Skip to main content
sharethis

‘ประภัสร์’ ค้าน ครม.รักษาการ รับทราบมติ กพอ.แก้สัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หวั่นทำรัฐเสียหายยิ่งกว่ากรณีโฮปเวล ด้าน ครม.มีมติรับทราบแนวทางของ กพอ.ให้แก้สัญญาทั้งนิยามเหตุผ่อนผันและกลไกแก้ปัญหากรณีเกิดเหตุสุดวิสัยที่กระทบสถานะทางการเงินของโครงการ กพอ.ยังเสนอเร่งรัดแก้ปัญหาโครงสร้างของโครงการที่เป็นคนละมาตรฐานกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนแต่ต้องใช้ร่วมกันช่วงบางซื่อถึงดอนเมืองหวั่นทำโครงการหลังล่าช้า

27 มิ.ย.2566 ทีมสื่อพรรคเพื่อไทยรายงานว่า ประภัสร์ จงสงวน แกนนำพรรคเพื่อไทย อดีตผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย และอดีตผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย กล่าวก่อนที่ผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(รักษาการ) ว่า รู้สึกไม่สบายใจ และไม่เห็นด้วย ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีวาระรับทราบมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรืออีอีซี ที่เห็นชอบให้เอกชนผ่อนชำระค่าสิทธิร่วมลงทุนโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์(ARL) จำนวน 10,671.09 ล้านบาท บวกดอกเบี้ยและค่าเสียโอกาส ออกเป็น 7 งวด และแก้ไขสัญญาร่วมทุนเงื่อนไข ‘เหตุสุดวิสัย’ กรณีที่มีการแพร่ระบาดของโรค หรือมีสงคราม ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการ

ประภัสร์ จงสงวน

ประภัสร์เนื่องจาก ครม. ชุดนี้ เป็นรัฐบาลรักษาการ จะไม่มีอำนาจแล้ว พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า นำเสนอ ครม.เพื่อทราบ แท้จริงแล้วคือ การอนุมัติ ตามกฎหมายของอีอีซีใช่หรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นจริงจะสร้างปัญหาให้กับโครงการ และสร้างปัญหาให้กับรัฐบาลชุดใหม่เป็นอย่างมาก เพราะโดยหลักของทางราชการ สัญญาที่ลงนามไปแล้ว ไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้

อดีตผู้ว่า รฟท.กล่าวอีกว่าโดยเฉพาะส่วนที่เป็นสาระสำคัญที่ กพอ.ผู้ดูแลโครงการรถไฟฟ้า 3 สนามบิน เสนอต่อ ครม.เพื่อทราบนั้น เป็นสาระสำคัญทั้งสิ้น โดยเฉพาะการจ่ายเงินช่วยเหลือให้บริษัทผู้ได้รับสัมปทาน ( บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด) คู่สัญญาโครงการรถเชื่อม 3 สนามบิน จากเดิมตามสัญญาคือ ‘จ่ายเงินเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการ’ เปลี่ยนเป็น ‘จ่ายตั้งแต่เริ่มดำเนินการก่อสร้าง’ ทั้งนี้ตนทราบมาว่าการแก้ไขสัญญาการก่อสร้างรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน หัวใจสำคัญของโครงการนี้ คือการใช้ประโยชน์จากที่ดินมักกะสัน ไม่ใช่การก่อสร้างรถไฟฟ้าใช่หรือไม่

ประภัสร์กล่าวต่อว่าสัญญาการก่อสร้างดังกล่าวเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2563 จนวันนี้ยังไม่มีการเริ่มก่อสร้าง หรือตอกเสาเข็ม ซ้ำยังมีประเด็นพิพาท รวมถึงประเด็นการส่งมอบแอร์พอร์ตลิงค์ ซึ่งตามสัญญาต้องจ่ายเงินการส่งมอบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แต่กลับพบว่า มีการส่งมอบรถไฟแอร์พอร์ตลิงค์ไปแล้ว แต่จ่ายเงินเพียง 10% ส่วนเงินที่เหลืออีก 90% อยู่ในรายละเอียดของการแก้ไขสัญญาข้างต้น หากไม่พิจารณาอย่างถ่องแท้หรือทำไปโดยความกดดันจากบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

อดีตผู้ว่า รฟท.ชี้ว่าอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภาครัฐยิ่งกว่ากรณีค่าโง่โฮปเวล จึงอยากให้ทุกฝ่ายพิจารณาเรื่องนี้อย่างถี่ถ้วนด้วย

“เรื่องนี้หากเป็นจริง คงเป็นกระบวนการที่ไม่ค่อยถูกต้องเท่าไหร่ ผมเชื่อว่าเมื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามาทำงาน ผู้ที่เข้ามาดูแลกระทรวงคมนาคมจะพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้งว่าเกิดอะไรขึ้น และเหตุผลที่แท้จริงที่ไม่สามารถก่อสร้างโครงการได้ แม้จะอ้างว่าเพราะสถานการณ์โควิด แต่ไม่มีความเกี่ยวข้องกันโดยตรง และจนถึงปัจจุบันสถานการณ์โควิดคลี่คลายลงมากแล้วจนเป็นโรคประจำถิ่น เหตุใดจึงไม่เร่งก่อสร้าง เหตุใดต้องแก้สัญญา” ประภัสร์ กล่าว

ครม.รักษาการรับทราบให้แก้สัญญาโครงการเปิดให้คู่สัญญาหารือแนวทางเยียวยา

ทั้งนี้เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลรายงานถึงผลการประชุม ครม.รักษาการในวันนี้ในเรื่องรายงานผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยมี 2 ประเด็นคือประเด็นแรกเรื่องหลักการแก้ปัญหาการชำระค่าสิทธิโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ (Airport Rail Link: ARL) เนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 และประเด็นที่สองหลักการแก้ปัญหาเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ตามที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เสนอ

ภาพจากเว็บไซต์ของโครงการ EEC

ประเด็นแรกเรื่องการชำระค่าสิทธิโครงการ ARL ไม่ได้ตามกำหนด เนื่องจากสถานการณ์โควิดนั้นได้ทำให้โครงการประสบปัญหาจำนวนผู้โดยสารและรายได้จากค่าโดยสารลดลงทำให้เอกชนคู่สัญญาไม่สามารถชำระค่าสิทธิ ARL ได้ตามสัญญาที่กำหนดให้เอกชนต้องจ่าย เป็นเงินจำนวน 10,671.09 ล้านบาท ภายในวันที่ครบระยะเวลา 2 ปีที่ครบกำหนดไปแล้วเมื่อ 24 ต.ค.2564

กพอ.จึงได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาตามมติที่ประชุมให้ เอกชนคู่สัญญาต้องชำระค่าสิทธิ ARL จำนวน 10,671.09 ล้านบาท พร้อมชำระดอกเบี้อทั้งหมด จำนวน 1,060.04 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 11,731.13 ล้านบาท โดยแบ่งการชำระค่าสิทธิ ARL ออกเป็น 7 งวด ได้แก่ งวดที่ 1 - 6 งวดละ 1,067.11 ล้านบาท และงวดที่ 7 จำนวน 5,328.47 ล้านบาท ภายในวันที่ 24 ตุลาคมของแต่ละปี เนื่องจากประโยชน์ส่วนต่างดอกเบี้ยที่เอกชนคู่สัญญาได้รับ จากการแบ่งชำระจำนวน 7 งวดข้างต้นมีจำนวนใกล้เคียงกับผลกระทบที่เอกชนคู่สัญญาได้รับจากสถานการณ์โรคโควิด 19

ประเด็นที่สองเรื่องหลักการแก้ปัญหาเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน กพอ.ได้มีการเสนอให้แก้ไขเนื้อหาสัญญาสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อ 3 สนามบินที่ลงนามเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 โดยมีการเพิ่มทั้งนิยามของเหตุผ่อนผันและกลไกรองรับการแก้ปัญหากรณีเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อโครงการในอนาคตด้วย โดยเป็นการแก้ไขโดยเทียบเคียงกับสัญญาร่วมลงทุนของโครงการสนามบินอู่ตะเภาฯ ที่ลงนามเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2563

ในส่วนของนิยามเหตุผ่อนผัน กพอ.เสนอให้เพิ่มข้อความ “เหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสถานภาพทางการเงินของโครงการฯ และเอกชนคู่สัญญา เช่น เหตุการณ์ความผันผวนทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของโครงการฯ อย่างมีนัยสำคัญ” เข้าไปในสัญญาของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเป็นข้อ (ค) อีก 1 ข้อ จากเดิมที่มี 2 ข้อคือ (ก) ความผันผวนอย่างมากทางเศรษฐกิจที่ส่งผลให้เกิดความไม่เสถียรทางการเงิน และ (ข) การงดเว้นการกระทำการของรัฐบาล ที่ไม่ใช่ความผิดของเอกชนคู่สัญญา

ในส่วนของกลไกแก้ไขปัญหาให้มีข้อความ “กำหนดกลไกการรองรับกรณีเอกชนคู่สัญญาประสบผลกระทบอันมีสาเหตุมาจากเหตุสุดวิสัยและ/หรือเหตุผ่อนผัน ซึ่งจะรวมถึงกรณีเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสถานภาพทางการเงินของโครงการฯ และเอกชนคู่สัญญา โดยคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะปรึกษาหารือกันถึงวิธีการในการเยียวยาด้วยความเหมาะสมและเป็นธรรม ทั้งนี้ คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะใช้ความพยายามอย่างดีที่สุดในการดำเนินการเพื่อแก้ไขผลกระทบจากเหตุสุดวิสัยและ/หรือเหตุผ่อนผัน” เพิ่มเป็นข้อที่ 5

ในรายงานระบุอีกว่า ขั้นตอนต่อไปหลังจากนี้ทาง รฟท.และเอกชนคู่สัญญาจะดำเนินการเจรจาร่างสัญญาเพื่อแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงตามมติ กพอ.

หากจำเป็นต้องแก้ไขสัญญา รฟท. สำนักงาน กพอ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และ กระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน พ.ศ. 2560 ข้อ 21 ที่กำหนดให้ รฟท. เสนอเหตุผลและความจำเป็น ประเด็นที่ขอแก้ไขและผลกระทบจากการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนต่อคณะกรรมการกำกับดูแล3 เพื่อพิจารณาให้ความเห็น โดย รฟท.จะต้องส่งข้อเสนอและร่างสัญญาฉบับที่อัยการสูงสุดตรวจพิจารณาแล้วให้ กพอ.ให้ความเห็นชอบต่อไป

นอกจากนั้นในกรณีที่การแก้ไขปัญหาส่งผลกระทบต่อขอบเขตของโครงการที่ ครม.อนุมัติไว้ เมื่อ กพอ. ได้ให้ความเห็นชอบการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนแล้ว ให้ สกพอ. เสนอ ครม.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบการแก้ไขสัญญานั้นต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาโครงการฯ ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐและเอกชนคู่สัญญา สกพอ. รฟท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ในรายงานยังระบุถึงปัญหาของโครงการอีกปัญหาด้วยคือเรื่องมาตรฐานโครงสร้างเสาและฐานรากของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่ใช้มาตรฐานยุโรปที่รองรับอัตราเร็วสูงสุด 160 กม./ชม. ในการออกแบบแตกต่างกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีนเส้นทางกรุงเทพมหานครถึงหนองคายที่ใช้มาตรฐานจีนที่รองรับความเร็วสูงสุด 250 กม./ชม. แต่ทั้ง 2 โครงการนี้จะต้องใช้โครงสร้างเสาและฐานรากร่วมกันในช่วงบางซื่อถึงดอนเมือง นอกจากนั้นระยะเวลาดำเนินโครงการยังไม่สอดคล้องกันด้วย

เหตุผลดังกล่าวจะทำให้โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีนล่าช้าในการเปิดให้บริการหากไม่มีการเร่งรัด รฟท. กระทรวงคมนาคม (คค.) สกพอ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องหารือกับเอกชนคู่สัญญาของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเพื่อให้ได้ข้อยุติเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงสร้างเสาและฐานรากร่วมกันของทั้งสองโครงการ เช่น การปรับรูปแบบโครงสร้างทางเพื่อรองรับความเร็วของรถไฟความเร็วสูง และการปรับแผนการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

อย่างไรก็ตามในรายงานระบุว่าแม้ กพอ.จะรับทราบปัญหาแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ข้อยุติที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาโครงสร้างเสาและฐานรากของทั้งสองโครงการ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องครจะเร่งรัดการดำเนินการเพื่อให้ข้อยุติ เนื่องจากจะส่งผลต่อโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน ที่เป็นการร่วมทุนกันระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net