Skip to main content
sharethis

'ปดิพัทธ์' รองประธานสภาฯ เข้าหารือ สำนักเลขาฯ ติดตามร่างกฎหมายด้านการเงิน ที่อยู่ระหว่างพิจารณาของนายกฯ ว่าติดขัดปัญหาอย่างไร และติดตาม รมต.เข้ามาตอบกระทู้ในสภาฯ ย้ำเจตนาบริสุทธิ์ ไม่ได้มองเป็นการรุกล้ำ แต่เป็นการสร้างความร่วมมือแก้ไขปัญหาร่วมกัน

 

1 มี.ค. 2567 เฟซบุ๊กสื่อ 'The Reporters' ถ่ายทอดออนไลน์วันนี้ (1 มี.ค.) เวลา 13.43 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ได้เดินทางมาสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือและติดตามการทำงานของร่างกฎหมายที่เป็นการเงิน 

หารือปัญหาพิจารณาร่างกฎหมายด้านการเงิน

ปดิพัทธ์ ให้สัมภาษณ์สื่อ ก่อนพบสำนักเลขาฯ ระบุว่า ที่เขาเดินทางมาวันนี้ เพื่อติดตามหนังสือขอร่วมประชุมหารือว่าจะมีการทำงานติดตามร่างกฎหมายอย่างไร เพราะว่าเคยทำหนังสือสอบถามมาแล้วก่อนหน้านี้ 

ปดิพัทธ์ ระบุว่าเคยทำหนังสือสอบถามนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่นายกฯ ระบุว่ากำลังรอฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆ แต่มันไม่มีรายละเอียดบอกว่าแต่ละร่างรอหน่วยงานไหน อย่างไร หน่วยงานไหนส่งแล้ว ไม่ส่งแล้ว เพื่อให้ทราบขั้นตอนตรงนี้ เขาเลยอยากหารือกับสำนักเลขาฯ เพื่อหาแนวทางการทำงาน แต่เบื้องต้น ทางสำนักเลขาฯ ยังไม่ได้แจ้งอะไร

ก่อนหน้านี้ พรรคเพื่อไทย กล่าวหาว่า รองประธานสภาฯ กำลังรุกล้ำอำนาจฝ่ายบริหาร ปดิพัทธ์ มองว่า เขาไม่เห็นด้วย เพราะว่าเขาไม่ได้มาบังคับให้ฝ่ายบริหารต้องเซ็นหรือทำอะไร แต่วันนี้เขาต้องการมาหารือกับฝ่ายบริหาร เพื่อแก้ไขปัญหาเท่านั้น ไม่ได้มองว่าตัวเองรุกล้ำ 

ปดิพัทธ์ ระบุต่อว่า สำหรับร่างกฎหมายด้านการเงินที่ค้างอยู่ ถ้าหากนายกฯ พิจารณาแล้วไม่รับร่าง น่าจะเป็นคำตอบที่ดีกว่า ปล่อยให้ยืดเยื้อต่อไปเรื่อยๆ เพราะว่าเจ้าของร่างกฎหมายเองไม่ทราบว่าร่างฯ ต้องปรับปรุงหรือไม่ คือมันมีปัญหาอย่างไร อยากให้ตอบกลับมา และส่งให้พิจารณาให้ใหม่ 

นอกจาก เรื่องร่างกฎหมายยังไม่มีการพิจารณาหลายฉบับ ปดิพัทธ์ ระบุว่า เขาอยากมาหารือกับสำนักเลขาธิการนายกฯ ถึงหลักเกณฑ์อะไรที่นำมาพิจารณาว่าร่างกฎหมายต่างๆ เป็นร่างการเงิน

"ตอบมาว่า 'ไม่เห็นชอบ' ก็ดีกว่า เพราะว่าไม่งั้นมันก็ pending (รอดำเนินการ) ไปเรื่อยๆ เจ้าของร่างก็ไม่รู้ว่าจะต้องไปปรับปรุงร่างรึเปล่า คือถ้ามันเป็นร่างการเงินและมันกระทบเท่าไรก็บอกกันมา เพราะว่า สส.จริงๆ แล้ว เขาสามารถปรับปรุงร่างในสมัยต่างๆ และก็ส่งได้ แต่ถ้ารอไปเรื่อยๆ ตอนนี้ 6 เดือนกว่าแล้ว 

"ก็เป็นร่างรับราชการทหาร ซึ่งเป็นการถ่ายโอนกำลัง เราไม่ทราบว่าเป็นร่างการเงินตรงไหน อย่างไร หรือว่าถูกตีความเป็นการเงิน เช่น ตอนแรกบอกว่า PRTR (ร่างพระราชบัญญัติการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ พ.ศ. …) การเปิดเผยข้อมูลมลพิษ เป็นการเพิ่มภารกิจให้กับกรมควบคุมมลพิษ เขาตีว่าเป็นร่างการเงิน เพราะฉะนั้น การตีร่างการเงินมันกว้างมาก เราก็ต้องการความชัดเจนเรื่องนี้ด้วย" ปดิพัทธ์ กล่าว 

รองประธานสภาฯ ระบุว่า ครั้งนี้ถือว่าเป็นการพูดคุยครั้งแรก เขาไม่ได้คาดหวังว่ามันจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งต้องเข้าใจทางฝั่งรัฐบาล แต่ถ้าไม่คุยกันเลย และโต้ตอบกันทางหนังสืออย่างเดียว มันก็ไม่มีโอกาสได้ปรับปรุงการทำงานร่วมกัน 

รองประธานสภาฯ กล่าวว่า ตอนส่งหนังสือติดตามร่างกฎหมายด้านการเงินกับสำนักเลขาฯ ร่าง แล้วถ้าสำนักเลขาฯ ตอบกลับมาอย่างละเอียดว่าแต่ละร่างฯ ติดอยู่ขั้นตอนใด ต้องรอหน่วยงานใดตอบกลับ หรือเจ้าของร่างฯ ต้องนำกฎหมายไปปรับปรุงอย่างไร ก็คงไม่ต้องเดินทางมาหารือลักษณะนี้ แต่ที่ได้รับเอกสารมาระบุรายละเอียดน้อยมาก ระบุว่าติดความคิดเห็นจากหน่วยงาน ถ้าหน่วยงานหนึ่งไม่ตอบเลย 3 ปี จะทำอย่างไร 

ย้ำเจตนาบริสุทธิ์ ไม่ได้รุกล้ำ แต่ต้องการประสานงานทำร่วมกัน

เมื่อถามว่าการที่รองประธานสภาฯ ต้องมาเอง แสดงว่าการทำงานร่วมกันมีปัญหาหรือไม่ ปดิพัทธ์ ระบุว่า เดิมทีการทำงานตามกฎหมายนี้ไม่ใช่หน้าที่ของวิปรัฐบาล และเขามีภาระหน้าที่ต้องดูแลร่างกฎหมายให้ทั้งร่างกฎหมายรัฐบาล และฝ่ายค้าน รวมถึงทั้งร่างฯ ของพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเจ้าของร่างทุกคนเขาร้อนใจว่าทำไมยังไม่ได้รับการบรรจุเข้าวาระประชุมสภาฯ 

ต่อคำถามสื่อว่ามีการแจ้งประธานสภาฯ ต่อกรณีที่มาพบสำนักเลขาธิการนายกฯ หรือไม่ ปดิพัทธ์ ระบุว่า มันเป็นหน้าที่ปกติ การตรากฎหมายจากฝ่ายนิติบัญญัติให้ถูกต้อง เป็นอำนาจหน้าที่ของรองประธานสภาฯ 

ต่อคำถามสื่อว่าการที่รองประธานสภาฯ มาเองทำในฐานะส่วนตัวหรือไม่ ปดิพัทธ์ ระบุต่อว่า เรื่องนี้วิจารณ์กันได้ แต่เจตนาของเขานั้น เพราะว่าสถานการณ์ร่าง ครม.ไม่เข้าสภาฯ และต้องใช้วิธีอุ้มร่าง สส.แทน ซึ่งตอนแรกเราคิดว่าจะเพิ่มวันประชุม เพราะว่าการเสนอกฎหมายได้หลายทาง ทั้งจาก ครม. สส. และภาคประชาชน แต่ถ้าสภาฯ ทำได้แค่รอร่างฝ่ายรัฐบาลอย่างเดียว เขาคิดว่าผิดหลักการสากล
 
ปดิพัทธ์ ย้ำว่า การทำงานระหว่างทำเนียบรัฐบาล และสภาฯ ต้องมีความใกล้ชิดกัน ถ้าทำงานร่วมกันบ่อยๆ ความไม่เข้าใจมันจะลดลงเอง และไม่คิดว่าทั้ง 2 ฝ่ายต้องวางตัวห่างกัน ไม่ได้มองเป็นเรื่องผิดธรรมเนียม

สำหรับความคาดหวัง หรือจุดมุ่งหมายที่มาวันนี้ ปดิพัทธ์ ระบุว่า ถ้าได้เจอฝ่ายบริหารของทำเนียบรัฐบาล เขาอยากจะสื่อสารเรื่องปัญหาการทำงานร่วมกันระหว่างสภาฯ และรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นท่าทีของประธานวิปรัฐบาลที่สื่อสารชัดเจนเรียกร้องการเข้ามาตอบกระทู้ของรัฐมนตรี และขั้นตอนทางธุรการต้องชัดเจนกว่านี้ ติดภารกิจสำคัญอะไร อย่างไร ไม่ใช่โต้ตอบกันผ่านสื่อ ต้องมีเวทีในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน และเรื่องกฎหมาย เขาไม่ได้ไร้เดียงสาทางการเมือง แต่อย่างน้อยต้องโปร่งใส ตรงไปตรงมา ติดเรื่องอะไรอย่างไรบ้าง

"วันนี้เขามาหาทางออก สร้างความร่วมมือ ในการพิจารณากฎหมายเพื่อประเทศชาติ ถ้ามองว่าเขามารุกล้ำ เป็นสิทธิที่สามารถวิจารณ์ได้ แต่เขายืนยันว่าวันนี้มาด้วยเจตนาบริสุทธิ์" รองประธานสภาฯ ระบุ

สำนักเลขาฯ ยันเห็นชอบเรื่องการหารือแล้ว แต่อาจติดขัดเรื่องการประสานงาน

เว็บไซต์ มติชน ออนไลน์ รายงานว่า หลังจากปดิพัทธ์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อ ได้เดินเท้ามาที่หน้าตึกบัญชาการ 1 เพื่อรอพบกับตัวแทนของสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี 

จากนั้น รองประธานสภาฯ ได้โชว์ภาพเอกสารที่ส่งมายังสำนักเลขาธิการนายกฯ ตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมาว่าจะมีการมาสอบถามความคืบหน้าของร่างกฎหมายต่อสำนักเลขาธิการนายกฯ ที่ทำเนียบรัฐบาล

กระทั่งเวลาผ่านไปประมาณ 10 นาที คณะของ จงเจริญ สุวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการกองงานประสานงานการเมืองสำนัก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ลงมาพบกับ ปดิพัทธ์ พร้อมกับเชิญขึ้นไปพูดคุยที่ชั้น 5 ตึกบัญชาการ 2

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการหารือ ปดิพัทธ์ กล่าวว่า วันนี้เขามาพร้อมกับกรรมการมาตรา 77 เรื่องการรับฟังความคิดเห็นก่อนการตรากฎหมาย และกล่าวด้วยว่า การหารือวันนี้เขาต้องการมาเพื่อปรับปรุงการทำงานร่วมกันระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร ให้ได้รู้จักกัน เพื่อประโยชน์ของการประสานงาน และอาจต่อยอดในอนาคต เรื่องการประเมินผลกระทบทางกฎหมาย หลังการออกกฎหมายด้วยว่าประชาชนได้รับผลกระทบอย่างไร

ต่อมา ปดิพัทธ์ ระบุว่า เขาอยากมาสอบถามขั้นตอนทางธุรการว่า เมื่อมีการส่งร่างกฎหมายการเงินมาแล้ว ทางหน่วยงานประสานงานไปยังหน่วยงานต่างๆ แล้ว มีเงื่อนไข หรือการตอบสนองอย่างไร ติดขัดปัญหาอะไรอย่างไร นอกจากนี้ เขาอยากทราบการปฏิบัติงานของกระทรวง ทบวง และกรมต่างๆ ที่ต้องส่งความเห็น เพราะก่อนหน้านี้มีการส่งหนังสือติดตาม และได้รับการตอบกลับว่า กำลังรอความเห็นจากหน่วยงาน ซึ่งคำว่า 'หน่วยงาน' ครอบคลุมทุกอย่าง จึงไม่ทราบว่าหน่วยงานไหนให้ความร่วมมือ หรือไม่ได้ให้ความร่วมมือ

ปดิพัทธ์ กล่าวต่อว่า ประเด็นต่อมาคือการเข้ามาตอบกระทู้ของรัฐมนตรี โดยปกติ ข้อบังคับของสภาฯ ระบุว่า รัฐมนตรีถ้าไม่มา ต้องมีการชี้แจงเป็นหนังสือ ปรากฏว่าบางท่านชี้แจงได้ละเอียด แต่บางท่านชี้แจงได้ไม่ละเอียด เช่น ผู้ที่ถูกวิจารณ์เยอะคือคนที่ระบุว่า ‘ติดภารกิจ’ แต่คนไม่ถูกวิจารณ์คือคนที่ระบุรายละเอียดว่าติดภารกิจที่ไหน อย่างไร อันนี้สภาฯ คิดว่าเป็นตัวอย่างที่ดี แต่จะทำอย่างไรที่จะมีการชี้แจงที่ชัดเจนต่อจากนี้

ปดิพัทธ์ ระบุต่อว่า ประการสุดท้าย ประเด็นความเดือดร้อนของประชาชนที่ส่งมาที่ทำเนียบรัฐบาล ไม่ว่าจะที่ทำเนียบ ข้อหารือของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้อร้องเรียนที่ศูนย์ร้องเรียนรับเรื่องราวประสานงานร้องทุกข์ ตรงนี้จะติดตามอย่างไร เพราะว่าประธานสภาฯ ร้อนใจว่า ช่วงเวลาการหารือของสมาชิกฯ มีการตอบน้อย ไม่ทราบว่าจะรายงานผลต่อประชาชนเรื่องความเดือดร้อนอย่างไร

ด้านผู้อำนวยการกองประสานงานการเมือง สำนักเลขาฯ ระบุว่า ยืนยันว่าก่อนหน้านี้ รองประธานสภาฯ ได้ส่งหนังสือมายังสำนักเลขาฯ เกี่ยวกับการติดตามร่าง พ.ร.บ.ด้านการเงิน ซึ่งทางสำนักเลขาฯ ได้เห็นชอบให้ผู้อำนวยการกองประสานงานการเมือง สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พบรองประธานสภาฯ ที่อาคารรัฐสภา ทีนี้ทางสำนักเลขาฯ รอการตอบกลับจากทางสภาฯ ซึ่งหนังสืออยู่ระหว่างการนัดหารือ อาจทำให้มีความคลาดเคลื่อน ภาพวันนี้อาจจะดูขรุขระเล็กน้อย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net