Skip to main content
sharethis

พีมูฟยื่น รมว. กระทรวงทรัพยากรฯ ค้านกฎหมายป่าอนุรักษ์ 2 ฉบับในเวทีรับฟังความเห็น เหตุละเมิดสิทธิชุมชน ตำหนิ ‘อรรถพล’ อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวหาชาวบ้านตัดไม้ทำลายป่าทำน้ำท่วมภาคเหนือ จี้หยุดผลิตซ้ำอคติชาติพันธุ์

เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2567 ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ ได้เข้ายื่นหนังสือถึง เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในเวทีรับฟังความคิดเห็น ร่างพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ และ ร่างพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ที่จัดโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมมารวยการ์เด้น กรุงเทพมหานคร เนื่องจากพีมูฟได้รับเชิญให้เข้าร่วมในเวทีรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวในกรณีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562

ตั้งแต่กฎหมายออกมาในปี 2562 ในทางพีมูฟเราแสดงเจตจำนงว่าเราไม่เห็นด้วยกับกฎหมายอยู่แล้ว ออกในยุคสมัย คสช. ยังใช้อำนาจรวมศูนย์ ไม่มองเรื่องการจัดการที่มีส่วนร่วมของชุมชนทั้งที่ดินและทรัพยากร เราคัดค้านตั้งแต่ปี 2562 ขณะที่ตัวแทนกรมอุทยานฯ พยายามตัดบทและโน้มน้าวให้ชาวบ้านเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งกลุ่มพีมูฟไม่ยินยอม

ค้าน 2 กฎหมายป่าอนุรักษ์ละเมิดสิทธิชุมชน

เวลาประมาณ 09.40 น. ตัวแทนพีมูฟได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ภายหลังยื่นหนังสือเสร็จสิ้นกรมอุทยานฯ ได้พยายามเชิญให้พีมูฟอยู่รับฟังการชี้แจงและเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็น แต่ จรัสศรี จันทร์อ้าย กรรมการบริหารพีมูฟ ได้ชี้แจงว่า ตั้งแต่กฎหมายออกมาในปี 2562 พีมูฟแสดงเจตจำนงว่าเราไม่เห็นด้วยกับกฎหมายอยู่แล้ว เพราะออกในยุคสมัย คสช. เนื้อหากฎหมายยังใช้อำนาจรวมศูนย์ ไม่มองเรื่องการจัดการที่มีส่วนร่วมของชุมชนทั้งที่ดินและทรัพยากร จึงไม่เข้าร่วมกระบวนการรับฟังความคิดเห็นในวันนี้ ขณะที่ตัวแทนกรมอุทยานฯ พยายามตัดบทและโน้มน้าวให้กลุ่มพีมูฟเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นเพื่อได้บันทึกความเห็นไว้อีกครั้ง ซึ่งกลุ่มพีมูฟไม่ยินยอม

หนังสือของพีมูฟระบุว่า มีหลายชุมชนที่ถูกประกาศอุทยานแห่งชาติทับไปแล้วโดยปราศจากการมีส่วนร่วมของชุมชน และผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนในพื้นที่ได้ประจักษ์ชัดต่อสาธารณะ อาทิ กรณีอุทยานแห่งชาติผาแดง จังหวัดเชียงใหม่ ได้ตรวจยึดพื้นที่และเข้าตัดฟันพืชผลอาสินของชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ลีซูบ้านรินหลวงและทุ่งดินดำ อ.เชียงดาว จ.เชียงราย จนเสียหายต่อทรัพย์สินและสร้างบาดแผลในจิตใจประชาชน รวมถึงกรณีชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ก็เคยถูกไล่รื้อเผาทำลายบ้าน ถูกบีบบังคับให้ต้องอยู่อาศัยทำกินในแปลงที่ดินอพยพอย่างยากลำบาก และปัจจุบันชาวบ้าน 27 คนถูกอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานดำเนินคดีอาญา

พีมูฟกล่าวว่าไม่สามารถยอมรับกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ได้ตั้งแต่หลักการและเหตุผล คือการเขียนกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้แก่

1. มาตรา 22 ที่ระบุว่า “การตรากฎหมายต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลิมิได้” ฉะนั้นการอ้างว่า “กฎหมายกำหนด” ก็ไม่อาจขัดต่อหลักการนี้ซึ่งคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของปวงชนชาวไทยได้

2. มาตรา 28 ที่ระบุว่า “เสรีภาพในชีวิตและร่างกาย การจับและการคุมขังบุคคลจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ” แต่กฎหมายของกรมอุทยานฯ กลับให้อำนาจเจ้าหน้าที่เดินหน้าจับกุมและส่งชาวบ้านเข้าห้องขังได้ทันที เหมือนกรณีการจับกุมชาวบ้านบางกลอยเมื่อปี 2564

3. มาตรา 33 ที่ระบุว่า “การเข้าไปในเคหสถานโดยปราศจากความยินยอมของผู้ครอบครอง หรือการค้นเคหสถานหรือที่รโหฐานจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ” แต่กฎหมายฉบับนี้กลับให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานฯ สามารถเข้าเคหสถานเพื่อรื้อค้นหรือยึดทรัพย์สินของชาวบ้านได้โดยไม่ต้องมีหมายศาล แม้ในยามวิกาล

4. มาตรา 37 ที่ระบุว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิในทรัพย์สินและการสืบทอดมรดก” แต่ที่ดินที่ทำกินของชาวบ้านที่เป็นมรดกตกทอดจากบรรพชนนั้นจะได้รับการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ได้เพียง 20 ปี นี่คือการแย่งยึดที่ดินของประชาชนในคราบการอนุรักษ์

5. มาตรา 40 ที่ระบุว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ” แต่วิถีการดำรงชีวิตและอาชีพหลายอย่างจะถูกจำกัด โดยเฉพาะการทำเกษตร การเลี้ยงสัตว์ และการเก็บหาของป่า

นอกจากนั้น ขณะนี้ในกระบวนการเตรียมการประกาศพื้นที่เขตป่าอนุรักษ์ทับพื้นที่ชุมชน พีมูฟยังพบว่าเกิดเหตุการณ์ที่เข้าใจการจำกัดสิทธิในการมีส่วนร่วมและการละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังนี้

1. ความไม่ชัดเจนเรื่องแนวเขตการเตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติไม่สามารถชี้แจงข้อมูลแนวเขตให้ชุมชนเข้าใจได้ และพบว่าหลายครั้งมีความพยายามปรับแนวเขตเองโดยไม่สนใจเสียงเรียกร้องของประชาชนที่ให้เดินสำรวจและกันแนวเขตออก หรืออ้างว่าไม่สามารถกันแนวเขตได้ เนื่องจากจะกระทบต่อแผนการเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 25 เปอร์เซ็นต์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

2. เกิดปฏิบัติการอันลุแก่อำนาจของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ ทั้งนี้สถานะของพื้นที่การเตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติควรอยู่ภายใต้การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 แต่การดำเนินการส่วนใหญ่พบว่าเจ้าหน้าอุทยานแห่งชาติกลับดำเนินการเสียเอง อาทิ การสนธิกำลังกันเข้าตรวจยึดไม้ในพื้นที่ป่าชุมชนซึ่งชาวบ้านได้ทำประชาคมร่วมกันว่าจะนำไปใช้ซ่อมแซมโบสถ์หรือบ้านเรือน การเข้าไปในพื้นที่ชุมชนโดยไม่แจ้งผู้นำชุมชนและพักค้างแรมอยู่ในชุมชน การอ้างเหตุเข้าตรวจสอบพื้นที่โดยกล่าวหาว่าชาวบ้านบุกรุกป่า ทั้งหมดนี้ได้สร้างความหวาดกลัวให้ชาวบ้าน กระทบต่อการใช้ชีวิตอย่างปรกติสุขของชุมชน

3. ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการประกาศอุทยานแห่งชาติ พบว่ามีการให้ข้อมูลไม่รอบด้าน มีการชี้นำจากเจ้าหน้าที่ให้ชาวบ้านคล้อยตามและยอมรับแนวทางการประกาศอุทยานแห่งชาติทับพื้นที่ชุมชน โดยอ้างว่าพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 นั้นให้สิทธิชาวบ้านทำกินและใช้ประโยชน์จากป่าอย่างถูกกฎหมายแล้ว ทั้งที่ชาวบ้านและเครือข่ายภาคประชาชนได้ร่วมกันศึกษากฎหมายดังกล่าวและพบว่าเป็นการจำกัดสิทธิชุมชน สอดแทรกมาตรการการแย่งยึดที่ดินของชาวบ้านไว้ และในทุกเวทีเสียงเรียกร้องให้กันแนวเขตออกมักไม่ได้รับความสนใจ

4. ในกรณีชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหลายคนแสดงกิริยาเหยียดหยามและไม่เข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรม เป็นอคติทางชาติพันธุ์ที่ถูกปลูกฝังอยู่ในมโนสำนึกของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติส่วนใหญ่ ซึ่งหลายครั้งนำไปสู่การไม่ยอมรับสิทธิและรูปแบบการจัดการทรัพยากรของชุมชน อาทิ การทำไร่หมุนเวียน การเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ป่า และการเก็บหาของป่า เป็นต้น

5. การเตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติ กระทบต่อสิทธิของชุมชนที่จะแสดงศักยภาพในการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ ชุมชนไม่สามารถของบประมาณในการจัดทำแนวกันไฟในพื้นที่ป่าชุมชนของตนเองได้ หรือหากดำเนินการทำแนวกันไฟอาจมีความผิดทางกฎหมาย แสดงให้เห็นว่ากฎหมายนั้นสร้างข้อจำกัด มากกว่าเอื้ออำนวยให้เกิดการดูแล อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

พีมูฟได้ยืนยันคัดค้านกฎหมายทั้ง 2 ฉบับมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่กระบวนการยกร่างและผลักดันผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แม้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จะอ้างว่ากฎหมายมีความก้าวหน้า เปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่ก็ไม่มีความชอบธรรมใดๆ ในการอ้างให้ประชาชนยังต้องทุกข์ทนอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์โดยไม่กันพื้นที่ของชุมชนออก แม้จะปรากฏหลักฐานว่าชุมชนได้ตั้งถิ่นฐาน อยู่อาศัย และทำกินมาก่อนการประกาศเขตป่าอนุรักษ์ก็ตาม ซึ่งเรายังจำได้ดีว่า ณ วันนั้นที่เราไปคัดค้านร่างกฎหมายอยู่ที่ สนช. พวกเราไม่มีแม้แต่โอกาสในการเข้าไปชี้แจงในชั้นการพิจารณาของ สนช. แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจหิ้วออกมาจากรัฐสภา ตัดขาดการมีส่วนร่วมของเราตั้งแต่ต้นทางในการผ่านกฎหมายตั้งแต่วันนั้น

พีมูฟจึงขอประกาศเจตนารมณ์และยื่นข้อเรียกร้องมายังท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ดังนี้

1. เร่งคืนสิทธิ์ให้ชาวบ้านที่ถูกเขตป่าอนุรักษ์ประกาศทับโดยไม่มีส่วนร่วม โดยการเพิกถอนเขตป่าอนุรักษ์ออกจากชุมชน มิใช่การมาพยายามแก้ไขกฎหมายเล็กน้อยเพื่อโน้มน้าวให้ชาวบ้านยังต้องติดอยู่ในกรงขังของกรมอุทยานฯ ทั้งที่สิทธิในการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติไม่ใช่ของชุมชนผู้บุกเบิกโดยแท้จริง

2. ยุติแผนการประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่มเติมอย่างน้อย 4 พื้นที่ในฐานสมาชิกพีมูฟโดยทันทีจนกว่าจะสามารถกันพื้นที่การจัดการที่ดินและทรัพยากรของชุมชนออกจากพื้นที่การเตรียมการประกาศป่าอนุรักษ์ได้ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติออบขาน (เตรียมการ) จังหวัดเชียงใหม่, อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) จังหวัดลำปาง, อุทยานแห่งชาติลำน้ำกก (เตรียมการ) จังหวัดเชียงราย และอุทยานแห่งชาติแม่เงา (เตรียมการ) จังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดตาก

แถลงย้ำ “หยุดขังคนในกรงอุทยานฯ” จี้ ‘อรรถพล’ หยุดด่าชาวบ้านตัดไม้ทำลายป่า

เวลา 09.48 น. พีมูฟได้อ่านแถลงการณ์ เรื่อง หยุดขังคนในกรงอุทยานฯ หยุดด่าชาวบ้านตัดไม้ทำลายป่า โดยกล่าวว่าพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติและพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า คือกฎหมายที่เป็นมรดกจากยุครัฐบาลเผด็จการมาทุกยุคสมัย ใช้เป็นเครื่องมือในการยึดสิทธิ์ในการจัดการที่ดินและทรัพยากรของประชาชนในเขตป่า และสร้างความชอบธรรมให้ตนที่กล่าวอ้างว่าเป็นนักอนุรักษ์ใช้อำนาจแสวงหาผลกำไร

จะมาเปิดรับฟังความเห็นอะไรในวันนี้ เพียงแก้ข้อความบางประการในหมวดการอนุญาตให้ประชาชนทำกินและเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคได้เพียง 20 ปี แม้จะอยู่อาศัยและทำกินในที่ดินนั้นมาแต่บรรพชน แต่ยังอยู่ภายใต้กรอบจำกัดของโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า และจะมาเปิดรับฟังความเห็นอะไรในวันนี้ ในเมื่อ 5 ปีที่แล้วก่อนที่กฎหมายของคุณจะผ่านมาได้ในชั้นการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ของรัฐบาลเผด็จการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เราได้ให้ความเห็นและแสดงการมีส่วนร่วมที่สุดแล้ว แต่กลับถูกพวกคุณปิดปาก เจ้าหน้าที่ตำรวจได้หิ้วเราออกมาจากสภาฯ แห่งนั้น กฎหมายฉบับนี้จึงเป็นกฎหมายเผด็จการโดยแท้

เราไม่อาจยอมรับพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติและพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 เนื่องจากกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนสากล ตั้งแต่สิทธิในการประกอบอาชีพ การสืบทอดมรดก เสรีภาพในชีวิตและร่างกาย การจับกุมจะกระทำมิได้หากไม่มีหมายศาล การเข้าไปในเคหสถานโดยจากความยินยอม แต่การคุ้มครองสิทธิของประชาชนทั้งหมดนี้ถูกยัดลงไปในกฎหมายของกรมอุทยานฯ และยกเว้นการคุ้มครองสิทธิของประชาชน เพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่รัฐให้กระทำการอันป่าเถื่อนกับชาวบ้าน ทั้งการจับกุมดำเนินคดี การกล่าวหาว่าชาวบ้านบุกรุกพื้นที่ การเข้าตรวจค้นแปลงเกษตรและบ้านเรือน จนไปถึงการตัดฟันพืชผลอาสินของชาวบ้านอย่างไร้มนุษยธรรม

ฉะนั้นวันนี้ เราขอประกาศจุดยืนไม่เข้าร่วมเวทีการรับฟังความเห็นการปรับแก้กฎหมายป่าอนุรักษ์ ไม่ต้องมาใช้การอนุญาตให้อยู่อาศัยและทำกินเพียงชั่วคราวเพื่อโน้มน้าวพวกเรายอมอยู่ในกรงขังของกฎหมายและเข้าสู่กระบวนการแย่งยึดที่ดินของหน่วยงานในคราบนักอนุรักษ์

นอกจากนั้น เราขอประณามการสื่อสารของอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช นายอรรถพล เจริญชันษา ที่ช่างแสดงทัศนคติอันมืดบอดต่อการดำรงวิถีของกลุ่มชาติพันธุ์และประชาชนบนพื้นที่สูง การกล่าวหาอย่างเลื่อนลอยว่าสาเหตุน้ำป่าไหลหลากเกิดการการตัดไม้ทำลายป่า โดยไม่เคยเสาะเสวงหาข้อเท็จจริงว่าเหตุแห่งภัยพิบัตินั้นเกิดจากอะไรนั้นตอกย้ำให้ประชาชนยิ่งไม่เชื่อมั่นในหน่วยงานภาครัฐในสังกัดกรมป่าอนุรักษ์ ซึ่งการแสดงความเห็นเช่นนี้เชื่อมโยงกับกรณีที่ชาวบ้านในเครือข่ายของเราอย่างชุมชนปกาเกอะญอบ้านห้วยหินลาดใน อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ได้รับผลกระทบจากดินสไลด์และน้ำป่าไหลหลาก แต่กลับถูกซ้ำเติมด้วยข้อกล่าวหาที่ผลิตซ้ำอคติทางชาติพันธุ์จากนักวิชาการบางคน เพจเฟซบุ๊กบางเพจ สื่อสาธารณะบางสื่อ และข้าราชการระดับสูงอย่างนายอรรถพล

เราขอเรียนต่อสาธารณชนว่า ชุมชนบ้านห้วยหินลาดในนั้นต่อสู้อย่างหนักกับการตัดไม้ทำลายป่าที่สนับสนุนโดยรัฐบาลไทย มีหน่วยงานรัฐในนามกรมป่าไม้เป็นเครื่องมือสำคัญ ชาวบ้านห้วยหินลาดในดูแลรักษาป่ามานานนับศตวรรษ ต่อสู้กับขบวนการตัดไม้ทำลายป่าที่สนับสนุนโดยรัฐจนป่ากลับมาอุดมสมบูรณ์ ฉะนั้นสังคมควรร่วมตั้งคำถามว่าใครกันแน่ที่ดูแลป่า และใครกันแน่ที่ทำลายป่า ในขณะที่คุณขึงขังกับการใช้ประโยชน์ในที่ดินเขตป่าของชาวบ้าน คุณกลับไม่เคยแข็งขันกับการต่อสู้กลุ่มทุนทำเหมือง เขื่อน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในที่ดินของรัฐแม้เพียงครั้งเดียว หรือมาตรฐานการจัดการผู้ทำลายล้างมีผลบังคับใช้กับแค่คนจน ไม่รวมคนรวย

เราจึงขอเรียกร้องว่า จงหยุดผลิตซ้ำมายาคติที่กดขี่กลุ่มชาติพันธุ์ จงหยุดพฤติกรรมการกล่าวโทษเกษตรกรบนพื้นที่สูงเป็นเหตุแห่งปัญหา แล้วร่วมกันเดินหน้าตั้งคำถามต่อแนวคิดอนุรักษ์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งคำถามดังๆ ต่อแนวคิดของ อรรถพล เจริญชันษา ว่านี่คือการอนุรักษ์จริงๆ หรือเป็นเพียงการดำรงไว้ซึ่งอำนาจนิยมในเขตปกครองพิเศษของกรมอุทยานฯ เราขอเรียกร้องให้ทุกคนเคารพต่อสิทธิในการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติของพวกเราในฐานะผู้บุกเบิกและผู้ดูแลรักษา หาใช่ผู้ทำลายดังที่เขาหลอกลวง แล้วร่วมกันหยุดส่งต่อภาพมายาคติเลวร้ายต่อพวกเราเสียที

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net