Skip to main content
sharethis
  • นักกิจกรรมการเมืองชวนประชาชนทำกิจกรรม "ฝากถึงรัฐบาลใหม่ จากประชาชนผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน" ที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์ เขียนเสนอนโยบายลงบนโปสการ์ด จากนั้น นักกิจกรรมจะไปสรุปและทำเป็นข้อเสนอนำมายื่นต่อรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง’66 
  • ระหว่างทำกิจกรรมได้มีเจ้าหน้าที่จากสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ-เจ้าของสถานที่-ตร. มาเจรจาไม่ให้ทำกิจกรรมภายในพื้นที่ศูนย์ฯ เนื่องจากนักกิจกรรมไม่ได้ขอใช้สถานที่มาก่อน 
  • ด้านนักกิจกรรมมองว่า ศูนย์สิริกิติ์เป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะ ไม่ได้มีการทำกิจกรรมกระทบต่อภาพลักษณ์ของเจ้าของสถานที่ หรือสังคมไทย โดยเป็นกิจกรรมรณรงค์การเลือกตั้งให้ประชาชนส่งนโยบายถึงรัฐบาลใหม่ ไม่มีการกีดขวางทางสัญจรของประชาชน ไม่ได้รุกล้ำพื้นที่เอกชนที่มาเช่าบูทขายหนังสือ น่าจะทำกิจกรรมได้ หรือเจรจาจัดหาที่ๆ ให้เขาทำกิจกรรมได้
  • จนท.ของเจ้าของสถานที่ ยืนยันว่าไม่สามารถใช้พื้นที่ศูนย์สิริกิติ์ได้เนื่องจากไม่ได้ทำเรื่องของใช้สถานที่ตามหลักเกณฑ์ของศูนย์ฯ และกิจกรรมไม่ได้เกี่ยวกับธีมขายหนังสือ ถ้าจะทำกิจกรรมให้ออกไปใช้นอกพื้นที่ศูนย์ฯ
  • 'โรม' จากก้าวไกล เข้ามาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย ก่อนได้ข้อสรุปให้ทางนักกิจกรรมประสานกับเจ้าของบูทภายในงานหนังสือ ขอใช้พื้นที่จัดกิจกรรมต่อ


9 เม.ย. 2566 ที่หน้าทางเข้างานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตั้งแต่เวลาประมาณ 11.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (9 เม.ย.) มีกลุ่มนักกิจกรรมการเมืองหลากหลายกลุ่ม อาทิ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) ทะลุวัง ทะลุแก๊ส กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ และคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) มาทำกิจกรรมรณรงค์เสนอนโยบายประเทศ ภายใต้ชื่อ "ฝากถึงรัฐบาลใหม่ จากประชาชนผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน"

โดยรูปแบบกิจกรรมจะเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปมาร่วมเขียนโปสการ์ดข้อเสนอนโยบายถึงรัฐบาลใหม่ ซึ่งจะเป็นนโยบายอะไรก็ได้ที่ประชาชนต้องการ เมื่อเขียนข้อเสนอเสร็จแล้ว ประชาชนสามาถร่วมรณรงค์ทางการเมือง โดยการถ่ายภาพคู่กับโปสเตอร์ โพสต์ลงสื่อโซเชียลมีเดียช่องทางใดก็ได้ พร้อมพิมพ์ #ฝากถึงรัฐบาลใหม่ และ #ฝากถึงผู้นำคนใหม่ เพื่อร่วมประชาสัมพันธ์กิจกรรม

นอกจากนี้ สำหรับคนที่ไม่สามารถมาร่วมกิจกรรมได้ด้วยตัวเอง ด้านหลังโปสการ์ดจะมีคิวอาร์โค้ด สามารถถ่ายรูปไปฝากเพื่อน และให้สแกนเข้าไปในกูเกิลฟอร์ม โดยประชาชนสามารถเขียนกรอกนโยบายได้เช่นกัน 

ทั้งนี้ หลังเสร็จสิ้นกิจกรรมจะมีการสรุป และจัดทำข้อเสนอ เพื่อนำไปยื่นต่อรัฐบาลหลังการเลือกตั้งปี 66 ซึ่งวิธีการสามารถติดตามอีกที 

'ปอ' กรกช แสงเย็นพันธ์ จากกลุ่ม DRG และเป็นหนึ่งในผู้จัดกิจกรรม กล่าวว่า เดิมทีข้อเรียกร้องส่วนนี้ทางนักกิจกรรมอยากส่งให้พรรคการเมืองร่วมพิจารณาช่วงการเลือกตั้งเช่นเดียวกัน แต่เนื่องด้วยกลุ่ม DRG โมกหลวงริมน้ำ ทะลุแก๊ส และ ครช. ไม่ได้ต้องการคบค้าสมาคมกับพรรคการเมืองที่สนับสนุนการทำรัฐประหาร หรือฝ่ายเผด็จการ ทางกลุ่มจึงมีมติว่าอยากจะนำข้อเรียกร้องของประชาชนส่งถึงมือของรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งปี’66 

"เราเชื่อมั่นในเจตจำนงของประชาชน ว่าเราจะเลือกพรรคที่เป็นประชาธิปไตยกลับเข้ามาในระบบ เราเชื่อมั่นอย่างนั้นจริงๆ เราเลยมาทำเรื่องนโยบาย" กรกช กล่าว 

แม้ว่าจะมีพรรคการเมืองเป็นตัวแทนนำเสนอนโยบายแทนประชาชนแล้ว แต่ทำไมถึงต้องมาให้ประชาชนเขียนนโยบายของตัวเอง กรกช ตอบประเด็นนี้ว่า เพราะว่านโยบายหลายนโยบายอาจไม่ครบถ้วน กรณีที่เห็นได้ชัดในภาพสื่อคือกรณีที่มีการเรียกร้องข้อยกเลิก 112 ยังไม่มีพรรคไหนได้พูดออกมาเลยว่ายกเลิก ช่องทางนี้อาจเป็นช่องทางหนึ่งที่ได้เห็นว่าเขาอยากได้อะไร นอกจากที่พรรคการเมืองเสนอแล้ว ก็เข้าใจว่านักการเมืองลงพื้นที่หานโยบายจากประชาชน แต่คิดว่าอันนี้เป็นช่องทางหนึ่งจากภาคประชาสังคม คิดว่ามันต้องทำไปควบคู่กันเพื่อสะท้อนเจตจำนงของประชาชนจริงๆ ออกมา 

สำหรับเรื่องการคุกคามจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรกช เผยว่า ส่วนตัวมีความกังวลอยู่บ้าง แต่ยังมองว่าสามารถพูดคุยกันได้ แต่ถ้าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนยันให้ยุติการทำกิจกรรม ทางประชาชนมีเครื่องมือในการร้องเรียน เช่น การร้องทุกข์กล่าวโทษกฎหมายอาญา มาตรา 157 ว่าด้วยการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะคนที่รณรงค์เลือกตั้งไม่ใช่แค่พรรคการเมืองที่ทำได้เท่านั้น แต่ประชาชนก็รณรงค์ได้ อีกทั้ง การรณรงค์วันนี้เป็นการรณรงค์นโยบาย ไม่ได้เป็นการรณรงค์หาเสียงของพรรคการเมือง

สำหรับกิจกรรมนี้เป็นครั้งแรกและหลังจากที่ศูนย์แห่งชาติสิริกิติ์ จะมีไปทำกิจกรรมที่อื่นๆ ต่อ โดยประชาชนสามารถติดตามข่าวสารได้ตามเพจเฟซบุ๊ก DRG เพจของ ครช. เพจทะลุวัง เพจทะลุแก๊ส และเพจโมกหลวงริมน้ำ 

โปสการ์ดทำกิจกรรม

"เสียงประชาชนต้องส่งถึงรัฐบาล เสียงประชาชนต้องดังในรัฐสภา"

กรกช แสงเย็นพันธ์ กล่าวในฐานะนักกิจกรรม ต่อนโยบายถึงรัฐบาลใหม่ว่า ส่วนตัวอยากจะคาดหวังนโยบายด้านด้านเสรีภาพการแสดงออกมากเป็นพิเศษ และอยากให้ในอนาคต รัฐบาลใหม่นำ 3 ข้อเรียกร้องของคณะราษฎร ไปปรับใช้ด้วย อาทิ เรื่องของการรัฐประหาร แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

"ส่วนตัวอยากให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคตอิงกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เพราะว่าถ้าเราไม่มีหลักในการร่างกฎหมายสูงสุดของประเทศ มันก็จะประสบปัญหาเดิมๆ ในการตีความไปละเมิดสิทธิมนุษยชนได้" กรกช ระบุ

กรกช แสงเย็นพันธ์

สำหรับข้อเสนอถึง ส.ว. กรกช ระบุว่า ในฐานะที่เป็นคนหนึ่งที่โดนจับจากการรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2560 คัดค้านประเด็นทั้งรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วงที่จะให้ ส.ว.เลือกนายกฯ ก็มองว่ามันหมดเวลาแล้วสำหรับองคาพยพของคณะรัฐประหาร 

พลอย (สงวนชื่อ-นามสกุล) พนักงานบริษัทเอกชน ชาวสุรินทร์ อายุ 25 ปี มีอยากเสนอนโยบายถึงรัฐบาลใหม่ด้วยกัน 3 ข้อ คืออยากให้รัฐบาลช่วยเรื่องการเดินทาง การขนส่งสาธารณะให้มีเวลาแน่นอนและชัดเจน ตรงต่อเวลา ข้อสอง อยากให้ลดราคาค่าโดยสารขนส่งสาธารณะให้ถูกลงกว่านี้ เนื่องจากตอนนี้มีราคาแพงขึ้นมาก และข้อสาม คือ อยากให้ผ้าอนามัย เป็นสวัสดิการฟรีสำหรับทุกคน

"ขอให้ช่วยให้มันดีขึ้น กว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้" พลอย ทิ้งท้าย

อันนา อันนานนท์ นักกิจกรรมเยาวชน และผู้จัดกิจกรรม ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ระบุว่า เธออยากนำเสนอนโยบายการปฏิรูปด้านการศึกษา แต่ถ้าเป็นฝั่งการเมือง อยากเสนอรัฐบาลใหม่ยุติการดำเนินคดีทางการเมืองกับประชาชนทุกคดี ทั้งมาตรา 112 และอื่นๆ และอยากให้ยกเลิกมาตรา 112 ด้วย 

เจ้าของสถานที่ไม่ให้จัดกิจกรรมรณรงค์เลือกตั้ง'66 เหตุไม่ได้ขอใช้สถานที่ตามขั้นตอน

เวลา 11.45 น. ที่หน้าทางเข้าหอประชุมงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 อาคารศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่นักกิจกรรมกำลังทำกิจกรรมเชิญชวนให้ประชาชนเขียนนโยบายถึงรัฐบาลใหม่ ได้มีเจ้าหน้าที่ของเจ้าของสถานที่ หรือศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เข้ามาคุยกับนักกิจกรรมว่าไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมในพื้นที่ศูนย์สิริกิติ์ เนื่องจากไม่ได้มีการขออนุญาตใช้สถานที่ตามหลักเกณฑ์ และขั้นตอนของศูนย์ฯ 

ขณะที่ 'บอย' ชาติชาย แกดำ (ชื่อเดิม ธัชพงศ์ แกดำ) หนึ่งในผู้จัดกิจกรรม คุยกับเจ้าหน้าที่ศูนย์สิริกิติ์ ยืนยันว่าพื้นที่ของศูนย์ฯ เป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะ เกิดจากความต้องการ และภาษีของประชาชน แม้ว่าจะบริหารโดยเอกชนก็ตาม น่าจะเปิดให้ประชาชนเข้ามาทำกิจกรรมได้  

บอย ระบุต่อว่า นอกจากนี้กิจกรรมรณรงค์เลือกตั้ง ไม่ได้ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ไม่ได้ไปละเมิดพื้นที่เอกชนที่เช่าบูทขายหนังสือในหอประชุม และไม่ได้กีดขวางทางสัญจรของประชาชนที่มาร่วมงานหนังสือ  

บอย ระบุด้วยว่า งานกิจกรรมนี้เป็นการรณรงค์ให้ประชาชนมาใช้สิทธิการเลือกตั้ง ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นเพียงการเชิญชวนให้ประชาชนเขียนโปสการ์ดเสนอนโยบายต่อรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งยังไม่ทราบว่าพรรคไหนจะมาเป็นรัฐบาล น่าจะยกเรื่องผลประโยชน์สาธารณะ และทางเจ้าของสถานที่น่าจะพิจารณาอนุญาตให้ทำกิจกรรมได้

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ของศูนย์สิริกิติ์ ยืนยันไม่ให้ทำกิจกรรม และมีการประสานไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.ลุมพินี ให้เข้ามาเจรจากับนักกิจกรรม 

ตำรวจระบุว่าทางนักกิจกรรมไม่ได้มีการประสานงานขออนุญาตใช้สถานที่ตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนก่อน และอยากให้นักกิจกรรมไปเคลียร์กับเจ้าของสถานที่ก่อนทำกิจกรรมเท่านั้น และยืนยันว่าไม่ได้มาไล่นักกิจกรรม

(ซ้าย) ชาติชาย แกดำ กำลังเจรจากับตำรวจจาก สน.ลุมพินี

นอกจากนี้ นักกิจกรรมมองว่าการแก้ปัญหาน่าจะเจรจาหาทางลงกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่มาล้อม และทางฝั่งนักกิจกรรมยินดีให้ความร่วมมือหากตรงไหนรบกวนเจ้าของพื้นที่ หรือประชาชนที่มาร่วมงาน

'โรม' ช่วยเจรจาหาทางลงคนละครึ่งทาง

การเจรจาดำเนินต่อไปโดยยังไม่ได้ข้อยุติเรื่องการอนุญาตการทำกิจกรรม ทางเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ และสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (BUPAT) พาเจ้าหน้าที่มาล้อม และยังคงยืนยันไม่ให้ทำกิจกรรม 

ฝั่งนักกิจกรรมยืนยันว่า พื้นที่ศูนย์ประชุมฯ เป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะ และการทำกิจกรรมไม่ได้กระทบต่อภาพลักษณ์ชื่อเสียงของศูนย์ฯ ไม่ได้กีดขวางทางสัญจรของประชาชน และไม่ได้แสวงหาผลกำไร อีกทั้งเป็นงานรณรงค์เรื่องการเลือกตั้งปี’66 ให้คนไปสิทธิการเลือกตั้งอีกด้วย เรื่องนี้น่าจะสามารถหาทางออกด้วยการเจรจา และน่าจะจัดกิจกรรมได้

ขณะที่ทางเจ้าของสถานที่ยืนยันว่าไม่ให้ทำกิจกรรม เนื่องจากไม่ได้ขออนุญาตล่วงหน้า และมองว่ากิจกรรมรณรงค์เลือกตั้ง'66 ไม่เกี่ยวกับธีมงานสัปดาห์หนังสือฯ

ผู้สื่อข่าว รายงานต่อว่า เวลาประมาณ 13.30 น. รังสิมันต์ โรม นักการเมืองจากพรรคก้าวไกล ซึ่งให้สัมภาษณ์สื่อ Friends Talk บริเวณใกล้เคียง ได้มาช่วยเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยระหว่างนักกิจกรรม และเจ้าของสถานที่ โดยภายหลังได้ข้อยุติคนละครึ่งทางว่า นักกิจกรรมสามารถทำกิจกรรมต่อไปได้ โดยให้ประสานงานกับเจ้าของบูท หรือสำนักพิมพ์ภายในงานสัปดาห์หนังสือฯ ขอใช้พื้นที่ทำกิจกรรม

รังสิมันต์ โรม จากพรรคก้าวไกล

นักกิจกรรมมองน่าจะจบที่เจรจาได้ ไม่ต้องใช้ จนท.ล้อมกดดัน

กรกช สมาชิก DRG ให้สัมภาษณ์กับสื่อหลังเกิดเหตุการณ์นี้ว่า เขามองว่าศูนย์สิริกิติ์ น่าจะอนุญาตให้จัดกิจกรรมครั้งนี้ได้ เพราะย้อนไปเมื่อ 2559-2560 เขาเคยมาทำกิจกรรมเดินแจกใบปลิวรณรงค์เรื่องประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งตอนนั้นได้รับอนุญาต 

กรกช ชี้แจงด้วยว่า ที่ตอนแรกนักกิจกรรมไม่อยากเข้าไปทำกิจกรรมภายในหอประชุม เนื่องจากไม่อยากไปกีดขวางทางสัญจรประชาชน และไม่อยากรบกวนเอกชนที่มาขายหนังสือ

สมาชิก DRG กล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาน่าจะจบที่การเจรจาพูดคุยกันได้ โดยไม่ต้องเอาเจ้าหน้าที่มาล้อมกดดัน เนื่องจากฝั่งเขายินดีที่จะคุย เพียงแค่เขาอยากยืนยันในสิ่งที่จะทำเท่านั้น แต่รู้สึกว่าทางเจ้าหน้าที่ศูนย์สิริกิติ์ไม่ต้องการการเจรจาเลย และยืนยันว่านักกิจกรรมต้องออกนอกพื้นที่อย่างเดียว แม้แต่ตอนที่หยุดทำกิจกรรมแล้ว เจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ยังมาเชิญให้ออก

"บรรยากาศแบบนี้ไม่ค่อยโอเค และเรื่องพวกนี้เราคุยกันได้ จะจัดเราไปอยู่มุมไหนสักมุมก็ได้คุยกัน หรือให้เราไปทำเรื่องขออนุญาตก็ได้ เพราะเรามองว่ากิจกรรมที่มาทำมันไม่ได้ใช้พื้นที่ เพื่อแสวงหาผลกำไร และเราไม่ได้ไปรบกวนอุปกรณ์ภายในงานเลย เราถือกล่องของเรามาเอง ถือโปสการ์ดของเรามาเอง" สมาชิก DRG ระบุ

เวลา 12.51 น. ผู้สื่อข่าวพยายามขอสัมภาษณ์เพื่อขอคำชี้แจงจากเจ้าหน้าที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ แต่ทางเจ้าหน้าที่ของปฏิเสธ เนื่องจากไม่มีอำนาจให้สัมภาษณ์ในกรณีนี้

หลังจากนั้น กลุ่มนักกิจกรรมไปทำกิจกรรมรณรงค์เลือกตั้ง'66 ที่บูธสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน จนถึงเวลา 15.30 น. จึงแยกย้ายออกจากพื้นที่  

อนึ่ง สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (BUPAT) เช่าพื้นที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อใช้จัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 ระหว่างวันที่ 26 มี.ค.-9 เม.ย. 2566 โดยวันนี้เป็นวันสุดท้ายของงานขายหนังสือดังกล่าว

'Friends Talk' ถูก จนท.สถานที่กล่าวหาละเมิด PDPA-เจ้าตัวแจงเป็นการทำหน้าที่สื่อ

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ช่วงเวลา 12.29 น. ระหว่างที่นักกิจกรรม และเจ้าหน้าที่ของเจ้าของสถานที่เจรจากัน ได้มีเจ้าหน้าที่จากสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (BUPAT) มาเจรจากับทาง สุรเมธ น้อยอุบล แอดมินช่อง "Friends Talk" ซึ่งเป็นสื่อที่ทำหน้าที่ไลฟ์สดบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่าการไลฟ์สดติดใบหน้าเจ้าหน้าที่ของศูนย์สิริกิติ์ ระหว่างการเจรจากับนักกิจกรรมที่มารณรงค์การเลือกตั้ง ถือเป็นการละเมิด พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือ PDPA 

นอกจากนี้ ทาง BUPAT ยืนยันว่า ป้ายสื่อมวลชนงานสัปดาห์หนังสือฯ มีไว้เฉพาะการทำข่าวเกี่ยวกับงานหนังสือเท่านั้นโดยไม่สามารถทำข่าวนอกเหนือจากนี้ได้  

ขณะที่แอดมิน Friends Talk ยืนยันว่าการถ่ายไลฟ์สดของเขาเป็นการทำหน้าที่สื่อมวลชน เป็นการรายงานไลฟ์สดตามจริง และเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ  

ดังนั้น สุรเมธ มองว่า การที่เจ้าหน้าที่มาบอกว่าการไลฟ์สดของ Friends Talk ผิด อาจเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง และการไลฟ์สดเป็นการเปิดพื้นที่ให้ทางเจ้าหน้าที่ได้ชี้แจงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้าอีกด้วย 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net