สปสช.เปิดสถิติ ปชช.ใช้บัตรทองรักษาทุกที่ กว่า 5.2 แสนครั้ง 

สปสช.เปิดสถิติคนใช้นโยบายยกระดับบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกที่กว่า 2 ปี มีใช้สิทธินอกหน่วยประจำตัวเองแล้ว 3.6 แสนคน 5.18 แสนครั้ง เบิกจ่ายไปรวมแล้ว 158 ล้านบาท 

25 เม.ย.2566 ฝ่ายสื่อสารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รายงานว่า นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช.กล่าวถึงผลการดำเนินงานตามนโยบายยกระดับบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกที่ในหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศกว่า 2 ปีที่ผ่านมาว่ามีประชาชนเข้ารับบริการในหน่วยบริการที่ไม่ใช่หน่วยบริการประจำของตน จำนวน 364,721 คน หรือเป็นจำนวน 517,961 ครั้งตามหน่วยบริการทุกระดับที่ร่วมให้บริการตามนโยบายจำนวน 2,166 แห่ง เป็นเงินเบิกจ่ายทั้งสิ้น 157,778,351 บาท ทั้งนี้เป็นการรับบริการ OP Anywhere ข้ามเครือข่าย 301,667 ครั้ง ข้ามจังหวัด 97,493 ครั้ง และข้ามเขต 118,700 ครั้ง  

ทั้งนี้เมื่อแยกข้อมูลตามปีงบประมาณ มีผู้ที่เข้ารับบริการ OP Anywhere ดังนี้

  • ปีงบประมาณ 2564 มีผู้รับบริการจำนวน 42,825 คน หรือจำนวน 57,105 ครั้ง รับบริการที่หน่วยบริการ 206 แห่ง เป็นจำนวนเงินเบิกจ่ายทั้งสิ้น 23,106,476 บาท   
  • ปีงบประมาณ 2565 มีผู้รับบริการจำนวน 190,301 คน หรือจำนวน 29,301 ครั้ง รับบริการที่หน่วยบริการ 1,121 แห่ง เป็นจำนวนเงินเบิกจ่ายทั้งสิ้น 79,131,897 บาท
  • ปีงบประมาณ 2566 (ข้อมูล 1 ต.ค. 65 - 20 เม.ย. 66) มีผู้รับบริการจำนวน 152,383 คน หรือจำนวน 201,555 ครั้ง รับบริการที่หน่วยบริการ 1,875 แห่ง เป็นจำนวนเงินเบิกจ่ายทั้งสิ้น 55,539,978 บาท

สำหรับสถิติโรคที่เข้ารับบริการมากสุด 10 อันดับแรกตามตาราง

โรค/อาการ

จำนวนผู้รับบริการ (หน่วย : คน)

1. โรคหวัดหรือไข้หวัด

25,056

2. ความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุ

16,754

3. การเย็บแผลและตัดไหม

15,989

4. โรคโควิด

11,214

5. เบาหวานชนิดที่ไม่ต้องพึ่งอินซูลิน ไม่มีภาวะแทรกซ้อน

8,831

6. อาการอาหารไม่ย่อย

8,544

7. การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนเฉียบพลัน

8,319

8. โรคฟันผุ

6,958

9. โรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ

6,937

10. อาการเวียนศีรษะ มึนงง หน้ามืดตาลาย คลื่นไส้อาเจียน

6,447

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นพ.จเด็จ กล่าวว่า 30 บาทรักษาทุกที่ในหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศเป็นสิทธิประโยชน์ที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) อนุมัติให้ผู้มีสิทธิบัตรทองหรือสิทธิ 30 บาท สามารถไปรับบริการนอกหน่วยบริการประจำของตนหรือนอกหน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่ายได้ในกรณีที่มีเหตุอันควร หมายถึงการไปรับบริการโดยไม่ได้มีการนัดหมายมาก่อน หรือไม่ใช่การส่งต่อไปรับบริการ เช่น การรับยา กรณีเป็นผู้ป่วยที่ต้องทานยาต่อเนื่องแล้วยาหมดในระหว่างเดินทางไปต่างพื้นที่ สามารถมาขอรับยาที่หน่วยบริการที่ไม่ใช่ได้เข้ารับการรักษาประจำได้ 

นอกจากนี้ ยังมีกรณีทำแผลและรับวัคซีน เช่น กรณีเดินทางไปต่างพื้นที่แต่ต้องทำแผลต่อเนื่องทุก 2-3 วัน หรือถูกสุนัขกัด ต้องฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าให้ครบและมีเหตุต้องเดินทางไปต่างพื้นที่ ก็ไปทำแผลหรือวัคซีนในหน่วยบริการอื่นได้  

“เช่นเดียวกับกรณีเจ็บป่วย เช่น ปวดศีรษะ ไข้หวัด ปวดท้อง เคืองตา ฯลฯ หรือกรณีไปต่างพื้นที่แล้วปวดฟัน ก็สามารถไปรับบริการทันตกรรมพื้นฐาน ถอนฟัน อุดฟัน ในหน่วยบริการนอกพื้นที่ได้ ” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว 

เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อไปว่า การเข้ารับบริการนอกหน่วยบริการประจำของตนนั้น สามารถไปรับบริการในหน่วยบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ศูนย์สุขภาพชุมชน ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่น ทั้งแบบภายในจังหวัดเดียวกัน ข้ามจังหวัด และข้ามเขตสุขภาพ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท