โลกยุคหลังความจริง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ปัจจุบันนักรัฐศาสตร์หลายคนเริ่มหันมาศึกษาโลกยุคหลังความจริง (post-truth era) หมายถึงโลกที่เต็มไปด้วยความจริงที่ยุ่งเหยิง (the obfuscation of fact) คือ ความจริงมีมากมาย จนยากมากที่จะบอกได้ว่าอันไหนเป็นจริง อันไหนไม่เป็นจริง คนที่เคยบอกว่า “ความจริงก็คือความจริง” เห็นมีแต่ “ครูปรีชา” หรือคนที่พูดว่า “ความจริงมีหนึ่งเดียว” ก็ยังไม่เคยพิสูจน์ให้เห็นว่า ความจริงที่เป็นหนึ่งเดียวนั้นคืออะไร 

ตอนดาราไต้หวันมาเที่ยวไทยแล้วถูกตำรวจตั้งด่านเรียกรับเงิน พอกลับบ้านได้ สาวคนนั้นก็โวยวายผ่านสื่อสาธารณะสมัยใหม่ข้ามโลก พอเป็นข่าวขึ้นมา ตำรวจใหญ่ที่รับผิดชอบก็ออกมารับรองด้วยเกียรติตำรวจในฐานะที่ตนสอบได้ที่หนึ่งว่าไม่มีเรื่องอย่างนั้น ส่วนรัฐมนตรี “ไดอารี่” ท่านก็บอกว่า “เชื่ออะไรกับผู้หญิงคนเดียว” จนในที่สุด “เสี่ย ช.” โวยวาย เอาหนุ่มเพื่อนในก๊วนนั้นกลับมายืนยัน ปรากฏว่ากลายเป็นจริง เพราะเจ้าหน้าที่สอบเบื้องต้นแล้วมีมูล โลกเรากลายเป็นว่า “เสี่ย ช.” น่าเชื่อถือได้มากกว่าตำรวจใหญ่ที่สอบได้ที่หนึ่งหรือรัฐมนตรีไดอารี่

ยิ่งไปกว่านั้น “เสี่ย ช.” ยังรุกเรื่องอื่นๆ อีก แต่แทนที่เจ้าหน้าที่จะสืบสวนหาพยานหลักฐานเอง กลับขอให้ “เสี่ย ช.” ส่งพยานหลักฐานให้ โชคดีมากที่สังคมไทยไม่ตั้งคำถามว่า “แล้ววันๆ พ่อเจ้าพระคุณทำอะไรกันบ้าง!!!!” 

พ่อนอนป่วยอยู่โรงพยาบาล หวังให้ลูกมาเยี่ยมบ้าง เสียงโทรศัพท์ดังกริ๊งยาวๆ พ่อดีใจมาก รับสายมาปรากฏว่าปลายสายเป็นคอลเซนเตอร์ บอกว่าคุณพ่อมีพัสดุตกค้าง ข้างในเปิดดูแล้วมีพาสปอร์ตและสมุดธนาคารที่คนขายยาเสพติดโอนเงินมาในบัญชี พ่อต้องไปติดต่อตำรวจ พอโทรไปหาตำรวจ ตำรวจบอกให้พ่อโอนเงินสดทั้งหมดที่มีในบัญชีมาตรวจ คนแก่ก็งกเงิ่นออกไปทำตาม โชคดีบัญชีมีเงินสองพัน!!

“แม่บ้าน” กวาดบ้าน วันๆ มีแต่นามบัตรปล่อยเงินกู้ร้อยละยี่สิบ โยนใส่หน้าบ้าน บางวันโยนข้ามรั้วมาจนเก็บไม่หวาดไม่ไหว ไม่รู้จะไปบอกใคร เห็นพูดกันว่าคนที่โยนบัตรเป็นลูกหลานสายสืบ ไม่รู้มันสืบกันยังไงหรือเราจะตั้งกองสืบไปทำอะไร หลายวันแล้วเทศบาลไม่มาเก็บขยะ ตอนใกล้เลือกตั้งเห็นมาเก็บทุกวัน หลังจากนั้นไม่เห็นหัว ชาวบ้านก็ไม่เคยรวมตัวกัน ไม่เข้าใจวิธีกดดันเหมือนตำราประชาธิปไตย ก่อนเลือกตั้งเขาก็เอาเงินมาให้แล้วบ้านละสองพัน เขาคงคิดแล้วมั้งว่าอย่ามาทำให้ปวดหัวอะไรอีก!!

พอเปิดโทรศัพท์มา “เถ้าแก่” เห็นข้อความเขียนมาบอกว่าสรรพากรปรับระบบภาษีใหม่ ให้กรอกข้อมูลเพิ่ม ถ้าไม่กรอกจะถูกปรับ เถ้าแก่กรอกเสร็จ เงินหลายสิบล้านหายวับกับตา รีบไปแจ้งความที่สถานีท้องที่ สถานีท้องที่บอกว่าให้ไปหาตำรวจเทคโนโลยี พอนั่งรถไฟไปหาตำรวจเทคโนโลยีในเมืองกรุง ตำรวจบอกเดี๋ยวจะตรวจสอบให้ คดีอย่างนี้มีเป็นแสนๆ เถ้าแก่นึกในใจ หรือกูต้องไปหา “เสี่ย ช.”?? โลกมันกลับตาลปัตรไปปานนั้น!!

สังคมมันเปลี่ยนไป หลายพรรคการเมืองจีบ “เสี่ย ช.” เข้าพรรค พร้อมกับลด แลก แจก แถม พรรคนี้สร้างสโลแกนว่า “ปุ้มปุ้ย 700” พรรคโน้นเกทับว่า “ตุ๊ดตู่ 1000” ทั้งที่อ้างว่ารักกันปานจะกลืน พรรคนี้ช่วยปลดหนี้ให้ทั้งหมด พรรคนั้นเพิ่มสวัสดิการคนจน ใครยิ่งจนจะยิ่งได้เงินเยอะ อีกพรรคบอก คนแก่คนเฒ่าเตรียมสบายได้ มีบำนาญกินจนตาย แม้ไม่เคยทำราชการอะไร พรรคโน้นบอกหนูท้องเลย ต่อไปได้เงินเลี้ยงลูกจนเรียนจบมหาวิทยาลัย ส่วนอีกพรรคบอกมีกองทุนหลายสิบกอง ตั้งขึ้นเพื่อช่วยพี่น้องแต่ละกลุ่มทุกภาคส่วน พรรคนี้บอกผลงานที่ผมทำมาเห็นไหมชัดเจนไหม ขายของได้ ราคายางขึ้นพรวดๆ ส่วนพวกที่ออกไปไม่มีปัญหา พรรคเราเก่าลายคราม อีกพรรคบอกการเอาคนจนมาตีตราและออกบัตรประจำตัวให้ที่ทำมานั้น “คนจนชอบมาก” หน้าไหนกล้า บอกมาสิว่าจะเลิกไอ้บัตรพรรค์นี้!!

สนามการเมืองไทยกลายเป็นสงครามการแข่งขันกันทางนโยบาย ที่จริงโชเลียรากีและแฟร์คลาฟ (Chouliaraki and Fairclough) เรียกว่า “สนามวาทกรรม” ดูเหมือนอำนาจวาทกรรม (discursive power) ไม่จีรังเสียด้วย มีขึ้นมีลง วาทกรรมบางอย่างสั้นจุ๊ดจู๋ เสียงที่ดังเจื้อยแจ้วว่า “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน” แผ่วลงเรื่อยๆ ทุกวันนี้ไม่มีใครเชื่อน้ำยาว่าสัญญาจะเป็นจริงแล้วคนไทยจะมีความสุขกลับคืน มีแต่ระบมด้วยโควิด ไอกันแค้กๆ ถ้วนหน้า แถมขายสินค้าอะไรไม่ได้ คนขายเต็มไปหมด ไม่มีใครซื้อ

ความจริงของโลกเปลี่ยนแปลงไป คนที่เคยรังเกียจการเมือง กระโจนลงเล่นการเมือง และเข้าสู่วาทกรรมการเมือง เรียนรู้รสชาดว่า “การเข้าหาประชาชน” นั้นยากแค่ไหน แม้ว่าคัดเอากลุ่มคนมา แห่แหนและเตรียมวลีเด็ดๆ ไว้แล้ว “ผมก็ลูกบ้านนี้” พอไปที่อื่นก็บอกว่า “ผมก็เคารพพระองค์นี้เหมือน พี่น้อง” แต่การที่จะให้คนเลือกยากกว่านั้นอีก แม้ออกนโยบายรายวัน หรือโพลประเภททำเอง-เออเองบอกว่าตัวเองคะแนนนำ ทุกอย่างก็ยังไม่แน่ไม่นอน แม้พรรคแลนด์สไลด์ด่าคนอื่นว่าสืบทอดอำนาจ แต่พรรคตัวเองก็สืบตระกูล ตกลงเส้นแบ่งระหว่างประเทศกับครอบครัวอยู่ตรงไหน “คนดูไบ” ยังขายได้กระนั้นหรือ?? คนไทยกำลัง “เมาความจริง” เหมือนลอยคองัวเงียอยู่กลางทะเลลึกในคืนเดือนมืด มอง ไม่เห็นทางกลับบ้าน!!

นักรัฐศาสตร์อย่างลาคราว (Laclau) อธิบายว่า เราเข้าใจว่าตัวแทน (representation) กับคนที่ถูกแทน (represented) แยกกัน นักทฤษฎีไปนั่งคิดจนหัวแตกว่าพอเป็น ส.ส.แล้ว ทำยังไงให้ ส.ส.ไม่ลืมคำพูดและทำตามความต้องการของคนเลือก ออกกฎระเบียบก็แล้ว สร้างจรรยาบรรณก็แล้ว ยังไม่ได้ผล ลาคราวอธิบายว่า มันจะได้ผลยังไง ในเมื่อความจริง “ตัวแทน” กับ “คนที่ถูกแทน” ไม่ได้แยกกัน เราไปเข้าใจว่าส.ส.เหมือนนางงามเดินประกวดบนเวที แล้วให้คนดูลงคะแนน แต่ความเป็นจริงของโลกมนุษย์ นางงามก่อนขึ้นเวทีไปกระซิบบอกคนลงคะแนนไว้แล้ว ใครกระซิบคนลงคะแนนได้มาก คนนั้นก็ชนะ คนลงคะแนนให้นางงามไม่ได้เป็นกลาง ไม่ต่างจากคนเลือกส.ส. เขาเป็นกลุ่มพรรคพวกของส.ส. ส่วนที่สำคัญไม่แพ้นโยบายพรรคการเมือง จึงได้แก่ การสร้างหัวคะแนน จึงไม่แปลกที่พรรคพวกของลุงตุ๊ดตู่คิดจะเพิ่มเงินให้กับอสม. เพราะในความเป็นจริง อสม. คือ กลุ่มฐานเสียงและหัวคะแนนใหญ่ที่สุดของประเทศไทย

ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคหลังความจริง ที่เต็มไปด้วยความจริงที่ยุ่งเหยิง คนไทยกำลังปวดหัว เพราะนึกไม่ออกว่าอะไรเป็นจริงกันแน่ แต่ยังอุ่นใจที่ได้ยินเสียงครูปรีชาในหัว “ความจริงก็คือ ความจริง”!! เสียงนั้นดังมาอีกแล้ว เว้นแต่ว่าตำรวจเตือนตลอดว่าอย่าทำตามที่พวกคอลเซนเตอร์เขียนมา มันจะหลอกดูดเงิน ส่วนทำไมตำรวจได้แต่เตือนก็ไม่เข้าใจ นึกถึงอเมริกา ตอน “บิน ลาเดน” หนีไปอยู่เมืองอับบ็อตตะบัด ปากีสถาน คนในบ้านระวังตัวตลอด วันหนึ่งนั่งรถไปสองร้อยกิโลเมตรเพื่อโทรศัพท์ ทหารอเมริกาจับคลื่นได้ สะกดรอยตามจนรู้จุดที่อยู่ ต่อจากนั้นอเมริกาส่งเฮลิปคอปเตอร์ ขนทหารไปถล่มยิงและเอาศพบิน ลาเดนออกมาได้ ส่วนตำรวจไทยทำไมแค่เตือน ไม่มีเทคโนโลยีอะไรไล่จับพวกคอลเซ็นเตอร์บ้าง พวกวิศวะเก่งๆ ไปไหนหมด เห็นบางคนไปรับจ้างตำรวจทำการพนันออนไลน์ แถมตำรวจที่ทำการพนันยังเคยเป็นหัวหน้าตำรวจเทคโนโลยีด้วย อ้าว!! ทำไมตำรวจไม่จับตำรวจ หรือจะให้ “เสี่ยช.” ไปจับ เป็นความจริงหรือเปล่าที่มีตำรวจทำอย่างนั้นเป็นร้อยๆ มิน่าสงสัยว่าทำไมมีเงินกันมากมาย ทำไมไม่รับวิศวะเก่งๆ เข้ามาเป็นตำรวจเทคโนโลยี ทำไมไม่ซื้อเครื่องมือตรวจจับ หรือง่ายที่สุดทำไมไม่ซื้อมือถือมาสักหมื่นเครื่อง แล้วรอให้มันโทรมาเสร็จแล้วก็แกะรอยตามไป มันอยู่ประเทศไหนก็ไปจับมันมา ทำไมคนไทยถึงชอบพูดว่า “สั่งไปแล้ว” คำนี้มันดีอะไรนักหนา ทำไมถึงชอบพูดว่า “ทุกอย่างมันดีแล้ว” ที่ไม่ดีก็เป็นเพราะสื่อลงข่าว ถ้าสื่อลงข่าวดี ประเทศมันจะไม่ดีได้ยังไง ผมยังต้องทำอะไรอีกเยอะ ทุกอย่าง “ทำมาแล้ว” (ได้แค่นี้) “กำลังทำอยู่” (ก็ด่าอยู่นี่ยังไง) แล้วก็จะ “ทำต่อ” (คือจะ “สั่ง” ต่อ)

ประเทศไทยเหมือนรถใส่เกียร์ว่าง จอดสนิทอยู่ข้างทาง มีฝุ่นจับเขลอะ ไม่รู้ใครมือบอนเขียนรถเป็นรอยตัวโตว่า “ล้างบ้างนะพ่อคุณ!!!” สังคมไทยเต็มไปด้วย fake news และการทำร้ายกันทางคำพูด โหมโฆษณากันเป็นบ้าเป็นหลัง ในโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์และวิทยุ นักข่าวก็รู้ดีว่าข่าวอะไรคนชอบ ข่าวอะไรคนไม่ชอบ วาทกรรมสื่อสารมวลชนที่เรียนมาจากโรงเรียน มันไม่สำคัญเท่ากับวาทกรรมในชีวิตจริงของนักข่าว “นักข่าวเองก็ต้องอยู่รอด เข้าใจไหม!!” ถ้าเรตติ้งมันไม่ดีแล้ว ใครจะลงโฆษณา แล้ว ค่าโฆษณามันบาทสองบาทเสียเมื่อไหร่ ข่าวหนักๆ เนื้อหาวิชาการ มันไม่มีใครเขาดูหรอก สื่อเสรีมัน มีจริงที่ไหน มันเป็นฝันลมๆ แล้งของนักอุดมคติบางคนเท่านั้น โลกมันเลยไปไกลจากความจริงแล้ว ทุกวันนี้...
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท