ใบตองแห้ง: ชนะระหว่างหาเสียง

การตรวจเลือกทหารกองเกิน “เกณฑ์ทหาร” ปีนี้จะเป็นปีสุดท้าย ใครผ่อนผันได้รีบผ่อนผัน ปีหน้าไม่มีจับใบดำใบแดงอีก

เพราะพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคไทยสร้างไทย ประกาศนโยบายเป็นเสียงเดียวกัน “ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร” ใช้ระบบสมัครใจ 100%

แน่ใจนะว่า เพื่อไทยก้าวไกลไทยสร้างไทยจะเป็นรัฐบาล? ปัดโธ่ ต่อให้หนูเป็นนายกฯ ก็ต้องยกเลิกเกณฑ์ทหาร แต่อาจยื้อไปอีกปี

เพราะนี่เป็นประเด็นสาธารณะ ที่พรรคการเมืองประกาศสัญญาประชาคม ว่าจะทำเมื่อเป็นรัฐบาล แต่ระหว่างหาเสียง ระหว่างดีเบต มันกลายเป็นฉันทามติ คนส่วนใหญ่เห็นพ้อง ใครมาเป็นรัฐบาลก็ต้องทำ

เช่นเดียวกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม สุราก้าวหน้า พรรคก้าวไกลนำหน้า พรรคเพื่อไทยขานรับ ประชาชนสนับสนุน หลังเลือกตั้งไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล เสนอกฎหมายเข้าสภา พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ หรือแม้แต่รวมไทยสร้างชาติ ก็คงไม่ค้าน (ที่จริงสุราก้าวหน้าเกือบผ่านแล้ว แต่โดนออกกฎกระทรวงตัดหน้า แล้วพรรคร่วมรัฐบาลฉวยโอกาสเท ไม่อยากให้เป็นผลงานก้าวไกล)

กฎหมายสมรสเท่าเทียม ถ้าจะให้ดี LGBTQ ก็ตั้งเวทีดีเบต เชิญแคนดิเดตนายกฯ ทุกพรรคไปซักถาม ให้สัญญาประชาคม เห็นด้วยเห็นต่างอย่างไร

นี่แหละคือกลไกประชาธิปไตย ประชาชนสามารถใช้เวทีหาเสียงเลือกตั้ง ซักถามไอเดียแก้ปัญหาต่างๆ ให้พรรคการเมืองประกาศคำมั่นสัญญา เป็นรัฐบาลแล้วจะทำอย่างไร

นี่แหละไม่ใช่ “ประชาธิปไตย 4 วินาที” หรือ “ประชาธิปตังค์” อย่างที่ดูถูกกัน พรรคไหนประกาศนโยบายแล้วไม่ทำ ครั้งนี้ครั้งหน้าก็อย่าไปเลือกมัน

เช่นค่าแรง 425 อาชีวะ 18,000 ตั้งครรภ์ 3,000 ฯลฯ เป็นรัฐบาลแล้วไม่ทำ ผู้นำไม่รับผิดชอบ พรรคเสนอเป็นนายกฯ บอกว่าไม่เกี่ยวกับพรรค สุดท้ายย้ายพรรคหนี

ถ้าสังคมเข้มแข็ง ก็สามารถตั้งเวทีขอคำมั่น เช่น สมาพันธ์แรงงานถามพรรคต่างๆ มีนโยบายเศรษฐกิจ ค่าแรง สวัสดิการ อย่างไร องค์กรปกครองท้องถิ่นก็ถามเรื่องกระจายอำนาจ ไม่ใช่ใครขึ้นเงินเดือนให้ก็เลือกคนนั้น

หลายเรื่องไม่ใช่แค่ “คำมั่นจะแจก” แต่ต้องใช้สติปัญญาและความกล้าหาญ เช่นฝุ่น PM 2.5 สูงอันดับหนึ่งของโลก จะแก้อย่างไร หัวหน้าพรรคบางพรรคบอกให้ทำฝนหลวง ปัดโธ่ ถ้าทำได้ประยุทธ์คงทำไปแล้ว

เวทีดีเบตมีคุณค่าต่อประชาธิปไตย เพราะทำให้ทุกประเด็นเป็นสาธารณะ แม้กระทั่งประเด็นที่คิดกันว่าล่อแหลม “แก้ 112 ไหม” ก็ถามในเวทีในจอโทรทัศน์ แม้ยังไม่ชัดว่าแก้ได้ แต่อย่างน้อยก็ทำให้ “แก้ 112 ไหม” กลายเป็น New Normal เป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่พูดคุยซักถามกันบนเวทีดีเบตนายกฯ

“แก้ 112” ซึ่งเป็นประเด็นที่จุดโดยพรรคก้าวไกล บีบให้พรรคเพื่อไทยต้องยอมรับว่า จะเอาเข้าไปพูดคุยในสภา ขณะเดียวกันก็จะเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญจัดการผลพวงรัฐประหาร แม้ปิยบุตรเหม็นขี้ฟัน ก็ต้องยอมรับว่าพลังขับเคลื่อนทางสังคม (และการมีก้าวไกลเป็นคู่แข่ง) กดดันพรรคเพื่อไทยให้ต้องขยับไปข้างหน้า

ไม่มีใครคาดได้ว่า จะเกิดการแก้ 112 ไหม ขณะที่ตำรวจยังไล่จับเยาวชนวันละหลายคน แต่สิ่งที่เห็นได้คือ เรื่องนี้กลายเป็นการพูดคุยอย่างธรรมดาสามัญระหว่างเลือกตั้ง นับเป็นตลกร้ายด้วยซ้ำว่าในขณะที่เพื่อไทยถูกกดดัน “แก้ 112” กลับไปไม่ได้เป็นอุปสรรคขีดคั่น ให้คนไม่เลือกก้าวไกล

เว้นเสียแต่พวกสุดโต่งที่เลือกลุงไปแล้ว ประชาชนทั่วไปไม่ยักซีเรียส ไม่ได้ตีเส้นขีดเกณฑ์ว่าเพราะไอ้พรรคนี้จะแก้ 112 เราไม่เลือกมัน แต่จะเลือกหรือไม่เลือก ก็ดูจากนโยบาย ผลงาน ผู้สมัคร เหมือนพรรคอื่นทั่วไป นี่แหละคือ “ปกติใหม่”

ประเด็นแบบยกเลิกเกณฑ์ทหาร สมรสเท่าเทียม สุราก้าวหน้า เป็นผลจากการขับเคลื่อนทางสังคม ที่ก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงจนเห็นพ้องกัน แม้กระทั่งฝ่ายอนุรักษนิยมก็ค่อยๆ ยอม

ประเด็นอื่นๆ ก็คล้ายกันคือต้องผ่านความล่อแหลม กล้าท้าทาย ต่อสู้ถกเถียง จนกลายเป็นประเด็น Mass แล้วฝ่ายรัฐฝ่ายปกครองต้องยอมรับ ยกตัวอย่างกระทรวงศึกษาฯ ประกาศ “เด็กท้องต้องได้เรียน” ไม่ใช่อยู่ๆ ศธ.ตรัสรู้ก้าวหน้า แต่มันผ่านการต่อสู้มาไม่รู้กี่รุ่น ถูกไล่ออกหมดอนาคตไม่รู้กี่คน

มีเวลาอีกเดือนกว่าที่ประชาชนสามารถซักถามผ่านเวทีดีเบตเลือกตั้ง ว่าประเด็นสำคัญๆ ทางการเมืองเศรษฐกิจจะทำอย่างไร เช่น จะแก้ไขรัฐธรรมนูญไหม จะลงประชามติเพื่อตั้ง ส.ส.ร.ไหม จะเอาอย่างไรกับ 250 ส.ว.หรือรอให้หมดวาระไป

แก้รัฐธรรมนูญยังต้องล็อกไหมว่ายกเว้นหมวด 1 หมวด 2 ทั้งที่ไม่มีตรงไหนห้าม ถ้าเห็นว่าไม่ควรแก้ก็ไปแสดงความเห็นผ่าน ส.ส.ร.ว่าไม่แก้

พรรคฝ่ายค้านนั้นค่อนข้างแน่ชัดแม้พรรคเพื่อไทยเคยขยัก “ยกเว้นหมวด 1 หมวด 2” พิธีกรดีเบตควรจะซักทุกพรรค ซึ่งก็ล้วนเป็นนักการเมืองจากการเลือกตั้งของประชาชน ว่าอยากแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับไหม ยังอยากให้มี ส.ว.อยู่ไหม อยากให้มีกรรมการยุทธศาสตร์ชาติอยู่ไหม อยากให้มี กกต.ใช้อำนาจบ้าจี้อย่างนี้อยู่ไหม หรือควรรื้อองค์กรอิสระ เลิกยุบพรรคตัดสิทธิเสียที ผิดก็ว่าไปตามคดีอาญา

พรรคที่อยากก้าวข้ามความขัดแย้ง ก็ต้องถามว่าก้าวข้ามอย่างไร นิรโทษกรรมใคร พรรคอื่นเห็นด้วยไหม

พรรคที่เข้าร่วมรัฐบาลประยุทธ์โดยอ้างว่าอยากแก้รัฐธรรมนูญ กลายเป็นแก้ระบบเลือกตั้งแค่ครึ่งเดียว เบอร์พรรคเบอร์ผู้สมัครไม่ตรงกัน สับสนปั่นป่วนทั้งประเทศ ยังอยากแก้อีกไหม

ก่อนถึงวันเลือกตั้ง ประชาชนต้องได้สัญญาประชาคมให้มากที่สุด เป็นหลักประกัน ใครโกหกไม่ต้องรอสี่ปี อีกไม่นานก็เห็นกัน

 

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/politics/news_7602285

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท