Skip to main content
sharethis

ภาคประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อมเผย 'โรงกลั่นน้ำมัน โรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิล โรงงานอุตสาหกรรม' ต้นตอฝุ่นพิษที่ถูกลืม ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคประชาสังคมเสนอรัฐบาลจัดการกับผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ และผ่านกฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและ เคลื่อนย้ายสารมลพิษ (PRTR)

เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2567 ภาคประชาสังคมนำโดยมูลนิธิบูรณะนิเวศ เครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง (MEENet) Thai Climate Justice for All (TCJA)  สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) และกรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) เปิดเวทีสาธารณะที่ SEA Junction หอศิลปะวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อนำเสนอข้อมูลและบทเรียนจากเมืองใหญ่ในไทยและต่างประเทศ ผลสำรวจแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศขนาดใหญ่จากอุตสาหกรรมที่ถูกละเลย และข้อเสนอทางออกจากวิกฤต

วิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ ผู้อำนวยการเครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง (MEENet) กล่าวว่า “เมื่อเกิดวิกฤตฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ เรามักจะพุ่งเป้าไปที่รถยนต์เป็นหลัก แต่แหล่งกำเนิดของฝุ่นพิษ PM2.5 ไม่ใช่แค่นั้น พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลมีแหล่งกำเนิดฝุ่นและคาร์บอนไดออกไซด์ขนาดใหญ่ คือโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิล โรงกลั่นน้ำมันที่มีกำลังผลิตสูงมาก ซึ่งปล่อยฝุ่นมากกว่ารถยนต์หลายเท่า การต่อกรกับวิกฤตฝุ่นพิษ PM2.5 ได้จริงจะต้องจัดการกับผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ดังกล่าว”

วิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ ยกกรณีแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศขนาดใหญ่คือ โรงกลั่นน้ำมันบางจากซึ่งเป็นโรงกลั่นแบบ Complex Refinery กําลังการผลิตสูงสุด 120,000 บาร์เรลต่อวันและปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ปีละ 900,000 ตัน [1] และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ซึ่งปัจจุบันมีกำลังผลิตรวม 1,930 เมกะวัตต์ และมีแผนจะขยายเพิ่มรวมทั้งสิ้นเป็น 4,519.4 เมกะวัตต์ในปี 2569-2570 ซึ่งเมื่อเสร็จสมบูรณ์แล้วจะปล่อยฝุ่นละอองสู่บรรยากาศวันละกว่า 4.6 ตัน และปล่อยออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) มากกว่า 6.4 ตันต่อวัน [2]

การปล่อยไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) และออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx)  ในบรรยากาศนำไปสู่การก่อตัวของ PM2.5 และโอโซน ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนทั่วโลก [3] โดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจและความเสียหายต่อปอดหากรับเข้าไปแบบเฉียบพลัน และเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคเรื้อรังหากรับเข้าไปในระยะยาว (Long-term exposure) ซึ่งสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่เกิดขึ้นทั่วโลก [4] ในสหภาพยุโรป การรับเอา NO2 เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 75,000 คนต่อปี [5] ในจีน มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นโดยระบุว่า ผลจากการสัมผัส NO2 นำไปสู่การเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของการเสียชีวิตจากโรคทางเดินหายใจและโรคหัวใจ [6]

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า “ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ที่ปล่อยจากแหล่งกำเนิดอย่างโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิลนั้นมีศักยภาพสูงในการก่อตัวของมลพิษขั้นทุติยภูมิ(secondary pollutants) รวมถึงฝุ่นพิษ PM2.5 ในบรรยากาศของกรุงเทพฯ และปริมณฑล การติดตามตรวจสอบและลดการปล่อยไนโตรเจนไดออกไซด์จึงมีความสำคัญ นอกเหนือจากการที่สาธารณชนต้องเข้าถึงรายงานการวัดการปล่อยก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ที่ปลายปล่องแล้ว มีความจำเป็นเร่งด่วนในการทำให้มาตรฐานการปล่อยไนโตรเจนไดออกไซด์เข้มงวดมากขึ้น”

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการ มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า “การศึกษาของมูลนิธิบูรณะนิเวศในจังหวัดสมุทรสาครเมื่อปี 2564 พบว่า ภาคอุตสาหกรรมเป็นแหล่งกำเนิดหลักของฝุ่นพิษ PM2.5 เมื่อเปรียบเทียบกับแหล่งกำเนิดจากภาคการจราจรและขนส่ง การเผาขยะมูลฝอย และการเผาในที่โล่ง โดยพื้นที่วิกฤตที่มีการปลดปล่อยสูงสุดคือ อ.เมืองสมุทรสาคร ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมหนาแน่นและเป็นหนึ่งในปริมณฑลสำคัญของกรุงเทพฯ [7] มูลนิธิฯ ยังได้มีการรวบรวมข้อมูลจำนวนโรงงานในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล โดยอ้างอิงข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรมเมื่อปี 2560 พบว่า มีจำนวนโรงงานอุตสาหกรรม 13,272 แห่งที่เป็นแหล่งก่อมลพิษทางอากาศ”

การศึกษาของมูลนิธิบูรณะนิเวศยังได้เจาะลึกถึงสารโลหะหนัก (Heavy metal) และสารมลพิษตกค้างยาวนาน (สาร POPs) ในองค์ประกอบของฝุ่น PM2.5 พบว่า การปนเปื้อนของสารมลพิษอันตรายทั้งโลหะหนักและสารมลพิษตกค้างยาวนานนั้นเกินค่าที่ปลอดภัยที่ต่างประเทศกำหนดไว้ถึงกว่า 20 เท่า อีกทั้งยังสูงกว่าผลการวิเคราะห์ปริมาณสารไดออกซินในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2555มากกว่า 4-5 เท่า [8] ซึ่งสารทั้งสองกลุ่มนี้มีอันตรายต่อสุขภาพสูง

มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) เครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง (MEENet) Thai Climate Justice for All(TCJA)  สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม(EnLaw) และกรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) มีข้อเสนอต่อหน่วยงานรัฐดังต่อไปนี้

มาตรการเฉพาะสำหรับโรงกลั่นน้ำมันและโรงไฟฟ้าในเขต กทม.

  • วางแผนการเดินเครื่องและการซ่อมบำรุงประจำปี ให้สอดคล้องกับการคาดการณ์สภาพอากาศ เช่น การหยุดซ่อมบำรุงประจำปี 45 วัน เป็นช่วงเดียวกับฤดูที่มีวิกฤติฝุ่น
  • ติดตั้งเทคโนโลยี WGS (wet gas scrubber) ที่ FCCU กรณีโรงกลั่นบางจาก
  • ติดตั้งเทคโนโลยีระบบควบแน่นและระบบกรองที่ระบบไอเสียก่อนปล่อยออกสู่บรรยากาศ กรณีโรงไฟฟ้า

มาตรการระยะสั้นเพื่อควบคุมการปล่อยมลพิษให้สำเร็จ

  • รัฐสภาและรัฐบาลสนับสนุน (ร่าง) พระราชบัญญัติการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ พ.ศ…. (PRTR) ซึ่งเป็นกฎหมายโดยตรงสำหรับการตรวจสอบและลดการปล่อยมลพิษจากทุกประเภทแหล่งกำเนิดที่ประเทศพัฒนาทุกแห่งมีการบังคับใช้ [9] 
  • ตรวจสอบระบบการบำบัดอากาศเสียและปริมาณการปล่อยทิ้งอากาศเสียของโรงงานในเขต กทม. และปริมณฑลที่ต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2549 และโรงงานที่มีกฎหมายควบคุมการปล่อยอากาศเสียเป็นการเฉพาะ ได้แก่ กิจการโรงโม่ บดหรือย่อยหิน โรงผลิตผลิตภัณฑ์ที่ทำด้วยเหล็ก/เหล็กกล้า โรงไฟฟ้าและโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล โรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงคัดแยก/ฝังกลบ และโรงงานรีไซเคิล
  • สำหรับโรงกลั่นน้ำมัน / โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมถึงโรงงานปิโตรเคมีขนาดใหญ่ และโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยฝุ่นมากควรมีมาตรการกำกับให้ลดหรืองดการเดินเครื่องในช่วงที่มีอากาศปิด และมี PM2.5 อยู่ในระดับวิกฤต
  • ระบบการตรวจวัดฝุ่น PM2.5 ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพของภาครัฐต้องพร้อมสุ่มตรวจตลอดเวลา ที่ควรมีการสุ่มตรวจเพิ่มเติมจากการตรวจวัดปกติสำหรับโรงงานที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการในรายงานประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) เนื่องจากข้อกำหนดของ EIA กำหนดการตรวจวัดไว้เพียงปีละสองครั้งที่ปลายปล่องระบายอากาศเสีย ซึ่งไม่ตรงกับช่วงเกิดวิกฤตการณ์ (การสุ่มตรวจวัดนี้เป็นคนละส่วนกับจุดตรวจวัดและการแสดงคุณภาพอากาศ ณ ชุมชนรอบโรงไฟฟ้า)
  • ชะลอและทบทวนโครงการการก่อสร้างส่วนต่อขยาย การเพิ่มกำลังผลิต หรือการทดแทนกำลังผลิตเดิมที่หมดอายุในบริเวณเดิม (หรือในเขต กทม.และปริมณฑล)  อนึ่ง การทำรายงานประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA และ EHIA) ในปัจจุบันของโครงการโรงไฟฟ้าพระนครใต้ไม่ได้คำนึงถึงช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตฝุ่นพิษ PM 2.5 แต่อย่างใด

มาตรการระยะยาว

  • ย้ายแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศขนาดใหญ่ออกจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล และการนำหลักการผังเมืองมาบังคับใช้ให้เข้มข้น
  • ให้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) ในภาพรวมของกรุงเทพฯ และปริมณฑลในบริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและวิกฤตคุณภาพอากาศ (โดยใช้ค่ามาตรฐาน PM และ AQI ที่เป็นสากล) เพื่อเป็นแม่บทในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่อไปในอนาคต
  • ปรับปรุงและออกกฎหมายโดยใช้มาตรการและมาตรฐานที่เป็นสากลและได้ผล โดยมีเป้าหมายอยู่ที่คุณภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมภายใต้กติกาและวัฒนธรรมประชาธิปไตย


หมายเหตุ :
[1] https://www.bangchak.co.th/th/sustainability/environment-dimension#air-pollution   กรณีโรงกลั่นเชฟรอนที่รัฐแคลิฟอร์เนียสหรัฐฯ ซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับโรงกลั่นน้ำมันบางจาก ปล่อย PM2.5 ประมาณ 473 ตัน/ปี จาก 119 จุดในระยะของโรงกลั่น
[2] https://www.egat.co.th/uploads/ehia/2564/egat-hearing64-sbp-k3c-docs.pdf  
[3] https://www.who.int/airpollution/ambient/pollutants/en/ รายละเอียดศึกษาเพิ่มเติมได้จาก การวิเคราะห์ของกรีนพีซ : มลพิษไนโตรเจนไดออกไซด์ช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2564 ในประเทศไทย https://www.greenpeace.org/static/planet4-thailand-stateless/2021/07/8f0b7057-ap-rebound_th.pdf และ การวิเคราะห์ของกรีนพีซ แหล่งกําเนิดของไนโตรเจนไดออกไซด์ในประเทศไทยจากข้อมูลดาวเทียม https://www.greenpeace.org/static/planet4-thailand-stateless/2019/10/4fbb5180-thailand-no2-report.pdf 
[4] https://journals.lww.com/epidem/Fulltext/2018/07000/Long_term_Concentrations_of_Nitrogen_Dioxide_and.2.aspx 
[5] https://www.eea.europa.eu/highlights/improving-air-quality-in-european/premature-deaths-2014 
[6] https://www.nature.com/articles/srep38328 
[7] อัจฉริยา สุริยะวงค์ และคณะ, คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เอกสารนำเสนอเรื่อง ฐานข้อมูลการปลดปล่อยฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร, โครงการสมุทรสาครสีเขียว มูลนิธิบูรณะนิเวศ, กันยายน 2564.
[8] ฐิติกร บุญทองใหม่ และคณะ, รายงานการศึกษา เรื่อง สารโลหะหนักในองค์ประกอบของ ฝุ่นละอองขนาดเล็กและสารมลพิษตกค้างยาวนานในองค์ประกอบของฝุ่นละอองรวมในบรรยากาศในพื้นที่ได้รับผลกระทบของมลพิษทางอากาศจากอุตสาหกรรม, โครงการวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองเพื่อลดความเสี่ยงจากมลพิษอุตสาหกรรม, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, สิงหาคม 2566.
[9] https://www.greenpeace.org/thailand/climate-airpollution-thaiprtr/ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net