Skip to main content
sharethis

ศาลอาญานัดตรวจพยานหลักฐานทุนมินลัต นักธุรกิจใหญ่ที่มีสายสัมพันธ์กับ ‘มินอ่องลาย’ ผู้นำรัฐบาลทหารพม่า และพวก จำเลยระบุไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเงินยาเสพติด เพียงแต่ติดหางเลขจากระบบจ่ายเงินข้ามแดน ด้านตำรวจมือจับกุมถูกย้ายจากนครบาลไปอยู่ จ.ชัยภูมิ

(ใส่สูท ที่สองจากขวามือ) ทุนมินลัตในนิทรรศการการกลาโหมและความมั่นคง พ.ศ. 2652 ที่กรุงเทพฯ โดยยืนร่วมอยู่กับคณะทหารจากพม่าและ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย (ที่สองจากซ้ายมือ) ที่มาภาพ: Senior General Min Aung Hlaing/Government of Myanmar

23 ม.ค. 2565 ศาลอาญารัชดาภิเษกนัดพร้อมและนัดตรวจพยานหลักฐานในคดีดำที่ ย.1249/2565 ที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้องทุนมินลัตและจำเลยรวม 5 ราย ในความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ

ผู้สื่อข่าวที่เข้าสังเกตการณ์การพิจารณาคดีรายงานว่า มีการเบิกตัวจำเลยที่ 1-4 ที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีอยู่ในเรือนจำ ได้แก่ ทุนมินลัต ดีน ยัง จุลธุระ  น้ำหอม เนตรตระกูล และปิยะดา คำต๊ะ ตามลำดับ ส่วนจำเลยที่ 5 เป็นนิติบุคคลชื่อบริษัทอัลลัวร์ กรุ๊ป พีแอนด์อี ซึ่งเป็นบริษัทคู่สัญญากับการไฟฟ้าท่าขี้เหล็กในการนำเข้าไฟฟ้าจากประเทศไทย โดยมีจำเลยที่ 1 และ 3 เป็นกรรมการที่มีอำนาจแทน

ทุนมินลัตและดีนปรากฏตัวในชุดผู้ต้องขังพร้อมกุญแจเท้า เบื้องต้น จำเลยทุกคนให้การปฏิเสธ โดยระบุว่าไม่รู้เห็นเรื่องการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และไม่รู้จักผู้กระทำผิดในคดียาเสพติดทั้งเจ็ดคดีที่นำมาสู่การฟ้องคดี ในส่วนจำเลยที่ 5 ที่เป็นนิติบุคคลนั้น เป็นเพียงตัวกลางนำไฟฟ้าจากฝั่งไทยไปขายที่พม่าอย่างเปิดเผย แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากการเลือกใช้วิธีโอนชำระค่าไฟฟ้าข้ามแดนผ่านบริษัทแลกเปลี่ยนหรือโอนเงินตราต่างประเทศ หรือที่รู้จักกันในชื่อภาษาจีนว่า “โพยก๊วน” หรือภาษาอังกฤษว่า “Money Changer”

ทนายความระบุต่อไปว่า บริษัทมีการใช้บริการโพยก๊วนในช่วงที่ด่านปิดหลังการระบาดของโควิด-19 โดยโพยก๊วนจะรับโอนเงินจากฝั่งพม่าแล้วนำมาแจ้งกับสายในฝั่งไทยเพื่อทำธุรกรรมต่อ แต่มามีปัญหาเมื่อสายของโพยก๊วนในไทยมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด 

ในกรณีของดีน ทนายความมุ่งจะสืบไปเพื่อพิสูจน์ว่าไม่มีส่วนรู้เห็นใดๆ ทั้งสิ้น ทรัพย์สินที่เจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ยึดไปนั้นไม่มีอะไรผิดกฎหมาย และได้มีการคืนให้แล้ว โดยดีนเป็นคนที่มีหน้าที่การงานเป็นหลักแหล่ง และไม่เคยเดินทางไปยังประเทศพม่าเลย

รู้จัก “โพยก๊วน”

โพยก๊วน คือชื่อเรียกของระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศผ่านระบบใต้ดิน เชื่อว่ามีพัฒนาการมาจากชาวจีนที่มาทำธุรกิจในประเทศไทยแล้วอยากส่งเงินกลับไปให้ญาติพี่น้องที่จีน โดยหลักแล้ว โพยก๊วนจะมีคนที่ทำหน้าที่เป็นคนกลางในการรับโอนหรือส่งมอบเงินไปยังปลายทาง โดยผู้รับเงินจะต้องมีหลักฐานการรับเงิน หรือ “โพย” ซึ่งหลักฐานจะเป็นอะไรก็แล้วแต่จะกำหนด ปัจจุบันระบบโพยก๊วนยังเป็นที่นิยมใช้ในหมู่นักธุรกิจและแรงงานต่างด้าวทั้งถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย

เนื่องจากภาวะธุรกรรมที่ไม่เป็นทางการและตรวจสอบดูแลยาก ทำให้ในอดีต โพยก๊วนถูกมองว่าเป็นเครื่องมือสำหรับการเคลื่อนย้ายเงินขององค์กรอาชญากรรมเพื่อการฟอกเงินได้ด้วย

ที่มา: สำนักข่าวอิศรา, ไทยรัฐ, วรรณทนี รุ่งเรืองสภากุล

ทุนมินลัต ดีน และจำเลยคนอื่น ถูกจับกุมในประเทศไทยตั้งแต่เดือน ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา และอยู่ภายใต้การฝากขังและคุมขังระหว่างดำเนินคดีมาจนถึงปัจจุบัน ราวสองอาทิตย์หลังจากนั้น มีการออกหมายจับไปยังอุปกิต ปาจรียางกูร ในข้อหาที่เกี่ยวกับฟอกเงินและยาเสพติด แต่หมายจับดังกล่าวถูกเปลี่ยนเป็นหมายเรียกในภายหลัง

ในสาระสำคัญ จำเลยทั้งห้าถูกกล่าวหาตามคำฟ้องว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเงินที่ได้จากการขายยาเสพติด นำไปแปลงสภาพเป็นไฟฟ้าเพื่อส่งออกไปขายที่ประเทศพม่า โดยทุนมินลัต จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่โอนเงินจากบัญชีที่รับโอนของเครือข่ายยาเสพติดจำนวนทั้งสิ้น 7 กลุ่ม ไปยังบัญชีของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อ.แม่สาย เพื่อชำระหนี้ค่าไฟฟ้า โดยทุนมินลัต รับผลประโยชน์จากการดำเนินงานของบริษัทเมียนมาร์ อัลลัวร์ กรุ๊ป นิติบุคคลที่จดทะเบียนในพม่า ซึ่งเป็นบริษัทในเครืออัลลัวร์ กรุ๊ป และอัลลัวร์ กรุ๊ป (พีแอนด์อี) ส่วนดีน ยัง จุลธุระ จำเลยที่ 2  เป็นกรรมการกระทำการแทนเมียนมาร์ อัลลัวร์ กรุ๊ป และรับผลประโยชน์จากการนำเงินไปจ่ายค่าไฟฟ้าดังกล่าว

ศาลไทยรับฟ้อง ‘ทุนมินลัต’ คดีฟอกเงิน ยาเสพติด โทษสูงสุดถึงประหารชีวิต

ส.ว. อุปกิต : 'หมายจับ' กลายเป็น 'หมายเรียก' ความเงียบที่ไร้คำอธิบาย

ในอดีต อุปกิตเคยเป็นเจ้าของบริษัทเมียนมาร์ อัลลัวร์ กรุ๊ป ข้อมูลบริษัทแสดงให้เห็นว่าเขาลาออกจากบริษัทเมื่อปี 2562 ก่อนที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาประเทศไทยโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อ 14 พ.ค. 2562 ตามที่ระบุในราชกิจจานุเบกษา โดยหลังจากนั้นสามเดือน ดีนได้ขึ้นเป็นประธานบริษัทเมียนมาร์ อัลลัวร์ กรุ๊ป

การรายงานข่าวของประชาไทและเครือข่ายผู้สื่อข่าวองค์กรอาชญากรรมและการทุจริต (OCCRP) เมื่อ ต.ค. 2565 พบว่าเฟซบุ๊คส่วนตัวของดีนมีการโพสท์ว่าเขาเคยเดินทางไปยังนครย่างกุ้งตั้งแต่ปี 2560 สองปีก่อนที่เขาจะมีตำแหน่งในกลุ่มอัลลัวร์กรุ๊ป

ในวันเดียวกันนี้ (23 ม.ค. 2566) รายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ช่อง MCOT รายงานว่า พ.ต.อ. กฤศณัฏฐ์ ธนศุภณัฏฐ์ ผบก.สส.2 บก.สส.บช.น. ตำรวจผู้จับกุมทุนมินลัต ดีน และพวก ถูกโยกย้ายจากตำรวจนครบาลไปรับตำแหน่งผู้กำกับ สภ.บ้านเดื่อ จ.ชัยภูมิ ตามบัญชีแต่งตั้งโยกย้าย ลงวันที่ 13 ม.ค. 2566

รายการเจาะลึกทั่วไทยยังได้สัมภาษณ์ปิยะศิริ วัฒนวรางกูร รองเลขาธิการ ป.ป.ส. ที่ระบุว่านอกจากกระบวนการทางคดีอาญาข้างต้นแล้ว ป.ป.ส. ยังมีการดำเนินคดีทรัพย์ ซึ่งที่ผ่านมามีการยึดทรัพย์ไปแล้วจำนวนราว 1 พันล้านบาท นอกจากนั้นยังระบุว่า ยังมีการออกหมายจับผู้ต้องหาเพิ่มอีกสองราย ได้แก่ พันณรงค์ ขุนพิทักษ์ หรือ 'เอ็ดดี้' และกัลยวีร์ ธีระประภาวงศ์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทอัลลัวร์ กรุ๊ป ต่อจากดีนมาตั้งแต่เดือน ก.ค. ปี 2563 โดยทั้งคู่ยังหลบหนีการจับกุม

ปิยะศิริยังระบุด้วยว่ายังไม่ได้มีการเรียกอุปกิตมาให้ปากคำ เนื่องจากต้องพบข้อพิรุธหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเสียก่อน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net