Skip to main content
sharethis

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (23 พ.ค.) วุฒิสภาลงมติ 138 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 'สถาพร วิสาพรหม' ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.

เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2566 ว่าที่ประชุมวุฒิสภา ได้พิจารณาเรื่องด่วน ให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (กรรมการ ป.ป.ช.) โดย พลเอก อู้ด เบื้องบน ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า กมธ.ได้ทำการตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและจริยธรรมของนายสถาพร วิสาพรหม รองประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง กรรมการ ป.ป.ช. แทนนายณรงค์ รัฐอมฤต กรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากครบวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี รวมทั้งรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเรียบร้อยแล้วและได้เสนอรายงานเพื่อให้สมาชิกวุฒิสภาได้พิจารณาเป็นการล่วงหน้าแล้ว พร้อมขอให้มีการประชุมลับ เพื่อพิจารณารายงานลับของ กมธ.ที่เสนอต่อที่ประชุม

ภายหลังการประชุมลับ เพื่อพิจารณารายงานที่ กมธ.เสนอ และออกเสียงด้วยวิธีลงคะแนนลับ ที่ประชุมวุฒิสภา มีมติเห็นชอบ 41 เสียง ไม่เห็นชอบ 138 เสียง และงดออกเสียง 27 เสียง ทั้งนี้จากผลการออกเสียงลงคะแนนดังกล่าวจึงถือว่า นายสถาพร วิสาพรหม ไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา เนื่องจากได้รับคะแนนเสียงน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของวุฒิสภา คือ น้อยกว่า 125 เสียง จึงเป็นผู้ไม่ได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.

สำนักข่าวอิศรา รายงานเพิ่มเติมว่าก่อนการลงมติของที่ประชุมวุฒิสภา มีการประชุมลับ และพิจารณารายงานตรวจสอบของคณะกรรมาธิการสามัญ (กมธ.) เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม ซึ่งพบว่ามีการตั้งข้อสังเกตใน 3 ประเด็นคือ  

1.คุณสมบัติของนายสถาพร ที่ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  (ป.ป.ช.)  มาตรา 9(1) ที่กำหนดให้ต้องรับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีผู้พิพากษาไม่น้อยกว่า 5 ปี  แต่ปัจจุบัน นายสถาพร เป็นรองประธานศาลอุทธณ์คดีชำนัญพิเศษ และก่อนหน้านั้นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลอุทธรณ์ในคดีชำนัญพิเศษ ไม่เคยดำรงตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลใดมาก่อน จึงไม่มีคุณสมบัติตามกฎหมาย

ส่วนข้อสังเกตข้อ 2. และ 3. เป็นเรื่องจริยธรรม และการปฏิบัติหน้าที่ช่วงดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิพากษา 

ภายหลังการประชุมลับ และมีการอภิปรายโดยใช้เวลานานเกือบ 2 ชั่วโมง ก่อนที่จะมีการลงคะแนนเสียง และประกาศผลว่าที่ประชุมเสียงข้างมาก  138 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบให้นายสถาพร วิสาพรหม ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. ทำให้สรรหากรรมการ ป.ป.ช.ต้องกลับไปเริ่มต้นกระบวนการสสรหาใหม่ 

สำหรับการเสนอชื่อ นายสถาพร วิสาพรหม เป็นกรรมการ ป.ป.ช. นั้น  เป็นการสรรหาบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แทน พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ กรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากมีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ และนายณรงค์ รัฐอมฤต กรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งจะพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากครบวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี ตามมาตรา 9 มาตรา 10 และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 

โดยก่อนหน้านี้  นายสถาพร วิสาพรหม อายุ 58 รองประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ (แผนกคดีล้มละลาย) ได้ 6 คะแนน ได้รับการสรรหารให้เป็นกรรมการ ป.ป.ช.คนใหม่ และมีการเสนอชื่อให้วุฒิสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบตามขั้นตอน

สำหรับ นายพศวัจณ์ กนกนาก อดีตประธานศาลอุทธรณ์ ที่ก่อนหน้านี้ ได้รับคะแนนเสียง 7:1:1 คะแนน ผ่านการสรรหารให้เป็นกรรมการ ป.ป.ช.คนใหม่ โดยเป็นการลงคะแนนเสียงรอบเดียวผ่าน นั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net