Skip to main content
sharethis

ถึงแม้ว่ารัฐบาลบางแห่งในอาเซียนจะแสดงท่าทีเหมือนให้ความสำคัญกับวันสตรีสากล แต่กลุ่มนักกิจกรรม นักสหภาพแรงงาน หรือนักการเมืองที่เป็นผู้หญิงในพื้นที่นี้ยังคงเผชิญกับการเลือกปฏิบัติ ถูกจับกุม คุกคาม ดำเนินคดีไปจนถึงใช้ความรุนแรงจากรัฐบาลของพวกเธอเอง

ในช่วงวันสตรีสากลเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กัมพูชาและลาวได้ประกาศให้วันสตรีสากลเป็นวันหยุดราชการเนื่องจากกลุ่มผู้นำสองประเทศนี้ต้องการเน้นย้ำในเรื่องการพัฒนาสถานภาพของผู้หญิง แต่ทว่ากลุ่มนักกิจกรรมในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บอกว่ายังต้องมีการพัฒนาอีกมากในเรื่องการคุ้มครองผู้หญิงในภูมิภาคนี้ที่ยังคงเผชิญกับการกีดกันเลือกปฏิบัติและภัยคุกคามจากความรุนแรง

Chak Sopheap ผู้อำนวยการของศูนย์กัมพูชาเพื่อสิทธิมนุษยชนบอกว่าถึงแม้ว่ากระทรวงกิจการสตรีของกัมพูชาจะส่งเสริมให้เหยื่อที่เป็นผู้หญิงขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ทางการในท้องที่พวกเธออาศัยอยู่ แต่ในความเป็นจริงแล้วคำร้องของพวกเธอมักจะถูกละเลย

Chak ยังได้ยกตัวอย่างกรณีที่นักกิจกรรมผู้หญิงเผชิญกับความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในขณะที่พวกเธอต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิของตัวเอง เช่น กรณีการนัดหยุดงานประท้วงเพื่อเรียกร้องค่าจ้างที่ดีขึ้นและเรียกร้องสภาพการจ้างงานที่ดีขึ้นที่นากาแลนด์รีสอร์ทแอนด์คาสิโนในกรุงพนมเปญ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมักจะปะทะกับผู้ประท้วงโดยใช้ความรุนแรง ทำให้มีผู้ประท้วงซึ่งผู้ประท้วงส่วนใหญ่เป็นแรงงานหญิง ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก

นอกจากนี้ Mu Sochua รักษาการรองประธานของพรรคสงเคราะห์ชาติหรือ CNRP ของกัมพูชาซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ถูกแบนจากรัฐบาลฮุนเซน ได้เรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวผู้หญิงทุกคนที่ถูกคุมขังอยู่เพื่อส่งเสริมสิทธิของพวกเธอ ไม่ว่าจะเป็นทนายความชาวกัมพูชา-อเมริกัน Theary Seng, ผู้นำสหภาพแรงงานนากาเวิร์ลด์ Chhim Sithar และ นักกิจกรรมของพรรค CNRP York Neang

นักข่าวหญิงยังคงอยู่ในเรือนจำ

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ซึ่งเป็นองค์กรด้านเสรีภาพสื่อ ได้ออกแถลงการณ์เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักข่าวหญิงทั่วโลกโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข โดยมีการยกตัวอย่างนักข่าวสองคนจากเวียดนามและจากพม่า

นักข่าวคนแรกคือ Pham Doan Trang นักข่าวเวียดนามที่ได้รับรางวัลฟรีดอมไพรซ์อิมแพคเมื่อปี 2562 เธอถูกย้ายไปอยู่ในเรือนจำที่ห่างออกไปทางใต้ของฮานอย 1,000 กม. เพื่อพยายามปิดบังเรื่องสุขภาพของเธอ โดยที่สุขภาพของเธอกำลังอยู่ในขั้นวิกฤต Trang ถูกจับกุมในข้อหา "โฆษณาชวนเชื่อต่อต้านรัฐ" เมื่อเดือน ต.ค. 2563 และถูกสั่งลงโทษจำคุกเป็นเวลา 9 ปีเมื่อเดือน ธ.ค. 2564 เธอถูกกล่าวหาว่าได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศเพื่อกล่าวหมิ่นรัฐบาลในสิ่งที่รัฐบาลอ้างว่าเป็น "ข่าวปลอม"

นักข่าวคนที่สอง คือ Htet Htet Khine นักข่าวอิสระของพม่าผู้ที่ถูกคุมขังตั้งแต่เดือน ส.ค. 2564 อยู่ในเรือนจำอินเส่งในกรุงย่างกุ้ง เรือนจำแห่งนี้เป็นที่อื้อฉาวจากการใช้คุมขังนักโทษการเมือง เธอถูกลงโทษจำคุก 2-3 ปีและบังคับใช้แรงงานหนักจากข้อกล่าวหา "ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชังและความรุนแรงต่อกองทัพ" จากการที่เธอรายงานเรื่องความรุนแรงที่กองทัพใช้ในการรัฐประหารยึดอำนาจในเดือน ก.พ. 2564

ในรายงานเสรีภาพสื่อโลกของผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนในปี 2565 เวียดนามถูกจัดด้านเสรีภาพสื่อให้อยูอันดับที่ 174 จากทั้งหมด 180 อันดับ และเป็นประเทศที่คุมขังนักข่าวมากที่สุดรองจากจีน, อิหร่าน และเบลารุส ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนรายงานอีกว่าในจำนวนผู้สื่อข่าวและคนทำงานสื่อ 550 รายที่ถูกคุมขังทั่วโลกตอนนี้มีอยู่ 73 ราย ที่เป็นผู้หญิง คิดเป็นมากกว่าร้อยละ 13 ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นสองเท่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ข้อเรียกร้อง "หยุดยั้งการค้ามนุษย์โดยทันที"

ในประเทศลาว เจ้าหน้าที่ทางการที่ทำงานในประเด็นสตรีกล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อเรดิโอฟรีเอเชียว่าสิทธิสตรีเป็น "ประเด็นสำคัญอันดับต้นๆ" ของรัฐบาล

เจ้าหน้าที่ทางการลาวผู้ไม่ประสงค์เอ่ยนามกล่าวว่า "ต้องหยุดยั้งการค้ามนุษย์และความรุนแรงต่อผู้หญิงโดยทันที และคนที่ก่อเหตุจะต้องเข้าคุก ... จะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ที่คุ้มครองผู้หญิงอย่างจริงจังมากกว่านี้"

ถึงแม้ว่าจะมีการเคารพในบทบาทและคุ้มครองสิทธิสตรีของลาวมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยังคงมีผู้หญิงลาวจำนวนมากโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทที่ยังคงประสบภาวะยากจน, เข้าไม่ถึงการศึกษา, และมักจะตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์เพื่อการค้ากามและการบังคับใช้แรงงานในประเทศไทยและจีน

ในขณะที่โครงการพัฒนาของสหประชาชาติชื่นชมลาวที่มีสัดส่วนนักการเมืองหญิงในสภามากที่สุดในโลก แต่ยูเอ็นก็ระบุว่ามีจำนวนผู้หญิงที่มีอำนาจอยู่ในสถาบันของรัฐบาลสถาบันอื่นๆ อยู่น้อยมาก รวมถึงมีความไม่เท่าเทียมในบางพื้นที่ของลาวที่ผู้หญิงถูกปฏิเสธไม่ให้มีสิทธิทำงานรูปแบบเดียวกับผู้ชาย นอกจากนี้ยูเอ็นยังระบุอีกว่าในลาวมีอุปสรรคขวางกั้นต่อผู้หญิงคือ ความรุนแรงทางเพศหรือการกดขี่หาประโยชน์ทางเพศ การแบ่งงานแบบไม่เท่าเทียมกันเกี่ยวกับงานที่ไม่ได้รับค่าจ้างอย่างงานบ้าน และการถูกกีดกันเลือกปฏิบัติในสำนักงานราชการ

ประท้วงเทสีแดง

สื่อเรดิโอฟรีเอเชียยังรายงานเมื่อวันสตรีสากล (8 มี.ค.) ที่ผ่านมาอีกว่า มีนักกิจกรรมเยาวชนประมาณ 20 รายชุมนุมที่หน้าสถานทูตไทยในกรุงพนมเฟญเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิกข้อกล่าวหาต่อ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ "ตะวัน" กับ อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือ "แบม" สองนักกิจกรรมที่ถูกทางการไทยแจ้งข้อหาด้วยมาตรา 112 และ 116 จากการประท้วงอย่างสันติที่ฝั่งตรงกันข้ามกับสำนักงานใหญ่สหประชาชาติก่อนหน้าที่จะมีขบวนเสด็จ

นอกจากนี้กลุ่มนักกิจกรรมในกัมพูชายังเรียกร้องให้มีการปล้อยตัวนักกิจกรรมปกป้องสิทธิสตรีในกัมพูชารายอื่นๆ ด้วย พวกเขาทำการประท้วงโดยการนั่งสมาธิ และเทสีแดงรดตัวแบบเดียวกับที่ตะวัน-แบม เคยใช้ประท้วง เพื่อต้องการให้ผู้คนสนใจประเด็นนี้

Kim Chilinshe หนึ่งในนักกิจกรรมที่กัมพูชากล่าวว่า "เนื่องในวันสตรีสากล รัฐบาลควรจะต้องส่งเสริมผู้หญิงที่เป็นนักกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม, นักการเมือง หรือนักสหภาพแรงงาน ... พวกเธอถูกจับกุมด้วยข้อหาที่พวกเธอไม่ได้ก่อ"

ในพม่า รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ที่เป็นรัฐบาลเงาจากกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการทหาร นำเสนอสถิติที่เผยให้เห็นว่านับตั้งแต่ที่เผด็จการทหารนำโดยมินอ่องหล่ายรัฐประหารยึดอำนาจมาเป็นเวลา 25 เดือน ก็มีผู้หญิงในพม่าถูกสังหารทั่วประเทศรวมแล้ว 483 ราย

กระทรวงกิจการสตรี เยาวชน และเด็ก ของรัฐบาลเงา NUG ร่วมออกแถลงการณ์กับคณะกรรมการประสานงานด้านนโยบายเพศสภาพ ในสังกัดสภาที่ปรึกษาหารือเพื่อเอกภาพแห่งชาติ (NUCC) ระบุว่า เผด็จการทหารพม่าได้คุมขังผู้หญิงในพม่ารวมแล้ว 3,125 ราย มีอยู่ 11 รายที่ต้องโทษประหารชีวิต และมี 15 รายที่ถูกสั่งลงโทษจำคุกตลอดชีวิต

"ขอให้ช่วยเหลือกัน แทนที่จะทำร้ายกัน"

Am Sam Ath จากองค์กรสิทธิมนุษยชน Licadho กล่าวว่า ในกัมพูชา มีผู้หญิงที่เป็นนักกิจกรรมและนักการเมืองจำนวนหนึ่งถูกจับกุมเนื่องจากกิจกรรมของพวกเธอ Am บอกว่า แทนที่จะจับกุมพวกเธอ ควรจะมีการส่งเสริมผู้หญิงเหล่านี้เพราะพวกเธอได้ทำงานส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและช่วยเหลือสังคม Am เรียกร้องให้มีการลดโทษหรืออภัยโทษผู้หญิงเหล่านี้เพื่อให้พวกเธอสามารถกลับบ้านไปหาครอบครัวและช่วยเหลือพัฒนาประเทศได้

Lim Mony คณะทำงานอาวุโสขององค์กรสิทธิมนุษยชน AdHoc ที่ทำงานส่งเสริมสิทธิสตรีกล่าวว่า รัฐบาลควรจะส่งเสริมให้ผู้หญิงทำงานได้อย่างอิสระ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้เลิกกีดกันเลือกปฏิบัติทางการเมืองต่อผู้หญิงด้วย Mony กล่าวว่า ผู้หญิงเป็นกลุ่มคนที่ช่วยสร้างสังคมและสร้างประโยชน์ให้ประเทศ พวกเธอไม่ได้ทำอะไรต่อต้านรัฐบาล

 

เรียบเรียงจาก

Cambodia, Laos declare Women’s Day a holiday, but host of inequalities remain, Radio Free Asia, 08-03-2023

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net