Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เรื่องราวที่นำเสนอต่อไปนี้ คือเรื่อง ‘เล่าจากนักวิจัย’ และ ‘เสียง’ ของคนจนข้ามรุ่นจาก ‘สนามวิจัย’ ในภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคใต้ เป็น ‘เรื่องราว’ ของผู้คนกลุ่มหนึ่งในสังคมไทยที่เกิดมาก็รับรู้แล้วว่าตัวเอง ‘ยากจน’ มีชีวิตอยู่กับความลำบากยากแค้น กระท่อนกระแท่น ไม่แน่นอน และแทบจะมองไม่เห็นว่าอนาคตตัวเองและลูกหลานจะเป็นอย่างไรทั้งที่พวกเขาก็สู่ยิบตา ไม่ได้งอมืองอเท้ามาทั้งชีวิตแล้ว แต่ทว่า การสู้ดังกล่าวก็ไม่เคยชนะ และเขาเหล่านั้นยังคงมีตัวตนอยู่ในพื้นที่แคบๆ เล็กๆ ทั้งพื้นที่ทางกายภาย สังคมและเศรษฐกิจในแผนพัฒนาฉบับที่ 13 รัฐเองก็ยอมรับว่าความยากจนข้ามรุ่นเกิดกับประชากรกลุ่มหนึ่งของประเทศและเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง แม้คนจนจะลดลงในปี พ.ศ. 2562 เหลือเพียงร้อยละ 6.2 ยังมีคนจนกลุ่มเดิมๆ และกลุ่มใหม่ๆ ที่ยังติดกับดักความยากจนมาอย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ. 2562 พบว่ามีครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น 512,600 ครัวเรือน (ร้อยละ 13.5) ของครัวเรือนที่มีเด็กและเยาวชน และ ปี พ.ศ. 2563 สัดส่วนคนจนเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 12.7 ในไตรมาสที่ 1 และร้อยละ 14.9 ในไตรมาสที่ 2 หลังการระบาดของโควิด-19 ในปี พ.ศ. 2565 จำนวน ประมาณ 597,248 ครัวเรือน หรือคิดเป็นประมาณ 15% ของครัวเรือนที่มีเด็กและเยาวชนเป็นสมาชิก (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 2565)

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในแผนพัฒนาฉบับที่ 3 นิยามความหมายความยากจนข้ามรุ่นว่า “ครัวเรือนที่มีเด็กและเยาวชนอายุ 0-18 ปี และมีความขัดสนทางรายได้หรือมิใช่รายได้ อย่างน้อยอย่างใดอย่าง หนึ่งจาก 4 มิติ ดังต่อไปนี้ ได้แก่ มิติด้านสุขภาพ (เด็กแรกเกิดมีน้ำหนักไม่ถึง 2,500 กรัม หรือเด็ก 0-12 ปี ได้รับวัคซีนไม่ครบ) มิติด้านสภาพแวดล้อม (ไม่มีความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย หรือขาดแคลนน้ำสะอาดสำหรับบริโภค) มิติด้านการศึกษา (เด็กขาดการเตรียมพร้อมก่อนวัยเรียน ไม่ได้รับการศึกษาภาคบังคับ หรือไม่ได้เรียนต่อชั้น ม.4 หรือเทียบเท่า หรือมีคนในครัวเรือนที่ไม่มีงานทำไม่ได้รับการฝึกอาชีพ หรือขาดทักษะในการอ่าน เขียน และคิดเลขอย่างง่าย) และมิติด้านความมั่นคงทางการเงิน (รายได้ครัวเรือนต่ำกว่า 38,000 บาท/คน/ปี หรือไม่มีเงินออม) โดยข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นมาจากระบบข้อมูลขนาดใหญ่สำหรับการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต (TPMAP)”

ทีมวิจัยได้ขยายความหมายของความยากจนข้ามรุ่นที่มากไปกว่าความหมายความยากจนข้ามรุ่นเชิงวัตถุตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในแผนพัฒนาฉบับที่ 3 ที่เสนอข้างต้น โดยเสนอว่าการทำความเข้าใจความหมายของความยากจนข้ามรุ่นควรให้ความสนใจการดำรงอยู่ของความยากจน และความสัมพันธ์ของความยากจนกับสังคมและอาศัยมุมมอง ความรู้และการรับรู้ของการมีอยู่ของความยากจนข้ามรุ่นจากคนจนในฐานะผู้กระทำการ ซึ่งความรู้และการรับรู้ของการมีอยู่และการดำรงอยู่ของความยากจนข้ามรุ่นจากมุมมองของคนจนในทั้ง 5 บทความนี้สะท้อนให้เห็นว่าความจริงเกี่ยวกับความยากจนข้ามรุ่นมิได้คงที่หรือมีแบบเดียว หากเต็มไปด้วยความหลากหลายภายใต้โครงสร้างสังคมเศรษฐกิจและการเมืองไทย

งานวิจัยนี้นำเสนอเรื่องราวของคนจนข้ามรุ่นปรากฎในพื้นที่หรือภาคส่วนการพัฒนาของประเทศ ใน 5 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่วิจัยมิติการศึกษาในจังหวัดพิษณุโลก ที่พบว่าในจังหวัดนี้มีสถานศึกษามากกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและระดับอุดมศึกษา แต่กลับไม่มีโอกาสเหยียบย่างเข้าไปได้ โอกาสการศึกษาที่รอคอยมายาวนานนั้นดูเหมือนว่าจะมาไม่ถึงสักครั้งสำหรับรุ่นแล้วรุ่นเล่าของคนในครอบครัวยากจน การดิ้นรนต่อสู้ประจำวันจึงเน้นการหากินหาใช้ให้ได้ให้อยู่รอดได้ไปวันๆ แม้ว่าจะสำนึกว่าการศึกษาคือกุญแจดอกสำคัญที่ช่วยไขประตู่สู่การเปลี่ยนผ่านให้ออกจากความจนได้ แต่กุญแจดอกนี้แทบเอื้อมมือไปไม่ถึงผ่านกาลเวลาและยุคคนมาหลายยุค 
 
พื้นที่สัมปทานเหมืองแร่จังหวัดหนองบัวลำภู รัฐบาลที่ให้สัมปทานเหมืองแร่แก่บริษัท ได้ทำลายธรรมชาติและนิเวศทั้งป่าไม้ ที่ดิน แหล่งน้ำของคนในพื้นที่จนเกิดผลกระทบสะสม กระทบตรงๆ คือ กระทบต่อผู้หญิงผู้ที่ต้องหาอาหารและรายได้จากทรัพยากรเหล่านี้เพื่อเลี้ยงปากท้องและจุนเจือครอบครัว ผลกระทบนี้กลับกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญทำให้ผู้หญิงลุกขึ้นสู้ การสู้ที่ยาวนานกับบริษัทเหมืองแร่ด้วยการใช้ทรัพย์สินในฐานะทุนที่พอมีอยู่มาเป็นเสบียงกรังไม่ว่าจะเป็นเงินและเวลารวมทั้งร่างกายที่ใช้ในการปะทะตรงๆ ระหว่างการประท้วงจนได้รับบาดเจ็บทั้งกายและใจ การสู้ที่ยาวนานเช่นนี้ ทำให้พวกเธอหมดหรือลดโอกาสการเพิ่มทุนของตัวเองและครอบครัว ซึ่งกลายเป็นความทุกข์ทางสังคมที่สะสมขึ้นมาแทนที่

พื้นที่เกษตรกรรมสมัยใหม่ที่รัฐใช้งบพัฒนาเพื่อเพิ่มผลิตการเกษตรในภาคอีสานตอนล่างในอำนาจเจริญ เช่น นาแปลงใหญ่หรือการส่งเสริมงบพัฒนาที่ดิน รวมทั้งโครงการช่วยเหลือเกษตรกรต่างๆ ไม่ว่าในยามน้ำท่วมหรือภัยแล้ง ชาวบ้านที่มีที่ดินน้อยนิดที่อยู่ภายใต้บรรยากาศการพัฒนาเกษตรกรรมสมัยใหม่นี้มักเปรียบเปรยตัวเองกับเพื่อนบ้านและมองว่า ‘ความยากจนมันเป็นเรื่องน่าอับอาย’ เพราะพ่อแม่เคยมีที่ดินแต่มาถึงรุ่นลูกนั้นที่ดินหดหายไปเพราะเกิดจากการแบ่งที่ดินให้ลูกๆ จนเหลือแปลงเล็กแปลงน้อยจนไม่สามารถสร้างอาหารและรายได้ให้พอต่อครอบครัวได้ หนี้สินคือทางออก ไม่มีและกู้ หางานหาเงินมาได้ก็ไม่พอจ่ายค่ากู้ และค่าเล่าเรียน อีกทั้งการมีครอบครัวก็ใช่ว่าจะหาความสุขได้เพราะฐานการเงินง่อนแง่นและหนี้สินรุงรัง 

สำหรับครัวเรือนในพื้นที่ที่รัฐเคยขีดวงว่าเป็นพื้นที่สีแดงภายใต้บริบทการเมืองยุคคอมมิวนิสต์ในอำนาจเจริญ ‘การร้างหมู่บ้าน” สองครั้งคือการบังคับโยกย้ายถิ่นฐานของคนที่รัฐติดป้ายฉลากว่าเป็นคอมมิวนิสต์หรือหมู่บ้านคอมมิวนิสต์ในอำนาจเจริญภายใต้ยุคการปราบปรามนั้น ได้กลายเป็นเงื่อนปมสำคัญของการแยกคนออกจากที่ดินตัวเอง มิหนำซ้ำยังต้องเผชิญกับ พ.ร.บ.ป่าสงวนเมื่อกลับมายังพื้นที่เดิมของตน จนต้องเข้าร่วมขบวนสมัชชาคนจนเพื่อเข้าถึงที่ดิน สปก. ความยาวนานของการเข้าถึงที่ดินส่งผลต่อการไร้ที่ดินและความยากจนสู่รุ่นลูกรุ่นหลานในระยะต่อมา

ชาวเลท้องถิ่นในพื้นที่ประมงริมฝั่งทะเลภาคใต้ที่ปัตตานี ยังคงเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติอยู่เสมอๆ ประมงชายฝั่งคือพื้นที่ที่ดีที่สุดของการจับปลาและสัตว์น้ำของพวกเขา แต่การกัดเซาะชายฝั่งที่มีต่อเนื่อง ทำให้พื้นที่แทบจะทั้งหมดหายไป ทำให้พวกเขาต้องย้ายถิ่นทำกินหลายครั้ง จนพากันมาอยู่แถวป่าชายเลน ผีซ้ำด้ามพลอย รัฐก็มาออกพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 จากการย้ายถิ่นเพื่อหนีการกัดเซาะชายฝั่ง จนถอยร่นข้าวมาในแผ่นดิน ภายหลังชาวบ้านจึงกลายเป็นผู้บุกรุก ภัยพิบัติและกฎหมายคือเงื่อนไขสำคัญต่อการเกิดปรากฏการณ์ความยากจนข้ามรุ่น ท่ามกลางการต่อสู้เข้าถึงที่ทำกินนั้น คนจนต้องเผชิญกับปัญหานานาประการทั้งรายได้ หนี้สิน สุขภาพอื่นๆ

บทความสั้นนี้ต้องการนำเสนอผลการศึกษาเบื้องต้นของการวิจัยในปีแรก เพื่อทำความเข้าใจการดำรงอยู่ของความยากจนข้ามรุ่น โดยมองพ้นไปไปจากมุมมองการคิดแบบคู่ตรงข้าม (dichotomy) ได้แก่ ความสำเร็จก้าวหน้า (progress) ของการพัฒนา และความล้มเหลวหรือปัญหาต่างๆ (failure/problem) ที่เป็นผลพวงของการพัฒนา แต่งานชิ้นนี้พยายามชี้ให้เห็นถึงปรากฎการณ์และความท้าทายที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาที่สร้างปัญหาและความตึงเครียดทางสังคมเศรษฐกิจการเมือง อีกทั้งสะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำระหว่างการเจริญเติบโตที่ก้าวหน้า กับ ความยากจนข้ามรุ่นที่ตีควบคู่กันมา นอกจากนี้ บทความทุกชิ้นยังชี้ให้เห็นว่าความยากจนข้ามรุ่นดำรงอยู่ด้วยเงื่อนไขทางสังคมอะไร และนำเสนอว่าความหมายของความยากจนในงานชิ้นนี้มิได้เน้นการมองความยากจนเชิงตัวเลขรายได้หรือด้านเศรษฐกิจ (absolute term) ตามแบบที่รัฐและองค์การพัฒนานานาชาติมักให้ความสำคัญเป็นหลักแม้จะมีแนวคิดความยากจนหลากมิติมาเพิ่มภายหลังก็ตาม ซึ่งแน่นอนว่าความยากจนเกิดจากการขาดรายได้หรือมีรายได้ไม่พอก็เป็นส่วนทำให้ยากจน แต่เน้นให้เห็นภาพที่ลุ่มลึกซับซ้อนของความหมายความยากจนว่าอย่างไรในมุมมองของคนจน นอกจากนี้ยังนำเสนอให้เห็นความแตกต่างหลากหลายของประสบการณ์ความยากจนข้ามรุ่นของคนจน (different experiences of poverty) ที่เต็มไปด้วย ความผันผวน ไม่แน่นอน แปรปรวน ความทุกข์ยาก รวมทั้งการมีความฝัน ความหวังและการดิ้นรนในกลุ่มคนจนข้ามรุ่นภายในครัวเรือนเดียวกัน รวมทั้งชี้ให้เห็นว่าคนจนในฐานะคนกลุ่มหนึ่งของประชากรของประเทศ (proportion of the population) นี้ไม่เพียงแต่เป็นผู้ถูกทิ้งไว้ข้างหลังซ้ำแล้วซ้ำเล่าผ่านกาลเวลามายาวนาน และเป็นเหยื่อของการพัฒนา (development victim) (Rigg, 2016) เนื่องจากการถูกกีดกันจากการพัฒนาภายใต้การปรับเปลี่ยนโครงสร้างสู่สังคมทันสมัย ได้แก่ การให้สัมปทานเหมืองหิน การปราบปรามคอมมิวนิสต์ในอำนาจเจริญซึ่งถือเป็น ‘การร้างหมู่บ้าน” และร้างที่ดิน การออกพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 การพัฒนาเกษตรกรรมสมัยใหม่ และ พระราชบัญญัติการศึกษา 

0000

ร่องรอยความยากจนจาก “กล่องดำ”

โดย ธวัช มณีผ่อง 

ประสบการณ์ทำงานวิจัยอย่างจริงจังในประเด็นของคนจนและความยากจนของผมในระยะ 4 ปีที่ผ่านมา ผมมีคำถามมากว่า ความจนเกิดจากปัจจัยของบุคคล และเป็นมรกดสืบทอดกันมา หรือ มันเป็นผลผลิตของปัจจัยภาพนอกได้แก่โครงสร้างทางสังคมการเมืองที่สร้างความยากจนให้กับคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ จากข้อมูลระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform) หรือเรียกสั้นๆว่า TPMAP ปี 2565 ระบุตัวเลขคนจนทั้งหมดที่ 36,103,806 คน (ตัวเลขนี้รวมคนจนข้ามรุ่นด้วย)

งานสนามที่ผ่านมาพบคนจนที่ไร้ที่ดินทำกิน ทั้งไร้สิทธิในการถือครองและขาดโอกาสในการเข้าถึง เพื่อใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างเต็มศักยภาพ คำถามในใจของผมคือ ความยากจน อาจไม่ใช่เพียงการไม่มีเงิน หรือ มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน (poverty line) แต่อาจเกิดจากปัจจัยอื่น ผมค่อนข้างเชื่อว่าความยากจนเป็นเหรียญอีกด้านหนึ่งของการพัฒนา การทบทวนแผนแม่บท อย่างแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ “ความยากจน” ปรากฎเป็นครั้งแรก ในแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 (2520 – 2524) มีการใช้คำว่า “ความยากจนในชนบท” และ“ความยากจนและล้าหลัง โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ

” ในบทความชิ้นเล็กๆ ของ ขัตติยา กรรณสูต (2527) ที่เธอแปลมาจากบทความของตัวเอง Poverty: Theoretical Dimension and Implication for Thailand ผมอ่านมันผ่านเลน์ประวัติศาสตร์ (Historical Approach) มองย้อนไปในช่วงเวลาปัจจุบันของทศวรรษที่ 10 – 20 พบท่าทีที่หลากหลายในการทำความเข้าใจความยากจน ว่ามีมากไปกว่ามิติของตัวเลขเงินในครอบครองและตัวเลขรายได้ต่อเดือน ขัตติยา กรรณสูต แบ่งความจน ออกเป็น 3 ประเภท คือ ความยากจนทางเทคโนโลยี ความยากจนที่เกิดจาการถูกฉกฉวยประโยชน์ และ ความยากจนทางจิตใจ

ความยากจน เป็นคำที่ผลิตขึ้นในท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านในปลายศตวรรษ 20 มาจากภาษาอังกฤษ Poverty ซึ่งหมายถึง สภาพที่ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน นั่นแสดงว่ามีการกำหนดมาตรฐานบางอย่างขึ้น Samchaiy Sresunt (2011) เขียนบทความเรื่อง The myth of poverty in Thai society: the archaeology of meaning ช่วยเสริมให้ผมมองเห็นและเข้าใจชัดเจนมากขึ้นว่า ความยากจนเป็นผลผลิตทางสังคมท่ามกลางพลวัต บริบทของทุนนิยมอุตสาหกรรมได้สร้างนิยามความยากจนที่หดแคบเหลือเพียงการมีหรือไม่มีปัจจัยการผลิตและการถือครองในระบอบทุน สำหรับสังคมไทย การนิยาม ความยากจนสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงสู่ความทันสมัย นับจากสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา 


ภาพโดย ธวัช มณีผ่อง

คำถามและถกเถียงเกี่ยวกับความยากจน ว่าเรานิยามมันอย่างไรได้อีกบ้าง และคนจนเองนิยามมันว่าอย่างไร บทสนทนาในสนามการวิจัยเรื่อง “การไร้ที่ดิน อันเนื่องจากนโยบายของรัฐที่ไม่เป็นธรรม สู่คนจนข้ามรุ่น” ในจังหวัดอำนาจเจริญ ที่อยู่ระหว่างการเก็บข้อมูล ผมเชื่อมระหว่าง สภาวะความยากจนของประชาชน ในพื้นที่สีแดงในอดีต กับนโยบายปราบปรามคอมมิวนิสต์ของรัฐไทย ในยุคสงครามเย็น

“ถ้าเราไม่ถูกร้างหมู่บ้าน ไม่ถูกเผาบ้านเผาเรือนเราคงไม่เป็นแบบนี้ เกือบ 10 ปี กับ 2 ครั้งของการเผาบ้านเรือน วัวควายและทรัพย์สินอื่นไม่ได้ติดตัวไป มันเป็น 10 ปีที่เราขาดโอกาสในการพัฒนาที่ดิน เหมือนอย่างชุมชนอื่นในแถบนี้”

ผมตื่นเต้นกับเรื่องราวที่ค่อยๆ เผยออกมา นโยบายปราบปรามคอมมิวนิสต์ ในช่วงต้นทศวรรษหลังพุทธศักราช 2500 ที่ได้ส่งผลให้หลายพื้นที่ที่ทางราชการระบุว่าเป็นพื้นที่สีแดง ถูกกระทำด้วยความรุนแรง ชุมชนที่ผมศึกษา ถูกเผาหมู่บ้าน และจับคนในหมู่บ้าน จำนวน 40 ครัวเรือน ใส่เฮลิคอปเตอร์ ไปไว้ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เผาบ้าน ยุ้งข้าว ชาวบ้านไม่มีโอกาสในการเก็บทรัพย์สิน มีเพียงเสื้อผ้าติดตัว “เสียดายวัวควาย ไม่รู้เสีย(หาย)ไปไส” “เงินแถบมีรู แม่ร้อยเอาไว้ บ่ได้เอาไป ไฟคงไหม้ไปหมดแล้ว หากยังมีป่านนี้คงซื้อที่ได้หลาย” 

ผมไม่ได้มีเจตนาที่จะเล่าเพื่อให้เกิดสภาวะความสะเทือนในราวกับบทละคร แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านทั้ง 40 กว่าครัวเรือนคือ สถานที่ที่ราชการพาพวกเขาไปใช้ชีวิตอยู่นั้น เป็นที่แห้งแล้ง เพาะปลูกพืชไม่ได้ อยู่ที่นั้นได้เพียง 1 ปี 8 เดือน ก็หาทางกลับมาที่บ้านเดิม สภาพความเป็นอยู่ในจุดอพยพแร้นแค้น ต้องหาของป่าไปแลกข้าวสาร ราชการให้อาหารแห้ง ข้าวสาร พร้อมเงิน ที่ใช้ได้เพียง 3 เดือน อีก 1 ปีกว่าที่เหลือ ยังชีพด้วยการหาของป่าไปแลกข้าว บางคนเรียกว่า “ขอข้าวเขากิน” อาชีพหลักๆ คือ การตัดไม้ในป่าใกล้ๆ ที่พัก ขายเป็นไม้ฟืนให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย “พอป่าหมด ไม่มีอะไรกิน ก็เลยคิดที่จะกลับบ้านเดิม เหมารถคนแถวนั้นมา อยู่กับญาติต่างหมู่บ้านก่อน แล้วค่อยๆ กลับเข้ามาสร้างบ้านของตัวเอง” 

การร้างหมู่บ้าน เกิดขึ้น 2 ครั้ง คือ พ.ศ.2508 และ 2519 ในครั้งที่ 2 เหตุการณ์ต่างจากครั้งแรก ที่จับทุกคนขึ้นเฮลิคอปเตอร์ ทุกคนไม่มีใครรอดจากการอพยพ ขณะ ปี 2519 มีการให้เก็บข้าวของ และขึ้นรถบรรทุกของทหาร ไปที่นิคมเขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี เกินครึ่งของชาวบ้าน ไม่ยอมให้จับขึ้นรถ หนีเข้าป่าไปร่วมขบวนกับพรรคคอมมิวนิสต์ในเขตป่า “เจ้าหน้าที่ทำร้าย แต่คนป่าต้อนรับเรา” จะเห็นได้ว่าด้านหนึ่งของการปราบปราม กลับทำให้ชาวบ้านและสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ สามารถรวมตัวกันได้มากยิ่งขึ้น หลายคนที่เข้าป่าเล่าว่า “ในหมู่ของคนป่า (สมาชิกพรรคคมอมมิวนิสต์) มีการช่วยเหลือ ดูแล ทั้งอาหารและความปลอดภัย ต่างจากเจ้าหน้าที่ที่ทำร้าย ฆ่าญาติพี่น้อง เราจึงเลือกที่จะเข้าป่ามากกว่า” 

ในช่วงเวลานั้น การกระทำความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ราชการทำกับชาวบ้าน ในข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์ มีตั้งแต่การข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย ไปจนถึงลอบยิงจนเสียชีวิต สุดท้ายร้างหมู่บ้าน เผาทำลายทรัพย์สิน การสูญเสียที่ดิน ไม่ได้เกิดจากการบุกรุกจากคนอื่น หากแต่ รัฐเองคือผู้บุกรุก ก่อนหน้าเหตุการณ์เผาหมู่บ้าน ในปี 2508 รัฐมีการประกาศ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ ในปี พ.ศ.2507 ที่ระบุว่า ที่ใดที่ไม่ใช่ที่ราชการ หรือมีเอกชนถือครอง ให้ถือว่าเป็นป่าทั้งสิ้น พื้นที่ทำกินของชาวบ้านในพื้นที่อำเภอชานุมาน ล้วนยังไม่มีเอกสารสิทธิ์ ดังนั้นเมื่อกลับมาชาวบ้านต้องเผชิญกับมาตรการทางกฎหมาย ที่พรากพวกเขาออกจากสิทธิในที่ดินของตนเอง

“กลับมาอยู่ เราต้องสร้างบ้านเรือน เข้าไปในที่ดิน ไม่มีใครเอาไป เขากลัวคอมมิวนิสต์ แต่เจ้าหน้าที่บอกว่า ที่ของเราเป็นเขตป่า หากเข้ามาแพ้วถางทำกิน หรือ ตัดไม้ไปสร้างบ้านก็ถูกจับ”

“ที่ดินเรายังอยู่ แต่รัฐบอกเป็นของเพิ่น เลยตัดสินใจว่า ที่ดินเราจะให้รัฐบาลยึด หรือ ขายให้คนอื่นได้เงิน มีหลายคนเริ่มแบ่งขายที่ดิน ทั้งๆ ที่ไม่อยากขาย แต่กลัวเจ้านายมายึดที่ไป รีบขาย เสียดายมากๆ ” 

เรื่องเล่า ทั้งที่เป็นความทรงจำของบุคคล หรือ ความทรงจำร่วมทางสังคม (social memory) เป็นเพียงสิ่งเดียวและเหลืออยู่ให้สืบค้น หลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายอย่าง เช่น ข้าวของเครื่องใช้ ภาพถ่าย ฯลฯ ที่พอจะเป็นวัตถุหลักฐานของเรื่องราว ถูกเผา และ สูญหายไปกับการอพยพโยกย้าย ปากคำและความทรงจำของกลุ่มผู้รู้เห็น (the witness) จึงเป็นหลักฐานที่สำคัญ


ภาพโดย ธวัช มณีผ่อง

ปัจจุบัน ชุมชนแห่งนี้ประกอบด้วย คน 2 กลุ่ม คือ ชาวชุมชนดั้งเดิมที่มีประสบการณ์ร่วมในยุคของการปราบปรามคอมมิวนิสต์ กับคนกลุ่มใหม่มาจากต่างถิ่น เข้ามาในช่วงปลายทศวรรษที่ 2520 – 2530 ด้วยการรับฟังข้อมูลปากต่อปากว่า ที่ดินในอำเภอชานุมาน มีความอุดม และมีพื้นที่จำนวนมาก ราคาไม่แพง ดังนั้นจึงมีการขยายตัวของชุมชนหมู่บ้าน จาก 3 หมู่ เป็น 13 หมู่บ้านในปัจจุบัน และสืบเนื่องจากการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ ปี 2507 และ การประกาศเขตอุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว ในปีพ.ศ. 2535 ทำให้ชาวบ้านทั้งที่อยู่เดิมและอพยพเข้ามาใหม่จำนวนมากไม่มีเอกสารสิทธิ์ในการถือครองที่ดิน ในราวปี 2538 จึงได้เข้าร่วมเรียกร้องสิทธิ์ที่ทำกินกับสมัชชาคนจนภาคอีสาน ส่งตัวแทนต่อสู้ อีกราว 10 ปี จึงจะได้รับสิทธิ์ประเภท สปก. คือ เอกสารแสดงการครอบครองที่ดินที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกให้ ห้ามซื้อขาย หลายคนได้ขนาดพื้นที่ลดลง “พวกผมเสียเวลาไป 20 ปี ทั้ง 10 ปี จากการถูกร้างหมู่บ้าน 2 ครั้ง และ 10 ปี ในการต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิ์ในที่ดินของตนเอง มันคือความสูญเสีย การเสียโอกาสของพวกเรา” 

เรื่องเล่าของการถูกกระทำจากรัฐ ของชุมชุนแห่งนี้ ทำให้ผมรู้สึกว่างานของตนเองกำลังจะคลี่คลายคำตอบหนึ่งของสภาวะความยากจน “จากกล่องดำ” ในซากปรักหักพัง ที่จะเปิดเผยให้เห็นถึงปัจจัยและเงื่อนไขของความยากจน หากแต่มันมีหลายปัจจัยภายนอกที่สร้างสภาวะความยากจน ทั้งนโยบายรัฐ ระบบการพัฒนาที่สร้างบริบทและเงื่อนไขของการผลิตที่แยกคนออกจากที่ดิน จากการสัมภาษณ์ พบการอพยพไปขายแรงงานในเมืองใหญ่ของทุกครัวเรือน สภาวะความไม่มั่นคงในอาชีพ รายได้ และคุณภาพชีวิต มันไม่ควรเป็นมรดกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น วันนี้ผมพบกล่องดำแล้ว เวลาที่เหลือคือการเปิดกล่องออก สำรวจ แล้วนำออกมาเล่าสู่สาธารณะ ติดตามได้ในรายงานการวิจัย เรื่อง “การไร้ที่ดิน อันเนื่องจากนโยบายของรัฐที่ไม่เป็นธรรม สู่คนจนข้ามรุ่น” ในจังหวัดอำนาจเจริญ

0000

เอกสารอ้างอิง
ขัตติยา กรรณสูตร (2527) ความยากจน: ข้อคิดบางประการ, พัฒนาบริการศาสตร์(วารสาร) ปีที่ 4 ฉบับที่ 3, 347-455. http://library1.nida.ac.th/nida_jour0/NJv24n3_06

Samchaiy Sresunt (2011) The myth of poverty in Thai society: the archaeology of meaning, South East Asia Research Vol. 19, No. 3 (SEPTEMBER 2011), pp. 421-456. https://www.tandfonline.com/doi/abs/10.5367/sear.2011.0060

 


หมายเหตุ: บทความสั้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเรื่อง ‘ความยากจนข้ามรุ่นในสังคมไทยภายใต้ความท้าทายเชิงโครงสร้าง’ ภายใต้ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย (เมธีวิจัยอาวุโส) ประจำปีงบประมาณ 2565 ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ชื่อบุคคลที่ปรากฎในบทความเป็นชื่อสมมุติทั้งหมด

เกี่ยวกับผู้เขียน

กนกวรรณ มะโนรมย์ ประธานศูนย์วิจัยสังคมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ธวัช มณีผ่อง อาจารย์ประจำหลักสูตรนวัตกรรมการพัฒนา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net