Skip to main content
sharethis

รายงานสัมภาษณ์ ‘โป๊ยเซียน’ (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 15 ปีที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา ม.112 จากการชุมนุม #ม็อบ20มีนา เปิดบาดแผลทางใจที่เกิดขึ้นจากการสอบสวน พร้อมพูดคุยเรื่องหนังสือ เกม ดนตรี และภาพฝันในชีวิต

การชุมนุมของกลุ่ม REDEM เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา บริเวณสนามหลวง ถือเป็นการชุมนุมครั้งประวัติศาสตร์ที่มีหลายเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น และมีเยาวชนถูกเจ้าหน้าควบคุมตัวไปสอบสวนที่ บก.ตชด. ภาค 1 จ.ปทุมธานี หลายคน โดยหนึ่งในนั้น คือ ‘โป๊ยเซียน’ (นามสมมติ) เยาวชนวัย 14 ปี ซึ่งถือเป็นบุคคลอายุน้อยที่สุดที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทำให้ชื่อของ ‘โป๊ยเซียน’ กลายเป็นที่สนใจบนสังคมออนไลน์อย่างทวิตเตอร์เพียงข้ามคืน

 

ประชาไทจึงชวน ‘โป๊ยเซียน’ ที่เพิ่งฉลองวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 15 ปีมาไม่นาน มาพูดคุยถึงประสบการณ์ในห้องสอบสวนที่ยากจะลืม พร้อมแบ่งปันวิธีการดูแลสภาพจิตใจ สิ่งที่อยากทำในอนาคต ไปจนถึงงานอดิเรกในเวลาว่าง ทั้งอ่านหนังสือ เล่นดนตรี และวิถีเกมเมอร์

#ม็อบ20มีนา เหตุการณ์ที่ลืมไม่ลง

“ตอนนั้นเรากำลังจะกลับบ้าน ขึ้นแท็กซี่กลับกับเสกจิ๋ว แต่อยู่ดีๆ ก็มีมอเตอร์ไซค์มาตัดหน้ารถ ให้เราหยุดรถ แล้วก็มีคนใส่ชุดลำลองปกติมายืนล้อมรถ จากนั้นก็มีตำรวจมาบอกให้เราลงจากรถ แต่เราบอกว่าไม่ลง เพราะกลัวมาก เขา (ตำรวจ) เลยพาคนขับแท็กซี่ไปคุยหลังรถ ซึ่งตอนนั้นเรากังวลมาก ใจเราคิดแต่ ‘อยากกลับบ้านๆ’ พอคุยเสร็จ คนขับแท็กซี่ก็ขึ้นมาบนรถ แล้วก็มีตำรวจขึ้นรถมาประกบเรากับเสกจิ๋ว (นามสมมติ, เยาวชนที่ถูกควบคุมตัวในวันเดียวกัน) คนที่นั่งข้างเราเป็นนอกเครื่องแบบ แล้วก็มีตำรวจอีกคน (ในเครื่องแบบ) นั่งข้างคนขับ ตอนแรกเราคิดว่าเขาจะพาเราไปที่ สน.พญาไท เพราะเขา (ตำรวจ) บอกเราว่า ‘เดี๋ยวจะพาไปที่ สน.พญาไท นะ’ แต่เขากลับให้พี่แท็กซี่ขับพาเราไป ตชด. เลย เราก็แบบ... ‘เห้ย เกิดอะไรขึ้น’ พอถึง ตชด. เขาถ่ายรูปเราและให้เข้าไปอยู่ในห้องที่มีผู้ถูกคุมขังคนอื่นๆ นั่งอยู่ เราก็นั่งกับเสกจิ๋ว สักพักทนายกับคุณแม่เราก็เข้ามา”

“ตอนแรก เราคิดว่าตำรวจจะให้คุณแม่กับทนายเข้ามาหาเรา แต่อยู่ดีๆ ก็มีตำรวจหลายคนเข้ามาสอบสวนเราก่อน โดยที่เรายังไม่ได้เจอทนาย ไม่ได้เจอคุณแม่ การสอบสวนครั้งนั้นทำให้เรามีบาดแผลทางใจ เพราะเขาใช้วิธีการกดดัน กดดันมาก (เน้นเสียง) ซึ่งเราคิดว่า ‘เห้ย เรายังเด็กมาก ทำไมเขากดดันเราอย่างนี้’ เขาเอาตำรวจหลายนายเข้ามายืนจ้องเรา บังคับให้เราสารภาพ ให้เราพูดออกมา พอเราพูดถึงเหตุการณ์นี้ บอกตามตรงนะว่าเรายังมีอาการสั่นอยู่เลย”

“พอเสร็จจากตรงนั้น เราถึงยอมให้ทนายกับผู้ปกครองเข้ามา กว่าจะได้เจอคุณแม่กับทนายก็ประมาณชั่วโมงกว่า จริงๆ ในตอนแรก เขาจะให้เราถอดเสื้อผ้าที่เราใส่อยู่ด้วยซ้ำ เขาบอกว่าจะเอาไปตรวจใช้เป็นหลักฐาน เราตกใจมาก ตำรวจที่สอบสวนเราในวันนั้นก็เป็นตำรวจชายทั้งหมด แต่พอเราได้คุยกับคุณแม่ ได้คุยกับทนายก็โอเคขึ้น ตอนที่เจอคุณแม่เราถึงกับปล่อยโฮเลย คือเหตุการณ์ตรงนั้นมันน่ากลัวมากสำหรับเรา” โป๊ยเซียน กล่าว

เหตุการณ์ใน ตชด. ที่มาของบาดแผลทางใจ

โป๊ยเซียน เผยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคืนวันที่ 20 มี.ค. ตั้งแต่ถูกตำรวจล้อมรถแท็กซี่ ไปจนถึงภายในห้องสอบสวนที่ บก.ตชด. ภาค 1 สร้างบาดแผลทางใจในตนเป็นอย่างมาก

“หลังจากคืนนั้น เรากลับมาบ้าน เราไปศาลเยาวชนฯ แล้วก็ออกจากบ้านอีกครั้ง เพื่อจะกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ แต่แค่เราเห็นว่ามีรถมอเตอร์ไซค์มาจอดข้างๆ รถคุณแม่ เราก็ร้องไห้ ไม่รู้จะทำอะไร ร้องไห้อย่างเดียว พอนึกถึงเหตุการณ์นั้นทีไรเราจะร้องไห้ตลอด แต่พอเวลาผ่านมาเรื่อยๆ เราก็โอเคขึ้น” โป๊ยเซียนกล่าว พร้อมเผยว่าตนใช้วิธีคุยกับเพื่อนและทำกิจกรรมที่ตนรู้สึกผ่อนคลาย เช่น การอ่านหนังสือ ทั้งยังได้รับกำลังใจที่ดีจากครอบครัว ซึ่งเป็นยาใจสำคัญที่ช่วยรักษาแผลใจจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ โป๊ยเซียน ยังไปพบนักจิตบำบัดเพื่อรับกระบวนการฟื้นฟูจิตใจ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหนทางที่ทำให้ความรู้สึกของตนดีขึ้น

“เราไปพบนักจิตบำบัดกับกลุ่มฟูใจ ซึ่งได้รับคำแนะนำจากทนายมาอีกที เรากับคุณแม่ก็ไปพร้อมกัน เราคิดว่าเรื่องแบบนี้ควรถูกมองให้เป็นปกติ เพราะเราคิดว่าหากมีปัญหาเกี่ยวกับสภาพจิตใจก็สมควรที่จะได้รับการรักษา

“เราคิดว่าเหมือนเราเป็นโรค เราก็ต้องไปหาหมอ แต่โรคนี้มันเกิดในจิตใจ เราก็ต้องไปหานักจิต (นักจิตบำบัด, นักจิตวิทยา) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตใจ มันก็ปกติ เราคิดว่ามันเป็นการรักษาอย่างหนึ่ง เราอยากให้ทุกคนเข้าใจใหม่ว่าการไปหานักจิตไม่ได้น่ากลัว และยิ่งเป็นข้อดีด้วย ถ้าเรามีบาดแผลทางใจ เราก็ควรจะไป มันไม่น่ากลัวเลย ตอนแรกเราก็กังวลว่ากิจกรรมจิตบำบัดจะน่ากลัวหรือเปล่า แต่พอเราไปจริงๆ แล้ว กิจกรรมต่างๆ ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย สบายใจ และทำให้รู้สึกขึ้นมากๆ เลย”

ทำไมถึงสนใจการเมือง

“เราเป็นคนที่สนใจประวัติศาสตร์อยู่แล้ว ชอบเรียนวิชาสังคมศึกษา จนช่วงปีที่แล้ว เราเห็นข่าวสารต่างๆ ในทวิตเตอร์ เช่น ประชุมสภา เราก็เริ่มดูการเมืองมาตั้งแต่ตอนนั้น และเราก็ไปร่วมชุมนุม ไปฟังปราศรัย เราก็เห็นด้วยกับสิ่งที่เขาเรียกร้องกัน หลังจากนั้นเราก็ไปร่วมชุมนุมเรื่อยๆ ส่วนวันที่ 20 มี.ค. เราก็ไปชุมนุมตามปกติแบบที่เราอยากไป”

“จริงๆ คุณแม่เราเป็นคนเสื้อแดง เราก็เห็นเรื่องการชุมนุมหรือเรื่องการเมืองจากคุณแม่มาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว เราเลยคิดว่าอาจจะเป็นเพราะเหตุผลนี้ ที่คุณแม่ยอมให้เราไปชุมนุม และคุณแม่เขาคงเห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวในปัจจุบัน”

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

“เราคิดว่า ม.112 เป็นกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพ เพราะเป็นกดหมายที่เอามาใช้ปิดปากประชาชนที่ต้องการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ พอยิ่งโดนกับตัวเอง หรือเยาวชน เรายิ่งรู้สึกว่ากฎหมายนี้มันแปลกๆ มันเป็นกฎหมายที่อะไรก็ไม่รู้ ใครก็ได้เอามาฟ้อง จะแสดงออกเกี่ยวกับสถาบันก็ทำไม่ได้ เพราะกฎหมายข้อนี้บดบังอยู่” โป๊ยเซียน กล่าว พร้อมบอกว่าครอบครัวรู้สึกตกใจ ที่ทราบว่าตนถูกแจ้งข้อกล่าวหานี้

“ตอนแรกคุณแม่น่าจะตกใจกับข้อหาที่เขาแจ้ง ช่วงแรกๆ เราไม่ได้ให้คนอื่นๆ ในครอบครัวรู้เท่าไร เพราะตอนนั้นคุณพ่อเราป่วยด้วย ก็เลยรู้กันกับคุณแม่แค่ 2 คน หลังจากนั้นสักพักถึงได้บอกคุณพ่อ เขาก็ตกใจแหละ แต่เขาก็ให้กำลังใจเรา ส่วนเพื่อนๆ ทุกคนก็รู้สึกตกใจที่เราโดนแจ้ง ม.112 แต่เพื่อนก็บอกเราว่า ‘เราอยู่ข้างเธอนะ’ ‘มีอะไรบอกเราได้’ แล้วก็อาจจะเป็นความโชคดีด้วยที่ครูประจำชั้นของเราเข้าใจ ครูบอกว่าไม่ได้ตัดสินกับสิ่งที่เรา เขาก็บอกว่าทำได้นะ ไม่ได้ห้าม ไม่ได้กดดัน ส่วนผู้บริหารโรงเรียนก็ไม่ได้ว่าอะไรถ้าเด็กจะทำกิจกรรม แต่มีครั้งหนึ่ง เมื่อปีที่แล้ว ที่ผู้บริหารไม่ให้นักเรียนเข้าโรงเรียนเพราะจะจัดม็อบ เลยต้องมาจัดกิจกรรมกันที่ด้านหน้าโรงเรียน”

หนังสือเล่มนี้ต้องห้ามพลาด

“ตอนนี้ยังอ่านไม่จบนะ แต่รู้สึกว่าชอบมาก คือ ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง ของ อ.ธงชัย วินิจจะกูล เราได้มุมมองใหม่จากหนังสือเล่มนี้เยอะมาก เช่น มุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่อยู่ในการเมืองไทย ทำให้เราอยากไปค้นคว้าเรื่องการเมืองในอดีตมากขึ้น ซึ่งเราว่าเล่มนี้ก็เป็นหนังสือ 101 ที่เล่าเรื่องการเมืองไทยได้ดี เพราะมันเป็นประตูบานแรกที่ช่วยเปิดประตูบานอื่นๆ ให้เราได้ และกระจายไปสู่เรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับการเมืองไทยได้”

‘โป๊ยเซียน’ ชื่อนี้มีที่มา

โป๊ยเซียน เล่าว่า นามแฝงนี้มีที่มาจากยาดมยี่ห้อ โป๊ยเซียน ซึ่งคล้ายคลึงกับชื่อเล่นจริงๆ ของตน จึงเลือกชื่อนี้มาเป็นนามแฝงในทวิตเตอร์ หลังจากนั้น ทุกคนก็เรียกตนด้วยชื่อนี้

“เราอยากใส่อะไรสักอย่างในชื่อ [บนทวิตเตอร์] แต่ถ้าจะใช้ชื่อตรงๆ มันก็ดูไม่ค่อยเท่าไร แล้วตอนนั้นเราเห็นยาดมยี่ห้อนี้ มีคำใกล้เคียงกับชื่อเรา ก็เลยเลือกใช้ชื่อนี้” โป๊ยเซียนเล่า

รู้จัก ‘เสกจิ๋ว’ เพราะทวิตเตอร์

โป๊ยเซียน เล่าว่า ตนรู้จักกับเสกจิ๋วผ่านทางทวิตเตอร์ และได้กลายมาเป็นเพื่อนกัน พร้อมเผยข้อดีข้อเสียของโซเชียลมีเดียยอดฮิตของคนรุ่นใหม่ว่า “ข้อคือดีเราได้เห็นมุมมองใหม่ๆ เป็นแหล่งรวมของคนรุ่นใหม่ แต่ข้อเสียก็เหมือนโซเชียลมีเดียทั่วไป คือยังมีการใช้คำพูดบางอย่างที่รุนแรงอยู่”

นอกจากนี้ โป๊ยเซียน ยังบอกอีกว่า ตนกำลังฝึกเล่นเบส เพราะเสกจิ๋วชวนตนเข้าร่วมวงดนตรีในฐานะมือเบส โดย โป๊ยเซียน เผยว่า ตนอยากเล่นเบสมานานแล้ว เพราะเป็นเครื่องดนตรีที่เท่ เมื่อเพื่อนมาชวนเข้าร่วมวงก็ตอบรับไปทันที

“ตอนนี้ซื้อเบสมาแล้ว กำลังฝึกจับคอร์ดเองอยู่ (หัวเราะ) ส่วนเครื่องดนตรีอื่นๆ ที่เล่นได้ก็มีระนาดทุ้ม จะเข้ เพราะเราเรียนที่โรงเรียน นอกจากนี้ก็มีเปียโน พอเล่นได้” โป๊ยเซียน กล่าว

ดนตรีเพิ่มพลังชีวิต

โป๊ยเซียน บอกว่า การเล่นดนตรีช่วยทำให้ตนได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น และดนตรีเป็นสิ่งที่ทำให้ความรู้สึกของตนดีขึ้น พร้อมเผยว่าศิลปินในดวงใจ คือ วง Queen และ วง BTS

“เราชอบวง Queen เพราะเวลาที่เราฟังเพลงเขา ทำให้เรารู้สึกดีขึ้น และมีความสุข เราชอบเพลงยุคเก่าๆ อยู่แล้ว จนได้มาฟังเพลง We Will Rock You ของวง Queen ก็รู้สึกว่าเพลงนี้เพราะดี จากนั้นก็ตามฟังเพลงอื่นๆ มาเรื่อยๆ ส่วนเพลงที่ชอบที่สุดของวง Queen คือ Under Pressure ฟังแล้วมันดีมากสำหรับเรา อธิบายไม่ถูกเหมือนกันแต่เราชอบเพลงนี้” โป๊ยเซียน กล่าว

“ส่วนอีกวงที่ชอบเหมือนกัน คือ BTS ค่ะ วงเกาหลี (หัวเราะ) จริงๆ เราฟังเพลงเขามานาน น่าจะนานกว่าวง Queen อีกมั้ง ตอนแรกเราชอบเพราะเขาเต้น แต่พอได้มาอ่านเนื้อหาเพลงก็รู้สึกว่าดีนะ ก็ช่วยเยียวยาจิตใจเราได้เหมือนกัน ถ้าพูดถึงเพลงของ BTS ที่เราอยากจะแนะนำให้ฟัง คือ Zero O’clock เรารู้สึกว่าเป็นเพลงที่ให้กำลังใจ เนื้อเพลงมีความหมายประมาณว่า ‘พอถึงเที่ยงคืนของวันนี้ เธอก็จะมีความสุขอีกครั้งนะ’ อะไรประมาณนี้” โป๊ยเซียนกล่าว พร้อมเผยว่า สมาชิกในวง BTS ที่ชอบมากที่สุด คือ RM (อาร์เอ็ม) เพราะเป็นแร็ปเปอร์และนักแต่งเพลงที่เก่ง ทั้งยังเผยว่าตนชอบฟังสุนทรพจน์ที่ RM เคยกล่าวในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อ พ.ศ.2561 ในฐานะเป็นทูตสันถวไมตรีของยูนิเซฟ ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา อีกด้วย

“เราคิดว่าการชอบศิลปิน เป็นความสุขอย่างหนึ่งของเรา พอเราได้ฟังเพลง ได้ดูเขา มันก็ทำให้เรามีความสุข”

วง BTS ในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2561 (ภาพจากวิกิพีเดีย)
 

เกมออนไลน์คลายความเหนื่อยให้ชีวิต

นอกจากจะเล่นดนตรีและอ่านหนังสือเป็นงานอดิเรกแล้ว โป๊ยเซียน ยังเผยว่า ตนชอบเล่นเกมออนไลน์ โดยเกมโปรด คือ Robloc

“Robloc เป็นเกมออนไลน์ที่มีหลายเกมย่อยให้เล่น เรียกว่าเป็น ‘แมป’ แต่ละแมปก็จะมีวิธีการเล่นที่แตกต่างกัน มันมีหลายอย่างให้เราเล่น และทุกๆ แมปมันมีความแตกต่างกันมาก เช่น แมปนั้นเป็นเกมผี แมปนี้เป็นเกมยิงปืน เล่นได้ไม่เบื่อ (หัวเราะ)” โป๊ยเซียน กล่าว พร้อมบอกว่าตนเล่นเกมนี้มาประมาณ 3-4 ปีแล้ว

“เราคิดว่าข้อดีของการเล่นเกม คือ ถ้าเราทำงานมาเหนื่อยๆ แล้วเราได้เล่นเกม มันคือการผ่อนคลาย แล้วบางเกมต้องเล่นเป็นทีม มันช่วยสร้างทักษะของการทำงานเป็นทีมได้ด้วย เกมไม่ได้มีแต่ข้อเสีย เกมมันก็มีข้อดี มันช่วยฝึกเราหลายด้าน อย่างอีสปอร์ตก็ช่วยเรื่องเศรษฐกิจได้นะ นอกจากนี้ เราก็เล่น Among Us (หัวเราะ) ที่คนพูดกันว่าเป็นเกมการเมือง เพราะเราต้องโหวตคนที่เป็นตัวร้ายออก คือเกมจะแบ่งเป็น 2 ฝ่าย มีฝ่ายสัตว์ประหลาด และฝ่ายคน ซึ่งสัตว์ประหลาดจะแฝงตัวอยู่ในกลุ่มคน และเริ่มฆ่าคนก่อน พอฝ่ายคนเห็นศพ ก็จะเรียกรวมตัวกันเพื่อลงคะแนนโหวตกันว่าใครคือฆาตกร”

วางแผนการใช้ชีวิตในอนาคตไว้อย่างไร

โป๊ยเซียน เผยว่า ในวันเปิดภาคเรียนที่กำลังจะมาถึง ตนจะเข้าเรียนชั้น ม.4 ซึ่งแผนที่วางไว้ คือ การตั้งใจใช้ชีวิตให้เต็มที่ ทั้งด้านการเรียน และการทำกิจกรรม

“กับการเรียน เราคงทุ่มกับมัน เพราะเรามีความฝันว่าออกจากประเทศนี้ อยากออกไปใช้ชีวิตที่ต่างประเทศ อยากไปเรียนเมืองนอก เพราะเรารู้สึกว่าช่วงนี้หลายๆ อย่างในประเทศนี้มันไม่ได้ตอบโจทย์เราเท่าไร เช่น เรื่องการใช้ชีวิต และการศึกษา ถ้าได้ออกไปเรียนที่ต่างประเทศจริงๆ เราก็อยากจะกลับมาพัฒนาประเทศบ้านเกิดเราเหมือนกัน เพราะเราอยากทำให้ประเทศบ้านเราดีขึ้น” โป๊ยเซียน กล่าว ทั้งยังเผยต่ออีกสว่าตนอยากเรียนด้านภาษา และอยากทำงานที่ใช้ทักษะทางภาษาโดยตรง

“เราชอบภาษาสเปน เพราะรู้สึกว่ามันน่าสนใจและน่ารักดี เราเคยเรียนภาษาสเปนแล้วมีความสุข เราว่าการออกเสียงและการพูดภาษาสเปนมันมีเสนห์มาก เราเคยเรียนภาษาสเปนพื้นฐานมา ตอนนี้ก็อ่านออก เขียนได้ แต่ยังแปลไม่ค่อยได้ ส่วนงานในอนาคต เราคิดไว้ว่าอยากทำงานด้านการสอนภาษาสเปน เพราะภาษาสเปนหาเรียนยากในบ้านเรา เรามองไปทางไหนก็ไม่ค่อยเห็นการเรียนภาษานี้ในไทย เราจึงอยากทำให้มีคนเรียนภาษาสเปนมากขึ้นในไทย เพราะภาษาสเปนมีคนใช้เยอะ เรียนแล้วสามารถนำไปใช้ได้แน่นอน”

“ส่วนเรื่องการทำกิจกรรม คิดว่าจะทำต่อไป คือจริงๆ เราเพิ่งมาเริ่มทำกิจกรรมหลังจากที่โดนคดีด้วยแหละ เราก็คงจะทำกิจกรรมต่อไปเรื่อยๆ อย่างน้อยก็ 3 ปีนี้ในช่วง ม.ปลาย ซึ่งเราก็อยากผลักดันประเด็นเรื่องการศึกษา อย่างเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เราอยากให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเท่ากันโดยที่ไม่ต้องสอบแข่งขันเพื่อคว้าโอกาสทางการศึกษา เพราะส่วนตัวเราเอง เราก็ต้องมานั่งไขว่คว้าเพื่อสอบเข้าเรียนต่อในสายที่อยากเรียน เพราะโรงเรียนเก่าเราไม่มีสายการเรียนที่เราอยากจะเรียน เราคิดว่าเด็กควรได้เรียนในสิ่งที่ตัวเองสนใจ โดยที่ไม่ต้องมานั่งสอบ” โป๊ยเซียน กล่าว ทั้งยังบอกอีกว่าการศึกษาไทยจะดีได้ ทุกคนต้องออกมาเรียกร้องและช่วยกันแก้ไขปัญหา ไม่ใช่แค่เฉพาะกลุ่มนักเรียน นอกจากนี้ ยังต้องอาศัยการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและการเมืองเพื่อผลักดันเชิงนโยบาย

“เรายังอยากให้คนออกมาต่อสู้กันนะ ออกมาแสดงออกและยกระดับการชุมนุม ถึงขั้นที่กดดันกับทางรัฐได้ เรายังอยากให้ทุกคนสู้ต่อไป สู้เพื่อประเทศที่เราใฝ่ฝัน ประเทศที่เราอยากให้เป็น” โป๊ยเซียน กล่าวทิ้งท้าย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net