Skip to main content
sharethis

สวรส. ระดมเครือข่ายวิจัยของประเทศ บูรณาการความร่วมมือขับเคลื่อนทิศทางการพัฒนาด้วยวิจัยระบบสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ มุ่งสู่การใช้ประโยชน์แท้จริง

13 พ.ย. 2566 สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เปิดเผยว่าบทบาทหนึ่งของงานวิจัยมีความสำคัญต่อการกำหนดมาตรการหรือนโยบายเพื่อการพัฒนาประเทศให้เกิดทิศทางที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันแหล่งทุนวิจัยมีหลากหลายทั้งในและต่างประเทศ เช่น แหล่งทุนในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตรรม (ววน.) ทุนวิจัยของแต่ละหน่วยงาน ทุนวิจัยจากต่างประเทศ ฯลฯ ซึ่งที่ผ่านมาอาจมีลักษณะต่างคนต่างทำ ขาดการบูรณาการและฐานข้อมูลกลาง เกิดความซ้ำซ้อน ตลอดจนการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอาจมีทิศทางที่กระจัดกระจายและพลังความรู้อาจลดทอนลงจากการทำงานแบบแยกส่วนออกจากกัน

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักของประเทศในการบริหารจัดการงานวิจัยเพื่อการพัฒนาระบบสุขภาพ เล็งเห็นถึงความสำคัญของประเด็นดังกล่าว จึงระดมเครือข่ายวิจัยด้านสุขภาพและแหล่งทุนที่เกี่ยวข้องร่วมหารือแนวทางการทำงานแบบบูรณาการเชื่อมโยงเครือข่าย โดยมี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการ สวรส. เป็นประธานการประชุม พร้อมผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานด้านสุขภาพและวิจัย ตลอดจนแหล่งทุนสำคัญของประเทศ อาทิ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต, นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ, นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา, นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, ผู้แทนจากสถาบันพระบรมราชชนก, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, กรมการแพทย์, กรมควบคุมโรค, กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) ฯลฯ เข้าร่วมการประชุม เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2566 ณ ห้องประชุมสุปัญญา สวรส. ชั้น 4 อาคารสุขภาพแห่งชาติ  

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า สิ่งสำคัญของการบูรณาการเชื่อมโยงเครือข่ายคือ การพัฒนากลไกให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล และสร้างเครื่องมือที่จะช่วยให้แต่ละเครือข่ายรู้ข้อมูลของกันและกัน เพื่อลดโอกาสของการทำงานที่ทับซ้อน ตลอดจนร่วมกันวางแผนการขับเคลื่อนงานวิจัยไปสู่การสร้างผลลัพธ์และผลกระทบที่ทำให้เกิดการพัฒนาระบบสุขภาพและสุขภาพของประชาชน ทั้งนี้แหล่งงบประมาณการวิจัยของประเทศ ณ ขณะนี้ มีอยู่หลากหลาย ทั้งจากงบประมาณตามภารกิจของหน่วยงานนั้นๆ เอง งบประมาณจากต่างประเทศหรืองบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กสว.) ที่มีหน่วยงานต่างๆ ร่วมดำเนินการวิจัยเพื่อผลักดันการพัฒนาด้านต่างๆ ภายใต้งบวิจัยและนวัตกรรม ทุนสนับสนุนงานตามยุทธศาสตร์ (Strategic Fund: SF) และทุนสนับสนุนงานที่เป็นรากฐานงานวิจัย (Fundamental Fund: FF) รวมถึงงบการนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ (Research Utilization: RU) นอกจากนั้นยังมีงบด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ให้กับประเทศได้อย่างมาก ทั้งนี้ในส่วนของ สวรส. มีการบริหารงบประมาณในการทำวิจัย 3 ส่วนหลักๆ คือ 1.งานวิจัยมุ่งเป้าที่เน้นเรื่องการวิจัยเชิงระบบ 2.งานวิจัยเชิงคลินิกที่เป็นโจทย์สำคัญๆ ของประเทศ โดยอาจมีการทำงานร่วมกับหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัย (PMU) ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เป็นต้น และ 3.การขับเคลื่อนจีโนมิกส์ไทยแลนด์ให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาระบบสุขภาพ ซึ่งหวังว่าการบูรณาการการทำงานร่วมกันในครั้งนี้จะเกิดการเชื่อมโยงการทำงานและเพิ่มประสิทธิภาพการทำวิจัยให้กับแต่ละเครือข่าย รวมทั้งสามารถสะท้อนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการบริหารงบประมาณด้านการวิจัยระบบสุขภาพของประเทศได้ในเวลาเดียวกัน 

ทั้งนี้ในการประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยมีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า เห็นประโยชน์ของการทำงานเชื่อมโยงแบบบูรณาการ เพื่อเสริมแรงกันอย่างมีทิศทาง ลดความซ้ำซ้อนของการวิจัย และช่วยกันเติมช่องว่างที่ยังเป็นโจทย์ของการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศ ซึ่งไม่ใช่แค่งบวิจัยในระบบ ววน. แต่รวมถึงงบวิจัยจากทุกแหล่ง ตลอดจนช่วยกัน shape โจทย์วิจัย เพื่อให้มีความน่าจะเป็นของการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริง นอกจากนั้นควรมีการออกแบบเครื่องมือในการรวบรวมข้อมูลกลาง เพื่อการใช้ประโยชน์และการกำกับติดตามการดำเนินงานร่วมกัน ทั้งนี้ สกสว. ในฐานะแหล่งทุนสำคัญของประเทศ พร้อมที่จะสนับสนุนงบประมาณ เพื่อให้การบูรณาการเครือข่ายการวิจัยด้านระบบสุขภาพในครั้งนี้ส่งผลต่อการบริหารงบประมาณด้านการวิจัยของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

นอกจากนี้ในการประชุมได้มีการนำเสนอร่างคำสั่งเรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการสนับสนุนและบูรณาการการวิจัยด้านระบบสุขภาพ ภายใต้คณะกรรมการ สวรส. ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการทำงานร่วมกันของเครือข่ายการวิจัยด้านระบบสุขภาพของประเทศ โดยมีประธานกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข เป็นประธานคณะอนุกรรมการ 

มี ผอ.สวรส. เป็นรองประธานฯ อธิบดีหรือผู้แทนของกรมต่างๆ ในกระทรวงสาธารณสุข และผู้แทนจากหน่วยงานสำคัญเกี่ยวข้องกับการวิจัยด้านสุขภาพร่วมเป็นกรรมการ โดยคณะอนุกรรมการฯ นี้ อาจมีการพัฒนาและขยายองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการฯ ให้ครอบคลุมการทำงานที่กว้างขวางขึ้นในอนาคต ซึ่งจะมีทำหน้าที่ในการวางแนวทางและแผนการสนับสนุนและบูรณาการการวิจัยด้านระบบสุขภาพ ร่วมกับภาคีเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดผลกระทบด้านสุขภาพต่อประชาชน สนับสนุนการจัดทำคำของบประมาณการวิจัยด้านระบบสุขภาพของประเทศ รวมทั้งสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อพัฒนาการวิจัยด้านระบบสุขภาพ ส่งเสริมการขยายโครงสร้างพื้นฐานการวิจัยด้านระบบสุขภาพ ตลอดจนติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายและแผนการสนับสนุนและบูรณาการการวิจัยด้านระบบสุขภาพ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net