Skip to main content
sharethis

รร.แพทย์ รพศ. และ สสจ. ร่วมสะท้อนหลากหลายความคิดเห็น “หลักเกณฑ์บริหารกองทุนบัตรทอง ปี 2568” ระบุ สปสช. ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ คำนึงถึงผู้ให้บริการ ปรับอัตราชดเชยสอดคล้องกับค่าใช้จ่ายจริง พร้อมท้วงรายการ ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตา และ ตกขาวผิดปกติ ในบริการ “16 กลุ่มอาการที่ร้านยา” อาจมีภาวะที่ต้องรักษา แนะหารือราชวิทยาลัยแพทย์ก่อนจัดบริการ ด้าน ประธานบอร์ดควบคุมคุณภาพฯ มอบ สปสช. รวบรวมปัญหาเพื่อหาทางออกสู่การแก้ปัญหาร่วมกัน



ทีมสื่อ สปสช. รายงานว่าจากเวทีการอภิปราย “ระดมความเห็นพัฒนาการดำเนินงานและบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ เพื่อประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน” ในประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการต่อ (ร่าง) ประกาศการดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2568 ในส่วนของผู้ให้บริการระดับทุติยภูมิ และตติยภูมิ จัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา

นพ.ณรงค์ฤทธิ์ มัศยาอานนท์ รองคณบดีฝ่ายคุณภาพและศูนย์ความเป็นเลิศ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า การทำให้ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน ส่วนตัวนึกถึงทฤษฎีสามเหลี่ยมความสมดุล ประกอบด้วยการเข้าถึงบริการ ต้นทุนการให้บริการ และคุณภาพบริการ จึงจำเป็นต้องสร้างความเท่าเทียมในหลายมุมมอง ขณะที่การจ่ายงบประมาณ หรือการจัดสรรเงินยังมีคำถามถึงความไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งหลายครั้งปฏิเสธไม่ได้ว่า โรงพยาบาลต้องเอาเงินส่วนต่างจากกองทุนอื่นๆ มาใช้ นอกจากนี้อัตราค่าจ้างต่อระยะเวลาการทำงานปกติ (Base Rate) ของการให้บริการนอกเขตพื้นที่ยังอยู่ที่ 9,600 บาทมาตลอด เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงของโรค รวมถึงการเหมาจ่ายตามรายการที่กำหนด (Fee Schedule)  แม้เป็นเครื่องมือที่ดี สร้างสมดุลค่าใช้จ่ายระหว่างหน่วยบริการและ สปสช. แต่ก็ยังมีการเหมาจ่ายที่ไม่ครอบคลุม เช่น ยาใหม่ที่บางครั้งอาจปรับไม่ทัน ทำให้โรงพยาบาลต้องแบกรับค่าใช้จ่ายไว้เอง

ดังนั้นก่อน สปสช. จะออกประกาศใดๆ ควรพิจารณาอย่างรอบคอบ มองการปฏิบัติของผู้ให้บริการว่ามีส่วนใดติดขัด เพราะหลายประเด็นที่ผู้ให้บริการปรับตัวไม่ทัน โดยเฉพาะที่มีผลต่อการเบิกจ่าย ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องทำงานเพิ่ม ฉะนั้นหากมีการเตรียมความพร้อม การทำงานจะเป็นไปได้อย่างราบรื่นขึ้น
        
นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้แทนชมรมโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป กล่าวว่า รู้สึกสะดุดใจในส่วนงบกองทุนปลายปิดและปลายเปิด แม้ว่างบปลายปิดส่วนใหญ่จะเป็นงบเหมาจ่ายรายหัว แต่เมื่อดูรายละเอียดพบว่ายังมีที่เป็นงบปลายเปิดซ่อนอยู่ในส่วนงบบริการเฉพาะ เข้าใจว่าเป็นการตัดจากงบปลายปิด ซึ่งข้อสงสัยนี้ยังไม่ได้รับความชัดเจน และเมื่อมองในงบบริการเฉพาะที่อยู่ในกองทุนปลายปิด หากมีผลงานมากกว่ากว่าเป้าหมายอาจต้องดำเนินการโดยนำงบที่เหลือทุกรายการมาคืน และหากยังไม่พอจึงเอางบของปีถัดไปมาใช้ หรือของบเพิ่มเติม ส่วนนี้จึงมีข้อสังเกตว่าเหตุใดจึงเขียนไม่เหมือนกัน
        
มากไปกว่านั้น โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป ต่างยังมีความกังวลต่อความไม่ชัดเจนในงบที่จะรองรับ ‘30 บาทรักษาทุกที่’ ซึ่งความเข้าใจแรกคือ เป็นงบที่ใช้ไม่เกี่ยวข้องกับ ‘งบเหมาจ่ายรายหัว’ โดยรัฐให้เพิ่มเติม ฉะนั้นควรทำให้เกิดความชัดเจน
        
ส่วนบริการฉุกเฉินภาครัฐและบริการสาธารณสุขนอกเวลาราชการกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง เดิมงบนี้จะอยู่ในกองทุนปลายเปิด แต่ปรับให้อยู่กองทุนปลายปิด อีกทั้งรูปแบบบริการอาจสร้างความเสียหายให้กับระบบได้ เพราะแพทย์ พยาบาลมีไม่พอรองรับ และไม่สามารถเก็บค่าบริการนอกเวลา หรือให้ประชาชนร่วมจ่ายได้ ฉะนั้นควรทบทวนให้เป็นการเข้ารับบริการด้วยความจำเป็นเท่านั้น ส่วนงบบริการเฉพาะที่อยู่ในงบ ‘เหมาจ่ายรายหัว’ ที่ระบุให้ไม่เกิน ร้อยละ 12 ซึ่งชมรมฯ ได้เสนอขอไม่เกินร้อยละ 5 เพื่อให้เพดานงบผู้ป่วยในจะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับยาครอบคลุมการรักษามากขึ้น
        
ส่วนบริการ ‘16 กลุ่มอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยรับยาได้ที่ร้านยา’ ในฐานะจักษุแพทย์มองว่า การให้บริการ ‘ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตา’ มีระบุถึง ‘โรคตาแดง’ เป็นเรื่องที่น่ากังวล เนื่องจากเป็นโรคที่มีสาเหตุจากหลายปัจจัยและมีอันตรายได้ ทั้งการรักษาก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้นควรมีการพูดคุยกับราชวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นการช่วยคุ้มครองประชาชนด้วย
        
นพ.ธีระพงษ์ แก้วภมร ผู้แทนชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด กล่าวว่า เมื่อดูรายละเอียดแล้วพบว่ามีการจัดบริการเพิ่มขึ้น โดยงบที่จะได้รับนั้นเป็นส่วนเดียวกันกับผู้ป่วยในที่อาจมีผลกระทบพอสมควร ตัวอย่างกรณี ‘การเยี่ยมบ้าน’ ที่ในทั่วไปจะมีการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านมากที่สุดประมาณ 7 ราย แต่เมื่อมีบริการเพิ่มขึ้นโดยไม่มีการควบคุม กำกับดูแล ทำให้พบว่าบางพื้นที่มีการเบิกงบประมาณจำนวน 20 คนต่อวัน ทว่าในการกำกับติดตามก็ยังไม่มีงบส่วนนี้ รวมถึงการขับเคลื่อนนโยบายผ่านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) ฉะนั้นควรจะต้องมีการกำหนดกติกาให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า บริการ 16 กลุ่มอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยฯ เป็นเรื่องสำคัญ เพราะการเขียนแนวทางดังกล่าวไม่สามารถทำได้โดยง่าย เช่น ‘การรักษาตกขาวผิดปกติ’ ตามหลักการแล้ว ความผิดปกติจะมียู่ 3 ปัจจัย ประกอบด้วย ปริมาณ ลักษณะ และอาการร่วม เพราะบางกรณีถ้าผู้ป่วยมีเลือดปนร่วมด้วย อาจเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูกได้ ฉะนั้นในทุกบริการควรมีการกำหนดนิยามถึงคำว่าเจ็บป่วยเล็กน้อยให้ชัดเจน

นพ.สุรพจน์ สุวรรณพานิช ผู้แทนโรงพยาบาลเอกชน คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข มองว่าการสื่อความหมาย ‘30 บาทรักษาทุกที่ฯ’ นั้นอาจทำให้ผู้ป่วย และญาติมองได้ว่าสามารถรับบริการได้ทุกที่ที่มีความพร้อมทั้งเครื่องมือ และทรัพยากรบุคคล ขณะที่ความเป็นจริงอาจมีเฉพาะบางหน่วยบริการเท่านั้นที่สามารถให้บริการได้ และอาจเกิดผลกระทบต่อผู้ให้บริการด้วยเช่นกัน
        
นอกจากนี้ นพ.สวัสดิ์ชัย นวกิจรังสรรค์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ที่มองว่างบประมาณ ‘OP’ ของปีงบระมาณ 2567 ควรจะต้องมีการจัดสรรลงไปตั้งแต่เดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้กำลังจะเข้าสู่ไตรมาสสุดท้าย แต่งบประมาณที่ควรจะลงมาแล้วยังไม่ถึง ส่วนการกำหนดเพดานงบประมาณเป็นเรื่องดี แต่ต้องอยู่บนความพอเพียงของงบประมาณ และสะท้อนต้นทุนงบประมาณที่เป็นธรรมด้วยเช่นกัน

ขณะที่ นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา ประธานกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข กล่าวว่า จากการลงพื้นที่หลายครั้งได้รับเสียงสะท้อนจากผู้ปฏิบัติงานว่างบประมาณ และกำลังคนเพียงพอกับงานที่เพิ่มขึ้นทุกปีหรือไม่ รวมไปถึงการเบิกจ่ายอาจจมีปัญหาหลังประกาศนโยบาย ที่เดิมทีไม่เคยมี ฉะนั้น สปสช. จึงต้องรับฟัง และสะท้อนไปยังผู้กำหนดนโยบาย และควรมีการรวบรวมประเด็นปัญหาเพื่อหาคำตอบ และหากทำไม่ได้ควรจะต้องมีทางออกเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ได้ ส่วนหลักวิชาการที่ถูกทักท้วง  สปสช.อาจต้องคุยกับราชวิทยาลัยต่างๆ ให้มากขึ้น เนื่องจากหลักวิชาการในการรักษานั้นอาจมีการเปลี่ยนแปลง

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net