Skip to main content
sharethis

กสทช. เห็นชอบให้ออกประกาศเชิญชวนให้ผู้ประกอบการทั้งรายเดิมและรายใหม่ขอรับอนุญาตบริการกระจายเสียงประเภทสาธารณะและชุมชน คาดภายในเดือน ต.ค. 2567 นี้


แฟ้มภาพ

ฝ่ายสื่อสารองค์กร กสทช. แจ้งข่าวว่าสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2567 ที่ประชุม กสทช.ได้มีมติเห็นชอบประกาศเชิญชวนขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ระบบเอฟเอ็ม สำหรับให้บริการกระจายเสียงประเภทบริการสาธารณะและบริการชุมชน ตามแผนความถี่วิทยุกิจการกระจายเสียงระบบเอฟเอ็มกำลังส่งไม่เกิน 1 กิโลวัตต์ ที่ กสทช. ได้เห็นชอบไปก่อนหน้านี้ รวมทั้งได้กำหนดสัดส่วนในการอนุญาตครั้งนี้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ตามที่กฎหมายกำหนด โดยแบ่งเป็นประเภทสาธารณะร้อยละ 20 และประเภทชุมชนร้อยละ 5 และที่เหลือเป็นประเภทกิจการทางธุรกิจ ทำให้มีคลื่นความถี่ที่สามารถจัดสรรในครั้งนี้สำหรับบริการสาธารณะและชุมชนได้ไม่ต่ำกว่า 838 คลื่นความถี่ ในขณะที่ปัจจุบันมีสถานีวิทยุประเภทสาธารณะและชุมชนอยู่เพียง 706 สถานี ทำให้สามารถรองรับผู้ประกอบการรายใหม่ได้ อย่างไรก็ตามผู้ขอรับใบอนุญาตต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบการกระจายเสียง พ.ศ.2567 ที่ กสทช. ได้อนุมัติไปก่อนหน้านี้

พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ (กสทช.) ชี้แจงเพิ่มเติมถึงเงื่อนไขสำหรับกิจการบริการสาธารณะและการบริการชุมชน นั้น ต้องมีคุณสมบัติ ตามนี้ คือ

1. ประเภทบริการสาธารณะ ต้องมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการให้บริการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้

1.1 ประเภทที่หนึ่ง เพื่อการส่งเสริมความรู้การศึกษา ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม การเกษตร และการส่งเสริมอาชีพอื่นๆ เช่น สุขภาพ กีฬา หรือการส่งเสริมคุณภาพชีวิต

1.2 ประเภทที่สอง เพื่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยสาธารณะ

1.3 ประเภทที่สาม เพื่อการกระจายข้อมูลข่าวสารเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลกับประชาชน และรัฐสภากับประชาชน การกระจายข้อมูลข่าวสารเพื่อการส่งเสริมสนับสนุนในการเผยแพร่และให้การศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นต้น

2. ประเภทบริการชุมชน ต้องมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการบริการสาธารณะ ซึ่งเป็นประโยชน์ตามความต้องการของชุมชนหรือท้องถิ่นที่รับบริการ

โดยผู้รับใบอนุญาตประเภทบริการสาธารณะ 1 นิติบุคคล มีจำนวนใบอนุญาตได้มากกว่า 1 คลื่นความถี่แต่ประเภทชุมชน 1 นิติบุคคล มีจำนวนใบอนุญาตที่ได้รับอนุญาตได้ 1 คลื่นความถี่ และอายุใบอนุญาตจะสิ้นสุดลงในวันที่ 3 เม.ย. 2572 หรือตามที่ กสทช. กำหนดแต่ไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่อนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ โดยที่ผู้ประสงค์จะขอรับใบอนุญาตต้องยื่นคำขอรับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และชำระค่าธรรมเนียมการขออนุญาตผ่านระบบการยื่นคำขอรับอนุญาตทางอิเล็กทรอนิกส์ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (e-BCS)(https://bcsservices.nbtc.go.th/eservices/#/auth/ebcsmain

โดยสำนักงาน กสทช. จะประกาศเผยแพร่กำหนดช่วงวัน และเวลาที่ให้ผู้ประกอบกิจการที่สนใจเข้าร่วมยื่นคำขอรับใบอนุญาต และวันที่จะให้ทดลองทดสอบระบบการยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ทราบล่วงหน้าเป็นการทั่วไป เมื่อประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการกระจายเสียงได้ประกาศบังคับใช้ในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งคาดว่าภายในเดือน ต.ค. 2567 นี้

“การออกประกาศเชิญชวนการขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ระบบเอฟเอ็ม สำหรับให้บริการกระจายเสียงในครั้งนี้ ก็เพื่อให้ผู้ที่ประสงค์จะประกอบกิจการกระจายเสียงระดับท้องถิ่นประเภทบริการสาธารณะและบริการชุมชน ทั้งรายเดิมที่ได้ทดลองออกอากาศมามากกว่า 10 ปี แต่ยังไม่เคยได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่แบบเป็นทางการ รวมทั้งรายใหม่ที่ประสงค์จะประกอบกิจการประเภทนี้ ได้เข้าสู่ระบบการอนุญาตที่เป็นมาตรฐานสากล โดยมีวิธีการอนุญาตที่ไม่ต้องใช้วิธีการประมูลแต่จะใช้วิธีการเปรียบเทียบคุณสมบัติตามที่ประกาศฯ กำหนด และเมื่อได้รับการอนุญาต กสทช.

จะสามารถส่งเสริมและสนับสนุนได้อย่างเต็มที่ แต่หากผู้ประกอบการรายเดิมไม่แจ้งความประสงค์ตามเงื่อนไขและวันเวลาที่กำหนดแล้ว ผู้ประกอบการรายนั้นจะต้องสิ้นสุดการออกอากาศในวันที่ 31 ธ.ค. 2567 นี้ สำหรับประกาศเชิญชวนการขอรับใบอนุญาตกระจายเสียงในประเภทธุรกิจ ที่กฎหมายบังคับให้ใช้วิธีการประมูลนั้น จะรีบเร่งรัดให้ออกได้ภายในเดือน ต.ค. ปีนี้ เช่นกัน” พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ฯ กล่าวปิดท้าย

กสทช. เดินหน้าพัฒนาวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิทัล เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชน  

พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า มาตรฐานทางเทคนิคดังกล่าวเป็นการกำหนดทั้งเครื่องส่งและเครื่องรับวิทยุด้วยระบบ Digital Audio Broadcasting (DAB) ที่มีการเข้ารหัสสัญญาณเสียงแบบ MPEG-4 High Efficiency Advanced Audio Coding Version 2 (MPEG-4 HE AAC v2) หรือที่เรียกว่า DAB+ Audio ซึ่งเป็นการเผยแพร่สัญญาณเสียงภาคพื้นดิน (On Air) ด้วยระบบดิจิทัล นอกเหนือจากการมีคุณภาพเสียงที่คมชัด รับฟังได้โดยไม่มีสัญญาณรบกวนแล้ว ยังมีฟังก์ชั่นเสริม เช่น ตัวอักษรวิ่ง (Text Scrolling), แสดงภาพนิ่ง (Slide Show), ผังรายการอิเล็คทรอนิกส์ (Electronic Program Guide: EPG), ข้อมูลจราจรและการเดินทาง (TPEG) และที่สำคัญสามารถนำมาใช้เป็นระบบแจ้งเตือนภัย (Emergency Warning System: EWS) ได้ โดยที่หากสามารถสร้างโครงข่ายวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิทัลได้ครอบคลุมทั่วประเทศแล้ว จะทำให้สามารถรับฟังรายการได้อย่างต่อเนื่องและได้รับการแจ้งเตือนได้ด้วยเนื้อหาเดียวกันทั่วประเทศ หรือ กำหนดการกระจายเสียงให้เป็นระดับชาติ ภูมิภาค หรือ ท้องถิ่น ได้อย่างแท้จริง

ระบบนิเวศของวิทยุกระจายเสียงระบบดิจิทัล จะเปลี่ยนไปจากระบบเดิม โดยที่ในระบบ FM อนาล็อกนั้นผู้ประกอบการเจ้าของสถานีนอกจากรับผิดชอบเรื่องการผลิตเนื้อหารายการแล้ว ยังต้องเป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับอุปกรณ์เครื่องส่งและโครงข่ายเสาส่งในการออกอากาศเองทั้งหมด รวมทั้งการออกอากาศก็จำกัดภายในรัศมีครอบคลุมพื้นที่ไม่เกิน 100 กิโลเมตร ทำให้ไม่สามารถเผยแพร่เนื้อหาเป็นสถานีวิทยุในระดับประเทศได้ แต่สำหรับระบบดิจิทัลนั้นแยกผู้ประกอบการที่เป็นโครงข่ายออกจากเจ้าของสถานีออกจากกัน ทำให้สามารถประหยัดทรัพยากรทั้งคลื่นความถี่และอื่น ๆ ไม่เกิดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน และเจ้าของสถานีจะทำหน้าที่ผลิตเนื้อหารายการเพียงอย่างเดียว ทำให้มีเนื้อหารายการที่ดีมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น    

“วิทยุกระจายเสียงถือเป็นกิจการสื่อสารสุดท้ายที่ยังคงเป็นระบบอนาล็อกอยู่ นับตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ. 2473 ที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 ทรงเปิด "สถานีวิทยุพญาไท" และมีกระแสพระราชดำรัสเนื่องในวันฉัตรมงคล ซึ่งถือว่าเป็น
วันวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติ จากนั้นได้มีการพัฒนาจาก AM มาเป็น FM ราวปี พ.ศ.2495 จนถึงปัจจุบัน ยังคงเป็นระบบอนาล็อกอยู่ อย่างไรก็ตาม กสทช. มิได้มีความประสงค์จะยกเลิกระบบ FM เดิม เพียงแต่เสนออีกทางเลือกหนึ่งให้ผู้ประกอบการ รวมทั้งควรต้องดำเนินการพัฒนาให้มีโครงข่ายวิทยุกระจายเสียงระดับชาติ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารสาธารณะที่เป็นประโยชน์ แบบ On Air ได้ฟรีเช่นเดิม แม้ว่าปัจจุบันจะมีอีกทางเลือกคือการรับฟังวิทยุ Online ผ่านอินเทอร์เน็ต แต่ประชาชนต้องเสียค่าใช้จ่าย รวมทั้งหากโครงข่ายอินเทอร์เน็ทไปไม่ถึงหรือไม่สามารถใช้งานได้ ก็จะไม่สามารถรับฟังได้ ทั้งนี้ขั้นตอนต่อไปคงต้องพิจารณาแนวทางในการอนุญาตหรือพัฒนาโครงข่ายวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิทัลให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมตามมาตรฐานที่กำหนดนี้ เพื่อให้ผู้ที่มีความประสงค์
จะเป็นเจ้าของสถานีสามารถให้บริการได้ต่อไป” พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ ฯ กล่าว

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net