Skip to main content
sharethis

เครือข่ายสื่อมวลชนร่วมกันยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง กมธ. ขอให้ชะลอการผลักดันร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯ กังวลถูกตีความกฎหมายมาปิดกั้นการนำเสนอข่าวและประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนจากการได้รับงบจากกองทุนของรัฐทั้งที่สื่อต้องทำงานตรวจสอบรัฐ

24 ม.ค.2566 ที่รัฐสภา เกียกกาย ภาคีนักเรียนสื่อ สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย (Thai Media for Democracy Alliance - DemAll) และ Change.com เข้ายื่นหนังสือชะลอขบวนการออก พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .… โดยมีณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ พรรคก้าวไกลเป็นผู้รับหนังสือในฐานะตัวแทนของคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชนของรัฐสภา

อภิสิทธิ์ ชวานนท์ จากภาคีนักเรียนสื่อกล่าวว่า ตนคิดว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชน จึงขอแสดงจุดยืนความกังวลต่อร่างกฎหมายนี้ โดยมีข้อเรียกร้อง 2 ข้อ คือชะลอการพิจารณากฎหมายและให้จัดเวทีรับฟังความเห็นอย่างทั่วถึงรอบด้าน

ณัฐชา ตอบคำถามสื่อเรื่องแนวทางการจัดการกรณีอินฟลูเอนเซอร์หรือสื่อที่สร้างข้อมูลบิดเบือน ณัฐชาตอบว่า มีการตั้งกรรมการดูเรื่อง fake news ก็มีหลายความเห็น แต่ในข้อสรุปคือ ข้อมูลข่าวจริงและปลอม รัฐมีหน้าที่ให้ความรู้ว่าข่าวปลอมมีลักษณะแบบไหน สิ่งที่จะล้างข่าวปลอมคือข้อมูลที่ถูกต้อง การนำเสนอข่าวของอินฟลูเอนเซอร์นั้นเราไม่สามารถไปแก้ไขทำอะไรได้ เพราะบ่อยครั้งข่าวที่สร้างความเปลี่ยนแปลง หรือเป็นพยานหลักฐานในการจับผู้ร้ายก็เกิดจากอินฟลูเอนเซอร์หรือประชาชนเผยแพร่ข้อมูลกันเอง

สำหรับหนังสือของทางภาคีฯ ได้ให้รายละเอียดถึงข้อกังวลต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ไว้ว่า ในร่างที่กำหนดข้อยกเว้นเอาไว้ว่าจะ “ต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” ซึ่งมักถูกรัฐตีความในทางจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากกว่า แม้ในมาตราเดียวกันจะรับรองเสรีภาพเอาไว้ก็ตาม

นอกจากนั้นยังมีข้อกังวลเรื่องกรรมการของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนที่อาจจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนจากการที่สภาต้องพึ่งพาเงินจากกองทุนของหน่วยงานรัฐต่างๆ ทั้งที่สื่อมวลชนจะต้องทำงานตรวจสอบรัฐ อีกทั้งกรรมการยังมาจากการสรรหาในแวดวงจำกัดด้วย

สำหรับผู้ที่สนใจร่วมลง ยังสามารถร่วมลงชื่อผ่านลิงก์ด้านล่าง เพื่อนำยื่นต่อผู้ผลักดันร่างกฎหมายและรัฐสภาต่อไปได้ที่ แบบฟอร์มลงชื่อ 

จดหมายเปิดผนึกจากนักวิชาชีพและนักวิชาการสื่อมวลชน

เรื่องข้อห่วงใยต่อสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.มาตรฐานวิชาชีพสื่อฯ

ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติผ่านร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .… เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 ระบุเหตุผลในบันทึกหลักการและเหตุผลว่า “สมควรกำหนดให้มีองค์กรเพื่อทำหน้าที่คุ้มครองเสรีภาพของบุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติรับรอง และกำหนดให้มีการส่งเสริมจริยธรรมสื่อมวลชนเพื่อให้การทำหน้าที่ตามมาตรฐานวิชาชีพเป็นไปอย่างเหมาะสม”

สาระสำคัญของร่างกฎหมายนี้ คือ กำหนดให้มีองค์กรชื่อ ‘สภาวิชาชีพสื่อมวลชน’ ขึ้นมาทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานจริยธรรมของสื่อมวลชน พร้อมกำกับดูแลการทำงานของสื่อมวลชนให้เป็นไปตามมาตรฐานจริยธรรมนั้น โดยกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนจะประกอบด้วยตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อในปัจจุบัน 5 คน ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านต่างๆ อีก 5 คน ซึ่งผ่านการคัดเลือกโดยคณะกรรมการสรรหา พร้อมกับผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง อีก 1 คน รวม 11 คน

นักวิชาชีพและนักวิชาการสื่อมวลชน ดังรายนามท้ายจดหมายเปิดผนึก ได้พิจารณาแล้วเห็นพ้องกันว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการรายงานข่าวสารของสื่อมวลชน รวมถึงสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข่าวสารของประชาชน จึงควรมีการถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากทั้งสื่อมวลชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างทั่วถึงเสียก่อน ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการของรัฐสภา จึงมีขอเรียกร้องร่วมกันดังต่อไปนี้

  1. ขอให้รัฐสภา ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องในการผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าว ชะลอกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายออกไปก่อน จนกว่าจะเป็นที่ประจักษ์ว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับข้อมูลและมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายฉบับนี้โดยทั่วกัน
  2. ขอให้องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนในฐานะผู้ที่มีส่วนร่วมในการยกร่างกฎหมายฉบับนี้ จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึงและรอบด้าน จากสื่อมวลชนที่มีสังกัดและสื่อภาคพลเมือง ทั้งระดับบริหารและระดับปฏิบัติการ รวมถึงประชาชนทั่วไป ว่าจำเป็นจะต้องมีร่างกฎหมายเช่นนี้ออกมาหรือไม่ พร้อมจัดทำข้อคำนึงของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อเป็นประโยชน์ในการพิจารณาตามกระบวนการรัฐสภาต่อไป

พร้อมกันนี้ขอแสดงความกังวลต่อเนื้อหาในร่างกฎหมายที่ผ่านคณะรัฐมนตรีแล้ว ดังนี้

  1. การจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชน : มาตรา 5 ของร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว แม้จะรับรองเสรีภาพในการเสนอข้อมูลข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็น “ตามจริยธรรมสื่อมวลชน” แต่ก็มีข้อยกเว้นว่า “ต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” ซึ่งที่ผ่านมาคำว่า “หน้าที่ของปวงชนชาวไทย” และ “ศีลธรรมอันดีของประชาชน” มักถูกรัฐตีความอย่างกว้างขวางเพื่อใช้ในทางจำกัดเสรีภาพตลอดมา จึงทำให้เกิดข้อกังวลว่าจะกระทบต่อสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย
  2. ผลประโยชน์ทับซ้อน : มาตราที่ 8 และ 9 ของร่างกฎหมายดังกล่าวกำหนดแหล่งรายได้ของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนว่ามาจาก 7 ช่องทาง รวมถึงจากเงินที่รัฐบาลจ่ายให้เป็นทุนประเดิม, เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี และเงินที่ได้รับการจัดสรรโดยคณะกรรมการบริหารกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ไม่ต่ำกว่าปีละ 25 ล้านบาท ขณะที่หลักการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนต้องเป็นผู้ตรวจสอบการดำเนินการของภาครัฐ เช่นนี้แล้ว สภาวิชาชีพสื่อมวลชนจะการันตีความเป็นอิสระจากภาครัฐได้อย่างไร หากมีแหล่งรายได้มาจากรัฐเสียเอง
  3. ไม่เอื้อต่อการมีส่วนร่วม : คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนนั้น มาจากการสรรหาของคณะกรรมการสรรหา ประกอบด้วยกลุ่มบุคคลในวงจำกัด ได้แก่
  • คณบดี หัวหน้าภาควิชา หรือผู้แทนคณะหรือภาควิชาด้านนิเทศศาสตร์ หรือสื่อสารมวลชนในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่มิใช่มหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล คัดเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน
  • คณบดี หัวหน้าภาควิชา หรือผู้แทนคณะหรือภาควิชาด้านนิเทศศาสตร์ หรือสื่อสารมวลชนในมหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล คัดเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน
  • คณบดี หัวหน้าภาควิชา หรือผู้แทนคณะหรือภาควิชาด้านนิเทศศาสตร์ หรือสื่อสารมวลชนในสถาบันอุดมศึกษาของเอกชน คัดเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน
  • ผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนด้านสื่อหนังสือพิมพ์ ด้านสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ด้านสื่อออนไลน์ ซึ่งแต่ละด้านคัดเลือกกันเองให้เหลือด้านละ 1 คน
  • ผู้แทนสหพันธ์องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค จำนวน 1 คน
  • ผู้แทนสภาทนายความ จำนวน 1 คน
  • ผู้แทนกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม จำนวน 1 คน

โครงสร้างของคณะกรรมการสรรหานี้ ไม่ได้ยึดโยงกับทั้งสื่อมวลชนและประชาชน แต่กลับมีอำนาจในการคัดเลือกคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนซึ่งจะมีบทบาทหน้าที่สำคัญ อาทิ เป็นตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนของประเทศ, กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมสื่อมวลชน, พิจารณาการขอจดแจ้งและเพิกถอนการจดแจ้งขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นบทบาทให้คุณให้โทษต่อสมาชิกและวงการสื่อมวลชน

นอกจากนี้เมื่อคัดเลือกมาแล้วก็ไม่มีกลไกเอื้อให้สมาชิกมีส่วนร่วมหรือตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้งที่มีวาระดำรงตำแหน่งได้ถึง 4 ปี และเป็นติดต่อกันได้ 2 สมัย รวม 8 ปี ทำให้เกิดข้อกังวลว่า กลุ่มบุคคลที่ผ่านการคัดเลือกโดยวงจำกัดเช่นนี้จะสามารถเข้ามาทำหน้าที่ในการส่งเสริมจริยธรรมวิชาชีพและปกป้องเสรีภาพสื่อมวลชน ควบคู่กับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ได้จริงหรือไม่

กลไกการกำกับดูแลสื่อมวลชนจะออกมาเป็นอย่างไรเป็นเรื่องที่ต้องการฉันทามติจากสังคม ไม่ใช่เฉพาะจากแวดวงสื่อมวลชนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นอกจากนี้ สื่อมวลชนในสังคมประชาธิปไตยถูกคาดหวังให้ตรวจสอบการทำงานและการใช้อำนาจของภาครัฐ จึงควรปิดช่องทางที่ภาครัฐจะเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่ ทั้งนี้ เพื่อความเป็นอิสระของวงการสื่อมวลชน และเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศที่แท้จริง

ขอแสดงความนับถือ

เครือข่ายสื่อเสรี

ภาคีนักเรียนสื่อ

สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย ( Thai Media for Democracy Alliance - DemAll) และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตามรายชื่อแนบท้าย

รายชื่อแนบจดหมายเปิดผนึก

  1. เครือข่ายสื่อเสรี
  2. ภาคีนักเรียนสื่อ
  3. สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย ( Thai Media for Democracy Alliance - DemAll)
  4. กรุณพร เชษฐพยัคฆ์
  5. กฤตนัน ดิษฐบรรจง ส่องสื่อ มีเดีย แลป / Modernist
  6. กานตชาติ เรืองรัตนอัมพร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  7. กิตติ พันธภาค Voice TV
  8. โกวิท โพธิสาร WAY Magazine
  9. จามร ศรเพชรนรินทร์
  10. จารุกิตติ์ ธีรตาพงศ์ ไทยพับลิก้า
  11. จิรัชญา ชัยชุมขุน The MATTER
  12. ชฎาพร ชัยขันธ์ Hi Cable TV
  13. ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม
  14. ฑิฆัมพร ธรรมเที่ยง Eyepress
  15. ณฐาภพ สังเกตุ ไทยพีบีเอส
  16. ณรรธราวุธ เมืองสุข
  17. ณฤดี จินตวิโรจน์
  18. ณัฐณิชา พิมพ์พาพ์
  19. ณิชากร ศรีเพชรดี
  20. ตติยา ตราชู
  21. ทศพล เพิ่มพูล
  22. เทวฤทธิ์ มณีฉาย หนังสือพิมพ์อิสระบนเว็บประชาไท
  23. ธนกร วงษ์ปัญญา THE STANDARD
  24. ธนชัย วรอาจ
  25. ธัญสิตา สิทธิสงวนพันธ์
  26. ธีรภัทร์ เจนใน
  27. นรรณพร แสนใจวุฒิ echo
  28. นราธิป ทองถนอม
  29. ปิยะโชติ อินทรนิวาส
  30. พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ The MATTER
  31. พชร์ โพธิ์พุ่ม
  32. พรทิพย์ อุทัศ
  33. พรพรรณ จันทร์แดง มหาวิทยาลัยพะเยา
  34. พรรษาสิริ กุหลาบ
  35. คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  36. พริสม์ จิตเป็นธมworkpointTODAY
  37. พฤฒินันท์ สุดประเสริฐ สำนักข่าว Modernist
  38. พลอยรุ้ง สิบพลาง
  39. พัฒนา ค้าขาย
  40. พิชญ์ธรา แก้วก่อ เดลินิวส์
  41. ไพศาล ฮาแวTHE STANDARD
  42. ฟาห์เรนน์ นิยมเดชา ไทยพีบีเอส
  43. ภัทรา บุรารักษ์ มหาวิทยาลัยพะเยา
  44. มนต์ศักดิ์ ชัยวีระเดช
  45. มูฮำหมัด ดือราแม The PEN
  46. ยิ่งศิวัช ยมลยง
  47. รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์
  48. ฤทธิกร มหาคชาภรณ์ Voice TV
  49. วงศธร เลิศจรัส Voice TV
  50. วรพิพัฒน์ ลามพัด
  51. วรวัฒน์ ฉิมคล้าย THE STANDARD
  52. วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์
  53. วศินี พบูประภาพ workpointTODAY
  54. วิชยุทธ รัตนาวลีพงษ์
  55. วิชุดา ขวัญชุม
  56. วิไลวรรณ จงวิไลเกษม คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ธรรมศาสตร์
  57. วีริสา ลีวัฒนกิจ
  58. ศิริมิตร ประพันธ์ธุรกิจ
  59. สุดารัตน์ พรมสีใหม่ The101.World
  60. สุภชาติ เล็บนาค The Momentum
  61. สุภาพร ธรรมประโคน
  62. หทัยรัตน์ พหลทัพ The Isaan Record
  63. อดิราช ท้วมละมูล
  64. อรสา ศรีดาวเรือง Way Magazine
  65. อริน เจียจันทร์พงษ์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ม.ศิลปากร
  66. อัฐพล ปิริยะ Patani Forum
  67. อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
  68. อินทร์แก้ว โอภานุเคราะห์กุล workpointTODAY
  69. อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ นักวิชาการสื่อสารมวลชน
  70. Suthep Sriwisalsilp


 


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net