Skip to main content
sharethis

ในกัมพูชามีกรณีที่นักวิจารณ์รัฐบาลผ่านทางเฟสบุ๊คถูกทำร้ายร่างกาย และเมื่อสื่ออิสระ CamboJA รายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ พวกเขากลับถูกคุกคามจากกระทรวงเกษตรฯ ของกัมพูชา ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถูกวิจารณ์ ทางกระทรวงขู่ให้ลบชื่อของรัฐมนตรีออกจากข่าว เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นสภาวะการคุกคามสื่ออิสระในกัมพูชา หลังจากที่ก่อนหน้านี้สื่ออิสระอีกแห่งหนึ่งคือ VOD ถูกยึดใบอนุญาต

30 ก.ย. 2566 กระทรวงเกษตร, ป่าไม้ และประมง (MAFF) ของกัมพูชา ขู่จะฟ้องร้องดำเนินคดีต่อสื่ออิสระของกัมพูชาคือเว็บไซต์ "สหพันธ์สมาคมผู้สื่อข่าวกัมพูชา" หรือ CamboJA โดยกล่าวหาว่าสื่อแห่งนี้ทำให้ข้าราชการกระทรวงเสื่อมเสียชื่อเสียง ซึ่งรวมไปถึงรัฐมนตรีของกระทรวงการเกษตรฯ คือ Dith Tina ด้วย

ก่อนหน้านี้ CamboJA เคยรายงานเรื่องที่ผู้ประกอบการการเกษตร Ny Nak และภรรยาของเขา Sok Synet ถูกทำร้ายร่างกายจากกลุ่มคนสวมหมวกกันน็อค 8 ราย ที่ก่อเหตุโดยใช้ไม้กระบองและรถจักรยานยนต์ เหตุเกิดใกล้กับกรุงพนมเปญเมื่อวันที่ 12 ก.ย. ที่ผ่านมา

ในรายงานข่าวของ CamboJA ลงวันที่ 14 ก.ย. 2566 รายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจากฮิวแมนไรท์วอทช์ว่าลักษณะการก่อเหตุนั้นคล้ายกับการก่อเหตุลอบทำร้ายที่เกิดขึ้นหลายครั้งกับสมาชิกพรรคเพลิงเทียนซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านของกัมพูชาในช่วงไม่กี่เดือนก่อนหน้าการเลือกตั้ง ก.ค. 2566 คือมีคนขี่รถจักรยานยนต์ทุบตีเหยื่อด้วยไม้กระบอง

Ny Nak เป็นผู้ผลิตปุ๋ยและผู้เพาะไม้ผลขาย ก่อนหน้านี้เขาเคยถูกคุมขังเป็นเวลา 18 เดือน เพราะวิพากษ์วิจารณ์นโยบาย COVID-19 ของรัฐบาลกัมพูชา หลังจากที่เขาได้รับการปล่อยตัวเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา Ny Nak ก็ยังคงเดินหน้าวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลกัมพูชาต่อไปผ่านทางเพจเฟสบุคของเขาเองในเรื่องโครงการของรัฐบาลโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร เฟสบุคเพจของเขามีผู้ติดตามมากกว่า 400,000 ราย

โพสต์ของ Ny Nak เมื่อไม่นานนี้มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานและกระทรวงเกษตรฯ ว่าไม่สามารถยกระดับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานและเกษตรกรชาวกัมพูชาให้ดีขึ้นได้ นอกจากนี้ Ny Nak ยังบอกอีกว่าเขาปฏิเสธคำเชิญเข้าร่วมพรรครัฐบาลของกัมพูชาในตอนที่มีเจ้าหน้าที่พรรคมาเยือนบ้านของเขาเพื่อขอให้เขาเลิกกล่าวโจมตีรัฐบาล

หลังจากที่ Ny Nak ถูกทำร้ายร่างกาย เขาได้กล่าวปฏิเสธข้อสรุปเบื้องต้นจากทางการที่ระบุว่าการโจมตีอาจจะเป็นการทำร้ายร่างกายเพื่อชิงทรัพย์ Ny Nak บอกว่า "ผมเชื่อว่าคนที่ทุบตีผมพยายามจะฆ่าผมเพราะว่าผมชอบวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล"

Am Sam Ath ประธานของกลุ่มสิทธิมนุายชนในกัมพูชา Lucadho ยังได้กล่าวย้ำเรื่องที่รัฐบาลกัมพูชามักจะใช้กำลังทำร้ายร่างกายสมาชิกฝ่ายค้านและเรียกร้องให้ทางการสืบสวนสอบสวนกรณีการทำร้ายร่างกายต่อ Ny Nak นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นว่ามีกรณีการโจมตีฝ่ายค้านจำนวนมากที่ยังคงไม่มีการจับตัวผู้ต้องสงสัยก่อเหตุแต่อย่างใด

ในวันที่ 15 ก.ย. กระทรวงเกษตรฯ ของกัมพูชา เผยแพร่แถลงการณ์ผ่านเฟสบุคเพจของกระทรวง ปฏิเสธข้อกล่าวหาของ Ny Nak โดยระบุว่าเป็นต้องกล่าวหาที่  "ไม่มีมูล" แถลงการณ์ดังกล่าวยังตำหนิ CamboJA ที่เผยแพร่คำพูดของ Ny Nak ด้วยว่าเป็นการ "ละเมิดหลักจรรยาบรรณสื่ออย่างร้ายแรง"

นอกจากนี้กระทรวงเกษตรฯ ของกัมพูชา ยังได้เรียกร้องให้ CamboJA "แก้ไข" รายงานข่าวของตัวเองโดยมีการขู่ว่าจะดำเนินคดีทางกฎหมายต่อพวกเขา มีการขู่ให้สื่อ CamboJA กระทำการอย่างไม่มี "เจตนาร้าย" และ "การคาดการณ์แบบหมิ่นประมาท" แบบนี้อีกในอนาคต และขู่ว่าจะทำให้พวกเขาประสบชะตากรรมเดียวกับสื่อ "วอยซ์ออฟเดโมเครซี" หรือ VOD ซึ่งเป็นสื่ออิสระในกัมพูชาที่เคยถูกเล่นงานด้วยการยึดใบอนุญาตมาก่อนเมื่อต้นปีที่ผ่านมาโดยรัฐบาล ฮุน เซน

หลังจากที่ถูกข่มขู่คุกคามจากกระทรวงเกษตรฯ ทาง CamboJA ก็ยอมแก้ไขเนื้อหาข่าวของตัวเองด้วยการนำชื่อของรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ กัมพูชาออกจากรายงานข่าว รวมถึงมีการแก้ไขชื่อของบางคนในนั้นด้วย โดยระบุลงวันที่การแก้ไขเป็นวันที่ 19 ก.ย. 2566 โดยยังคงมีชื่อของโฆษกกระทรวงเกษตรฯ ที่ให้สัมภาษณ์กับพวกเขา และระบุเพียงตำแหน่ง เช่น Ny Nak "โพสต์เฟสบุควิจารณ์รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ คนปัจจุบัน" และ "รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ คนปัจจุบันไม่สามารถเข้าถึงเพื่อขอความคิดเห็นได้"

สะท้อนการคุกคามสื่ออิสระในกัมพูชา

กัมพูชาถูกจัดอันดับให้อยู่ที่ 147 จากทั้งหมด 180 อันดับ ในดัชนีเสรีภาพสื่อประจำปี 2566 ขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) โดยมีการเท้าความถึงสถานการณ์สื่อในกัมพูชาว่า อดีตนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน เคยทำสงครามกับสื่ออิสระในกัมพูชามาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งปี 2561 แล้ว และในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในปี 2566 ก็มีการคุกคามฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองและการคุกคามสื่อเพิ่มจนทำให้เกิดการเพิกถอนใบอนุญาตสื่อ VOD

สื่อ New Naratif ได้รายงานเมื่อวันที่ 25 ก.ย. ที่ผ่านมา เกี่ยวกับการสิดรอนเสรีภาพสื่อในกัมพูชาโดยมีการพูดถึงกรณีการยึดใบอนุญาตสื่อ VOD

Khan Leakhena นักข่าว VOD ที่ทำงานมาเป็นเวลากว่า 10 ปีที่นั่นกล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อ New Naratif ว่า ทาง VOD เคยร่วมกัน "ทำงานเป็นทีมโดยไม่มีการกีดกันเลือกปฏิบัติ" และพยายามสร้างสภาพแวดล้อมที่ "มีความสุข" แม้แต่ตอนที่ทำงานหนัก

หลายเดือนก่อนหน้าการเลือกตั้ง ก.ค. 2566 เธอก็เผชิญกับการถูกข่มขู่คุกคามจนกระทั่งสื่อ VOD ปิดตัวลง เธอเล่าว่าเมื่อช่วงใกล้สิ้นปี 2565 มีคนแปลกหน้าลอบติดตามตัวเธอ โดยเธอตั้งข้อสังเกตว่ามันเกิดขึ้นหลังจากที่เธอไปทำข่าวการประท้วงที่ฟรีดอมปาร์กเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง อีกครั้งหนึ่งเธอถูกคนขับรถไล่ตามและพยายามจะชนเธอที่ตอนนั้นกำลังขี่รถจักรยานยนต์ออกจากสำนักงาน โชคดีที่เธอควบคุมไม่ให้มีการเฉี่ยวชนเกิดขึ้น Leakhena บอกว่ามันเป็น "หนึ่งในประสบการณ์การถูกคุกคามที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในช่วงไม่นานนี้ที่เธอได้เผชิญ เมื่อเทียบกับตลอด 10 ปีของการทำงานเป็นนักข่าว"

นอกจาก VOD แล้วหลายวันก่อนการเลือกตั้ง 2566 รัฐบาลกัมพูชายังได้สั่งให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตปิดกั้นสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่าง แคมโบเดียเดลี, เรดิโอฟรีเอเชีย และกัมโนตรา

โฆษกของเรดิโอฟรีเอเชียแถลงว่า การปิดกั้นสื่อออนไลน์เหล่านี้ "เป็นการละเมิดกฎหมายของกัมพูชาอย่างเห็นได้ชัดและเป็นความพยายามในการเซนเซอร์การไหลเวียนอย่างอิสระของข้อมูลข่าวสารก่อนหน้าการเลือกตั้งวันที่ 23 ก.ค."

ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนจากสหประชาชาติกล่าวว่า การเลือกตั้งล่าสุดของกัมพูชาดำเนินการภายใต้ "การลดน้อยถอยลงของพื้นที่ภาคประชาสังคมและพื้นที่ทางการเมือง" ซึ่งเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อ "ความน่าเชื่อถือ" ของผลการเลือกตั้ง

นอกจากนี้ New Naratif ยังรายงานถึงเรื่องที่การปิด VOD และการคุกคามสื่อยังส่งผลให้กิดการเซนเซอร์ตัวเองและการที่นักข่าวทำงานไม่ได้เพราะขาดแคลนแหล่งข้อมูล

การคุกคามสื่อยังดูเหมือนว่าจะไม่หยุดลงแม้กระทั่งหลังจากการเลือกตั้งจบลงแล้ว เช่นกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นกับสื่อ CamboJA เซบาสเตียน สแตรงจิโอ บรรณาธิการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ "The Diplomat" ระบุว่า การที่กระทรวงเกษตรฯ ออกแถลงการณ์ในเชิงคุกคาม CamboJA เป็นสิ่งที่สะท้อนปัญหาเรื่องเสรีภาพสื่อที่ยังคงเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลใหม่ที่นำโดย ฮุน มาเนต ผู้สื่อทอดตำแหน่งจากพ่อของเขา ฮุน เซน

สแตรงจิโอ วิเคราะห์ว่า การที่กระทรวงเกษตรฯ กัมพูขาต่อว่าสื่อ สะท้อนให้เห็นว่าทางการกัมพูชามองเรื่องการรายงานเชิงวิพากษ์วิจารณ์ในฐานะการโจมตีชื่อเสียงและเกียรติยศของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงมองว่าเป็นสัญญาณของเจตนาร้ายที่จะต่อต้านรัฐบาล ในระบบแบบนี้ นักข่าวจะถูกคาดหวังให้ต้องยอมจำนนและทำตัวอยู่ในกรอบของอำนาจแทนที่จะทำหน้าที่ท้าทายอำนาจ

นอกจากนี้เหตุการณ์ดังกล่าวยังสะท้อนความเป็นจริงภายใต้รัฐบาลใหม่ของ ฮุน มาเนต ที่รัฐมนตรีและนักการเมืองยังคงมีความเหิมเกริมมากพอที่จะข่มขู่ปิดสื่อเพียงเพราะแค่สื่อรายงานในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ อาจจะเป็นสัญญาณว่ารัฐบาลใหม่นี้น่าจะมีความอดกลั้นน้อยยิ่งกว่าสมัยรัฐบาล ฮุน เซน ก็เป็นได้

ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของกัมพูชาเป็นลูกของ ฮุน เซน ผู้ที่อยู่ในอำนาจมาตั้งแต่ปี 2528 ฮุน เซน ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังจนทำให้เกิดการตัดสิทธิพรรคการเมืองฝ่ายค้านหลายพรรค กลายเป็นการเปิดทางให้พรรคของตัวเองและลูกชนะการเลือกตั้งได้อย่างง่ายดาย นอกจากการปราบปรามสื่ออิสระแล้ว สิทธิมนุษยชนยังเคยวิจารณ์รัฐบาล ฮุน เซน ในเรื่องที่พวกเขาลิดรอนเสรีภาพพลเมืองด้วย


เรียบเรียงจาก
Cambodia’s Ministry of Agriculture threatens legal action against CamboJA news, Global Voices, 24-09-2023
Eroding Press Freedom: Media Crackdown in Cambodia, New Naratif, 25-09-2023
Family of Violently Beaten Government Critic Seeks Justice, CamboJA, 14-09-2023
World Press Freedom Index 2023,  Reporters Without Borders

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net