ศาลลำปาง ยกฟ้อง ม.112 คดีแขวนป้าย 'งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีนCOVID19' ระบุข้อความไม่ได้เป็นการหมิ่นฯ

ศูนย์ทนายฯ รายงาน ศาลจังหวัดลำปางพิพากษา ยกฟ้อง 5 นักศึกษาและประชาชน ข้อหา ม.112 - พ.ร.บ.คอมฯ คดีแขวนป้าย “งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีนCOVID19” เห็นว่าข้อความไม่ได้เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ แต่ลงโทษปรับ 5,000 บาท 1 คน ข้อหา พ.ร.บ.ความสะอาด 

31 ม.ค.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.27 น. วันนี้ (31 ม.ค.) ทวิตเตอร์บัญชี @TLHR2014 ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ราบงานว่า "ศาลจังหวัดลำปางพิพากษา #ยกฟ้อง ข้อหา #ม112 - พ.ร.บ.คอมฯ กรณีแขวนป้าย “งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีนCOVID19” เห็นว่าข้อความไม่ได้เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ แต่ลงโทษปรับเฉพาะจำเลยที่ 1 ข้อหา พ.ร.บ.ความสะอาด ปรับ 5,000 บาท"

ภาพจากเพจพิราบขาวเพื่อมวลชน

สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับคดีนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงาน ศาลจังหวัดลำปางนัดฟังคำพิพากษาในคดีของนักศึกษาและประชาชนรวม 5 คน เหตุจากการแขวนป้ายผ้าที่มีข้อความ “งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีนCOVID19” บริเวณสะพานรัษฎาภิเศก เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2563 ที่ถูกฟ้องด้วยข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ

จำเลยที่ถูกฟ้องในคดีนี้ได้แก่ พินิจ ทองคำ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง และสมาชิกกลุ่มพิราบขาวเพื่อมวลชน เป็นจำเลยที่ 1, “หวาน” (นามสมมติ) นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เป็นจำเลยที่ 2, ภัทรกันย์ แข่งขัน นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เป็นจำเลยที่ 3, วรรณพร หุตะโกวิท บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นจำเลยที่ 4  และ ยุพดี กูลกิจตานนท์ แม่ค้าในจังหวัดลำปาง เป็นจำเลยที่ 5  โดยนอกจากสองข้อหาข้างต้น เฉพาะพินิจ จำเลยที่ 1 ยังถูกฟ้องในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เพิ่มอีกหนึ่งข้อหาด้วย เนื่องจากการถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้นำภาพถ่ายป้ายดังกล่าวเผยแพร่ในเพจเฟซบุ๊ก

การสืบพยานในคดีนี้ทั้งหมด 8 นัด มีขึ้นเมื่อวันที่ 19-22 ก.ค., 5 ก.ย., 3, 10 ต.ค. และ 14 พ.ย. 2565

บรรยากาศการสืบพยานโจทก์และจำเลยผ่านไปด้วยความเข้มข้น โดยที่ฝ่ายโจทก์ได้นำพยานบุคคลเข้าเบิกความต่อศาลทั้งหมด 20 ปากด้วยกัน ประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวน ผู้กล่าวหา, ตำรวจสืบสวนภาพรวม และตำรวจที่ได้รับมอบหมายให้เฝ้าติดตามจำเลยรายบุคคล, เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ที่ทำการตรวจสอบเฟซบุ๊กเพจ ไปจนกระทั่งประชาชนทั่วไปที่เคยก่อตั้งชมรมคนรักในหลวงในจังหวัดลำปาง และอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ที่เบิกความให้ความเห็นต่อป้ายข้อความ

ด้านฝ่ายจำเลยได้นำจำเลยที่ 1 และ 2 ขึ้นเบิกความ เนื่องจากเห็นว่าหากต้องให้จำเลยทั้งหมดขึ้นเบิกความจะเป็นการเล่าเรื่องซ้ำไปมา และจำเลยบางคนได้ข้อเท็จจริงจนครบถ้วนจากปากคำของพยานโจทก์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นก็ได้นำนักวิชาการด้านนิติศาสตร์ขึ้นเบิกความให้ความเห็นต่อองค์ประกอบมาตรา 112 เป็นปากสุดท้าย

สำหรับข้อต่อสู้ที่สำคัญในคดีนี้ของจำเลยทั้งห้าคือ พยานหลักฐานโจทก์ไม่เพียงพอที่จะยืนยันได้ว่าจำเลยทั้ง 5 ได้ร่วมกันกระทำตามที่ถูกฟ้อง และอธิบายไม่ได้ว่าจำเลยแต่ละคนได้มีพฤติการณ์ร่วมกันอย่างไร อีกทั้งข้อมูลการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจผิดพลาดและไม่ตรงกับความเป็นจริง  นอกจากนี้ข้อความที่เขียนอยู่บนป้ายก็เป็นเพียงถ้อยคำทั่วๆ ไป ฝ่ายจำเลยเข้าใจว่าเป็นการสื่อถึงการบริหารงานของรัฐบาล และข้อความไม่ได้ระบุถึงตัวบุคคลที่ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ใช่การดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย สุดท้ายคือพยานโจทก์ไม่สามารถยืนยันได้ว่าใครเป็นผู้โพสต์ข้อความลงในเพจเฟซบุ๊ก “พิราบขาวเพื่อมวลชน”

อ่านสรุปปากคำของพยานระหว่างการต่อสู้คดีนี้ได้ที่ เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน https://tlhr2014.com/archives/53000

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท