Skip to main content
sharethis
  • ย้อนทบทวนกระบวนการ (ไม่) ยุติธรรม ที่ 'หยก' ต้องเผชิญ 'ทนายสิทธิและนักวิชาการนิติศาศตร์' ชี้เป็นภาพสะท้อนปัญหาทั้งการปฏิบัติและตัวกฎหมาย พร้อมชวนดูสถานการณ์ที่เยาวชนถูกดำเนินคดีเพราะแสดงออกทางการเมือง และปัญหาอำนาจนิยมใน “คุกเด็ก” ปิดท้ายด้วยข้อเสนอปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ทั้งกระบวนการต่อเด็ก เยาวชนและประชาชนทั่วไป
  • แอมเนสตี้ฯ ย้ำการศึกษาคือ ‘สิทธิมนุษยชน’ ที่เด็กทุกคนต้องได้รับ แนะโรงเรียนทบทวนระเบียบเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก

ธนลภย์ ผลัญชัย ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนพร้อมเพื่อนนักกิจกรรมหลังได้รับการปล่อยตัวจากบ้านปราณี (ภาพโดยแมวส้ม)

หลังการถูกจับกุมเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2566 ธนลภย์ ผลัญชัย หรือ “หยก” นักกิจกรรมวัย 15 ปี กลายเป็นผู้ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีด้วยข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ที่อายุน้อยที่สุด หลังเธอตัดสินใจปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม ไม่ยื่นประกันตัวต่อศาล จนศาลเยาวชนและครอบครัวกลางสั่งให้นำธนลภย์ไปควบคุมตัวไว้ที่สถานพินิจบ้านปราณี ในจังหวัดนครปฐม

เยาวชนวัย 15 ปีถูกกล่าวหาด้วยข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ หรือ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งมีโทษจำคุก 7 – 15 ปี  จาก อานนท์ กลิ่นแก้ว สมาชิกกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับเธอเนื่องจากการที่เธอเขียนข้อความบนพื้นข้างเสาชิงช้าระหว่างการชุมนุมในวันที่ 13 ต.ค. 2565 โดยข้อความดังกล่าวมีเนื้อหาวิจารณ์ถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ

ทั้งนี้ การดำเนินคดีกับเด็กและเยาวชนในคดีการเมืองในประเทศไทยเป็นสิ่งที่อยู่ในความสนใจของนานาชาติ โดยในระหว่างกระบวนการ UPR หรือ Universal Periodic Review ซึ่งเป็นกลไกการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐบาลภายใต้สภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council) รอบที่สามเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2564  ไทยได้รับคำถามจากตัวแทนรัฐบาลเบลเยี่ยมว่าไทยจะทำอย่างไรเพื่อรับประกันว่าเด็กและเยาวชนจะสามารถใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก โดยชาติสมาชิกหลายประเทศได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการจับกุมนักกิจกรรม รวมถึงเยาวชน การใช้มาตรา 112 ดำเนินคดีกับประชาชนที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อเสรีภาพการแสดงออก และมีข้อเสนอจากเม็กซิโก ออสเตรีย เดนมาร์ก และฟินแลนด์ให้ยุติการจับกุมและการดำเนินคดีอาญาในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์กับเด็กและเยาวชนที่ออกมาใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดและชุมนุมโดยสงบ

นอกจากนี้ชาติสมาชิกเหล่านี้ยังมีข้อเสนอให้ไทยรับรองว่าจะเคารพพันธกรณีในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กในข้อที่ระบุว่าเด็กมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและสิทธิในการได้รับการรับฟัง มีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ไม่ควรถูกลิดรอนสิทธิและเสรีภาพโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และจะต้องไม่ได้รับโทษทางอาญาที่หนักที่สุดในบริบทของข้อหาตามมาตรา 112

ถึงแม้ว่าจะมีการแถลงด้วยวาจาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 แต่คณะผู้แทนไทยไม่ได้มีการตอบคำถามในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของเด็กและเยาวชนในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุม และไม่ได้ตอบคำถามเกี่ยวกับการดำเนินคดีร้ายแรงกับเด็กและเยาวชนแต่อย่างใด

ธนลภย์ได้รับการปล่อยตัวในที่สุดหลังถูกคุมขังนานกว่าสองเดือน อย่างไรก็ตาม การจับกุมและควบคุมตัวธนลภย์ทำให้เกิดคำถามถึงกระบวนการออกหมายจับและจับกุมเยาวชนที่มิชอบด้วยกฎหมาย ระบอบอำนาจนิยมในสถานพินิจ และเสรีภาพในการแสดงออกของเด็กและเยาวชน

กระบวนการ (ไม่) ยุติธรรม

ธนลภย์เล่าว่าเธอถูกจับกุมที่สน.พระราชวัง ขณะไปติดตามสถานการณ์การจับกุม “บังเอิญ” ศิลปินวัย 25 ปีที่ถูกจับกุมเนื่องจากพ่นสีที่กำแพงวัดพระแก้ว ในเขตพระบรมมหาราชวัง ระหว่างถูกควบคุมตัว เธอระบุว่าถูกเจ้าหน้าที่ข่มขู่ และใช้ความรุนแรงโดยการกดตัวเธอลงกับพื้นและล้วงมือเข้ามาในเสื้อเพื่อยึดไอแพดที่เธอเก็บไว้ใต้เสื้อไป นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังไม่ยอมให้ผู้ไว้วางใจของธนลภย์เข้ามาอยู่ในห้องสืบสวนด้วย และเธอยังบอกอีกว่าเธอพยายามเอานามบัตรของทนายความให้เพื่อนนักกิจกรรม แต่เจ้าหน้าที่ก็มาแย่งไปและขยำนามบัตรดังกล่าว

วีดิโอคลิปขณะธนลภย์ถูกควบคุมตัวและถูกตำรวจลากตัวเข้าไปในห้องสอบสวน

ด้าน อันนา อันนานนท์ นักกิจกรรมจากกลุ่มนักเรียนเลว ซึ่งอยู่กับธนลภย์ที่สน.พระราชวังในฐานะผู้ไว้วางใจของนักกิจกรรมวัย 15 ระบุว่าเจ้าหน้าที่จับกุมธนลภ์โดยไม่ได้แจ้งว่าจับกุมด้วยข้อหาอะไรตั้งแต่แรก และยังพยายามยึดอุปกรณ์สื่อสารโดยไม่มีหมายค้น ทั้งที่อันนายืนยันว่าให้รอทนายความและมีสหวิชาชีพอยู่ด้วยก่อน แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมรอ นอกจากนั้นยังพยายามจะย้ายธนลภย์ไปกองบัญชาการตำรวจนครบาล 6 โดยอ้างว่าเพื่อจะนำตัวไปสอบสวนโดยไม่รอให้ทนายความมาถึงก่อน จนกระทั่งทนายความมาถึงแล้ว เจ้าหน้าที่จึงยอมแสดงหมายจับคดีมาตรา 112 และแจ้งสิทธิผู้ต้องหากับธนลภย์

หมายจับดังกล่าวเป็นหมายจับที่ออกตามคำร้องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสน.สำราญราษฎร์ในคดีที่ธนลภย์ได้ขอเลื่อนการเข้ารับทราบข้อกล่าวหากับพนักงานสอบสวนไปแล้วเนื่องจากติดภารกิจในการเรียนและสอบ การถูกออกหมายจับครั้งดังกล่าวทำให้เธอตัดสินใจปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากรู้สึกว่าการจับกุมไม่มีความเป็นธรรม

“เราอุตส่าห์ไปขอเลื่อน เอาอนาคตการศึกษาเราไปให้คุณดู เพื่อที่จะให้คุณเลื่อนให้เรา เพื่อที่วันที่เราเสร็จสิ้นภารกิจของเรา เราจะได้ไปทำตามขั้นตอนกระบวนการ แต่สุดท้ายเขามาออกหมายจับลับหลังเรา” เยาวชนวัย 15 ปี กล่าวในการสัมภาษณ์กับประชาไท

ธนลภย์เล่าว่าเจ้าหน้าที่พยายามจะย้ายตัวเธอไปที่สน.สำราญราษฎร์ ซึ่งเป็นสน.เจ้าของคดี แต่เนื่องจากเธอได้ปฎิเสธกระบวนการยุติธรรมแล้ว จึงปฎิเสธที่จะไปด้วยตัวเอง ในที่สุดก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงมาอุ้มเธอไปขึ้นรถและพาไปไว้ในห้องสืบสวน การปฎิเสธกระบวนการทำให้เธอได้ข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงานมาเพิ่มเติม

เช้าวันต่อมา ธนลภย์ถูกนำตัวไปขึ้นศาลที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจอุ้มตัวไป การปฏิเสธไม่ยอมไปศาลด้วยตัวเองทำให้เธอถูกเจ้าหน้าที่ตวาดว่าทำไมไม่เดินไปเอง ในห้องพิจารณาคดี ธนลภย์ตัดสินใจนั่งหันหลังให้บัลลังก์ผู้พิพากษาเพื่อแสดงออกว่าเธอปฏิเสธกระบวนการโดยสิ้นเชิง

สะท้อนปัญหาทั้งการปฏิบัติและตัวกฎหมาย

กฤษฎางค์ นุตจรัส

กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความที่ให้ความช่วยเหลือกับนักโทษการเมือง กล่าวระหว่างการเสวนา “อนาคตเยาวชนไทยในกระบวนการยุติธรรม” เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2566 ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าการจับกุมธนลภย์เป็นไปอย่างเลวร้ายมากและกระบวนการผิดตั้งแต่ตำรวจไปขอออกหมายจับ มีการจับกุมและคุมขังเธอ แม้ว่าขณะที่กระทำความผิด เธอจะมีอายุเพียง 14 ปี 8 เดือนเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าเธออาจไม่ต้องรับโทษทางอาญาเนื่องจากกฎหมายกำหนดไว้ว่าถ้าผู้กระทำผิดอายุไม่ถึง 15 ปี จะไม่ต้องรับโทษ แต่ศาลสามารถกำหนดเงื่อนไขอื่นๆ ได้

 

กฤษฎางค์ตั้งคำถามว่าเหตุใดศาลจึงอนุมัติการออกหมายจับธนลภย์ ทั้งที่เธอเคยทำเรื่องขอเลื่อนนัดรับทราบข้อกล่าวหาไปแล้ว และหมายจับต้องจับคนที่มีโทษ ศาลออกหมายจับได้อย่างไรในเมื่อธนลภย์อาจไม่ต้องรับโทษอาญา และการดำเนินคดีอาญาจะต้องสันนิษฐานว่าผู้ต้องหาบริสุทธิ์ก่อนเสมอ จะกระทำเหมือนผิดแล้วไม่ได้ นอกจากนี้กฎหมายวิธีพิจารณาความเด็กก็ระบุชัดว่าการจะออกหมายจับเด็กหรือเยาวชน ศาลจะต้องคำนึงถึงความผิด โอกาส พฤติการณ์ของเด็ก ต้องคำนึงว่าจับแล้วจะทำให้เด็กเสียหายอย่างไรบ้าง และถ้าพิจารณาแล้วไม่มีความจำเป็นต้องออกหมายจับให้ใช้วิธีการอื่นแทน เช่นติดตามตัวเด็กไปพบภายหลัง

นอกจากนี้ทนายความยังตั้งคำถามว่าสมควรหรือไม่ที่เจ้าหน้าที่จับกุมเธอโดยการกดตัวเธอลงกับพื้นแล้วควานเข้าไปในอกเสื้อเพื่อยึดสิ่งของ ทั้งที่กฎหมายเขียนไว้ว่าการจับกุมคุมขังจะต้องทำเท่าที่จำเป็นเพื่อไม่ให้มีการหลบหนี และในการจับเยาวชนจะต้องใช้วิธีการละมุนละม่อม และนำตัวไปศาลหลังการจับกุม

ตามกฎหมายแล้ว หากเยาวชนถูกจับกุมจะต้องมีการพาเยาวชนไปศาลเพื่อตรวจสอบว่าการจับกุมเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนนี้มีเพียงการกรอกเอกสารโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น ไม่ได้มีการไต่สวนและธนลภย์เองก็ระบุว่าเธอไม่ทราบว่ามีการดำเนินการในส่วนนี้

กฤษฎางค์มองว่ากระบวนการตรวบสอบการจับกุมจำเป็นมาก และควรจะต้องมีการไต่สวนเพื่อสอบถามเยาวชนที่ถูกจับกุมว่าเหตุการณ์การจับกุมเป็นอย่างไร ใช้ความรุนแรงหรือไม่ และเรียกเจ้าหน้าที่เข้ามาสอบถามข้อเท็จจริง ตรวจสอบวิดีโอการจับกุมเพราะกฎหมายก็กำหนดไว้ว่าการจับกุมจะต้องมีการบันทึกภาพวีดิโอไว้ แต่กลับมีเพียงการกรอกเอกสารเป็นข้อๆ เหมือนข้อสอบปรนัยเท่านั้น

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์และอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่ากระบวนการในกรณีของธนลภย์ไม่ถูกต้องและตัวกระบวนการเองก็มีปัญหาหนักอยู่แล้วเพราะถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญจะมีหลักว่าในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยยังไม่มีความผิด แต่ผู้พิพากษาไทยมักมีแนวโน้มที่จะเชื่อเจ้าหน้าที่รัฐที่ตั้งข้อหารุนแรงมาและไม่อนุญาตให้ประกันตัวโดยอ้างว่าพฤติกรรมร้ายแรงและความผิดมีโทษสูง ซึ่งผิดเพราะเป็นการสันนิษฐานไปก่อนแล้วว่าผู้ต้องหากระทำความผิด

นอกจากนี้ปริญญายังมองว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือป.วิ.อาญาของไทยโบราณมากและใช้หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด ในขณะที่การที่รัฐธรรมนูญที่มีหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ถูกฉีกอยู่เรื่อยทำให้ป.วิ.อาญาไม่ถูกแก้ไข

อาจารย์คณะนิติศาสตร์กล่าวว่ารัฐธรรมนูญยังระบุว่าการจับคุมคุมขังจะต้องทำเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันการหลบหนี สิ่งที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติจึงผิดทั้ง ป.วิ.อาญาและยังผิด พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวที่ให้ศาลมีหน้าที่ในการใช้ดุลยพินิจก่อนจะออกหมายจับว่าการจับกุมจะเกิดผลกระทบกับเด็กและเยาวชนหรือไม่ และการออกหมายจับต้องมีเหตุผล แต่ในกรณีของธนลภย์มีการขอเลื่อนการรายงานตัวเพราะต้องไปเรียน ไม่ได้หลบหนี การออกหมายจับจึงไม่เป็นไปตามกฎหมาย

นอกจากนี้พ.ร.บ.ศาลเยาวชนยังห้ามควบคุมคุมขัง คุมความประพฤติหรือใช้มาตรการอื่นใดในการจำกัดสิทธิเด็กที่เป็นผู้ต้องหาหรือเป็นจำเลยยกเว้นว่ามีหมายของศาล แต่ก็ต้องไม่เกินกว่าเหตุ เพราะที่ไทยมี พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ ก็เพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชน

“ในเรื่องคดีความเห็นต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตราที่มีความละเอียดอ่อนที่ทำให้เกิดความเห็นต่างหรือความขัดแย้งทางความคิด ยิ่งพึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง เพราะมาตรา 112 หากทำอย่างไม่เหมาะสมหรือพร่ำเพรื่อ หรือรุนแรงเกิดคดีขึ้นมาปัญหามันไมได้กระทบแต่ตำรวจหรือศาล แต่มันกระทบไปถึงสิ่งซึ่งตัวกฎหมายตั้งใจคุ้มครองด้วยซ้ำไป” ปริญญากล่าว

เมื่อเยาวชนถูกดำเนินคดีเพราะแสดงออกทางการเมือง

อันนา อันนานนท์ นักกิจกรรม แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่สยามสแควร์เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวธนลภย์เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2566 (ภาพโดยแมวส้ม) 

ธนลภย์ไม่ใช่เยาวชนแรกที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองและไม่ใช่คนแรกที่ต้องเผชิญหน้ากับกระบวนการในศาลเยาวชน ซึ่งมักเป็นกระบวนการที่ไม่เปิดต่อสาธารณะ ไม่อนุญาตให้คนที่ไม่ใช่คู่ความเข้าสังเกตการณ์ อันเป็นหนึ่งในเหตุผลที่เยาวชนหลายรายระบุว่าทำให้ตนรู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่อต้องขึ้นศาลในคดีการเมือง

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่ามีเด็กและเยาวชนอย่างน้อย 286 รายถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 - เดือนพฤษภาคม 2566 โดย 20 รายในจำนวนนี้ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์  

หนึ่งในนั้นคือ ธนกร ภิระบัน หรือ เพชร อายุ 19 ปี ซึ่งถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาตามมาตรา 112 จากการปราศรัยในการชุมนุมที่ลานอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2563 โดยพนักงานอัยการระบุว่าการปราศรัยครั้งนั้นระบุว่าประเทศไทยปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รวมทั้งกล่าวถึงการรัฐประหารและเรียกร้องให้ปฏิรูปประเทศ ขณะนั้น ธนกรอายุ 17 ปี

ในงานเสวนา “เรากำลังเรียกคืนอนาคตของเรา: สิทธิของเด็กในการชุมนุมประท้วงโดยสงบในประเทศไทย” เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2566 ธนกรเล่าว่าการถูกดำเนินคดีเป็นเรื่องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายมาก ครอบครัวต้องเสียรายได้จากการที่ต้องมาศาลกับเขา ในขณะที่กระบวนการดำเนินคดีกับเยาวชนก็ยาวนานกว่ากระบวนการดำเนินคดีกับผู้ใหญ่ และยังมีตำรวจติดตามถึงบ้านด้วย 

นอกจากนี้ ธนกรยังเล่าว่าในระหว่างกระบวนการที่จะต้องมีการพบนักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์ ตนต้องทำแบบสอบถามที่มีการถามเรื่องส่วนตัวหลายอย่าง รวมถึงคำถามว่าเคยมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันหรือไม่และคำถามเกี่ยวกับเพศวิถีอีกหลายคำถาม ซึ่งทำให้ตนรู้สึกไม่ปลอดภัย ในขณะที่กระบวนการก็ทำให้รู้สึกว่าถูกตัดสินว่าผิดไปก่อนแล้ว 

ในวันนัดฟังคำพิพากษาเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 65 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางไม่อนุญาตให้ตัวแทนองค์กรสิทธิมนุษยชนเข้าสังเกตการณ์การพิจารณาคดี โดยอ้างว่าเป็นคดีเยาวชนจึงไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกหรือผู้ที่ไม่ใช่คู่ความเข้าฟังคำพิพากษา และอ้างว่าคดีของธนกรเป็นคดีชั้นความลับ ถึงแม้ว่าธนกรจะแถลงต่อศาลว่าตนถูกกล่าวหาในคดีที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออก จึงต้องการให้มีผู้ไว้วางใจและตัวแทนองค์กรต่าง ๆ เข้าร่วมสังเกตการณ์ โดยระบุว่าที่ผ่านมาตนได้แสดงความประสงค์ให้ตัวแทนองค์กรสิทธิมนุษยชนและสถานทูตต่าง ๆ เข้าสังเกตการณ์การพิจารณาคดี แต่ได้รับการปฏิเสธมาตลอด และถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่จากองค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจะแสดงหนังสือขออนุญาตต่อศาลให้ผู้พิพากษาดูก็ตาม

ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางตัดสินจำคุกธนกรเป็นเวลา 2 ปีโดยไม่รอลงอาญาตามข้อหามาตรา 112 ในคดีดังกล่าว แต่ให้เปลี่ยนจากโทษจำคุกเป็นการฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนอย่างน้อย 1 ปี 6 เดือน แต่ไม่เกิน 3 ปีและไม่เกินกว่าจำเลยมีอายุครบ 24 ปี เนื่องจากศาลเห็นว่าจากรายงานของสถานพินิจ การได้รับการฝึกอบรมเพื่อขัดเกลานิสัยและความประพฤติอาจเป็นประโยชน์กับจำเลยมากกว่าโทษจำคุก โดยต่อมาธนกรได้รับการประกันตัวเพื่ออุทธรณ์คดี 

นอกจากนี้ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางยังไม่อนุญาตให้ตัวแทนองค์กรสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมฟังการสืบพยานเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2566 ในคดีที่ธนกรถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์จากการร่วมกิจกรรมใส่ครอปท็อปเดินพารากอนโดยศาลอ้างว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับจำเลย แม้จะมีการยื่นคำร้องขอให้ผู้ไว้วางใจเข้าฟัง แต่สุดท้ายศาลก็อนุโลมให้ผู้สังเกตการณ์เข้าฟังได้เฉพาะในนัดฟังคำพิพากษาเท่านั้น

ด้าน มีมี่ ณิชกานต์ นักกิจกรรมเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ ถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พรบ.จราจรฯ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 จากการเข้าร่วมการชุมนุมที่แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2563 โดยขณะเกิดเหตุ ณิชกานต์อายุ 16 ปี

ศูนย์ทนายฯ รายงานว่าระหว่างการสืบพยานในคดีนี้ ผู้สังเกตการณ์ไม่สามารถเข้าไปในห้องพิจารณาคดีได้เนื่องจากเป็นคดีเยาวชน และณิชกานต์ระบุว่าเยาวชนในฐานะจำเลยจำนวนหนึ่งรู้สึกไม่ปลอดภัยระหว่างกระบวนการพิจารณาคดีเพราะต้องแบกรับความกดดันจากการถูกตั้งคำถามที่ทำให้รู้สึกว่าถูกตัดสินว่าผิดไปก่อนแล้ว และอยากให้มีบุคคลที่สามเข้าร่วมการพิจารณาคดีด้วยเพราะข้อกำหนดที่อนุญาตให้เฉพาะคู่ความสามารถเข้าห้องพิจารณาคดีได้ทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัยในกระบวนการอย่างที่ควรจะเป็น

นอกจากนี้ ศูนย์ทนายฯ ยังรายงานว่าระหว่างการสืบพยาน ณิชกานต์ถูกถามว่าเคยอ่านอนุสัญญาสิทธิเด็กทั้งเล่น รวมถึงต้นฉบับภาษาอังกฤษหรือไม่ และณิชกานต์ระบุเพิ่มเติมผ่านเพจเฟสบุ๊ค “คู่หูข้าวจี่” ว่าผู้พิพากษาบอกกับตนว่า “ถ้าจะทำเรื่องนี้ ต้องรู้จริงนะ”

ต่อมาศาลยกฟ้องในทุกข้อหา เนื่องจากถ้อยคำที่ใช้ปราศรัยไม่ได้ผิดกฏหมาย จึงนับเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกตามที่กฎหมายกำหนด และไม่มีพยานปากใดยืนยันได้ว่าณิชกานต์เป็นผู้จัดการชุมนุม

ศูนย์ทนายฯ ให้ความเห็นว่าการพิจารณาคดีของเด็กและเยาวชนจะต้องถือประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญ ดังนั้นผู้พิพากษาและที่ปรึกษากฎหมายจึงจำเป็นจะต้องถามความต้องการของเด็กว่าการเปิดโอกาสให้มีบุคคลอื่นที่ไม่ส่งผลร้ายต่อเด็กอยู่ในห้องสอบสวนและห้องพิจารณาคดีได้จะเป็นประโยชน์ต่อเด็กอย่างไร 

ถึงแม้ว่าอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กจะระบุว่ากระบวนการพิจารณาคดีจะต้องเคารพความเป็นส่วนตัวของเด็ก และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้เผยแพร่ความคิดเห็นทั่วไปเมื่อปี 2557 โดยระบุว่าการพิจารณาคดีของเด็กและเยาวชนควรเป็นความลับ แต่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณะได้เมื่อมีเหตุผลที่ชัดเจนในคดีนั้นผ่านคำสั่งของศาล และเด็กสามารถอุทธรณ์คำสั่งของศาลได้ ส่วนนัดฟังคำพิพากษาควรเปิดเผยต่อสาธารณะโดยไม่กระทบต่อตัวตนของเด็ก ศูนย์ทนายฯ มองว่าความเป็นส่วนตัวและการรักษาความลับของเด็กในคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมสามารถยกเว้นได้เมื่อตัวเด็กเองให้ความยินยอมเป็นหนังสือหรือวาจาและสามารถยกเลิกได้เมื่อเด็กรู้สึกไม่ปลอดภัย

นอกจากนี้ศูนย์ทนายฯ ยังมองว่าการให้บุคคลอื่นเข้าร่วมในกระบวนการพิจารณาคดี ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนนักกิจกรรม ผู้ไว้วางใจ หรือผู้สังเกตการณ์ จะเป็นการลดความเปราะบางทางจิตใจของเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองซึ่งมักบอบช้ำทางจิตใจจากการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐ โดยจะเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนมีความมั่นใจ มีความพร้อมที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองในกระบวนการยุติธรรม โดยศูนย์ทนายฯ ระบุว่าสามารถจัดการให้มีผู้สังเกตการณ์ได้โดยไม่รบกวนการพิจารณาคดี และสร้างห้องพิจารณาคดีที่เป็นมิตรกับเด็กและเยาวชน เช่น การจัดให้เด็กได้นั่งกับผู้ไว้วางใจ เพื่อให้เด็กรู้สึกมั่นใจ สบายใจ และไม่รู้สึกถูกกดดันโดยบรรยากาศในห้องพิจารณาคดี

นอกจากนี้ การเปิดโอกาสให้เข้าถึงการพิจารณาคดีเพื่อประโยชน์สาธารณะยังเป็นการเสริมสร้างความโปร่งใสของกระบวนการยุติธรรมและลดข้อสงสัยของสาธารณะเกี่ยวกับความเป็นธรรมในการพิจารณาคดีอีกด้วย

อำนาจนิยมใน “คุกเด็ก”

นักกิจกรรมชุมนุมที่หน้าบ้านปราณีในช่วงเช้าวันที่ 4 พ.ค. 2566 หลังเดินเท้าจากศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง จตุจักร ไปบ้านปราณีในจังหวัดนครปฐมเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวธนลภย์ (ภาพโดยแมวส้ม)

 วินาทีที่ศาลสั่งว่าเธอต้องยื่นประกันตัว ธนลภย์ก็รู้ตัวว่าจะต้องถูกส่งตัวเข้าสถานพินิจอย่างแน่นอนแล้ว และถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้จะได้โทรศัพท์พูดคุยกับทนายประเวศ ประภานุกูล ผู้เลือกวิธีต่อสู้ด้วยการปฏิเสธอำนาจศาลในคดีมาตรา 112 มาก่อนและได้รับคำแนะนำว่าเธอสามารถประกันตัวได้ เพราะผู้ที่ประกันตัวเยาวชนคือผู้ปกครอง ไม่ใช่ตัวเยาวชนเอง แต่ขณะนั่งหันหลังอยู่ในศาล ธนลภย์ตัดสินใจไม่ยื่นประกันตัวด้วยความรู้สึก “ไม่มีอะไรจะเสีย” และรู้สึกว่าศาลไม่เป็นธรรม ไม่มีอิสระ 

ธนลภย์ถูกส่งตัวเข้าบ้านปราณีทันที เธอเล่าว่าระหว่างอยู่บนรถตู้เพื่อเดินทางไปบ้านปราณี เจ้าหน้าที่ใช้คำพูดด่าทอเธอว่าชังชาติ กล่าวหาว่ารับเงินมาทำกิจกรรมใส่เสื้อยกเลิก 112 พาดพิงนักกิจกรรมคนอื่นว่าได้รับเงินจำนวนมาก และเมื่อเธอตั้งคำถามว่าการวิพากษ์วิจารณ์ทำให้เธอกลายเป็นคนไม่รักชาติได้อย่างไรก็โดนด่าทอซ้ำ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังพยายามปิดม่านและเอาร่มมากางไม่ให้นักกิจกรรมคนอื่นที่ขับรถตามมามองเห็นธนลภย์ได้

สำหรับเยาวชนวัย 15 ปี ชีวิตในสถานพินิจทุกวันคือการต่อสู้ เธอเล่าว่าหนังสือและจดหมายบางฉบับที่คนข้างนอกส่งเข้าไปให้ไม่ผ่านการคัดกรอง เธอจึงไม่ได้รับ การเยี่ยมญาติสามารถทำได้เป็นบางวันและจำกัดเวลา มีการปิดกั้นไม่ให้เด็กและเยาวชนดูข่าวนอกจากข่าวในพระราชสำนัก ไม่มีอินเตอร์เน็ต มีแต่หนังสือจำนวนไม่มากนัก นอกจากนี้กฎระเบียบยังเปลี่ยนไปมาได้ตลอดเวลา โดยระเบียบบางข้อก็เป็นระเบียบที่ธนลภย์ตั้งคำถามว่ามีไว้ทำไม

ไม่เพียงเท่านั้น คุณภาพชีวิตของเด็กในสถานพินิจก็ไม่ดีนัก ธนลภย์เล่าว่าเธอติดโควิดในช่วงแรกของการถูกคุมขัง แต่ในสถานพินิจมีให้แต่ยาแก้ไอ ไม่มีการพาไปพบแพทย์ จนสุดท้ายก็หายเอง และน้ำที่ใช้ก็เป็นน้ำบาดาลที่ไม่สะอาด ทำให้เธอมีอาการทางผิวหนัง ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็เอาครีมที่มีสารเสตียรอยด์ให้เธอใช้เป็นเวลานานกว่าจะได้พบแพทย์ ทำให้อาการดังกล่าวลุกลามจนเป็นผื่นไปทั่วร่างกาย

ธนลภย์มองว่าสถานพินิจควรจะปฏิบัติกับเด็กดีกว่านี้ เธอมองว่าระบบข้างในหลายอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เช่นการเยี่ยมญาติที่เด็กต้องไปทวงกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งมักแสดงความหงุดหงิดใส่ ในขณะที่งานหลายอย่างเช่นการเตรียมชุดให้เด็กที่จะต้องไปโรงพยาบาลหรือการหาเหาให้เพื่อนกลายมาเป็นหน้าที่ของเด็กแทนที่จะเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่ดูแล

ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก

ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก มองว่าสถานพินิจมีปัญหาเชิงระบบอยู่มาก และคนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงก็ต้องเจอกับแรงเสียดทานมาก เธอมองว่าปัญหาเหล่านี้เป็นมรดกตกทอดมาจากจุดเริ่มต้นของสถานพินิจเมื่อปี 2495 ซึ่งเป็นเพียงการแยกที่คุมขังเด็กออกจากคุกของผู้ใหญ่เท่านั้น แต่กฎระเบียบที่นำมาใช้ยังเป็นกฎระเบียบเดียวกับคุกผู้ใหญ่อยู่และถูกผลิตซ้ำจนกลายเป็นวัฒนธรรมอำนาจนิยมในองค์กร

ทิชาเล่าว่าในช่วงแรกของการเป็นผอ.บ้านกาญจนาฯ เธอเคยไล่เจ้าหน้าที่คนหนึ่งออกเพราะทำร้ายร่างกายเด็ก ทำให้เจ้าหน้าที่กลุ่มหนึ่งเข้ามาถามเธอว่าทำอย่างนี้ได้อย่างไร เพราะถ้าพวกเขาตีเด็กไม่ได้ก็จะทำให้เจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจและเป็นเรื่องความปลอดภัยในการทำงานของพวกเขาด้วย แต่ทิชามองว่าถ้าเด็กเห็นเจ้าหน้าที่ที่ทำร้ายเขาถูกลงโทษ เขาจะพบว่ากติกาต่าง ๆ ศักดิ์สิทธิ์ ข้อห้ามที่ไม่ให้ทำร้ายเด็กมีอยู่จริง และสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเขาเป็นสิ่งที่ละเมิดไม่ได้ ซึ่งทำให้ง่ายขึ้นในการชวนให้เด็กมาเคารพกติกาของบ้านกาญจนาฯ 

ทิชาระบุว่าเจตนารมย์ของกฎหมายเมื่อปี 2495 ได้หลงทางไปแล้ว เหลืออยู่เพียงระบอบอำนาจนิยมเท่านั้น และที่ผ่านมาสังคมไม่ได้ใส่ใจกับเรื่องของสถานพินิจ หลายคนอาจจะเคยเชียร์ให้จับเด็กที่ลักวิ่งชิงปล้นเข้าไปขังในสถานพินิจแล้วโดนเจ้าหน้าที่ทำร้ายโดยมองว่าเหมาะสมแล้ว ทำให้อำนาจนิยมยิ่งเติบโตในสถานที่เหล่านี้

“เราก็ยืนยันว่าถ้าประเทศนี้มีรัฐบาลที่ดี มีรัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์ ถ้าเรามีพื้นที่ที่ดีที่สร้างสรรค์ให้เด็กๆ ได้ไปใช้ เชื่อว่าเด็กจะติดคุกน้อยกว่านี้ ดังนั้นไม่ว่าเด็กจะติดคุกด้วยลักวิ่งชิงปล้นหรือข้อหาฆ่า หรือเด็กที่ติดคุกด้วย 112 สำหรับเรามันเป็นความบกพร่องความผิดพลาดของระบบใหญ่ของประเทศนี้ด้วย ซึ่งตอนนี้ก็อาจจะสายไปแล้วที่เมื่อก่อนเราเพิกเฉยต่อมุมมืดของสังคมนี้ แต่ก็ขอบคุณที่ทุกคนตื่นมาในปีพ.ศ.นี้ แน่นอนว่าจะแก้ 112 หรือจะต้องเข้าไปแทรกแซงในหลายอย่าง” ทิชากล่าว

ที่ผ่านมา ผอ.บ้านกาญจนาฯ ได้รับหมายศาลหลายครั้งเพราะลุกขึ้นมาปกป้องเด็กและเยาวชนในความดูแลเมื่อมองว่าเด็กเหล่านั้นได้รับคำตัดสินที่ไม่ถูกต้อง และเมื่อต้องการเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาก็ต้องเขียนคำแถลงไปถึงศาล เช่นเมื่อครั้งที่บ้านกาญจนาฯ ปล่อยเด็กที่ถูกสั่งขังต่อเพียงเพราะศาลต้องการให้เด็กไปเย็บใบหูที่ระเบิดไว้ก่อนโดนคดี ซึ่งทิชามองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเด็กและการที่ศาลสั่งแบบนี้เป็นการสั่งด้วยอำนาจนิยมไม่ใช่เจตนาบริสุทธิ์

“ยิ่งไม่ใช้อำนาจเรายิ่งมีอำนาจ ยิ่งปฏิบัติต่อเขาบนฐานของความเป็นมนุษย์เท่าไหร่ เราจะเห็นความเป็นมนุษย์ของเขาในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน เขารักเราเห็นใจเราพร้อมจะอยู่ที่นี่โดยที่ไม่สร้างปัญหาเลย” ทิชาเล่า 

ถึงเวลาปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

เมื่อถามว่าจะทำอย่างไรกับกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กฤษฎางค์ตอบว่าก็ต้องสู้ต่อไปจนกว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม เขามองว่าการเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายจะไม่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของกระบวนการยุติธรรมถ้าโครงสร้างสังคมยังไม่เปลี่ยนแปลง

“เราจะได้กระบวนการยุติธรรมที่ทันสมัย รักเสรีภาพ รักประชาธิปไตยในสังคมที่เสื่อมถอยได้ยังไง” ทนายความกล่าว

ทิชามองว่าปัญหาการใช้ดุลยพินิจของศาลในกรณีของธนลภย์ว่าเป็นปัญหาเชิงระบบ และผู้พิพากษาของศาลเยาวชนก็ไม่ได้มีความชำนาญเป็นพิเศษ แต่เป็นผู้พิพากษาที่หมุนเวียนไปตามศาลต่าง ๆ ทำให้อาจจะยังมีทัศนคติตามไม่ทันคดีเด็กและยังใช้ชุดความคิดที่ใช้กับคดีของผู้ใหญ่อยู่ 

ผอ. บ้านกาญจนาฯ ยกตัวอย่างรัฐไมอามี่ที่กำหนดให้นักกฎหมายที่อยากเป็นผู้พิพากษาศาลเยาวชนจะต้องเข้าเรียนหลักสูตรจิตวิทยาพัฒนาการ ทำให้เป็นผู้พิพากษาที่มีสองศาสตร์อยู่ในตัวคนคนเดียว ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่มีทางเห็นในประเทศไทย 

ทิชาเล่าว่าเมื่อประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาสิทธิเด็กเมื่อปี 2535 และต้องทำรายงานถึงคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ ไทยถูกตั้งคำถามว่าทำไมเด็กไทยจึงต้องรับโทษทางอาญาในอายุที่น้อยมาก นำไปสู่การแก้ไขกฎหมายเมื่อปี 2551 เพื่อเปลี่ยนอายุของเด็กที่ต้องรับโทษทางอาญาจาก 7 ปีเป็น 10 ปี ซึ่งก็ยังเป็นอายุที่น้อยเกินไปสำหรับสากล จนเมื่อปี 2565 จึงได้มีการเปลี่ยนจาก 10 ปีเป็น 12 ปี และให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีที่กระทำความผิดไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแต่ให้ใช้กระบวนการอื่นแทน

ทิชามองว่ากรณีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าถ้าไม่มีปัจจัยภายนอกเข้ามา คนในประเทศนี้ก็จะยังเพิกเฉยต่อความทุกข์ของเด็กต่อไป โดยเธอมองว่าก็ต้องขอบคุณธนลภย์ที่ปลุกผู้ใหญ่จำนวนหนึ่งในประเทศนี้ให้เห็นกติกาที่ไม่เป็นธรรม

“เราต้องยอมรับว่าคดีของเด็กๆ ทั้งหมดเกิดขึ้นจากนโยบายที่ไม่มีวิสัยทัศน์ของรัฐบาล แล้วในที่สุดเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ประมาณ 15 ล้านคนในประเทศนี้จำนวนมากที่มาติดคุกกันมันมาจากการที่เขาไม่มีทางออกที่ดีพอ ไม่ใช่ว่าเขาเกิดมาเพื่อเป็นนักโทษ” ทิชากล่าว

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ส่วนปริญญามองว่าปัญหาอีกอย่างคือการที่ไม่สามารถเอาผิดผู้พิพากษาได้ถ้าทำผิดกฏหมาย และเมื่อศาลประพฤติมิชอบจนสร้างความเสียหายก็ไม่สามารถใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างมาตรา 157 ได้เพราะในประมวลกฎหมายอาญามีหมวดความผิดต่อหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมแยกต่างหาก แต่ในหมวดดังกล่าวที่กำหนดฐานความผิดของเจ้าหน้าที่ตำรวจและอัยการกลับไม่มีการกำหนดฐานความผิดของผู้พิพากษาไว้ ยกเว้นในกรณีรับสินบนเท่านั้น 

ปริญญายกตัวอย่างประเทศในยุโรปที่มีกฎหมายเอาผิดทางอาญากับผู้พิพากษาที่สร้างความเสียหายต่อจำเลย แต่อาจารย์คณะนิติศาสตร์ระบุว่าที่เสนอประเด็นการมีกฎหมายเฉพาะนี้ไม่ได้ต้องการให้เอาผู้พิพากษาไปติดคุก แต่มองว่าเป็นการทำให้บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมต้องรับผิดชอบต่อกฎหมายด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทุกคนรวมถึงตัวผู้พิพากษาเอง นอกจากนี้ยังควรจะต้องมีการอบรมกฎหมายให้กับตำรวจด้วย เนื่องจากการจะมาเป็นตำรวจไม่ได้ต้องจบกฎหมายมาทั้งที่มาอยู่ในกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นทางคือการจับกุมตั้งข้อกล่าวหา โดยปริญญามองว่าถ้าทำเรื่องเหล่านี้ได้จะทำให้กระบวนการยุติธรรมดีขึ้น 

“เพราะรัฐธรรมนูญก็บัญญัติว่าผู้พิพากษาและตุลาการต้องตัดสินคดีตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมาย แต่พอไม่ตัดสินตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายกลับไม่มีความผิดอะไรเลย ก็เลยไม่เกิดการทำตามที่ว่าไปนั้น” ปริญญากล่าว

แอมเนสตี้ฯ ย้ำการศึกษาคือ ‘สิทธิมนุษยชน’ ที่เด็กทุกคนต้องได้รับ แนะโรงเรียนทบทวนระเบียบเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก

สำหรับ ‘หยก’ ยังคงเคลื่อนไหวต่อเนื่องล่าสุดออกมาเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิทางการศึกษา และสิทธิในเนื้อตัว ร่างกายของเด็กนักเรียน ทั้งเรื่องสถานะในการเรียน สีผมและชุดไปรเวทจนก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกวางอีกครั้งนั้น 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยระดับภูมิภาคประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีนี้ ว่า การตัดสถานภาพความเป็นนักเรียนของหยกโดยโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ซึ่งกระทำบนพื้นฐานของกฎระเบียบข้อบังคับให้มีผู้ปกครองรับรองการมอบตัวนั้น ถือเป็นการละเมิดสิทธิด้านการศึกษาของเด็ก พร้อมเรียกร้องให้โรงเรียนและหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการทันทีเพื่อคืนสถานะความเป็นนักเรียนและรับรองสิทธิด้านการศึกษาของหยก

“การตัดสิทธิเข้ารับการศึกษาในกรณีของหยก เพียงเพราะไม่มีผู้ปกครองที่โรงเรียนรับรองมามอบตัว อิงอยู่บนกฎระเบียบที่ไม่เป็นธรรมและเลือกปฏิบัติ และไม่สอดคล้องกับทั้งกฎหมายไทยว่าด้วยการคุ้มครองเด็กและกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน”

“ในทุกการตัดสินใจ โรงเรียนต่างๆ ควรคำนึงถึงหลักการสำคัญ “ผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก” ตามกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน โดยผลประโยชน์ดังกล่าว ย่อมรวมถึงสิทธิด้านการศึกษา ซึ่งได้รับการรับรองภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก อันเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่”

นักวิจัยระดับภูมิภาคประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ฯ ยังชี้ถึงอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก มาตรา 3 กำหนดว่า “ในการกระทำทั้งปวงที่เกี่ยวกับเด็ก ไม่ว่าจะกระทำโดยสถาบันสังคมสงเคราะห์ของรัฐหรือเอกชน ศาลยุติธรรม หน่วยงานฝ่ายบริหาร หรือองค์กรนิติบัญญัติ ผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก” นอกจากนี้ มาตรา 28 ระบุว่า รัฐภาคีจะต้องจัดให้การศึกษาในระดับมัธยมศึกษา “แพร่หลายและเปิดกว้างแก่เด็กทุกคน”

“หลักการว่าผู้เยาว์ต้องมีผู้ปกครองให้ความยินยอมรับรองในการตัดสินใจ มีขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเผชิญกับอันตราย หรือการถูกแสวงหาผลประโยชน์โดยไม่ชอบ แต่ในกรณีของหยก การมอบตัวเข้าศึกษาต่อนับว่าอยู่ในผลประโยชน์สูงสุดของเด็กโดยตรง ช่วยให้น้องได้รับสิทธิทางการศึกษา ซึ่งได้รับการรับรองทั้งภายใต้กฎหมายไทยและระหว่างประเทศ โรงเรียนสามารถยึดหลักการอะลุ่มอล่วยด้วยการยึดถือหลักการดังกล่าวและอนุญาตให้ยืดหยุ่นกฎได้เลยเพื่อให้เด็กสามารถเข้าถึงสิทธิมนุษยชนที่พึงมีได้อย่างเต็มที่” ชนาธิปกล่าว

ส่วนกรณีที่มีการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิในเนื้อตัว ร่างกาย เกี่ยวกับเครื่องแบบนักเรียน มองว่าเป็นสิ่งที่สังคมไทยต้องเรียนรู้ว่า การที่เด็กออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้วหลายครั้ง อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กก็ได้กำหนดถึงประเด็นนี้ว่า กฎระเบียบของโรงเรียนต้องกำหนดขึ้นโดยสอดคล้องกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเด็ก เรื่องนี้จึงควรเป็นบทเรียนหรือจุดประกายให้สังคมทบทวนเรื่องกฎระเบียบที่มีอยู่ ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนในปัจจุบัน

“ในประเด็นเรื่องการปฏิบัติตามระเบียบเกี่ยวกับเครื่องแบบและทรงผม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เด็กออกมาเรียกร้องเกี่ยวกับสิทธิเนื้อตัวในร่างกายของเขา และอยากให้สังคมได้เกิดกระบวนการเรียนรู้ว่า การที่เด็กออกมาพูดเรื่องนี้ การที่เด็กเริ่มออกมาทำการอารยะขัดขืน ประท้วงกฎระเบียบที่ไม่สอดคล้องกับสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่เรื่องแปลก ควรเป็นสิ่งที่จุดประกายให้สังคมเริ่มตั้งคำถามว่ากฎระเบียบเหล่านี้จำเป็นมากน้อยแค่ไหน”

“โรงเรียนและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนและการคุ้มครองเด็ก ต้องหันกลับมาพิจารณาถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กตามกฎหมายและหลักการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และดำเนินการทันทีเพื่อให้หยกสามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาและเข้าเรียนได้ตามที่ควรจะเป็น” ชนาธิปกล่าวทิ้งท้าย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net