Skip to main content
sharethis

กระแสลมก่อตัวเลือกตั้ง 62 และโพล รวมทั้งบางแสนแตกก่อนเลือกตั้งอีก 1 สัญญาณ อ่านผลเลือกตั้งภาพสะท้อนการเมืองแบบอุปถัมภ์ไปสู่เครือข่ายแบบใหม่ นักวิชาการแนะอนาคต 'บ้านใหญ่' พัฒนาเชิงนโยบายในส่วนภูมิภาค ต่อรองกับรัฐบาลกลาง

ผลการเลือกตั้ง 2566 อย่างไม่เป็นทางการของ ส.ส. แบบแบ่งเขต ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ก้าวไกลกวาด 7 ที่นั่งจากทั้งหมด 10 ที่นั่ง โดยพลังประชารัฐ , เพื่อไทย และรวมไทยสร้างชาติ แบ่งไปพรรคละ 1 ที่นั่ง ในส่วนของคะแนน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ก้าวไกลนำทุกเขต

ภาพกราฟิกผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ แบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ : https://election66.thaipbs.or.th/result/geo/areas/2007

ย้อนกลับไปในช่วงก่อนการเลือกตั้ง บ้านใหญ่ (ตระกูลคุณปลื้ม) ตามคำเรียกของสื่อและนักวิเคราะห์ทางการเมืองที่เรียกงกลุ่มผู้มีอิทธิพลและชนะเลือกตั้งในพื้นที่มาอยากยาวนาน ตัดสินใจย้ายจากพรรคพลังประชารัฐ กลับมาพรรคเพื่อไทย ในวันที่ 21 ม.ค. 2566 โดยสนธยา คุณปลื้ม แกนนำบ้านใหญ่ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน 18 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า เชื่อว่าผลงานของทีมชลบุรีและผลงานของพรรคเพื่อไทย นับตั้งแต่พรรคไทยรักไทย พลังประชาชน มาจนถึงพรรคเพื่อไทย ทีมชลบุรีก็เคยทำงานร่วมกันตั้งแต่ปี 2548 ก็เห็นกันแล้วว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีผลงานที่จับต้องได้และมีความคืบหน้าที่ชัดเจน

สิ่งที่กล่าวข้างต้นถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มั่นใจว่า การขับเคลื่อนงานการเมืองและนโยบายใหม่ของพรรคที่หาเสียงไว้ ประกอบกับแรงขับเคลื่อนของหัวหน้าพรรค และแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัว รวมถึงผู้สมัครทั้ง 10 คนของ ข.ชลบุรี ซึ่งได้รับการคัดเลือกมาแล้วจะเป็นผู้ถือธงและขับเคลื่อนนโยบายพรรคที่ชลบุรี จนทำให้มั่นใจได้ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้พรรคเพื่อไทยจะได้รับการเลือกตั้งยกจังหวัดแบบแลนสไลด์

ภาพ สนธยา ทีมชลบุรีกลับเพื่อไทย 8 ก.พ.2566 

ต่อคำถามที่ว่า 'บ้านใหม่' ชลบุรีของสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติถือว่าน่ากลัวหรือไม่นั้น สนธยาระบุว่า คู่แข่งก็คือคู่แข่ง ก็ถือว่า การเลือกตั้งอยู่ที่ประชาชน และประชาชนจะเป็นผู้เลือกว่าใครจะเป็นผู้แทนเข้าไปทำหน้าที่ ซึ่งการเลือกใครสักคนมีหลายปัจจัย ไม่ได้ดูแต่เพียงหัวโขนหรือหน้าตาหรือสิ่งที่เป็นนิทานเรื่องเล่าต่างๆ ประชาชนดูความจริงใจและจับตาดูสิ่งที่ทำให้เห็นว่า เป็นของจริงหรือภาพลวงตา ทางพรรคเพื่อไทยมั่นใจว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะสู้เต็มที่ เพราะมีพร้อมทั้งนโยบายและตัวผู้สมัคร

ขณะที่ 'บ้านใหม่' ตามคำเรียกของสื่อมวลชนที่เรียกกลุ่มผู้ที่มาจากเครือข่ายผู้มีอิทธิพลเดิมและได้ร่วมรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่าง สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงงาน ซึ่งลาออกจาก ส.ส. จ.ชลบุรี เขต 1 พร้อมย้ายจากพรรคพลังประชารัฐ ตาม พล.อ.ประยุทธ์ไปพรรครวมไทยสร้างชาติ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา พร้อมให้สัมภาษณ์ว่ายืรยันว่าทีมงานของตน พึ่งได้หากเชื่อมั่นก็ต้องช่วยกัน แต่สุชาติ ยืนยันว่าคำว่า “บ้านใหญ่” หรือ “บ้านใหม่” ไม่มีแล้ว มีแต่ประชาชนจับต้องได้ และเชื่อว่าประชาชนจะตัดสินใจได้

มองกระแสลมที่ก่อตัวผ่านเลือกตั้ง 62 และโพล

ผลการเลือกตั้ง จ.ชลบุรี ปี 62 ภาพกราฟิกจากวิกิพีเดีย

ก่อนการเลือกตั้งทั้งมุมมองการวิเคราะห์การเมืองชลบุรีต่างจับตาไปที่ 'บ้านใหญ่' กับ 'บ้านใหม่' เป็นสำคัญ ขณะที่ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งกระแสของพรรคก้าวไกลในโลกโซเชียลมีเดียก็มาแรงในทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น Tiktok , Facebook และ Twitter ที่เป็นสื่อที่มีอิธิพลต่อวัยรุ่นและวัยทำงาน บวกกับเลือกตั้งปี 62 ก็พบสัญญาณการมาของพรรคก้าวไกลหรือพรรคอนาคตใหม่เดิมที่ได้ ส.ส. 3 ที่นั่ง จาก 8 เขตขณะนั้น ขณะที่บัญชีรายชื่อได้ 217,941 เสียงเป็นที่ 2 รองจากพรรคพลังประชารัฐที่ได้ 300,329 เสียง

ขณะที่ผลสำรวจความเห็นหรือโพลก่อนหน้านั้นโดยเฉพาะกลุ่มคน Gen Z ช่วงอายุ 18-26 ปี ซึ่ง 25 มี.ค.ที่ผ่านมา ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ รองศาสตราจารย์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต รายงานว่า งานวิจัยส่วนบุคคลของตน  เก็บข้อมูลแบบสอบถามจากคน Gen Z ที่กำลังศึกษาระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯและทุกภาคของประเทศ จำนวน 1,050 คน เกี่ยวกับทัศนคติต่อการเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 พบ สนับสนุน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนนายกฯ อยู่ที่ 29.2% ตามด้วย แพทองธาร ชินวัตร 23% ทิ้งห่างที่ 3 คือ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่ได้ 3.3% ส่วน พล.อ.ประยุทธ์' ได้ 1.3% นอกจากนี้ 26.9% ยังไม่ตัดสินใจ

สอดคล้องกับ “ศูนย์สำรวจความคิดเห็น สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (PSAKU Poll) ร่วมกับ สถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย (OPPS) บริษัท ที่ปรึกษากฎหมาย ธุรกิจ และการวิจัย ไวท์ ไทเกอร์ จำกัด ได้จัดทำ “ผลการสำรวจความคิดเห็นออนไลน์ เรื่อง การเลือกตั้ง 2566 ครั้งที่ 1" เผยแพร่เมื่อวันที่ 29 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยในหัวข้อ Gen ไหน สนับสนุนใครบ้าง ให้เป็นนายกฯ ใน "การเลือกตั้ง ปี 2566" มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้ คน Gen Z ที่ตอบแบบสำรวจมีจำนวนทั้งสิ้น 796 คน ให้การสนับสนุน “พิธา เป็นอันดับ 1 จำนวน  312 คน คิดเป็นอัตราส่วน 39.20 %

Gen Y (อายุ 28-42 ปี) และ เจน X (อายุ 43-57 ปี) ส่วนใหญ่ให้การสนับสนุน “แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย โดยคน Gen Y ที่ตอบแบบสำรวจมีจำนวนทั้งสิ้น 897 คน ให้การสนับสนุน “แพทองธาร” เป็นอันดับ 1 จำนวน  266 คน คิดเป็นอัตราส่วน 29.65 % คน Gen X ที่ตอบแบบสำรวจมีจำนวนทั้งสิ้น 861 คน ให้การสนับสนุน “แพทองธาร” เป็นอันดับ 1 จำนวน  281 คน คิดเป็นอัตราส่วน 32.64 %

Gen Baby Boomer (อายุ 58-76 ปี) ส่วนใหญ่ให้การสนับสนุน “พลเอกประยุทธ์” แคนดิเดตนายกฯ พรรครวมไทยสร้างชาติ  คน Gen Baby Boomer (อายุ 58-76 ปี) ที่ตอบแบบสำรวจมีจำนวนทั้งสิ้น 334 คน ให้การสนับสนุน “พลเอกประยุทธ์” เป็นอันดับ 1 จำนวน 75 คน คิดเป็นอันดับส่วน 22.46 %”

บางแสนแตกก่อนเลือกตั้งอีก 1 สัญญาณ

พื้นที่อำเภอเมืองชลบุรีเป็นพื้นที่สำคัญของทั้งกลุ่ม “บ้านใหญ่” และ “บ้านใหม่” ที่เป็นบ้านเกิดของทั้งสองกลุ่ม พบกับความพ่ายแพ้ต่อ “บ้านส้ม” หรือ “ก้าวไกล” ส่วนหนึ่งเกิดจากในพื้นที่มีกลุ่มวัยรุ่น นิสิต นักศึกษา และคนทำงานจำนวนมาก ถึงแม้อาจจะไม่ใช่คนพื้นที่โดยกำเนิดหรือมีสิทธิ์เลือกตั้งในพื้นที่ แต่กลุ่มคนเหล่านี้สามารถผลิตเนื้อหาออนไลน์เกี่ยวกับก้าวไกลได้เป็นจำนวนมาก หรือเรียกกันว่า “หัวคะแนนธรรมชาติ” ภาพที่มีกลุ่มวัยรุ่นจำนวนมากรอให้กำลังใจ รอฟังปราศรัยของพิธาเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2566 บริเวณริมหาดบางแสน

ขณะที่พื้นที่อำเภอศรีราชา เป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำคัญ เนื่องจากเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมและที่พักแรงงาน  ที่อุดมไปด้วยแรงงานจำนวนมาก  และในปี 2562 อนาคตใหม่คว้าที่นั่งของเขตนี้ไป และก้าวไกลถึงแม้จะส่งผู้สมัครหน้าใหม่แต่ยังคงรักษาพื้นที่นี้ไว้ได้

ภาพบรรยากาศเวทีปราศรัยของพรรคก้าวไกลในพื้นที่ศรีราชา วันที่ 30 เมษายน 2566 *เครดิตภาพจาก FB : สหัสวัต คุ้มคง

ผลเลือกตั้งภาพสะท้อนการเมืองแบบอุปถัมภ์ไปสู่เครือข่ายแบบใหม่ แนะอนาคต 'บ้านใหญ่' พัฒนาเชิงนโยบายในส่วนภูมิภาค ต่อรองกับรัฐบาลกลาง

โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา วิเคราะห์ปรากฏการณ์ดังกล่าวไว้ในรายการ คมชัดลึก ทางช่อง Nation เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 66 ไว้ว่า กลุ่มคน กลุ่มนี้ ชีวิตทางเศรษฐกิจของเขา มันทำให้กลุ่มบ้านใหญ่และบ้านใหม่ มันไม่เพียงพอที่จะดูแลเขา เพียงแค่แจกของ ชีวิตของเขามันไปพันกับเงื่อนไขทางโครงสร้าง เรื่องของภาระหนี้สิน เรื่องของอนาคตของลูก เรื่องความมั่นคง เรื่องสวัสดิการ สวัสดิภาพระยะยาว ซึ่งพวกนี้กลุ่มบ้านใหญ่ตอบโจทย์ไม่ได้ เพราะฉะนั้นนโยบายเชิงอุดมการณ์จึงมีผล มาพร้อมกับกระแส บวกกับคนเหล่านี้ เขาอยู่ในสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง แบบนี้ บริบททางการเมืองแบบนี้ มันสร้างภาพจำที่รู้สึกว่าไม่ตอบโจทย์เขา มันก็เลยทำให้การตัดสินใจเลือกที่พยายามยึดโยงกับนโยบายที่สร้างความมั่นคงกับอนาคตระยะยาวของเขา

สำหรับอนาคตของบ้านใหญ่นั้น นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า  ต้องถามใจแกนนำบ้านใหญ่ว่าจะไปต่อหรือไม่ ถ้าไม่ไปต่อก็ยึดเฉพาะท้องถิ่นในพื้นที่ตัวเอง แล้วก็ทำงานการเมืองแบบเดิมได้ ยังรักษาเอาไว้ได้ แต่ถ้าหมายมั่นเอาไว้ว่าจะต้องขยับมาเป็นบ้านใหญ่ มีฐานที่มั่น มีตัวแทน มีตำแหน่งในการเมืองระดับชาติ ต้องการทางการเมืองขนานใหญ่ อย่างเช่น ในเมื่อการเมืองมันเปลี่ยนจากการเมืองแบบอุปถัมภ์ไปสู่เครือข่ายแบบใหม่ที่คาดหวังต่อนโยบายที่ชัดเจน บ้านใหญ่อาจจะต้องทำการเมืองในเชิงอุดมการณ์เพื่อต่อสู้กับก้าวไกล อย่างเช่น อุดมการณ์แบบท้องถิ่นนิยม อุดมการณ์แบบภูมิภาคนิยม เพื่อทำให้เห็นว่าชลบุรี ไม่ใช่แค่บ้านใดบ้านหนึ่งแจกของ ดูแลคน หรือว่าช่วยเหลือต่างๆ แต่ต้องทำให้เห็นความฝันของชลบุรี ในทางเศรษฐกิจ ในทางการเมือง ในทางวัฒนธรรม ในทางสิ่งแวดล้อม ว่าคนที่อยู่ในเมืองชลบุรี จะเกิดความมั่นคงทั้งชีวิตอย่างไร อย่างเช่นบุรีรัมย์ เนวิน ชิดชอบ ทำสิ่งนี้ ถึงแม้ไม่พูดโดยตรงแต่พยายามสร้างอุดมการณ์ท้องถิ่นนิยมของคนทั้งบุรีรัมย์ เท่ากับว่าถ้าบ้านใหญ่คิดจะไปต่อ ต้องสร้างการเมืองเชิงอุดมการณ์

"สถานการณ์ต่อไปของบ้านใหญ่เป็นการเมืองแบบ 3 ขั้วชัดเจน ไป ๆ มา ๆ ทั้งบ้านใหญ่ และบ้านใหม่ อาจจะไม่ได้สู้กันเองแล้ว ต้องเจอกับก้าวไกลแน่นอน" โอฬาร กล่าว พร้อมระบุว่าสำหรับบ้านใหญ่และบ้านใหม่ คือบ้านเดียวกัน ถ้าผู้หลักผู้ใหญ่ในจังหวัด เห็นว่าอยู่แบบนี้ไม่ได้แล้ว อาจต้องพูดคุยกัน ไม่ว่าสิ่งที่ผ่านมาจะเป็นอย่างไร ในเมื่อเราเห็นอนาคตแล้วว่าจะเดินอย่างต่อ อาจจะต้องเจรจา ต้องเคลียร์ใจกันเพื่อสู้กับกระแสของก้าวไกล แล้วปรับไปสู่กระแสการเมืองเชิงนโยบายในเชิงพื้นที่ ที่สำคัญระยะยาวบริบทภาคตะวันออก มันเอื้อมากที่จะทำการเมืองเชิงภูมิภาค อย่างเช่นตั้งพรรคบูรพาพัฒนา รวบรวมเครือข่ายตระกูลบ้านใหญ่เข้าด้วยกัน ทำทิศทางการพัฒนาเชิงนโยบายในส่วนภูมิภาค ต่อรองกับรัฐบาลกลาง มีรัฐมนตรีเป็นของตัวเอง มีความฝันของตัวเอง จะเป็นโอกาสนึงในการปรับตัวเข้ากับการเมืองสมัยใหม่

ข้อมูลอ้างอิง : 

สำหรับ จตุรวิทย์ ขัติยศ ผู้รายงานชิ้นนี้เป็นนักศึกษาฝึกงานประจำกองบรรณาธิการข่าวประชาไท จากภาควิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net