Skip to main content
sharethis

รอง ผบ.ตำรวจคุมฝูงชนตอบกลับผลร้องเรียนกรณีนักข่าวประชาไทถูกยิงด้วยกระสุนยางระหว่างทำข่าวตำรวจใช้กำลังสลายชุมนุมของ REDEM เมื่อมี.ค.64 อ้างเหตุเป็นนักข่าวไปอยู่ในพื้นที่ทั้งที่รู้การปฏิบัติของตำรวจ

29 มี.ค.2566 ทางสำนักข่าวประชาไทได้รับจดหมายจากกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (บก.อคฝ.) ภายใต้สังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาลตอบกลับถึงศรายุธ ตั้งประเสริฐ ผู้สื่อข่าวของประชาไท ร้องเรียนกรณีที่ตนถูกตำรวจชุดควบคุมฝูงชนยิงกระสุนยางใส่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่รายงานข่าวขณะตำรวจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่ม REDEM เมื่อ 20 มี.ค.2564 ที่บริเวณถนนตะนาวใกล้เคียงกับตรอกข้าวสาร

พ.ต.อ.ภัสพงษ์ บุตรไทย รองผู้บังคับการ อคฝ.เป็นผู้ลงนามในหนังสือตอบกลับฉบับนี้ โดยมีเนื้อหาที่ระบุว่า บก.อคฝ.ได้พิจารณาตามข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวแล้วว่าเมื่อวันที่ 20 มี.ค.2564 ตํารวจชุดควบคุมฝูงชนได้รับคําสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยกรณีที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการนัดหมายการชุมนุม ดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่ตํารวจได้ใช้รถขยายเสียงประกาศให้ยุติการชุมนุมและขอคืนพื้นที่

ต่อมาเวลาประมาณ 23.00 น. ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมจํานวนมาก ก่อความรุนแรงหรือก่อความวุ่นวาย นําขวดเหล้า ขวดเบียร์ ขว้างปาใส่เจ้าหน้าที่ตํารวจ พร้อมกับตะโกนด่าทอและพบบุคคลจํานวน 2 คน ซึ่งแต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่ สื่อมวลชน สวมปลอกแขน กําลังใช้ขวดเหล้า ขวดเบียร์ และวัสดุสิ่งของต่างๆ ขว้างปาใส่เจ้าหน้าที่ตํารวจ ชุดควบคุมฝูงชน

“ก่อนหน้านั้นได้มีเจ้าหน้าที่ตํารวจฝ่ายสืบสวนแจ้งว่าจะมีบุคคลปลอมตัวเป็นเจ้าหน้าที่ สื่อมวลชน เป็นเจ้าหน้าที่กู้ภัย เพื่อประสงค์จะมาทําร้ายเจ้าหน้าที่ตํารวจชุดควบคุมฝูงชน จึงได้สั่งการให้กําลังพลใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษในการปฏิบัติหน้าที่”

ในหนังสือระบุว่าตํารวจชุดควบคุมฝูงชนได้ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 และการใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนในการชุมนุมสาธารณะซึ่งมีจํานวน 48 รายการ และได้ใช้ปืนยิงกระสุนยางเป็นอุปกรณ์ควบคุมฝูงชนตามประกาศดังกล่าว

หนังสือระบุอีกว่าเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติตามหลักยุทธวิธีโดยยิงต่อเป้าหมายที่กระทําการหรือมีท่าที่คุกคามต่อชีวิตบุคคลอื่น ต้องกําหนดเป้าหมายโดยชัดเจนไม่ยิงโดยไม่แยกแยะหรือไม่เลือกเป้าหมาย ไม่ใช้การยิงอัตโนมัติ เล็งยิงให้กระทบส่วนล่างของร่างกายของผู้ที่เป็นเป้าหมาย และได้ปฏิบัติโดยคํานึงถึงความจําเป็นได้สัดส่วนและเหมาะสมกับสถานการณ์ไม่ได้เลือกปฏิบัติแต่อย่างใด เพื่อคลี่คลายสถานการณ์เป็นไปตามสมควรแก่เหตุและยุทธวิธีหลักการใช้กําลังตามความจําเป็นต่อสถานการณ์ และเมื่อเจ้าหน้าที่ตํารวจได้มีการประกาศให้ยุติการชุมนุมและขอคืนพื้นที่ ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมจํานวนมากก่อความรุนแรงหรือก่อความวุ่นวาย

“แต่ขณะนั้นผู้ร้องเรียนได้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ควบคุมของเจ้าหน้าที่ตํารวจท่านซึ่งทําหน้าที่สื่อมวลชนย่อมต้องทราบถึงการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตํารวจในการดูแลสถานการณ์การชุมนุมสาธารณะเป็นอย่างดีว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไรเมื่อเกิดสถานการณ์ความรุนแรง ซึ่งท่านรับทราบและเข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน เมื่อพิจารณาจากพยานหลักฐานแล้วการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนตามวันเวลาดังกล่าวได้ถือปฏิบัติเป็นไปตามหลักการใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนในการดูแลการชุมนุมสาธารณะ และถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว” หนังสือดังกล่าวระบุไว้ข้างท้าย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับเหตุการณ์ที่ผู้สื่อข่าวของประชาไทถูกยิงเกิดขึ้นเมื่อคืนวันที่ 20 มี.ค.2564 นั้นเกิดขึ้นในเวลา 22.25 น. หลังจากการชุมนุมของกลุ่ม REDEM ที่มาทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ส่งสาสน์เรียกร้องให้มีการจำกัดอำนาจกษัตริย์และลงมาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญที่บริเวณสนามหลวงแต่ถูกตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุมตั้งแต่ช่วงหัวค่ำด้วยกระสุนยาง แก๊สน้ำตาและรถฉีดน้ำแรงดันสูงแล้วเข้าจับกุมเมื่อประชาชนที่ชุมนุมอยู่พยายามดึงคอนเทนเนอร์ที่ตำรวจใช้ปิดกั้นเส้นทาง โดยทางผู้ชุมนุมมีการขว้างปาสิ่งของเป็นการตอบโต้

จากการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ทำให้มวลชนที่รวมตัวกันอยู่เริ่มทยอยสลายตัวแต่ทางเจ้าหน้าที่มีการวางกำลังตำรวจควบคุมฝูงชนพร้อมอุปกรณ์โล่ กระบอง และปืนกระสุนยางปิดล้อมเส้นทางทั้งด้านสะพานปิ่นเกล้าและถนนราชดำเนินจากทางด้านแยกคอกวัวและสถานการณ์ดำเนินอยู่เช่นนี้เป็นเวลาหลายชั่วโมง โดยยังมีผู้ชุมนุมกระจัดกระจายอยู่ตามจุดต่างๆ บริเวณถนนราชดำเนิน

จนกระทั่ง 22.25 น.ขณะศรายุธกำลังถ่ายทอดสดเหตุการณ์ผ่านไลฟ์อยู่บริเวณทางเข้าถนนข้าวสารซึ่งมีผู้ชุมนุมอยู่บางส่วนที่มีการขว้างขวดและยังมีประชาชนที่บังเอิญขับรถผ่านเข้ามาเจอแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ ในระหว่างนี้ทางเจ้าหน้าที่มีการยิงปืนกระสุนยางเป็นระยะ และเมื่อศรายุธหันหลังเพื่อเดินเข้าตรอกข้าวสารตำรวจมีการยิงอีก 4 นัด โดยมีนัดหนึ่งโดนเข้าที่บริเวณเอวด้านหลังของศรายุธแต่อีกนัดโดนกระเป๋าสะพายของเขา

ทั้งนี้ศรายุธปฏิบัติหน้าที่โดยมีการใส่ทั้งปลอกแขนของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและยังสวมหมวกนิรภัยที่ติดสติ๊กเกอร์เขียนว่า “PRESS” อยู่ด้วย

หลังเหตุการณ์ศรายุธได้ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติและพล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติต่อศาลแพ่งว่าการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ศาลยกฟ้องโดยให้เหตุผลว่คำขอท้ายฟ้องที่ขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามสลายชุมนุมนั้นเป็นเหตุการณ์ในอนาคตและการขอให้มีคำสั่งตั้งกรรมการสอบเป็นเรื่องงานบริหารบุคคลของ สตช.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net