Skip to main content
sharethis

สปสช. หนุนผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายบำบัดทดแทนไตด้วย “เครื่องล้างไตทางช่องท้องอัตโนมัติ” ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแล เหตุล้างไตเพียงวันละ 1 ครั้ง แถมทำในช่วงกลางคืนขณะนอนหลับได้ พร้อมเสนอกองทุนรักษาพยาบาลอื่น เพิ่มเป็นสิทธิประโยชน์ทางเลือกเพื่อผู้ป่วย

22 พ.ค.2566 ฝ่ายสื่อสาร สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รายงานว่านพ.ชุติเดช ตาบ-องครักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สปสช. เขต 4 สระบุรี กล่าวถึงสถานการณ์ไตวายเรื้อรังในไทยในปัจจุบันที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากข้อมูลโดยสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย พบว่าคนไทยป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรัง ประมาณร้อยละ 17.6 ของคนไทยที่ป่วยเป็นโรคไตทั้งหมด หรือราว8 ล้านคน และในจำนวนนี้มี 80,000 คน ที่เป็นผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย และมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี ล่าสุดปี 2565 พบว่า 1 ใน 25 ของผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง กลายเป็นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังรายใหม่ ทำให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้พยายามผลักดันบริการส่งเสริมสุขภาพเพื่อลดผู้ป่วยรายใหม่ผ่านนโยบาย ‘ทศวรรษของการชะลอโรคไต’

ในส่วนของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ต้องทำการบำบัดทดแทนไตนั้น ปัจจุบันระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง30 บาท มี 4 รูปแบบ คือ1. การล้างไตทางการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (HD) 2. การล้างไตทางหน้าท้อง แบบผู้ป่วยทำเอง (CAPD) ซึ่งจะมีรอบการล้างเฉลี่ย 3-4 รอบต่อวัน 3. การล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องล้างไตทางช่องท้องแบบอัตโนมัติ (APD) และ 4.การปลูกถ่ายไตซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุด แต่สามารถปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยได้เพียง 600 รายต่อปี ที่ผ่านมาผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีฟอกเลือดและการล้างไตผ่านทางหน้าท้อง

นพ.ชุติเดช กล่าวว่าการล้างไตผ่านช่องท้องด้วยเครื่อง APD เป็นวิธีใหม่ในระบบที่ สปสช.มีนโยบายส่งเสริมให้ผู้ป่วยใช้เครื่อง APD เพื่อเพิ่มความสะดวกในการใช้ชีวิตให้กับผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วย ซึ่งเครื่อง APD นี้เป็นการใช้ ‘กำลังของเครื่อง’ แทน ‘กำลังของคน’ ในการดันน้ำยาเข้าไปในช่องท้องของผู้ป่วย เพื่อแลกเปลี่ยนน้ำยาล้างไตกับของเสียจากร่างกายได้อย่างอัตโนมัติ ใช้เวลา 8-10 ชั่วโมงต่อครั้ง ทำให้ระบายของเสียได้มากและยังทำช่วงกลางคืนขณะนอนหลับเพื่อความสะดวกและยังทำเพียง 1 ครั้งต่อวันทำให้ผู้ป่วยออกไปใช้ชีวิตในช่วงเวลากลางวันได้อย่างปกติ แต่ผู้ป่วยและผู้ดูแลต้องทำความเข้าใจในการใช้และความเหมาะสมด้วย

“เกณฑ์การวัดความเหมาะสม อายุรแพทย์โรคไตจะเป็นผู้ประเมิน หากคนไข้มีกิจกรรมต้องทำช่วงกลางวัน เช่น เรียนหนังสือหรือทำงานช่วงกลางวัน รวมถึงที่ผู้ป่วยวัยทำงานที่เตรียมปลูกถ่ายไต คนไข้เหล่านี้จะเหมาะต่อการใช้เครื่อง APD แต่สิ่งสำคัญคือ ผู้ป่วยและผู้ดูแลต้องเข้ารับการอบรมวิธีการใช้เครื่องก่อน เพื่อใช้เครื่องได้อย่างถูกวิธี”

นพ.ชุติเดช กล่าวว่าส่วนอัตราการรอดชีวิต จากข้อมูล สปสช. อัตราการรอดชีวิตภายใน 10 ปี ของแต่ละวิธีการบำบัดทดแทนไตพบว่า หากเปรียบเทียบระหว่างวิธีการฟอกเลือดและล้างไตผ่านทางหน้าท้อง อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยกลุ่มนี้ต่างกันเล็กน้อย ซึ่งไม่มีความต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ แต่การใช้เครื่อง APD จะทำให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีกว่าวิธีอื่น รวมถึงความพอใจในการรักษา APD จะมีมากกว่า CAPD เนื่องจากมีความสะดวกสบายมากกว่า ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตนเองไม่เป็นภาระกับครอบครัว นอกจากนี้ยังช่วยลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ได้บ้าง กรณีที่เปรียบเทียบกับการฟอกเลือด แต่หากเป็นวิธีล้างไตผ่านหน้าท้องแบบ CAPD และ APD จะไม่มีผลต่อภาระงานเจ้าหน้าที่มากนักเพราะทำโดยผู้ป่วยหรือผู้ดูแลได้เอง

“การจะเลือกบำบัดทดแทนไตแบบใด สิ่งที่อยากเห็นคือ การตัดสินใจร่วมกันระหว่างแพทย์ พยาบาลผู้ป่วย และญาติผู้ป่วย โดยมีการให้ข้อมูลเพียงพอต่อการตัดสินใจ และเมื่อได้เลือกวิธีบำบัดทดแทนไตแล้ว สิ่งที่อยากเห็นคือ ผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง เช่น การฟอกเลือดที่ไม่ต้องรอคิวนาน หากใช้เครื่อง APD ก็ต้องเข้าถึงบริการได้อย่างสะดวก และมีเครื่องเพียงพอ ซึ่งปัจจุบันสามารถมั่นใจได้ว่า มีเครื่อง APD เตรียมพร้อมไว้สำหรับในปีหน้าแล้ว สิ่งสำคัญคือ ผู้ป่วยที่ต้องล้างไตทางช่องท้องจะต้องมีทีมงานที่ไปเยี่ยมบ้านและดูแลอย่างต่อเนื่อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net