Skip to main content
sharethis

'จาตุรนต์' ส.ส.เพื่อไทย มองกรณีรัฐไทยผลักดันเด็กที่ไม่มีทะเบียนราษฎร 126 รายที่ศึกษาใน ร.ร. จ.อ่างทอง ไปพม่า เป็นการละเมิดพันธะกรณีระหว่างประเทศและสิทธิเด็กร้ายแรง สะท้อนมุมมองด้านความมั่นคงที่คับแคบ ในฐานะ ส.ส.พร้อมรวมข้อมูลเสนอต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อทำให้ถูกต้องต่อไป 

 

3 ส.ค. 2566 เว็บไซต์ สำนักข่าวชายขอบ รายงานเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2566 จาตุรนต์ ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการเดินทางไปให้ปากคำที่ สภ.ป่าโมก อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง กรณีที่ได้มีการแจ้งความดำเนินคดี กัลยา ทาสม ผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 อ.ป่าโมง ในข้อหาให้ที่พักพิงกับเด็กนักเรียน 126 คนที่ไม่มีเอกสารทางทะเบียนราษฎรจากประเทศพม่าว่า เนื่องจากตนเกี่ยวกับการทำมติคณะรัฐมนตรีเรื่องสถานะบุคคลและการคุ้มครองเด็กในการให้ได้รับศึกษา ซึ่งครอบคลุมเด็กทุกประเภทไม่จำกัดสัญชาติ และมีเอกสารติดตัวหรือไม่ โดยมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวได้ครอบคลุม ดังนั้น การที่ผู้บริหารสถานศึกษารับเด็กต่างชาติเข้ามาเรียน แม้หลายคนเข้าเมืองไม่ถูกกฎหมายก็ไม่ใช่ประเด็นที่ฝ่ายจัดการศึกษาต้องรับผิดชอบเพราะมีหน้าที่ให้การศึกษา และการให้เด็กมาเรียนจึงไม่มีความผิดในการให้ที่พักพิง

จาตุรนต์ ฉายแสง ส.ส.พรรคเพื่อไทย (ที่มา: เอ็กซ์ บัญชี: จาตุรนต์ ฉายแสง)

"ผมพยายามอธิบายให้เข้าใจหลักการเหล่านี้ ส่วนเรื่องการนำเด็กเข้าประเทศหรือไม่ ผมไม่เกี่ยวด้วย เป็นเรื่องของข้อเท็จจริง แต่ได้ข้อมูลที่ผมได้รับคือเขาไม่ได้เป็นคนนำเด็กเหล่านี้เข้าประเทศ และการเข้าเมืองไม่ถูกกฎหมายก็ไม่ได้เป็นปัญหาของฝ่ายจัดการศึกษา ที่ผมมาให้การเป็นพยาน เพราะเห็นว่าควรให้การคุ้มครองผู้บริหารสถานศึกษา และยังเห็นว่าไม่ควรทำแบบนี้คือเน้นจับผิดไปที่ผู้บริหารสถานศึกษา เป็นการส่งสัญญาณผิดๆ เพราะทำให้ผู้บริหารสถานศึกษาที่อื่นจะไม่กล้ารับเด็กที่มีปัญหาสถานะบุคคลประเภทต่างๆ ซึ่งหากเด็กเหล่านี้ไม่เข้าระบบ ก็จะเป็นผลเสียกับสังคมไทย" อดีตรองนายกฯ กล่าว

จาตุรนต์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องที่เจ้าหน้าที่รัฐผลักดันเด็ก 126 คนออกนอกประเทศไทยทันทีนั้น เป็นมาตรการดำเนินการที่ผิดอย่างมาก เพราะเป็นการละเมิดสิทธิของเด็กๆ อย่างรุนแรง รวมทั้งละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยทำไว้ และทำให้ประเทศไทยเสียภาพลักษณ์ ถือว่าเป็นการกระทำโดยขาดมนุษยธรรมเพราะทำให้เด็กต้องขาดเรียนกลางคันและส่งไปในสถานที่ที่ยังไม่ปลอดภัยซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตกใจเพราะผู้บริหารหน่วยงานราชการไทยขาดความรู้อย่างมาก

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา กล่าวว่า ตนยังได้เดินทางไปยังโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 ซึ่งเดิมทีมีเด็กนักเรียนกว่า 130 คน แต่เมื่อเกิดปัญหาและมีปัญหาส่งกลับ 126 คน เหลือเด็กอยู่ 9 คน ทำให้โรงเรียนต้องปิดและเป็นเรื่องน่าเศร้า เพราะเด็กพึงได้รับการคุ้มครองกลับถูกส่งกลับและปล่อยให้โรงเรียนร้าง นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 คนที่เคยเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ในจังหวัดเชียงราย  และย้ายมาเรียนที่อ่างทอง แต่กำลังจะถูกส่งกลับทั้งๆ ที่เขาควรจะเรียนในที่ต่างๆ ได้ แต่ตอนนี้เด็ก 2 คนจะอยู่ได้หรือไม่ อย่างไร อาจต้องส่งกลับไปพม่าก่อน แล้วหาทางดิ้นรนกลับประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้าจริงๆ ว่าผู้มีอำนาจหน้าที่ไม่เข้าใจเรื่องแบบนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่าคิดอย่างไรกับการที่โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 ถูกทำให้ร้าง จาตุรนต์ กล่าวว่า โรงเรียนจำนวนมากร้าง เพราะนักเรียนเหลือน้อย ซึ่งก็ต้องแก้ปัญหากันไป แต่กรณีนี้เขารับเด็กที่มีสถานะบุคคลตามคำแนะนำของวัดและชุมชนเข้ามาเรียน แต่กลับถูกทำให้ร้าง เพราะเรื่องของการเข้าเมืองหรือความมั่นคง ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วมีมติคณะรัฐมนตรีในการให้ความคุ้มครองเด็กตามความเห็นชอบของสภาความมั่นคงแห่งชาติ

“การทำให้โรงเรียนไทยรัฐวิทยาร้างในครั้งนี้ สะท้อนปัญหาความไม่เข้าใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง มองแต่ด้านความมั่นคงที่พยายามโยงไปถึงเรื่องการค้ามนุษย์ และกลัวเรื่องการสวมสิทธิให้ได้เป็นคนไทย ทั้งๆ ที่เป็นการเอาเด็กเข้ามาเรียน และมีการบันทึกการเข้าเรียนไว้อย่างครบถ้วน ถ้าจะขาดเอกสารข้อมูลก็คือเรื่องสถานะบุคล แต่ไม่ใช่เหตุของการไม่รับเด็กให้ได้เรียนหนังสือ พอเขาคิดด้านความมั่นคงแบบแคบๆ จึงทำให้การจัดการของเจ้าหน้าที่รัฐของไทยไม่เป็นไปตามหลักสากล และระบบของไทยเอง ที่สำคัญจะทำให้เด็กที่มีปัญหาสถานะบุคคลที่ย้ายตามพ่อแม่เข้ามาเป็นแรงงานข้ามชาติต้องถูกผลักออกจากระบบการศึกษา และกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต” จาตุรนต์ กล่าว

เมื่อถามอีกว่าในฐานะบทบาทของ ส.ส.ทำอะไรได้บ้าง จาตุรนต์ กล่าวว่า วันนี้มาเป็นพยานเพราะเคยเกี่ยวข้องกับการทำมติต่างๆ ในเรื่องนี้มา แต่จากนี้จะรวบรวมข้อมูล เพื่อเสนอต่อผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง ถ้ามีรัฐบาลชุดใหม่ก็เสนอต่อรัฐบาล เพื่อให้ทำเรื่องนี้ถูกต้อง รวมทั้งทำความเข้าใจกับกระทรวงศึกษาธิการ ฝ่ายความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  แต่ถ้ายังไม่เข้าใจก็อาจเสนอเป็นญัติหรือหามาตรการผ่านฝ่ายนิติบัญญัติต่อไป

ด้าน รศ.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ได้เดินทางมาให้ปากคำเช่นเดียวกับนายจาตุรนต์ เพราะต้องการขอความเป็นธรรมให้กับกัลยา ในฐานะที่ตนเป็นนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำยุทธศาสตร์สถานะบุคคลเมื่อปี 2548 และเป็นมติคณะรัฐมนตรีในที่สุด อย่างไรก็ตามมีประเด็นที่ต้องถกเถียงกับทางตำรวจ เพราะตำรวจมุ่งเน้นว่าเด็กนักเรียนเข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่ไม่พูดถึงเรื่องการจัดการศึกษา ซึ่งตนเองพยายามบอกว่ามีเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายที่ใหญ่กว่า ที่สำคัญคือการส่งเด็กกลับไปทางจังหวัดเชียงรายก็ควรหาโรงเรียนให้เด็กก่อน การปล่อยให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษาเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และทราบว่าตอนนี้เด็กบางคนต้องตกระกำลำบากอยู่แถวชายแดนฝั่งพม่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net