Skip to main content
sharethis

นับถอยหลังสู่เลือกตั้ง เราคาดหวังได้แค่ไหนกับระบอบประชาธิปไตยที่มี 250 ส.ว.โหวตนายกฯ

นั่งรถไปตามถนน ล้นไปด้วยป้ายหาเสียง ขายนโยบาย ถ้าได้เป็นรัฐบาลแล้วจะขึ้นค่าแรง เพิ่มรัฐสวัสดิการ พักหนี้ รักษาฟรี เพิ่มบัตรคนจน เพิ่มเงินคนชรา ฯลฯ แน่ใจนะว่าได้ทำ ถามกรรมการยุทธศาสตร์ชาติหรือยัง

บรรยากาศคึกคัก ลุ้นพรรคที่เชียร์ชนะ เชื่อว่าจะแลนด์สไลด์ ฯลฯ ทำให้คนจำนวนมากลืมไปว่า เราอยู่ในระบอบ “ประชาธิปไตยปลอม” ที่รัฐประหาร 2557 รัฐธรรมนูญ 2560 ออกแบบไว้

ระบอบลวงตาที่ยอมให้มีเลือกตั้ง แต่ไม่ยอมให้มีรัฐบาลจากเจตจำนงประชาชน วางกลไกกับดัก ทั้ง 250 ส.ว. สูตรคำนวณเศษมนุษย์ อำนาจยุบพรรค-ตัดสิทธิ ผสมการเมืองสามานย์ ดูด ส.ส.หน้าด้านๆ จนพรรคฝ่ายค้านที่ควรมีจำนวนมากกว่าหลังเลือกตั้ง 62 กลายเป็นเสียงข้างน้อยห่างลิบลับ

กองเชียร์ประยุทธ์อาจเถียงว่า ไม่ต้องพึ่ง 250 ส.ว. ก็รวมเสียงได้มากกว่า ทั้งที่เห็นอยู่ว่า ระบอบ ส.ว. “ตู่ตั้งมาโหวตตู่” บีบให้พรรคอื่นๆ ต้องยอมร่วมรัฐบาล แม้กระทั่งพรรคประชาธิปัตย์ยอมถีบหัวหน้ามาร์ค เพราะบังอาจ “ไม่เอาประยุทธ์”

“รัฐธรรมนูญนี้ร่างมาเพื่อพวกเรา” ยังสร้างความได้เปรียบตั้งแต่ต้น ส.ส.พลังประชารัฐสามารถบอกประชาชน กำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำท้องถิ่น ฯลฯ ว่าประยุทธ์เป็นนายกฯ แหงๆ “เรา” เป็นรัฐบาลแหงๆ คุณจะเลือกเราหรือเลือกคู่แข่ง ก็ไปคิดเอา

การเลือกตั้ง 62 จึงไม่ยุติธรรมตั้งแต่ต้น ยังไม่นับว่าเลือกตั้งใต้อำนาจ คสช. ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ พร้อมกับเป็น “รัฏฐาธิปัตย์”

สี่ปีผ่านไป ในเชิงระบบ เราเปลี่ยนอะไรได้บ้าง แก้รัฐธรรมนูญได้ประเด็นเดียว “บัตรสองใบ หารร้อย” (ดีใจเหมือนได้แก้ววิเศษ) จะปิดสวิตช์ ส.ว. ยื่นกี่ที ม็อบกี่ครั้ง ก็ไม่สำเร็จ เพราะกติกาอันธพาลจะโละอำนาจ ส.ว. ต้องให้ ส.ว. 1 ใน 3 เห็นชอบ จนเรียกได้ว่าหมดหวัง ต้องรอครบ 5 ปีหมดวาระไปเอง

เพียงแต่ความล้มเหลวในการบริหารประเทศ ความเสื่อมของระบอบลักลั่น ทำให้ประยุทธ์และพลังประชารัฐไปต่อด้วยกันไม่ได้ จึงเกิดอาเพศ 2 ป.แข่งกันเอง เพื่อเป็นตัวแทนสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้ง เป็นเหตุวิปริตขบขันไม่เคยเกิดที่ไหนในโลก

แน่ละว่ามันทำให้ “ฝ่ายประชาธิปไตย” มีความหวังชนะเลือกตั้ง มีความหวังจะเห็นประยุทธ์แพ้ย่อยยับ มีความหวังกระทั่งเผลอยิ้มเอ็นดู “ลุงป้อม” ด้วยซ้ำ

แต่ชนะเลือกตั้งแล้วได้อะไร ถ้าเพื่อไทยต้องจับมือพลังประชารัฐอย่างที่คาดกัน พูดอย่างนี้ไม่ใช่ตำหนิประณาม แต่ถ้าเพื่อไทยต้องเกี้ยเซี้ย ก็เพราะ “ประชาธิปไตยปลอม” นี่ไง ที่ต้องอาศัย 250 ส.ว. หรือยิ่งกว่านั้นก็คือ ต้องขอ “ไฟเขียว” จากอำนาจอนุรักษ์เพื่อเป็นรัฐบาล เพื่อจะไม่โดนเล่นงานจากกลไกรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ฯลฯ

ถ้าเทียบกับเลือกตั้ง 54 แม้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ 2550 พรรคเพื่อไทยและมวลชนเสื้อแดงยังเชื่อมั่นว่าชนะเลือกตั้งล้นหลามจะได้เป็นรัฐบาล แต่เลือกตั้ง 66 “แลนด์สไลด์” ขนาดไหน ก็ทำได้แค่เจรจาต่อรองขอไฟเขียวเป็นรัฐบาล

พูดอย่างนี้ไม่ได้ปฏิเสธหรือด้อยค่าการเลือกตั้ง อย่างที่สลิ่มชอบกล่าวว่าถ้ารัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตยแล้วลงเลือกตั้งทำไม เพราะถึงแม้ตัวระบอบเป็นประชาธิปไตยปลอม แต่การที่ประชาชนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ก็เป็น “ประชาธิปไตยจริง” เป็นแก่นของประชาธิปไตย ส่วนที่ปลอมคือการใช้อำนาจบิดเบนผลเลือกตั้ง

แต่ก็เหมือนเลือกตั้ง 62 กรอบประชาธิปไตยปลอมมีผลต่อการหาเสียง แม้ไม่ทำให้พลังประชารัฐได้เปรียบมากอย่างปี 62 แต่ความเกรงว่าจะต้องไปผ่านกลไก 250 ส.ว. จะต้องระวังไม่ให้โดนยุบพรรคตัดสิทธิ โดน กกต.แจกใบส้มใบดำ โดน ป.ป.ช.ยื่นศาลจริยธรรม ฯลฯ ก็ทำให้ “พลังสู้รบ” ของพรรคฝ่ายประชาธิปไตยอ่อนลง มีแนวโน้มประนีประนอม ขอแค่เป็นรัฐบาลไว้ก่อน ขอแค่ชนะประยุทธ์

ทั้งที่ฝ่ายประชาธิปไตยควรตั้งเป้าหมายสูงกว่าชนะเลือกตั้ง คือต้องชนะแล้วสร้าง Momentum ไปสู่การลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ให้กลับมาเป็นประชาธิปไตย แล้วปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปรัฐราชการ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ฟื้นฟูสิทธิเสรีภาพ

9 ปีรัฐประหาร 6 ปีรัฐธรรมนูญ 60 ทำให้ประชาธิปไตยถอยหลังไปยิ่งกว่ายุคครึ่งใบค่อนใบ ถ้ารื้อระบอบนี้ไม่ได้ ชัยชนะของพรรคฝ่ายประชาธิปไตยในการเลือกตั้ง 66 แม้ในด้านหนึ่งสะท้อนเจตจำนงของประชาชนผ่านการ “เลือกตั้งจริง” อยากได้รัฐบาลจากพรรคการเมืองที่ใส่ใจแก้ปัญหาและรับผิดชอบต่อประชาชน

แต่อีกด้านหนึ่ง หากไม่สามารถสร้างพลังต่อเนื่องไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ รื้อโครงสร้าง “ประชาธิปไตยปลอม” พึงพอใจเพียงการได้รัฐบาลใหม่ที่มีฝีมือกว่าประยุทธ์ ก็จะกลายเป็นว่าการเลือกตั้งนั้นไปสร้างเสถียรภาพให้ระบอบอำนาจอนุรักษ์ อยู่เหนืออำนาจเลือกตั้งต่อไป

แล้ววันใดวันหนึ่ง ประวัติศาสตร์อาจซ้ำรอย ยุบพรรค ตัดสิทธิ ม็อบไล่ ม็อบปิดเมือง ฯลฯ แม้ความล้มเหลวของประยุทธ์คงทำให้กองทัพทำรัฐประหารได้ยากสักหน่อยในช่วงใกล้ๆ นี้

ทำอย่างไรจะชนะให้มากกว่าชนะเลือกตั้ง ทำอย่างไรจะใช้การเลือกตั้งแสดงพลังที่ต้องการเปลี่ยนแปลง

 

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/politics/news_7502314

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net