งโดยส่วนมากเป็นการแสดงออกเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ คณะรัฐประหาร สิทธิมนุษยชน และประเด็นสำคัญอื่นๆที่เกิดขึ้นในรอบวัน ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญของดัชนีชี้วัดเสรีภาพทางวิชาการ หรือ Academic Freedom Index (Afi) ชี้ให้เห็นว่าคะแนนด้านการเคารพเสรีภาพทางวิชาการของไทยลดลงอย่างมาก จาก 0.53 (เต็ม 1.00) ในปี 2556 ถึง 0.15 ในปี 2557 และ 0.13 คะแนนในปี 2564 เทียบกับบริบทนานาชาติ คะแนนดัชนีชี้วัดเสรีภาพทางวิชาการของไทยอยู่ใกล้เคียงกับหลายๆประเทศที่เราจะเห็นได้ว่ามีการคุกคามประชาธิปไตยและการควบคุมแวดวงวิชาการในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อย่างเช่น ฮ่องกง นิการากัว และตุรกี เป็นต้น ข้อมูลจากโครงการเฝ้าสังเกตการณ์ของเครือข่ายเราและดัชนีชี้วัดเสรีภาพทางวิชาการเป็นประโยชน์อย่างมากในการช่วยให้เราได้เข้าใจถึงการคุกคามที่หลากหลาย และเข้าใจว่าเสรีภาพทางวิชาการในไทยถูกคุกคามอย่างไร แต่ถึงอย่างนั้น เรายังคงต้องการการวิจัยเชิงคุณภาพที่ลึกกว่านี้ อย่างเช่น นักวิชาการและนักศึกษาในไทยคิดว่าพวกเขามีอะไรเป็นเส้นแบ่งว่างานวิจัย การทำวิจัย และวาทกรรมมันปลอดภัยหรืออันตราย, พวกเขากลัวผลกระทบอะไรที่จะตามมา, และ มีงานวิจัยกี่ชิ้นและชิ้นไหนบ้างที่ตกหล่นหรือถูกมองข้ามไป การวิจัยเพิ่มเติมในประเด็นเหล่านี้ไม่เพียงแค่ช่วยให้เราเข้าใจสถานการณ์ในพื้นที่ได้ดีขึ้น แต่ยังช่วยให้พันธมิตรในแวดวงวิชาการและภาคประชาสังคมรับรู้และช่วยเหลือคนที่ตกอยู่ภาวะที่เสี่ยงที่สุดได้ และยังสามารถปรับปรุงให้เกิดความเคารพต่อเสรีภาพทางวิชาการทั่วประเทศได้ด้วย

เนื่องจากกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นสาเหตุหลักของการละเมิดเสรีภาพของนักวิชาการที่ทำเรื่องไทยศึกษา เครือข่ายนักวิชาการในภาวะเสี่ยงมีความเห็นเกี่ยวกับข้อกฎหมายนี้อย่างไร?

กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทยเป็นกฎหมายที่บั่นทอนเสรีภาพทางวิชาการ และคุกคามสิทธิและสถานภาพของนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องประเทศไทยอย่างแท้จริง รวมไปถึงนักเรียนนักศึกษาและคนอื่นๆที่แสดงออกทางความคิดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ผ่านการชุมนุมโดยสันติ สื่อสังคมออนไลน์ และช่องทางอื่นๆก็เช่นกัน กฎหมายนี้ได้ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางและมีบทลงโทษที่รุนแรงสำหรับนักวิชาการและนักศึกษา ยกตัวอย่างกรณีของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ที่ถูกตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจากการที่เขาได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำศึกของพระนเศวรในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 (พ.ศ. 2044-2143) ในงานเสวนาที่จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นี่อาจจะดูเหมือนเป็นตัวอย่างที่สุดโต่ง แต่ก็แสดงให้เห็นว่าขอบเขตของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมันครอบคลุมได้กว้างแค่ไหน พูดให้ตรงประเด็นมากขึ้นคือ สถาบันกษัตริย์นั้นมีความสำคัญต่อสังคมไทยส่วนใหญ่อย่างไม่ต้องสงสัย แต่สถาบันไม่สามารถอยู่เหนือการตรวจสอบเชิงวิชาการ การวิพากษ์วิจารณ์ หรือการแสดงความคิดเห็นได้ และนี่ก็คือสิ่งที่ทำให้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นกฎหมายที่มีปัญหาและต้องได้รับการปฏิรูป

มาตรการช่วยเหลือนักวิชาการที่โดนตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมีอะไรบ้าง?

การสนับสนุนในทางสาธารณะน่าจะมีความหมายอย่างมากสำหรับนักวิชาการที่ถูกคุกคามจากกฎหมายข้อนี้ ลองสมมติว่าถ้านักวิชาการที่ถูกคุกคามยินดีและคิดว่าเขาจะได้ประโยชน์จากการสนับสนุนในทางสาธารณะ ผู้ที่สนับสนุนทั้งในและนอกประเทศก็ควรที่จะยืนหยัดและแสดงความเป็นน้ำหนึ่งน้ำใจเดียวกับพวกเขา ผู้สนับสนุนควรจะต้องรับรู้ในทางสาธารณะว่าการแสดงออกและการใช้เสรีภาพทางวิชาการนั้นได้รับการปกป้องบนมาตรฐานของสิทธิมนุษยชนสากล และการละเมิดเสรีภาพทางวิชาการนั้นเป็นภัยต่อคุณภาพการศึกษา ผู้สนับสนุนยังสามารถคิดถึงการยื่นคำร้องต่อองค์กรนานาชาติอย่างเช่น สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) เพื่อแจ้งองค์กรได้รับรู้ถึงการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในการทำลายเสรีภาพทางวิชาการ และขอให้องค์กรนานาชาติเข้ามาแทรกแซง สถาบันการศึกษานานาชาติที่มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับชุมชนนักวิชาการไทย รวมไปถึงสถาบันที่เป็นพาร์ทเนอร์อย่างเป็นทางการอาจจะช่วยกระจายเรื่องนี้ออกไปในพื้นที่สาธารณะ และพื้นที่ปิดอย่างภาครัฐและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในภาคการศึกษา ย้ำถึงความกังวลว่าการคุกคามเช่นนี้เป็นการบั่นทอนสภาพแวดล้อมที่จำเป็นต่อการผลิตงานวิชาการ การตอบโต้เหล่านี้สำคัญและมักเป็นสิ่งจำเป็น แต่พวกเรายังต้องคิดว่าอะไรจะเป็นมาตรการระยะยาวและมาตราการเชิงรุกที่จะป้องกันนักวิชาการและนักศึกษาจากการโดนคุกคามแบบนี้ตั้งแต่แรก รวมไปถึงการอบรบและการทำแคมเปญส่งเสริมความตระหนักรู้เรื่องเสรีภาพทางวิชาการ การออกรายงานอย่างสม่ำเสมอเกี่ยวกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น และการหารือเกี่ยวกับเงื่อนไขของเสรีภาพทางวิชาการ

เทียบสถานการณ์ในไทยกับประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไร และเครือข่ายฯ มีนโยบายต่อกรณีที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศอย่างไร?

สถานการณ์ในไทยสร้างความน่ากังวลอย่างมาก จากรายงานการโดนคุกคามในระดับอุดมศึกษาที่โครงการเฝ้าสังเกตของเครือข่ายนักวิชาการในภาวะเสี่ยงได้รับแจ้ง และความเคารพต่อเสรีภาพทางวิชาการของไทยก็ต่ำสุดเป็นอันดับสามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (รองจากเมียนมาร์ และลาว) อ้างอิงจากดัชนีชีวัดเสรีภาพทางวิชาการ (Academic Freedom Index) ในขณะเดียวกันเราควรตระหนักว่าแต่ละประเทศในภูมิภาคนี้ก็มีการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการที่น่ากังวลในแบบของตนเอง ตั้งแต่นักวิชาการและนักศึกษาพม่าถูกจับกุมในการชุมนุมต่อต้านรัฐประหารปี 2564 ไปจนถึงกฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ITE Law) ที่เข้มงวดของอินโดนีเซีย สำหรับเครือข่ายนักวิชาการในภาวะเสี่ยง แนวทางประเทศต่อประเทศของเราขึ้นอยู่กับข้อมูลและความร่วมมือที่ได้รับจากสมาชิกของสถาบันการศึกษาในท้องถิ่น ในเมียนมาร์ แนวทางหลักๆของเราอยู่ที่ความจำเป็นเร่งด่วนในการเรียกความสนใจไปที่การปราบปรามบุคลากรในระดับอุดมศึกษาของกองทัพ และให้ความช่วยเหลือนักวิชาการในภาวะเสี่ยงที่จำเป็นต้องอพยพชั่วคราว สำหรับอินโดนีเซีย เมื่อไม่นานมานี้ เราได้ร่วมมือกับสมัชชาอินโดนีเซียเพื่อเสรีภาพทางวิชาการ หรือ Indonesia Caucus for Academic Freedom (KIKA) ในการยื่นรายงานและข้อเรียกร้องให้อินโดนีเซียเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับกฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน หรือ Universal Periodic Review (UPR) ในขณะที่ประเด็นหลักและแนวทางการตอบสนองอาจจะแตกต่างกัน แต่ชุมชนนักวิชาการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนวทางการรับมือต่อแรงกดดัน และพัฒนาความร่วมมือในหมู่คนที่ต้องการปกป้องเสรีภาพทางวิชาการในภูมิภาคนี้ได้

คิดว่าสหรัฐฯทำงานร่วมกับทางไทยมากพอหรือไม่เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เข้มข้น?

ในขณะที่ผมไม่สามารถให้ความเห็นต่อภาพรวมของท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯได้ พวกเราก็อยากจะสนับสนุนให้อเมริกาและประเทศอื่นๆที่ให้คุณค่าในเสรีภาพทางวิชาการและการศึกษานำประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไปเป็นประเด็นแรกๆในตอนที่ต้องสื่อสารกับรัฐบาลไทย กระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (UPR) ก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่รัฐบาลสามารถ และควรที่จะนำเรื่องนี้ไปเสนออย่างสม่ำเสมอ แต่รัฐบาลก็ควรที่จะหารือเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและเสรีภาพทางวิชาการในระดับทวิภาคีโดยทั่วไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเด็นสิทธิมนุษยชน การศึกษาและการพัฒนา และความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ถูกนำมาพูดถึง รัฐทุกรัฐควรเตรียมพร้อมและอยากที่จะผลักดันประเด็นนี้ร่วมกับประเทศไทย เช่นเดียวกับที่รัฐต่างๆนั้นพร้อมที่จะส่งเสริมเสรีภาพทางวิชาการในบ้านของตน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net