Skip to main content
sharethis

หลังฮุน มาเนต ได้เป็นนายกฯ คนใหม่มาสืบทอดอำนาจจากคนพ่อคือ ฮุน เซน ผู้นำอำนาจนิยมที่อยู่ในตำแหน่งมายาวนานเกือบ 40 ปี นักวิจัยเรื่องเผด็จการชี้ให้เห็นว่าผู้นำอำนาจนิยมอย่าง ฮุน เซน เตรียมอะไรไว้ให้แก่ทายาทที่จะมาสืบทอดอำนาจตัวเองบ้าง

กษัตริย์ นโรดม สีหมุนี โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ ฮุน มาเนต ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมา หลังมีการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ที่พรรคของ ฮุน เซน ได้รับคะแนนเสียงถล่มทลายแต่ก็ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่เสรีและไม่เป็นธรรม

ฮุน มาเนต เป็นผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกและรองผู้บัญชาการทหารสูงสุดกัมพูชา เขาเรียนจบจากโรงเรียนนายร้อนสหรัฐฯ (เวสต์ปอยด์) และศึกษาด้านเศรษศาสตร์จากสหรัฐฯ และอังกฤษ มีนักวิเคราะห์กัมพูชาเก็งว่า ฮุน มาเนต ลูกชายของ ฮุน เซน จะได้เป็นทายาทที่จะสืบต่ออำนาจของพ่อตัวเองมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว

การรับตำแหน่งของมาเนตในครั้งนี้เป็นเสมือนการส่งสัญญาณว่า ฮุน เซน จะวางมือจากการเป็นผู้นำรัฐบาลกัมพูชาแล้วส่งไม้ต่อให้ลูกชายของเขา โดยที่ฮุน เซน เคยประกาศว่าจะลงจากตำแหน่งมาตั้งแต่ปลายเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา

สื่อ CNN ระบุว่า ฮุน เซน เคยเป็นทหารในฝ่ายเขมรแดงช่วงที่กัมพูชามีสงครามกลางเมืองนองเลือด แต่ก็แปรพักตร์มาอยู่ฝ่ายต่อต้านเขมรแดงในเวลาต่อมา จากนั้นเขาก็ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในกัมพูชาอย่างต่อเนื่องหลายสมัยรวมแล้วเป็นเวลา 38 ปี ในช่วงเวลานั้นเขาได้สร้างเสถียรภาพให้กับกัมพูชาแต่ก็มีการลิดรอนประชาธิปไตยในประเทศ

CNN ระบุอีกว่าถึงแม้ ฮุน เซน จะลงจากตำแหน่งนายกฯ แล้วแต่เขาก็ยังจะอยู่ในตำแหน่งสำคัญในสภาและในพรรคของตนเอง

นักวิเคราะห์ประเมิน อะไรที่ทำให้ ฮุน เซน คงอำนาจมายาวนาน

ในที่ประชุมพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2564 ที่มี ฮุน เซน นั่งเป็นประธานองค์ประชุม มีการโหวตลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ให้ ฮุน มาเนต ได้รับการวางตัวเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากพ่อของเขา

สำหรับ ฮุน เซน นั้น เป็นที่รู้จักดีในสื่อต่างประเทศและในหมู่ผู้สังเกตการณ์กัมพูชาว่าเป็นผู้นำรัฐบาลอำนาจนิยมที่ใช้วิธีการในเชิงลิดรอนเสรีภาพและละเมิดสิทธิมนุษยชนในการกำจัดคู่แข่งทางการเมือง ทำให้ในการเลือกตั้งปลายเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา กลายเป็นการเลือกตั้งแบบไม่เป็นธรรม ที่มีพรรคใหญ่ CPP สู้กับพรรคเล็กๆ ที่ไร้พลังต่อกรใดๆ เพราะรัฐบาล ฮุน เซน เล่นงานฝ่ายต่อต้านเขามาโดยตลอด เช่น การตัดสิทธิพรรคฝ่ายค้านพรรคใหญ่ หรือการไล่ล่าดำเนินคดีกับนักการเมืองหรือนักกิจกรรมฝ่ายต่อต้าน

ลี มอร์เกนเบสเซอร์ นักวิชาการทุนวิจัยออสเตรเลียนรีเสิร์จเคาซิล ระบุว่าเขาได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่องลัทธิการเมืองแบบอำนาจนิยมเอาไว้ ซึ่งนำมาใช้วิเคราะห์ในกรณีของ ฮุน เซน ได้ มอร์เกนเบสเซอร์ชี้ว่าสาเหตุที่ ฮุน เซน คงไว้ซึ่งการเมืองแบบอำนาจนิยมของตัวเองเอาไว้ได้ มี 2 ปัจจัย สำคัญ

อย่างแรกคือการที่ ฮุน เซน ทำตาม "ตำรา" การปลูกสร้างความเป็นเผด็จการตัวบุคคลให้กับตัวเองแบบเดียวกับที่ ซัดดัม ฮุสเซน ของอิรักเคยทำไว้

วิธีการที่ทำให้ได้มาซึ่งเงื่อนไขนี้คือการที่เขาทำตัวเป็น "คนเฝ้าประตู" ในกระบวนการคัดเลือกแต่งตั้งคนที่จะดำรงตำแหน่งระดับสูงทางการเมือง มีการแต่งตั้งญาติๆ ของตัวเองเข้าไปดำรงตำแหน่งระดับสูงในพรรค, ในกองทัพ และในรัฐบาล เข้าควบคุมหน่วยงานความมั่นคงของรัฐและสร้างกองกำลังกึ่งทหารของตัวเองขึ้นมาที่อยู่นอกเหนือสายการบังคับบัญชาของกองทัพ รวมถึงมีการผูกขาดกระบวนการตัดสินใจภายในพรรครัฐบาลไปพร้อมๆ กับการควบคุมว่าจะให้ใครเข้าใครออกจากคณะกรรมการบริหาร

พอจนถึงปี 2548 ฮุน เซน ก็กลายเป็นคนๆ เดียวที่มีอำนาจพิจารณาในเรื่องนโยบายบุคลากรทางการเมืองและการตบรางวัลให้กับผู้คนในระบบการเมืองกัมพูชา

ปัจจัยที่สองที่ ฮุน เซน ได้ทำไว้คือการฝังรากระบอบเผด็จการในกัมพูชาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เปลี่ยนประเทศให้กลายเป็นประเทศที่ปกครองแบบพรรคการเมืองเดี่ยว เมื่อปี 2558 รัฐบาลฮุน เซน ได้ออกกฎหมายปิดกั้นปราบปรามกลุ่มภาคประชาสังคม และในปี 2560 กระทรวงการคลังของกัมพูชาก็ได้เล่นงานสื่ออิสระอย่างแคมโบเดียเดลีโดยอ้างข้อหาเรื่องภาษี ซึ่งคดีดังกล่าวนี้เป็นข้ออ้างของพวกเขาในการพยายามกำจัดสื่ออิสระจากกัมพูชา

ศาลสูงสุดของกัมพูชายังได้สั่งยุบพรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุดอย่างพรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) ซึ่งเป็นพรรคเดียวที่มีโอกาสต่อกรกับพรรคของ ฮุน เซน ได้ โดยมีการใช้ข้ออ้างเรื่องที่ว่าพรรค CNRP พยายามล้มล้างรัฐบาล ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ ฮุน เซน มักจะนำมาอ้างใช้กล่าวหาใครก็ตามที่ไม่เห็นด้วยกับเขา

วัตถุดิบสืบทอดอำนาจเผด็จการจาก 'ฮุน เซน' สู่ 'ฮุน มาเนต'

มอร์เกนเบสเซอร์ ระบุว่า การที่ ฮุน เซน อาศัยเครื่องมือต่างๆ ในการดำรงอำนาจไว้นับเป็นการเปิดทางให้ทายาทของเขาคือ ฮุน มาเนต เข้าสู่อำนาจได้อย่างราบรื่นไปด้วย ในทางการเมืองแล้วหนึ่งในจุดอ่อนที่เปราะบางของเผด็จการคือช่วงที่มีการสืบทอดทายาทของผู้นำ การสืบทอดเช่นนี้มักจะชวนให้เกิดการต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันเองภายในหมู่ชนชั้นนำ และอาจจะทำให้ประเทศเข้าสู่ภาวะโกลาหลได้

ในแง่นี้คนที่ทำตัวเป็นเผด็จการตัวบุคคลคนเดียวที่เรียกว่า "สตรองแมน" นั้นมักจะยังไม่ยอมลงจากอำนาจจนกว่าจะสามารถสร้างเงื่อนไขเตรียมเอาไว้ ดังนี้

1. เงื่อนไขเรื่อง "ความคุ้มกัน" ซึ่งหมายถึงการรับรองว่าพวกเขาจะได้รับการคุ้มกันทางกฎหมายไม่ให้ถูกเอาผิดในข้อกล่าวหาต่างๆ ช่วงที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่

2. เงื่อนไขเรื่อง "ความมั่นคง" คือการที่พวกเขาจะมีกองกำลังกึ่งทหารหรือมีตำแหน่งในระดับสูงที่สุดของหน่วยงานความมั่นคงแห่งรัฐ

3. เงื่อนไขเรื่อง "ความมั่งคั่ง" พวกเขาจะซุกกองเงินของตัวเองไว้ที่ใดที่หนึ่ง หรือมีทรัพย์สินต่างๆ ที่จะใช้เป็นเงินทุนในการเสวยสุขในบั้นปลายได้

4. เงื่อนไขเรื่อง "ความเชื่อใจได้" พวกเขาจะแต่งตั้งบุคคลที่จะมาควบคุมสิ่งต่างๆ แทนที่พวกเขาในแบบที่จะช่วยปกป้องเงื่อนไข 3 ข้อข้างบนได้


 

สำหรับกรณี ฮุน เซน แล้ว มอร์เกนเบสเซอร์มองว่าเขาทำให้เกิดเงื่อนไขล่วงหน้าได้ครบทุกข้อแล้ว เว้นแต่เรื่อง "ความคุ้มกัน" ซึ่งก็ถือว่าอยู่ในตำแหน่งที่ดีพอสมควรในการสืบทอดอำนาจต่อให้ลูกตัวเอง

มอร์เกนเบสเซอร์ ระบุว่าโดยทั่วไปแล้ว พอถึงเวลาที่มีการสืบทอดอำนาจของพวกเผด็จการ เผด็จการตัวบุคคลคนใหม่มักจะได้รับการยกประโยชน์ให้ท่ามกลางความน่าสงสัย (ซึ่งหมายถึงการคนๆ นั้นยังไม่ได้รับการพิสูจน์ชัดเจนว่าดีหรือแย่จึงมีการยกประโยชน์ให้ว่าเขายังไม่มีความผิดใดๆ เพราะยังพิสูจน์ไม่ได้) จากต่างชาติที่มองอะไรเป็นบวก และจากนักข่าวต่างประเทศที่มองโลกในแง่ดี เรื่องนี้เป็นเพราะความรู้สึกเหนื่อยหน่ายและความไม่พอใจต่อคนเก่า ทำให้คนเหล่านี้จะมองว่าคนใหม่เขาจะแย่ไปกว่าคนเก่าจริงหรือ

ฮุน มาเนต เป็นคนที่ได้รับการฝึกอบรมด้านการทหารจากเวสต์ปอยต์ สหรัฐฯ และเรียนจบสาขาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบริสตอลของอังกฤษ เขายังคงได้รับการยกประโยชน์ให้ท่ามกลางความน่าสงสัยเช่นเดียวกัน

แต่ มอร์เกนเบสเซอร์ ก็มองว่า ฮุน มาเนต ได้รับการปลูกฝังจากพ่อของเขาให้ดำเนินรอยตามความผู้นำอำนาจนิยมพิมพ์เดียวกับพ่อตัวเอง เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับทายาทผู้นำเผด็จการอื่นๆ อย่าง คิมจองอึน (ลูกชายของคิมจองอิล ผู้นำเกาหลีเหนือ) หรือ บาชาร์ อัล-อัสซาด (ลูกของ ฮาเฟซ อัล-อัสซาด ผู้นำซีเรีย)

อีกทั้งยังมีความเป็นไปได้เช่นกันที่มาเนตจะใช้วิธีการเลือกตั้งปาหี่ที่ไม่เสรีและไม่เป็นธรรมเพื่อดำรงอำนาจของตัวเองเอาไว้แบบเดียวกับที่พ่อของเขาทำ


เรียบเรียงจาก

Cambodia’s king approves nomination of Hun Manet as next Prime Minister, CNN, 07-08-2023

Cambodian strongman Hun Sen wins another ‘landslide’ election. Will succession to his son be just as smooth?, The Conversation, 24-07-2023

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net