นศ.อิหร่านโดดน้ำปลิดชีพตนเองในฝรั่งเศส หวังสร้างความตระหนักรู้ต่อความรุนแรงของรัฐบาลอิหร่าน

‘มูฮัมหมัด โมราดี’ นักศึกษาชาวอิหร่านตัดสินใจโดดแม่น้ำโรนในฝรั่งเศส ปลิดชีพตนเอง หวังให้สื่อและรัฐบาลตะวันตกตระหนักรู้การใช้ความรุนแรงปราบผู้ประท้วงของรัฐบาลเตหะราน และมีการจัดชุมนุมเล็กๆ เพื่อรำลึกหลังการจากไปของเขา

 

30 ธ.ค. 2565 สื่อต่างประเทศรายงานวานนี้ (29 ธ.ค.) มูฮัมหมัด โมราดี นักศึกษาชาวอิหร่านวัย 38 ปี อาศัยอยู่ในเมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส ปลิดชีพตัวเองด้วยการกระโดดลงสู่แม่น้ำโรน (Rhone) เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (26 ธ.ค.) วิดีโอก่อนการเสียชีวิตของเขา ระบุว่าเขาไม่ได้มีปัญหาส่วนตัวแต่อย่างใด แต่ชีวิตของเขาไม่มีความหมายเลย หากรัฐบาลอิหร่านยังคงกดขี่ประชาชนอยู่ หลังเหตุการณ์ดังกล่าวได้มีการจัดชุมนุมเล็กๆ ขึ้นที่ริมแม่น้ำ เพื่อระลึกถึงการจากไปของเขา 

นักประดาน้ำพบร่างของเขาในช่วงเย็นของวันเดียวกัน (26 ธ.ค.) แต่ความพยายามในการกู้ชีพของทีมฉุกเฉินไม่สามารถช่วยชีวิตเขาไว้ได้ ก่อนการกระโดดลงแม่น้ำโรน มูฮัมหมัดโพสต์คลิปวิดีโอตามโซเชียลมีเดียต่างๆ เป็น 2 ภาษา ได้แก่ ภาษาเปอร์เซีย และภาษาฝรั่งเศส มีเนื้อหาอธิบายว่าเขาตัดสินใจลาโลกนี้ เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการปราบปรามผู้ประท้วงของรัฐบาลอิหร่าน  

"ปัจจุบันประเทศของผมมีการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ เพื่อต่อต้านความรุนแรงของรัฐบาล เรามีระบอบอิสลามที่พยายามเอาสิ่งต่างๆ เจาะเข้าไปในหัวประชาชน ตำรวจโจมตีประชาชนอย่างรุนแรงระหว่างการประท้วง น่าเศร้าที่เราสูญเสียลูกสาว ลูกชาย และวัยรุ่นเยาวชน รวมถึงกระทั่งเด็ก เราต้องทำอะไรสักอย่าง" โมราดี กล่าวในคลิปวิดิโออันหนึ่งของเขา

 

 

"ผมได้ตัดสินใจแล้วว่าจะฆ่าตัวตายในแม่น้ำโรน มันเป็นความท้าทาย ในการแสดงให้เห็นว่า พวกเราชาวอิหร่านรู้สึกเหนื่อยเต็มทีกับสถานการณ์แบบนี้ เราต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศของเราให้เป็นประชาธิปไตย โดยมีสิทธิให้กับผู้หญิงและผู้ชายอย่างเท่าเทียมกัน"

"หากคุณได้ดูวิดิโอนี้ ผมคงตายไปแล้ว แต่ผมมีความสุข เพราะผมเลือกเส้นทางนี้โดยไม่มีความเครียดใดๆ ผมไม่ได้เศร้า ผมตัดสินใจที่จะทำแบบนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขาชาวอิหร่านต้องการความช่วยเหลือ" โมราดี พูดปิดท้ายในวิดิโอ

สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งรายงานเพิ่มเติมว่า หลังการเสียชีวิต 1 วัน อัยการของเมืองลียงระบุว่าจะมีการตรวจสอบ "เพื่อยืนยันทฤษฎีของการฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะในมุมมองที่มาจากข้อความประกาศเจตนารมย์ของบุคคลที่เสียชีวิต ซึ่งโพสต์อยู่ในโซเชียลมีเดียต่างๆ" 

ชุมนุมรำลึกริมแม่น้ำโรน

เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความตกใจอย่างมากในเมืองลียง ในวันอังคารที่ผ่านมา (27 ธ.ค.) มีการจัดชุมนุมเล็กๆ เพื่อรำลึกถึงการจากไปของเขา และมีการจัดกิจกรรมพูดปราศัย ร้องเพลง วางพวงหรีดและเทียนไข ที่ริมแม่น้ำโรน สมาชิกของชุมชนชาวอิหร่านในเมืองลียงให้ข้อมูลว่า มูฮัมหมัด โมราดี เป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีภาควิชาประวัติศาสตร์ ทำงานอยู่ในร้านอาหารแห่งหนึ่ง และอยู่กับภรรยาในเมืองลียงมาได้เป็นเวลา 3 ปีแล้ว 

"มูฮัมหมัด โมราดี ปลิตชีพตนเองเพื่อให้เสียงของการปฏิวัติเป็นที่รับรู้ในอิหร่าน เสียงของเราไม่ได้รับการนำเสนอในสื่อตะวันตก" ทิโมธี อามินี ผู้ลี้ภัยการเมืองและตัวแทนของชุมชนชาวอิหร่านในเมืองลียง ซึ่งมีสมาชิกประมาณ 3,000 คน ปัจจุบันทำงานในด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อขณะที่มีการชุมนุมขนาดเล็กที่สะพานกัลลีเยนี (Gallieni Bridge)

"หัวใจของเขาเต้นเพื่ออิหร่าน เขาไม่สนับสนุนระบอบนี้อีกแล้ว" ทิโมธี อะมินี พูดเสริมอีกว่า "เราได้รับฟังข่าวเกี่ยวกับยูเครนทุกเช้า แต่เราได้ยินข่าวเกี่ยวกับอิหร่านน้อยมาก มันลำบากนะในการใช้ชีวิตสำหรับเรา ที่เป็นชาวอิหร่านพลัดถิ่น" 

ลิลี โมฮัดเจีย สมาชิกชุมชนชาวอิหร่านอีกคนใหัสัมภาษณ์กับสื่อ โดยตั้งข้อสังเกตว่า โมราดีหวังให้ "การตายของเขากลายเป็นอีกปัจจัยหนึ่งสำหรับสื่อและรัฐบาลตะวันตกในการสนับสนุนการปฏิวัติที่กำลังดำเนินอยู่ในอิหร่าน" 

เธอระบุอีกว่าเขา "ไม่ได้ฆ่าตัวตาย" แต่ "เสียสละเพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพ" เธอบอกอีกว่าในวิดีโอของโมราดี เขาพูดว่าเขา "ไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างเป็นสุขและสะดวกสบายที่นี่ได้ แม้ว่าเขาจะปรับตัวเข้ากับที่นี่ได้เป็นอย่างดีก็ตาม" เพราะชาวอิหร่านกำลังถูกเข่นฆ่าโดยรัฐบาลของอิหร่านอยู่  

การประท้วงในอิหร่านเริ่มต้นเมื่อ ก.ย.ที่ผ่านมา หลังจากมาร์ซา อะมินี ถูกตำรวจศาสนาทำร้ายร่างกายเสียชีวิต เพราะไม่ปฏิบัติตามระเบียบการสวมฮิญาบ กลุ่มสิทธิมนุษยชนอิหร่าน (Iran Human Rights) ระบุว่าปัจจุบันมีผู้ประท้วงเสียชีวิตแล้ว 476 คน มีเยาวชนชายถูกประหารชีวิตไปแล้ว 2 คน และเสี่ยงถูกประหารชีวิตไม่ต่ำกว่าอีก 100 คน ต่างจากตัวเลขของหน่วยงานความมั่นคงอิหร่านเมื่อต้น ธ.ค. ที่อ้างว่ามีผู้เสียชีวิตไป 200 คน และในจำนวนนี้มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงรวมอยู่ด้วย 

ด้านองค์การสหประชาชาติให้ข้อมูลเมื่อ พ.ย.ที่ผ่านมาว่า มีผู้ถูกจับกุมนับตั้งแต่มีการประท้วงไปแล้วกว่า 14,000 คน ในช่วงปลายเดือน พ.ย. คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ลงมติให้มีการสืบสวนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในการประท้วงอิหร่าน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอิหร่านได้ออกมาปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือ โดยให้เหตุผลว่าการสอบสวนนี้เป็นการใช้สิทธิมนุษยชนเพื่อแทรกแซงกิจการภายในประเทศ

 

แปลและเรียบเรียงจาก

https://www.iranintl.com/en/202212275955?fbclid=IwAR0Xuahpsi2iqo6EgGNAz6HhshpVCbSKIUb8jWvE4xj467djLdcSAcP1TTY

https://www.euronews.com/2022/12/28/iranian-national-kills-himself-in-lyon-decrying-tehrans-crackdown-on-protests

https://www.voanews.com/a/investigation-opens-after-iranian-found-dead-in-french-river/6894370.html

https://www.arabnews.com/node/2222966/world

https://www.aljazeera.com/news/2022/11/28/iran-rejects-un-investigation-into-protests

https://en.wikipedia.org/wiki/Suicide_of_Mohammad_Moradi#cite_note-1
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท