Skip to main content
sharethis

เตือนผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดายื่นแบบเสียภาษี ภ.ง.ด.90/91 ออนไลน์วันสุดท้าย 10 เม.ย. นี้ สรรพากรอัพเดท 30 มี.ค. คืนภาษีเข้าหมุนเวียนในเศรษฐกิจแล้ว 24,300 ล้านบาท เปิดกรณีเกินกำหนดเวลา กรณีมีภาษีชำระไว้เกิน แต่ไม่ได้แจ้งความประสงค์ขอคืนเงิน

เมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ได้เปิดให้ผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดายื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 เพื่อชำระภาษี ปีภาษี 2565 ได้ 2 ช่องทาง ซึ่งช่องทางแรกคือ การยื่นแบบกระดาษที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาทั่วประเทศ ส่วนนี้ได้สิ้นสุดการยื่นเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 66 ที่ผ่านมา

สำหรับประชาชนที่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบและยังไม่ได้ยื่น อาจด้วยการติดภารกิจหรือหลงลืม ยังสามารถยื่นได้ผ่านช่องทางที่2 คือ ผ่านระบบออนไลน์ หรือ E-Filing ซึ่งสามารถยื่นได้ถึงวันจันทร์ ที่ 10 เม.ย. นี้ ที่เว็บไซต์ https://efiling.rd.go.th

ทั้งนี้ กรณีที่ผู้ยื่นแบบออนไลน์ต้องชำระภาษีเพิ่มเติมจากที่มีการหัก ณ ที่จ่ายไว้ หากเป็นผู้ที่ใช้แอปพลิเคชันเป๋าตังอยู่ สามารถชำระภาษีผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังได้ โดยดำเนินการผ่านฟังก์ชันเป๋าตังเปย์ แล้วเข้าไปที่เมนูจ่ายบิล เลือกกรมสรรพากร จากนั้นสามารถเลือกได้ว่าจะชำระภาษีแบบสแกน QR Code หรือ แบบ Key-in ตามที่ผู้ยื่นสะดวก

ไตรศุลี กล่าวว่า  กรมสรรพากรได้รายงานถึงข้อมูลการคืนภาษี ภ.ง.ด.90/91 ปีภาษี 2565 ณ วันที่ 30 มี.ค. มีผู้ยื่นแบบทั้งสิ้น 8,808,276 แบบ เพิ่มขึ้น 2,481,928 แบบหรือเพิ่มร้อยละ 39.23 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีภาษี 2564  ดำเนินการการคืนภาษีแล้ว 2,651,192 แบบ เพิ่มขึ้น 337,537 แบบ หรือเพิ่มร้อยละ 14.59  คิดเป็นเงินที่กรมสรรพากรคืนแก่ประชาชนซึ่งจะกลับเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจทั้งหมด 24,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,497 ล้านบาท หรือเพิ่มร้อยละ 16.81

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า สำหรับผู้ที่ยื่นขอคืนภาษีแล้วแต่ยังไม่ได้รับคืนนั้น กรมสรรพากรระบุถึง 2 สาเหตุสำคัญคือ ยังไม่ได้นำส่งเอกสารหลักฐานหรือส่งเอกสารหลักฐานไม่ครบถ้วน อีกกรณีคือกรมสรรพากรตรวจสอบพบว่ามีความเสี่ยงขอคืนภาษีเป็นเท็จ ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ หรือศูนย์สารนิเทศสรรพกร โทร 1161

สำหรับกรณีเกินกำหนดเวลา กรณีมีภาษีชำระไว้เกิน แต่ไม่ได้แจ้งความประสงค์ขอคืนเงินนั้น มีรายละเอียดที่ กรมสรรพากร อธิบายไว้ดังนี้ 

1. บุคคลธรรมดาที่ไม่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ภายในวันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี หรือยื่นแบบฯ เกินกำหนดเวลา ต้องระวางโทษค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท ตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร แต่สามารถขอลดค่าปรับได้ 

2.  ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 /91 ผ่านอินเทอร์เน็ต กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ

หากท่านมิได้ชำระเงินภาษีภายในวันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี ถือว่ามิได้ยื่นแบบ  ท่านต้องไปยื่นแบบ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา  และชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ รวมทั้งค่าปรับตามข้อ 1

3. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 เกินกำหนดเวลา

3.1  กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ  ให้ชำระเงินภาษี  พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ รวมทั้งค่าปรับตามข้อ 1
3.2  กรณีไม่มีเงินภาษีต้องชำระ  ให้ชำระค่าปรับตามข้อ 1 เพียงอย่างเดียว

4.  ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 เพิ่มเติมภายหลังกำหนดเวลาการยื่นแบบ

4.1 กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ  ให้ชำระเงินภาษี  พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ โดยไม่ต้องเสียค่าปรับ
4.2 กรณีไม่มีเงินภาษีต้องชำระ  ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มและค่าปรับ

5.  ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ขอผ่อนชำระเงินภาษี

หากท่านมิได้ชำระภาษีงวดใดงวดหนึ่งภายในกำหนดเวลา จะหมดสิทธิ์การผ่อนชำระและต้องชำระภาษีอากรที่ค้างอยู่ทั้งหมด โดยต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของเงินภาษีงวดที่เหลือ

6. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 มีภาษีชำระไว้เกิน แต่ไม่ได้แจ้งความประสงค์ขอคืนเงิน ไม่ว่าจะเป็นการยื่นแบบฯ ผ่านอินเทอร์เน็ต หรือยื่นแบบฯ ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา

ให้ท่านยื่นคำร้องขอคืนเงินตามแบบ ค.10 ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ท้องที่ที่มีภูมิลำเนาอยู่ ภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี โดยแนบเอกสารแล้วแต่กรณี ดังนี้

6.1  หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย

6.2  แบบ ล.ย.03 (ถ้ามี)

6.3 ใบเสร็จรับเงินหรือหนังสือรับรองค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดา/มารดา (ถ้ามี)

6.4  ใบเสร็จรับเงินหรือหนังสือรับรองค่าเบี้ยประกันชีวิตของปีภาษีที่ขอคืน (ถ้ามี)

6.5  หนังสือรับรองการจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพของปีภาษีที่ขอคืน (ถ้ามี)

6.6  ใบเสร็จรับเงินหรือหนังสือรับรองค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ/กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (ถ้ามี)

6.7  หนังสือรับรองการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารอยู่อาศัยของปีภาษีที่ขอคืน (ถ้ามี)

6.8  หนังสือรับรองการจ่ายเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม (ถ้ามี)

6.9  ใบเสร็จรับเงินบริจาคการกุศลของปีภาษีที่ขอคืน (ถ้ามี)

6.10 สำเนาทะเบียนบ้าน

6.11 ใบสำคัญการสมรส (ถ้ามี)

6.12  หนังสือแสดงการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล (ถ้ามี)

6.13 ใบเสร็จรับเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

6.14  หลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องกับประเด็นขอคืน

7. กรณีรับคืนเงินภาษีอากรเกินไป และได้รับหนังสือทวงถามให้นำเงินไปคืน

ให้ผู้ขอคืนนำเงินไปคืนภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือทวงถาม หากผู้ขอคืนไม่นำส่งเงินคืนที่ได้รับเกินไปภายในกำหนดเวลา ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามมาตรา 224 แห่งประมวลแพ่งและพาณิชย์ โดยนับตั้งแต่วันที่เริ่มผิดนัด

8. การขอคัดแบบ ภ.ง.ด.90/91

8.1  กรณียื่นแบบฯ ผ่านอินเทอร์เน็ต ท่านสามารถ “พิมพ์แบบฯ-ใบเสร็จรับเงิน” ได้ทางเว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th. หัวข้อ ยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต ==> พิมพ์แบบฯ-ใบเสร็จรับเงิน ถัดจากวันที่ยื่นแบบฯ ประมาณ 2 วันทำการ  หรือยื่นคำร้องขอคัดแบบฯ ได้ด้วยตนเองหรือส่งทางไปรษณีย์ที่ สำนักบริหารการเสียภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ อาคารกรมสรรพากร ชั้น 27 เลขที่ 90 ซอยพหลโยธิน 7 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400  เอกสารประกอบการขอคัดแบบฯ มีดังนี้

(1) แบบคำร้องขอคัดแบบแสดงรายการ สามารถ Download  ได้จากเว็บไซต์ www.rd.go.th ==> ยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต ==> แนะนำบริการ ==> แบบฟอร์มต่างๆ
(2)  หลักฐานการแสดงตน  ได้แก่ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาหนังสือเดินทาง  กรณีบุคคลต่างด้าว ที่ได้ลงลายมือชื่อรับรอง

(3) กรณีมอบอำนาจให้ผู้อื่นกระทำการแทน ให้จัดทำหนังสือมอบอำนาจเพื่อขอคัดแบบฯ และปิดอากรแสตมป์ 10 บาท พร้อมแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจที่ได้ลงลายมือชื่อรับรองแล้ว

8.2  กรณียื่นแบบฯ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา ท่านสามารถขอคัดแบบฯ ได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ท้องที่ที่มีภูมิลำเนาอยู่  เอกสารประกอบการขอคัดแบบฯ มีดังนี้
(1)  แบบการขอใช้บริการข้อมูลข่าวสารของราชการกรมสรรพากร สามารถ Download ได้จากเว็บไซต์ www.rd.go.th ==> Download ==> แบบแสดงรายการภาษี คำร้อง/คำขอต่างๆ ==> อื่นๆ
(2)  หลักฐานการแสดงตน  ได้แก่ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาหนังสือเดินทาง  กรณีบุคคลต่างด้าว ที่ได้ลงลายมือชื่อรับรอง

(3)  กรณีมอบอำนาจให้ผู้อื่นกระทำการแทน ให้จัดทำหนังสือมอบอำนาจเพื่อขอคัดแบบฯ และปิดอากรแสตมป์ 10 บาท พร้อมแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจที่ได้ลงลายมือชื่อรับรองแล้ว

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net