Skip to main content
sharethis

"อ่านประวัติศาสตร์ความเชื่อ (พิธีกรรม) อ่านอนาคตคน (สังคม) ไทย" บรรยายพิเศษจากศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ ความเชื่อและพิธีกรรมเป็นพื้นที่ของการต่อสู้และช่วงชิงทิศทางของการเปลี่ยนแปลงสังคมของกลุ่มคนต่างๆ ทั้งโลกออนไลน์และออฟไลน์ ภายใต้เงื่อนไขที่เป็นกับดักสำคัญสังคมไทยยังยึดติดอยู่กับอำนาจนิยม ไร้ความเป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำขยายกว้างมากขึ้น

 

เนื้อหาจากโครงการบรรยายพิเศษ “อ่านประวัติศาสตร์ อ่านอนาคตคนไทย” จัดโดยภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และแผนงานคนไทย 4.0 หัวข้อ "อ่านประวัติศาสตร์ความเชื่อ(พิธีกรรม) อ่านอนาคตคน(สังคม)ไทย" โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ ณ ห้องปราบไตรจักร2-310 อาคารปราบไตรจักร 2 มหาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566

 

ประวัติศาสตร์และสังคมศาสตร์เป็นแฝดกัน

การจะอ่านประวัติศาสตร์ให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงต้องอ่านทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ควบคู่กัน ทั้งสองอย่างเป็นพื้นฐานของกันและกัน ประวัติศาสตร์และสังคมศาสตร์หากนำมามองเชื่อมกันจะทำให้เห็นประเด็นที่แตกต่างจากเดิมและเข้าใจการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น

อย่างการศึกษาของกลุ่ม Annales School ซึ่งมีรากฐานมาจากความคิดของ Karl Marx ของ Marc Blonc ที่ได้ศึกษาเรื่องการใช้ที่ดินของหมู่บ้านในฝรั่งเศสพบว่าสิ่งที่เราเชื่อว่าเป็นวัฒนธรรม/ประเพณีของชาวบ้านแท้จริงแล้วเป็นผลมาจากการต่อสู้ระหว่างชาวบ้านที่เป็นเจ้าของที่ดินกับชาวบ้านที่ไร้ที่ดิน ไม่ใช่การรักษาจารีต/วัฒนธรรมดั้งเดิม ซึ่งสรุปได้ว่าวัฒนธรรม/ประเพณีล้วนเกิดมาจากการต่อสู้ของผู้คนที่หลากหลายในชนบทเพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน บางส่วนอาจมาจากศาสนาและความเชื่อแต่ถูกนำมาแปรความให้มีชีวิตเพื่อต่อรอง ซึ่งเราเรียกว่า “การทำอุดมการณ์ให้มีชีวิต”

หนังสือ/วารสารแนะนำ Social Science History (Cambridge University), Comparative Studies in Society and History (Cambridge University), The Annales School (André Burguière), Annales School: วิวัฒนาการทางความคิดและการประยุกต์ใช้ในประวัติศาสตร์สังคมไทย (อรรถพล คงสืบ)

 

Sacred vs Profane (โลกศาสนา vs โลกสามัญ)

ในระยะแรกนักมานุษยวิทยามักจะมองศาสนาแยกออกจากโลกสามัญ Emile Durkheim: The Elementary Form of Religious Life (1912) ศาสนาคือสิ่งที่เราห้าม เช่น ใส่พระห้ามลอดราวตากผ้า ห้ามลบหลู่ธงขาติ ห้ามนำธงชาติมาทำกางเกงใน หรือในโรงเรียนที่มีกฎระเบียบควบคุมร่างกายของนักเรียน ดังนั้นศาสนาไม่จำเป็นต้องอยู่แค่ในศาสนสถาน ที่ใดก็ตามที่มีการ “ห้าม” ล้วนเป็นศาสนา เพราะการห้ามต้องห้ามตามความเชื่อ

การบรรยายศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ 

แต่ในมุมมองของนักสังคมวิทยาศาสนาอย่าง Max Weber เสนอในหนังสือ The Protestant Ethic and the Spirit of Capitalism (1904) ว่าวิธีคิดแบบโปรเตสแตนต์ทำให้เกิดจิตใจแบบทุนนิยม ความเชื่อในการกระทำเพื่อพระเจ้า การขยันหมั่นเพียร ตรงต่อเวลา ซึ่งเป็นบุคลิกภาพแบบนายทุนโดยเฉพาะพวกคอปกขาว เช่น นักธุรกิจ วิศวกร แพทย์ และนำไปสู่ข้อสรุปว่าศาสนา/ความเชื่อเกี่ยวข้องอย่างมากในเรื่องเศรษฐกิจ ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการปฏิบัติการด้านเศรษฐกิจได้ดีกว่า และแย้งวิธีการมองแบบแยกศาสนากับโลกสามัญออกจากกันใน Sociology of religion (1920) ว่าแม้สังคมตะวันตกสมัยใหม่มุ่งคิดแบบวิทยาศาสตร์ เน้นเหตุผล และลดคุณค่าของความหลงใหล (disenchantment) มากขึ้น แต่โลกที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็ยังไม่หลุดพ้นไปจากความหลงใหลในความเชื่อเสียทั้งหมด

นักปรัชญา Ludwig Wittgenstein ได้เขียนวิจารณ์ข้อเสนอของ James George Frazer (The Golden Bough) ที่ว่า “ความเชื่อทางไสยศาสตร์เป็นความคิดที่ไม่มีเหตุผล” ในหนังสือของเขา Remarks on Frazer's Golden Bough (1967) โดย Wittgenstein มองว่าความเชื่อขึ้นอยู่กับบริบท เช่น การที่ชาวบ้านมีประเพณีการทำบุญไหว้ข้าวเก่า/ข้าวใหม่ ไม่ได้แปลว่าชาวบ้านนั้นไร้เหตุผลแต่เป็นความเชื่อในบริบทของความไม่แน่นอนของการเกษตร จึงต้องทำเพื่อจัดการกับความรู้สึกไม่สบายใจจากความไม่แน่นอนดังกล่าว  เขายังเสนออีกว่าความคิดความเชื่อความสำคัญล้วนอยู่ที่ปฏิบัติการ ความหมายอยู่ที่การใช้ตามบริบทที่แตกต่างกัน

ต่อมานักมานุษยวิทยาเริ่มมองไสยศาสตร์จากมุมมองของคนในวัฒนธรรม โดย Edward Evan Evans-Pritchard ได้ศึกษาคนในแอฟริกาในหนังสือ Witchcraft, Oracles and Magic among the Azande และได้อธิบายสาเหตุที่ผู้คนมีความเชื่อที่งมงาย ไร้เหตุผลในมุมมองของคนภายนอก เป็นเพราะเราไม่รู้ว่าพวกเขาต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้อย่างไร เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้จึงต้องอาศัยอำนาจเหนือธรรมชาติในการอธิบายสิ่งนั้น ข้อเสนอของ Evans-Pritchard ยังก้าวข้ามความเป็นคู่ตรงข้ามระหว่างโลกศาสนาและโลกสามัญ ว่าไม่มีคู่ตรงกันข้ามแบบนั้นแต่ทุกสิ่งผสมปนเปกัน วัฒนธรรมกับธรรมชาติมีความทับซ้อนกันอยู่

 

จุดเปลี่ยนในการตีความหมายพลวัตของพิธีกรรมและความเชื่อในประวัติศาสตร์แต่ละยุคสมัย

Clifford Geertz เสนอว่าวัฒนธรรมขึ้นอยู่กับการตีความ ในการศึกษาชาวแอฟริกาซึ่งถูกปกครองด้วยคนผิวขาวที่นำเอาศาสนา/ความเชื่อของคนผิวขาวมาประกอบพิธีกรรมเพื่อแสดงให้เห็นถึงอำนาจในการต่อต้าน ไม่ได้มีความแตกต่างกันเพราะรับถือศาสนาเหมือนกัน  เช่นเดียวกับในไทย กลุ่มชาติพันธุ์ก็มักจะนับถือศาสนาคริสต์เผื่อสื่อว่าเป็นผู้ที่มีความเจริญแล้วเช่นเดียวกับชาวตะวันตก เป็นการนำศาสนา/ความเชื่อมาตีความแล้วนำมาปฏิบัติการสื่อสารผ่านสัญลักษณ์เพื่อตอบโต้กับผู้กดขี่ เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่แค่ศาสนา/ความเชื่อแต่เป็นสื่อในการแสดงออกตามบริบทของความสัมพันธ์ของผู้คน

ความหมายของความเชื่อและพิธีกรรม

ความเชื่อ ความคิด อุดมการณ์ ศาสนา ไสยศาสตร์  อำนาจศักดิ์สิทธิ์ ตำนาน นิทาน ปรัมปรา รวมทั้งวาทกรรมและความรู้ ลึกลงไปกว่านั้นคือสัญลักษณ์ รูปสัญลักษณ์ การสร้างตัวตนและอัตลักษณ์ การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ปฏิบัติการ พิธีกรรม การแสดง (performance) กระบวนการเคลื่อนไหว กลยุทธ์ พื้นที่ของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ การต่อสู้เพื่อแย่งชิงความหมาย

พื้นที่พิธีกรรมในฐานะกระบวนการเปลี่ยนผ่าน

เดิมทีนักมานุษยวิทยามอง “พื้นที่” เป็นเพียงพื้นที่ทางความคิด แต่ Victor Turner มองว่าพื้นที่เป็นทั้งพื้นที่ทางความคิดและพื้นที่ทางความสัมพันธ์ และเสนอในหนังสือ The Ritual Process: Structure and Anti-Structure (1969) ให้ก้าวข้ามคู่ตรงข้ามทางโครงสร้างอำนาจ ในสภาวะปกติผู้คนจะสวมหัวโขนอยู่ใต้โครงสร้างอำนาจ แต่พื้นที่พิธีกรรมเป็นกระบวนการเปลี่ยนผ่านจากอำนาจทางการ ที่ผู้คนอยู่“ระหว่างการใส่หัวโขนและถอดหัวโขน” (structure and anti-structure) เช่น ในการบวช เมื่อเป็นพระคือการใส่หัวโขนของการเป็นพระ แต่ก่อนเปลี่ยนเป็นพระในขณะที่เป็นนาคจะอยู่ในสภาวะอยู่ระหว่าง (in-between) หรือลูกผีลูกคน (liminality) เช่นเดียวกันในกรณีก่อนเป็นสามี-ภรรยาก็จะมีสภาวะอยู่ระหว่างเมื่อเป็นเจ้าบ่าว-เจ้าสาว เป็นสภาวะที่ก้ำกึ่งปลอดจากอำนาจควบคุม ดังนั้นพื้นที่ทางพิธีกรรมจึงเป็นพื้นที่ที่อยู่เหนือการควบคุม ไร้การกำกับ

รัฐบาล/ผู้มีอำนาจจึงมักจะกลัวคนที่อยู่ในสภาวะ in-between หรือ liminality เพราะเป็นสภาวะที่ไม่สามารถควบคุมได้ จึงมักจะใส่หัวโขนให้ผู้คนเพื่อควบคุมให้อยู่ในโครงสร้างอำนาจ และพื้นที่ทางพิธีกรรมจึงเป็นพื้นที่ของกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เช่น กระบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามเวียดนามในยุค 1960 – 1970 ของกลุ่มฮิปปีที่มักจะปฏิบัติตัวตรงข้ามกับอำนาจทางการ เป็นต้น

ในหนังสือเจ้าที่และผีปู่ย่า : พลวัตของความรู้ชาวบ้าน อำนาจ และตัวตนของคนท้องถิ่น (2555) ของอานันท์ กาญจพันธุ์ ได้อธิบายว่าความเชื่อและพิธีกรรมถือเป็นอำนาจศักดิ์สิทธิ์รวมถึงเป็นพื้นที่นอกการควบคุมของอำนาจทางการ เป็นพื้นที่ช่วงชิงความรู้ ความเชื่อ และวาทกรรม รวมไปถึงมีอำนาจครอบงำ การพยายามที่จะต่อต้านโดยการสร้างตัวตน พิธีกรรมช่วยให้รู้ว่าในสภาวะดังกล่าวควรจะปฏิบัติอย่างไร

 

อ่านพิธีกรรมและความเชื่อในประวัติศาสตร์ล้านนายุคก่อนและหลังถูกผนวกรวมเข้ามาอยู่ในรัฐไทย

จากเอกสารชั้นต้นในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ จะเห็นว่ามีการใช้ความเชื่อทางศาสนามาใช้อ้างเพื่อช่วงชิงอำนาจทางการเมือง  ในข้อมูลประวัติศาสตร์ท้องถิ่นโดยเฉพาะตำนานเมืองก็เผยให้เห็นทั้งประวัติศาสตร์พิธีกรรมและความเชื่อ จากหนังสือประชุมตำนานล้านนาไทย ของสงวน โชติสุขรัตน์ ได้มีการพูดถึงตำนานราชวงศ์ปกรณ์ทำให้ทราบถึงพิธีขึ้นครองราชย์ของเจ้าเมืองเชียงใหม่ ที่ต้องให้ลัวะ (หรือกลุ่มคนพื้นที่ดั้งเดิม) จูงหมานำหน้าเข้าวังเพื่อเป็นการต่อรองให้ความสำคัญกับคนที่อยู่มาก่อนในฐานะเข้าที่  หรือในจารึกสัญญาไมตรีระหว่างน่านกับสุโขทัย ทำให้เห็นว่าการทำสัญญาพันธไมตรีก็เป็นพิธีกรรมจะเห็นได้จากการอ้างผีป่าผีเขาต่าง ๆ เป็นพยานสาปแช่งหากผิดสัญญา 

ในคติท้องถิ่นกรณีการเคลื่อนไหวของครูบาศรีวิชัยที่ผ่านขั้นตอนของการยกระดับความเชื่อจนถูกเคารพรักเป็นตนบุญ ครูบาศรีวิชัยจึงกล้าต่อต้านคณะสงฆ์จากกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการต่อสู้เพื่อความเป็นอิสระของจารีตท้องถิ่นของสงฆ์แบบล้านนาตามคติท้องถิ่นเกี่ยวกับตนบุญ พิธีกรรม/ความเชื่อเหล่านี้เสริมพลังศรัทธาให้กลายเป็นพลังท้องถิ่นในการพัฒนาด้านต่าง ๆ เป็นพื้นที่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ การต่อสู้ช่วงชิงความหมาย

หลังล้านนาถูกผนวกเข้าเป็นสยามได้มีกบฏสามัญชนเกิดขึ้นหลายครั้ง ด้วยความเชื่อตนบุญและคติท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น กบฏพญาผาบ (2432) กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ (2445) และกบฏอื่น ๆ ที่ฝาง จะเห็นว่าความเชื่อเรื่องตนบุญไม่ได้มีแค่ในพระ ตนบุญเป็นได้ทั้งพระและสามัญชน ซึ่งตัวอย่างนี้ทำให้เห็นว่ามีการใช้พิธีกรรม/ความเชื่อมาเป็นกระบวนการหนึ่งของการเคลื่อนไหวของประวัติศาสตร์ในช่วงของการเปลี่ยนแปลง

รวมไปถึงหลังเชียงใหม่ถูกเปลี่ยนเป็นจังหวัด ในปี 2476 รัฐบาลสยามได้มีการยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมืองและสั่งห้ามไหว้ผีเมือง เมื่อเกิดโรคห่าชาวบ้านจึงใช้ข้ออ้างนี้ในการสร้างอำนาจต่อรองให้ไหว้ผีเมืองเพื่อแก้ปัญหาโรคห่า จะเห็นว่าพิธีกรรมเป็นสิ่งที่ผู้คนนำมาใช้เป็นเครื่องมือต่อรองทางอำนาจด้วย

 

อ่านอนาคตคน (สังคม) ไทย จากความเชื่อและพิธีกรรม

จากแนวคิด ทฤษฎี และตัวอย่างที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าในช่วงของการเปลี่ยนแปลงความเชื่อและพิธีกรรมต่าง ๆ คือการช่วงชิงทิศทางการเปลี่ยนแปลงของคนต่างรุ่นและต่างกลุ่มทางสังคม เพราะสังคมที่แตกต่างหลากหลายจึงมักมีความขัดแย้ง/ปะทะทางความเชื่ออยู่ตลอด กลุ่มคนที่ไร้อำนาจจึงใช้การต่อสู้เชิงวัฒนธรรม ผ่านการต่อสู้เชิงวาทกรรมและเชิงสัญลักษณ์

Joshua Landy ได้เสนอในหนังสือ The Re-Enchantment of the World: Secular Magic in a Rational Age (2004) ว่าการฟื้นกลับมาของความหลงใหลในความเชื่อปัจจุบันเป็นกลยุทธ์ที่หลากหลายของเหตุผลสามัญทางโลก ในยุคที่มีเหตุมีผลอย่างมากแท้จริงแล้วก็เป็นเรื่องไสยศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเหตุผลทางโลกสามัญ จะเห็นว่าความเป็นสังคมสมัยใหม่ได้สร้างทางเลือกที่หลากหลายของความเป็นไปได้ การใช้ไสยศาสตร์อาจใช้เพื่อการถกเถียงหรือต่อสู้เชิงสัญลักษณ์บางอย่าง

นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้อธิบายว่าการเคลื่อนไหวแบบตนบุญในอดีต โดยเฉพาะการแยกชุมชนออกจากสังคมโดยรวมคือ “วัตรวิถีนอกรัฐ” ซึ่งรัฐจะพยายามปราบปรามความเชื่อเหล่านี้เพราะเห็นว่าความเชื่อเหล่านี้มีนัยของการต่อต้านรัฐ

นอกจากนี้ยังมีกรณีตัวอย่างอื่นๆ เช่น การไล่ผีแม่หม้ายของคนอีสานในช่วงที่คนงานไทยในสิงคโปร์ไหลตาย การช่วงชิงพื้นที่วัฒนธรรมการเมืองอัตลักษณ์ของคนท้องถิ่น “วาทกรรมตึกผีสิง” ที่มีตึกสูงในเชียงใหม่ที่สร้างไม่เสร็จ การบวชต้นไม้ของกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง การต่อสู้ของแรงงานข้ามชาติ ที่คนไร้อำนาจพยายามสื่อถึงผู้มีอำนาจว่ากำลังพัฒนาผิดทิศทางหรือไม่ หรือสื่อสารถึงความเท่าเทียมกันในฐานะของความเป็นมนุษย์ ซึ่งเรียกปฏิบัติการในการต่อสู้ของคนไร้อำนาจเหล่านี้ว่า “อาวุธของผู้อ่อนแอ” (Weapons of the Weak) เป็นการต่อสู้ในชีวิตประจำวันผ่านความเชื่อและพิธีกรรมในฐานะของวาทกรรมและความหมายแอบแฝง

ดังนั้น ความเชื่อและพิธีกรรมก็เป็นพื้นที่ของการต่อสู้และช่วงชิงทิศทางของการเปลี่ยนแปลงสังคมของกลุ่มคนต่าง ๆ ทั้งโลกออนไลน์และออฟไลน์ เป็นส่วนหนึ่งของการเมืองความหวัง ต้องลุกขึ้นต่อสู้และเรียกร้อง สิทธิและอัตลักษณ์ของพวกเขามากขึ้นเพื่อไม่ให้ต้องกลายเป็นมนุษย์ล่องหนหรือถูกมองข้ามความเป็นคน ภายใต้เงื่อนไขที่เป็นกับดักสำคัญสังคมไทยยังยึดติดอยู่กับอำนาจนิยม ไร้ความเป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำขยายกว้างมากขึ้น

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net