ฟังเสียงวิจารณ์รัฐบาลตุรกี หลังผู้นำยอมรับ 'บกพร่อง' ในการรับมือแผ่นดินไหว

'ระบบราชการรวมศูนย์-จัดสรรงบประมาณเอื้อพวกพ้อง-สร้างอาคารฟันกำไรแต่ไร้มาตรฐาน' เป็น 3 ประเด็นสำคัญ ที่หลายฝ่ายวิจารณ์ต่อรัฐบาลตุรกีภายใต้การนำของประธานาธิบดีเรเจป ทายยิป แอร์โดอัน หลังเขายอมรับมี 'ข้อบกพร่อง' ในการรับมือแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 25,000 ราย


ที่มาภาพ: Mahmut Bozarslan/VOA (Public Domain)

จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2566 จังหวัดกาซิอันเทพและคาห์รามานมารัส ตั้งอยู่บริเวณภาคใต้ของตุรกี และใกล้กับภาคตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรีย กลายเป็นศูนย์กลางแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขนาด 7.8 และ 7.7 ระยะเวลาห่างกันประมาณ 9 ชั่วโมง ตามมาด้วยปรากฎการณ์อาฟเตอร์ช็อกอีกไม่ต่ำกว่า 100 ครั้ง ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างหลายร้อยไมล์ 

แผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดขึ้นบนรอยเลื่อนอานาโตเลียตะวันออก ตัดผ่านบริเวณที่อยู่อาศัยของผู้คนจำนวนมาก นับว่ารุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี ทั้งในแง่ขนาดของแผ่นดินไหวและจำนวนผู้เสียชีวิต ส่งผลให้อาคารถล่มแล้วอย่างน้อย 6,000 หลัง และมีผู้เสียชีวิตในตุรกีและซีเรียไปแล้วอย่างน้อย 25,000 ราย 

ประชาชนอีกจำนวนมากยังคงติดอยู่ในซากปรักหักพัง เจ้าหน้าที่กู้ภัยจากทั้งในและต่างประเทศ ต้องทำงานแข่งกับเวลา และบางครั้งอาจต้องพึ่งพาปาฏิหาริย์ ขณะที่ภารกิจกู้ภัยกำลังเข้าสู่วันที่ 6 และผ่านช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ 72 ชั่วโมงแรก ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ผู้ประสบภัยมีโอกาสรอดชีวิตมากที่สุดมาแล้ว 3 วัน

หลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไร้ประสิทธิภาพในการรับมือกับแผ่นดินไหว ประธานาธิบดีเรเจป ทายยิป แอร์โดอัน ออกมายอมรับว่ามี "ข้อบกพร่อง" จริง ขณะเข้าเยี่ยมประชาชนในพื้นที่ประสบภัย แต่เขาก็แสดงความเห็นต่อว่า "เงื่อนไขเห็นกันได้ชัดอยู่แล้ว เป็นไปไม่ได้หรอกในการเตรียมพร้อมกับภัยพิบัติแบบนี้" 

ด้านสื่อต่างประเทศหลายแห่งและเน็ตบล็อก (กลุ่มติดตามสถานการณ์สิทธิบนโลกดิจิตัล) พบว่าทวิตเตอร์ถูกปิดกั้นการเข้าถึงเป็นเวลากว่า 12 ชั่วโมงในตุรกี อาจกระทบต่อการช่วยผู้ประสบภัย ขณะที่ทางการเผยกับสื่อของรัฐว่ามีการพูดคุยกับทวิตเตอร์ในเรื่องปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน

เสียงวิจารณ์ 'แอร์โดอัน'

โซลี โอเซล อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยคาดีร์ฮาส ประจำนครอิสตันบูล ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอ็นพีอาร์ของสหรัฐอเมริกาว่า หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้รัฐบาลตอบสนองต่อภัยพิบัติล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น มาจากปัญหาของระบบราชการรวมศูนย์ 

การออกข้อบังคับห้ามไม่ให้ประชาสังคมและองค์กรท้องถิ่นดำเนินกิจกรรมบางอย่างในพื้นที่ ส่งผลให้ความพยายามในการเข้าช่วยเหลือกู้ภัยสามารถทำได้อย่างจำกัด แต่ขณะเดียวกัน สถานทูตตุรกีและองค์กรเอ็นจีโอต่างประเทศหลายแห่ง ก็ยังทำการเปิดขอรับเงินบริจาคเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย

ประธานาธิบดีแอร์โดอันยอมรับกับผู้รอดชีวิตในพื้นที่ประสบภัยว่า "ในวันแรกเรามีปัญหาติดขัดอยู่บ้าง" ก่อนที่จะยืนยันให้ไว้วางใจว่า "วันที่สอง และวันนี้ สถานการณ์อยู่ในการควบคุมแล้ว" อย่างไรก็ตาม ความล่าช้าไม่ใช่ปัญหาเดียวที่เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์

นับตั้งแต่เหตุการณ์แผ่นดินไหวในปี 2542 ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 18,000 ราย ทางการตุรกีได้ทำการเก็บภาษีแผ่นดินไหว เพื่อนำไปป้องกันและเยียวยาภัยพิบัติ คิดเป็นวงเงินกว่าหลายพันล้านดอลล่าร์สหรัฐ ฯ แต่เงินดังกล่าว เคมาล คิลิคดาโรกลู ผู้นำฝ่ายค้านตุรกี กลับบอกว่าถูกรัฐนำไป "ชโลมฝ่ามือพวกพ้อง" จน "หายไปหมดแล้ว"

อาจารย์โซลี โอเซล มองว่างบประมาณในส่วนนี้ไม่ได้ถูกนำไปใช้ในการรับมือภัยพิบัติ แต่กลับนำไปใช้ในเรื่องอื่น เช่น โครงการสร้างทางด่วนโดยเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องของพรรคร่วมรัฐบาล หลังจากเก็บภาษีส่วนนี้มาแล้วกว่า 20 ปี รัฐบาลจึงยัง "แทบไม่มีความสามารถในการเตรียมพร้อมรับมือเลยอย่างสิ้นเชิง"

แผ่นดินไหวครั้งนี้เข้ามาในช่วงที่ตุรกีกำลังเผชิญความท้าทายหลายอย่าง ประธานาธิบดีแอร์โดอันเพิ่งประกาศเตรียมจัดเลือกตั้งภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการภัยพิบัติของรัฐบาลย่อมจะเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ผู้ลงคะแนนเสียงพิจารณาก่อนเข้าคูหา หลังเขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่ก่อนแล้วจากปัญหาเงินเฟ้อ

อาคารไม่ได้มาตรฐาน

นอกจากปัญหาระบบราชการรวมศูนย์ และการจัดสรรงบประมาณเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง อีกหนึ่งประเด็นที่รัฐบาลของตุรกีถูกวิจารณ์คือการก่อสร้างอาคารไม่ได้มาตรฐาน ทั้งที่ตุรกีต้องพบกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวเป็นประจำ และมีเสียงเตือนจากนักธรณีวิทยาออกมาเป็นระยะ

เมื่อ 6 ก.พ. 66 พรรคแรงงานสังคมนิยมปฏิวัติของตุรกีออกแถลงการณ์แสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับผู้ได้รับผลกระทบ โดยเน้นย้ำว่ารัฐบาลไม่ควรละเลยต่อค่ายผู้ลี้ภัยที่ได้รับผลกระทบ และต้องนำผู้บริหารที่ปล่อยปละละเลยและผู้เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาคารไม่ได้มาตรฐานมารับผิด โดยการสืบสวนอย่างละเอียด

"เหมือนแผ่นดินไหวในโกลซุกและเอลาซิกเมื่อ 3 ปีที่แล้ว แผ่นดินไหวไม่ได้รับผิดชอบต่อยอดผู้เสียชีวิต แต่เป็นนักการเมืองต่างหากที่ใช้ทรัพยากรเพื่อประโยชน์ของประชาชนและปกป้องชีวิตได้ แต่ไม่ทำอะไรเพื่อลดผลกระทบของแผ่นดินไหวเลย การแปรรูปวิสาหกิจเพื่อกำไรทอดทิ้งประชาชนให้ต้องเผชิญกับภัยพิบัติเหล่านี้" 

รายงานของบีบีซีพบอาคารหลายแห่งที่อ้างว่าได้มาตรฐานถล่มลงอย่างง่ายดายในเหตุการณ์แผ่นดินไหว แม้ภัยพิบัติครั้งนี้จะรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี แต่ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าอาคารที่สร้างด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถทนทานแผ่นดินไหวระดับนี้ได้โดยไม่ถล่ม ตัวอย่างเช่น โมเดลของญี่ปุ่นเป็นต้น

ระเบียบการก่อสร้างอาคารในตุรกีได้รับการปรับปรุงมาตลอด ฉบับล่าสุดคือปี 2561 แต่นอกจากไม่มีการปรับปรุงอาคารเก่า อาคารใหม่ก็แทบไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบแต่อย่างใด เพราะรัฐบาลมีนโยบาย "นิรโทษกรรมอาคาร" ออกมาเป็นระยะ เปิดช่องทางจ่ายค่าธรรมเนียมแลกกับการได้รับยกเว้นจากระเบียบการก่อสร้างอาคาร

เปลิน ปินาร์ กิริตลิโอกลู ประธานสมาคมวิศวกรและสถาปนิกเพื่อการวางผังเมือง ถูกอ้างโดยบีบีซีระบุว่าในพื้นที่ได้รับผลกระทบทางภาคใต้ของตุรกี อาจมีอาคารที่ได้รับการนิรโทษกรรมสูงสุดถึง 75,000 แห่ง ขณะที่ไม่กี่วันก่อนแผ่นดินไหว เพิ่งมีรายงานว่ากฎหมายนิรโทษกรรมอาคารฉบับใหม่กำลังรอการอนุมัติจากรัฐสภา

บีบีซีเคยรายงานโดยอ้างตัวเลขของทางการตุรกีในปี 2561 ว่ามีอาคารที่ฝ่าฝืนระเบียบมาตรฐานการก่อสร้างกว่า 50 เปอร์เซ็นต์หรือเกือบ 13 ล้านแห่ง และหลังเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่จังหวัดอิซเมียร์ในปี 2563 พบว่าบริเวณดังกล่าวมีอาคารได้รับนิรโทษกรรมกว่า 670,000 แห่ง

นักธรณีวิทยาเคยเตือนแล้ว

รัฐบาลตุรกีขาดการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับแผ่นดินไหว แม้นักธรณีวิทยาในประเทศเคยเตือนเกี่ยวกับเรื่องนี้มาเป็นระยะ เซเลล เซงกอร์ นักธรณีวิทยาตามรายงานของบีบีซีเคยให้สัมภาษณ์ในสื่อตุรกีว่าการนิรโทษกรรมอาคารในประเทศที่รอยเลื่อนพาดผ่านควรถือเป็น "อาชญากรรม" 

แถลงการณ์ของพรรคแรงงานสังคมนิยมปฏิวัติของตุรกีระบุว่าผู้เชี่ยวชาญเคยเตือนมานานแล้วให้เตรียมพร้อมกับแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในบริเวณที่เกิดภัยพิบัติ​อยู่​ในปัจจุบั​น อ้างอิงคำพูดของศาสตราจารย์นาซี โกรู ในสื่อระบุว่า "คุณต้องเฝ้าระวังในบริเวณคาห์รามานมารัส คุณต้องระวัง มาตรการลดความเสียหายต้องดำเนินการได้แล้ว" 

ศาสตราจารย์นาซี โกรู เป็นผู้เชี่ยวชาญที่ออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับแผ่นดินไหวในตุรกีอยู่บ่อยครั้ง เช่น เมื่อปี 2564 ที่เกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.0 ที่จังหวัดบิงโก เขาเคยเตือนว่าจะเกิดแผ่นดินไหวขนาดอย่างน้อย 7.0 ขึ้นที่จังหวัดเดียวกัน ตรวจสอบพบว่าห่างจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวครั้งนี้ประมาณ 450 กิโลเมตร  

แม้รอยเลื่อนอานาโตเลียตะวันออกแทบไม่มีการสะเทือนครั้งใหญ่เลยในศตวรรษที่ 20 โดยกรมสำรวจธรณีวิทยาของสหรัฐฯ ระบุว่าในพื้นที่ที่มีภัยพิบัติครั้งนี้ เคยมีแผ่นดินไหวที่รุนแรงกว่า 6.0 ริกเตอร์เพียง 3 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ในปี 1822 (พ.ศ. 2365) เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.0 ในพื้นที่เดียวกันนี้ ส่งผลให้มีผู้คนเสียชีวิตกว่า 20,000 คน

แปลและเรียบเรียงจาก 
Turkey-Syria earthquake updates: Syrian gov’t approves NW aid
Twitter restricted in Turkey in aftermath of earthquake
Turkey’s devastating earthquake comes at a critical time for the country’s
Turkey earthquake fault lines mapped from space
Turkey earthquake: Why did so many buildings collapse?
Twitter back online in Turkey after block
As the earthquake death toll soars, so does criticism of Turkey's government response
Türkiye leader Erdogan admits 'shortcomings' in government response to deadly quake
Turkish socialists blame government for scale of earthquake deaths
ที่มาที่ไป แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ สะเทือนตุรกี-ซีเรีย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท