Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ส.ศิวรักษ์ ปัจจุบันอายุ 90 ปีแล้ว เพิ่งพูดคำคมเมื่อคราวครบรอบอายุเก้าสิบปีไม่นานนี้ว่า      “ทุกคนต้องพร้อมที่จะถูกประวัติศาสตร์ลืม!!” เหตุผลก็เพราะประวัติศาสตร์เป็นหน้ากระดาษของเวลาที่พลิกไปเรื่อย ๆ ตามระยะเวลา เสียงของมันดัง “ติ๊กต็อกๆๆๆ ไม่เคยหยุด” !! 

ตามทัศนะของคูเซลเล็ค (Kosellece) ประวัติศาสตร์มีสองส่วน ส่วนหนึ่ง คือ เหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้นจริงในแต่ละวันแต่ละวินาที อีกส่วนหนึ่ง คือ ส่วนที่คนนำมาจดบันทึก ประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริงแต่ละวันมีอยู่มากมายมหาศาล ไม่มีใครสามารถนำเอามาจดจารได้หมด ดังนั้น ประวัติศาสตร์ที่คนเอามาเขียนจึงเป็นส่วนที่คนนั้นคิดว่าสำคัญ การเขียนประวัติศาสตร์จึงเป็นศิลปะของการร้อยเรียงเรื่องราวของนักประวัติศาสตร์นิพนธ์ ในเวลาเดียวกัน ก็เต็มไปด้วยอคติของคนเขียน!! 

คูเซลเล็คอธิบายว่า ประวัติศาสตร์ช่วยบอกเล่า “ประสบการณ์” และในเวลาเดียวกันประวัติศาสตร์ทำให้เกิด “ความคาดหวัง” ช่องว่างตรงกลางระหว่างประสบการณ์ในอดีตกับความคาดหวังในอนาคตนั่นแหละ คือ แรงขับของมนุษย์แต่ละยุค 

ฟูโกต์มีความเห็นสอดคล้องกันตรงที่ว่า “การรู้ประวัติศาสตร์ไม่มีประโยชน์ ถ้ามนุษย์ไม่สามารถนำประวัติศาสตร์มารับใช้ชีวิตได้” เขาแบ่งวิธีการเขียนประวัติศาสตร์ออกเป็นสามแบบ แบบแรก คือ แบบโบราณคดี แบบที่สอง แบบอนุสาวรีย์ และแบบที่สาม แบบวิพากษ์ การเขียนประวัติศาสตร์แบบโบราณคดีเป็นการเน้นการยกย่องเรื่องราวในอดีต ไม่บอกว่าจะเอามารับใช้ปัจจุบันอย่างไร มีปัญหาตรงที่บางทีก็ยกย่องเกินจริง ส่วนแบบที่สองแบบอนุสาวรีย์ เรายกย่องคนที่เราคิดว่าเป็นแบบอย่าง เหมือนการสร้างอนุสาวรีย์ยกย่องคน แต่มีปัญหาที่เราพูดถึงแต่ด้านดีของเขา ไม่พูดอีกด้านที่ตรงกันข้าม และกลบเกลื่อนความเป็นมนุษย์ เช่น ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาของเขา การเขียนประวัติศาสตร์แบบนี้ยังกำกวมอยู่ว่ารับใช้อดีตหรืออนาคต เพราะพูดถึงแบบอย่างที่ควรนำไปปฏิบัติในอนาคตด้วย แต่ก็พูดเพียงว่าต้องทำอย่างคนที่เราสร้างอนุสาวรีย์ให้ โดยไม่มีทางเลือกอย่างอื่น ทั้งที่บางทีก็พ้นสมัย และแบบที่สาม แบบวิพากษ์ การเขียนแบบนี้เพื่อชี้ให้เห็นว่าอันที่จริงอดีตก็ผิด เพราะประวัติศาสตร์ของมนุษย์ต้องมีความเป็นมนุษย์ มีทั้งความผิดและความถูก และการที่เขาทำอย่างนั้นในอดีต ก็ใช่ว่าเขาคิดดีเสียเมื่อไหร่ ฟูโกต์ยกตัวอย่างสมัยโบราณใช้วิธีตัดหัวนักโทษแล้วเสียบประจาน เพื่อให้คนอื่นกลัว ต่อมา เลิกวิธีทำโทษแบบนี้ ถ้าเป็นคนทั่วไปจะอธิบายว่าเป็นเพราะคนเรามี “มนุษยธรรม” มากขึ้น ซึ่งมองอดีตในแง่ดี แต่ฟูโกต์ บอก “ไม่ใช่” สังคมเกิดการเรียนรู้วิธีการควบคุมคนใหม่ที่แยบยลกว่าเดิม แทนที่จะคุมที่ “ร่างกาย” เปลี่ยนมาคุมที่ “ความคิด” สิ่งที่สังคมเรียนรู้ใหม่ คือ การตัดหัวเสียบประจาน มันไม่ได้ผล เมื่อประชาชนคุ้นชิน ก็ไม่กลัว แต่สิ่งที่สังคมเริ่มเรียนรู้ คือ อำนาจวินัย (disciplinary power) อำนาจวินัยนี้นุ่มนวลกว่า ค่อย ๆ ฝังลงในหัวคน จนเขากลายเป็นคนว่านอนสอนง่าย รัฐสร้างแบบอย่างขึ้นมา เพื่อให้เห็นว่าคนควรกระทำอย่างนี้นะ อันนี้ทำให้อำนาจวินัยกลายเป็นศีลธรรม เมื่อคนเชื่อเขาก็ทำตาม 

ที่น่าทึ่งมาก ตรงที่ฟูโกต์ศึกษา พบว่า “อำนาจวินัย” มีจุดเริ่มต้นจากคุกขังคน วิธีการ คือ สร้างคุกให้มองเห็นกัน แล้วมีป้อมยามสูง ๆ คอยมองเป็นระยะ ๆ ในที่สุด นักโทษก็เรียนรู้ว่า “มีคนจับตาดูอยู่” กลายเป็น “อำนาจของการสอดแนม” เขาจึงระวังตัว แม้ว่าเวลานั้นจะไม่มีผู้คุมคนใดมองเขาเลยจากแม่แบบ “อำนาจวินัย” ของคุกขังคน สังคมขยายผลไปสู่การสร้างระเบียบวินัย ณ ที่อื่น ๆ เช่น ในโรงเรียน ระบบราชการ หรือแม้แต่ศาล ดังนั้น ฟูโกต์ จึงใช้คำว่า “การทำสังคมให้เป็นคุก” ความหมายของเขา คือ รัฐฉลาดรู้จักสร้างวินัยกับคน มุ่งควบคุมความคิด อันเป็นการป้องกันล่วงหน้าและกระทำในระยะยาว เขาแบ่งออกเป็นสองส่วน ได้แก่ หลักตรรกะของยุทธศาสตร์กับกลไกการควบคุม เช่น หลักของโรงเรียน คือ พฤติกรรมของนักเรียนที่ต้องการกับที่ไม่ต้องการ กลไกการควบคุมก็อย่างเช่นแบ่งนักเรียนเป็นห้อง มีครูประจำชั้นคอยดูแล มีครูเวรและอาจารย์ใหญ่ออกตรวจ ฯลฯ 

หมายเหตุ แต่ “อำนาจวินัย” นี้ คงไม่อาจสร้างด้วยวิธีง่าย ๆ อย่างที่เราคิดกัน เช่น ออกแบบหลักสูตรให้เรียนประวัติศาสตร์มากขึ้น และใช้วิชาประวัติศาสตร์เป็นเนื้อหาออกข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัย เนื่องจากเป็นการเรียนประวัติศาสตร์แบบอนุสาวรีย์ มากกว่าที่จะให้คนคิดได้เอง ซึ่งยิ่งทำให้คนเรียนต่อต้านแม้ว่าจะเกิดขึ้นในใจ เพราะบอกไม่ได้ว่า “เขาจะเรียนไปทำไม และเอาไปใช้อย่างไร?” เขาก็คงใช้เป็นเพียงเครื่องมือจดจำเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยแล้วก็ทิ้งมันไป มิได้เกิดความซาบซึ้งอะไร!! ประเด็น “ปริมาณ” กับ “คุณภาพ” จึงเป็นประเด็นสำคัญต่อการสร้างอำนาจวินัยด้วย ดังจะกล่าวต่อไป

ย้อนมาดู ส.ศิวรักษ์ คำพูดที่ว่า “ทุกคนต้องพร้อมที่จะถูกประวัติศาสตร์ลืม” มีความหมายที่ลึกซึ้ง นอกจากเราทุกคนต้องพร้อมจะยกบทบาทให้กับคนรุ่นใหม่ ๆ ที่ก้าวขึ้นมาแล้ว มนุษย์ต้องไม่ใช้ประวัติศาสตร์เพื่อการยกยอปอปั้นเกินจริง อีกทั้งต้องนำมารับใช้ปัจจุบัน มิใช่ให้คนหวนกลับไปหาอดีต ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้ และข้อสำคัญต้องไม่กระทำการใด “ลวก ๆ สุกเอาเผากิน” คำกล่าวของ ส.ศิวรักษ์ข้างต้น บางทีอาจทำให้เราต้องหันมาทบทวนแก่นแท้ของความเป็นตัวตนของตนเอง

ในหนังสือ ชื่อ “Religion and Development” ฉบับภาษาอังกฤษ หน้า 12-13 ส.ศิวรักษ์ พูดถึง “คุณภาพ” สำคัญกว่า “ปริมาณ” แต่ก็พูดถึงปัญหาของคุณภาพว่ามันทำยาก คนจึงคิดแต่จะทำอย่าง ลวก ๆ เพราะทำได้ง่ายกว่า

“The problem in qualitative development lies in the difficulty of identifying and measuring qualitative results. Planners on the whole, whether in the East or the West, do not want to take the time to study the complicated problems having to do with ultimate goals of humanity. They excuse themselves by saying it is a problem of metaphysics or religion, as though ultimate goals are beyond the ability of common people to discuss or understand. Philosophers and theologians or religious leaders are not without fault in this as they do not give sufficient attention to using language that common people can understand, or they show obvious disdain for non-religious people, while at the same time they evidence little interest in development plans of experts in other fields. They simply occupy themselves with things that have little to do with the life and death matters of people. They spend their time on trivia and on the outward form of religion, emphasizing this or that aspect of theology or of ceremony, and some even turn their religion into a business.”

ถอดความได้ทำนองว่า “ปัญหาการพัฒนาคุณภาพที่อยู่ความยากของการระบุและวัดผลลัพธ์ทางคุณภาพ นักวางแผนทั้งหลาย ไม่ว่าตะวันออกหรือตะวันตก ไม่ต้องการเสียเวลามาศึกษาปัญหาที่ซับซ้อนเพื่อการบรรลุเป้าหมายสูงสุดของความเป็นมนุษย์ เขาโทษว่าเป็นปัญหาอภิปรัชญาหรือศาสนา เพราะเป้าหมายสูงสุดของความเป็นมนุษย์อยู่เกินกว่าที่คนธรรมดาจะพูดคุยหรือทำความเข้าใจนักปรัชญาหรือผู้นำทางเทววิทยาหรือศาสนา ไม่ใช่ไม่ผิด ที่เขาไม่สนใจการใช้ภาษาที่ให้คนธรรมดาเข้าใจ หรือเขาแสดงออกชัดว่าดูหมิ่นคนไม่นับถือศาสนา ขณะที่มีหลักฐานน้อยมากที่เขาสนใจการวางแผนพัฒนาของผู้เชี่ยวชาญในสาขาอื่น เขามุ่งไปที่บางสิ่งบางอย่างที่ไม่ใช่เรื่องสำคัญของมนุษย์    เขาใช้เวลาไปกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ และมิใช่อยู่ในรูปแบบของศาสนา เน้นสิ่งนี้หรือสิ่งนั้นที่เป็นลักษณะของเทววิทยาหรือพิธีกรรม หรือแม้แต่บางครั้ง เปลี่ยนศาสนาไปเป็นธุรกิจ”

สรุป จากคำอธิบายของ ส.ศิวรักษ์ ระบุว่าแก่นแท้ของ “ศาสนา” เป็นการพัฒนาคุณภาพ ซึ่งย่อมรวมถึงศาสนาพุทธที่ ส.ศิวรักษ์ ประกาศว่าตนนับถืออย่างไม่ต้องสงสัย ผู้เขียนยกขึ้นมาเพื่อตั้งเป็นข้อสังเกตว่า สังคมพุทธเราควรหันกลับมาสนใจ “คุณภาพ” กันดีไหม?? ถึงแม้ว่ายาก ก็ยังดีกว่าการสนใจเรื่องเล็กน้อยและเรื่องที่มิใช่อยู่ในรูปแบบของศาสนาอย่างที่ ส.ศิวรักษ์ เสนอ นอกจากนั้น อาจต้องทบทวนวิธีการสร้าง “อำนาจวินัย” ของกระทรวงศึกษาธิการ ให้สอดคล้องกับ “สิทธิเสรีภาพ” และ “สิทธิมนุษยชน” เพื่อเปลี่ยนมาเป็น “อำนาจวินัยในเชิงคุณภาพ” ที่ผู้เรียนจะนำไปใช้ในชีวิตจริงของเขาด้วยหรือไม่?? ที่แน่ ๆ คือ คงมิใช่เพิ่มวิชาประวัติศาสตร์ อันเป็นวิธีการเชิงปริมาณอย่างเดียว!!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net