Skip to main content
sharethis

'อังคณา' พร้อมเจ้าหน้าที่ PI บุกกระทรวงยุติธรรม ยื่นหนังสือต่อ รมว.ยธ. ในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย หลังถูก คุกคาม สอดแนมโดยเจ้าหน้าที่คาดว่ามาจาก กอ.รมน ในการจัดงานวันครบรอบ 20 ปีที่ทนายสมชาย นีละไพจิตร ถูกบังคับให้สูญหาย ระบุขัดต่อกฎหมายทั้งการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคล และขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากล รวมถึงอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี พร้อมเรียกร้องให้คุ้มครองสวัดิภาพของครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหาย ยุติการคุกคามด้วยการสอดแนม และการทำให้เกิดความหวาดกลัวต่อนักปกป้องสิทธิฯ โดยหน่วยงานของรัฐโดยทันที และขอให้มีการสืบสวนสอบสวนโดยพลันถึงผู้มีคำสั่งให้ทำการสอดแนม 

18 ม.ค.2567 องค์กร Protection International รายงานว่า ที่กระทรวงยุติธรรมวันนี้ (18 มี.ค.67) อังคณา นีละไพจิตร ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนภรรยาของทนายสมชาย นีละไพจิตร นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกบังคับให้สูญหาย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากองค์กร PI เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย 

อังคณาระบุว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 12 มี.ค. ที่ผ่านมาเป็นวันครบรอบ 20 ปีที่ทนายสมชาย นีละไพจิตร ถูกบังคับให้สูญหาย ในการนี้ ครอบครัวสมชาย รวมถึงครอบครัวผู้ถูกบังคบสูญหายในประเทศไทย และองค์กรสิทธิมนุษยชนหลายองค์กร ได้ร่วมกันจัดงานรำลึก 20 ปีการบังคับสูญหายสมชาย นีละไพจิตร “ใช้อำนาจให้เกิดความยุติธรรมแทนการบังคับสูญหาย: 20 ปีทนายและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน สมชาย นีละไพจิตร” โดยงานรำลึกได้จัดขึ้นในวันที่ 11 มี.ค. ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ และในวันที่ 12 มี.ค. ที่ห้องประชุม Social Innovation Hub สถาบันวิจัยสังคม อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

นอกจากนั้นในโอกาสนี้ คณะผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติยังได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องประเทศไทยต้องเปิดเผยที่อยู่และชะตากรรม สมชาย นีละไพจิตร ให้มีการสอบสวนอาชญากรรมที่เกิดขึ้น และนำผู้กระทำผิดที่ทำให้สมชายสูญหายมารับผิดทางอาญา ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนภรรยาทนายสมชาย นีละไพจิตร กล่าวเพิ่มเติมอีกด้วยว่า เนื่องจากการจัดงานรำลึกเป็นส่วนหนึ่งของการเยียวยาทางจิตใจ เป็นการรักษาความทรงจำ (memorization) ของเหยื่อ และเป็นการกระตุ้นเตือนให้ผู้มีอำนาจตระหนักถึงความร้ายแรงของการบังคับสูญหาย และความทุกข์ทรมานทางจิตใจที่ครอบครัวในฐานะผู้เสียหายต้องเผชิญ ทั้งนี้ ในการจัดกิจกรรมในวันที่ 11 และ 12 มี.ค. ดังกล่าว ได้มีครอบครัวผู้สูญหาย ประชาชนทั่วไป นิสิตนักศึกษา สื่อมวลชน รวมถึงผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ เข้าร่วมกิจกรรมอย่างเปิดเผย 

อังคณาระบุเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ดีในการจัดงานรำลึกในวันที่ 12 มี.ค. ปรากฎชายหญิงสองคนสวมหมวกอำพรางใบหน้า ไม่ลงทะเบียนการเข้าร่วมงาน และได้มีการถ่ายภาพตน และปรานม สมวงศ์ ผู้แทนจากองค์กร Protection International Thailand โดยมีผู้สังเกตว่าภายหลังการถ่ายภาพ ชายสวมหมวกได้ตัดต่อภาพของดิฉันและส่งต่อไปยังผู้อื่น เมื่อทราบดิฉันจึงได้เข้าไปสอบถามชายหญิงดังกล่าวจึงทราบว่าทั้งสองเข้าร่วมงานโดยไม่ลงทะเบียน ดิฉันจึงสอบถามต่อว่ามาจากหน่วยงานใด และได้รับคำตอบว่ามาจาก กอ.รมน. มีหน้าที่มาหาข่าว และรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ซึ่งกระทำเป็นปกปกติ 

อังคณา กล่าวว่า ตนได้ขอดูภาพที่ชายคนดังกล่าวบันทึกไว้ในโทรศัพท์ จึงเห็นว่ามีการถ่ายภาพของตนและคุณปรานม สมวงศ์ รวมถึงญาติที่เข้าร่วมงานในวันดังกล่าวจริง ตนเห็นว่าการกระทำที่เกิดขึ้นเป็นการไม่เคารพ ไม่ให้เกียรติแก่ครอบครัวเหยื่อ อีกทั้งยังเป็นการคุกคาม สอดแนมโดยหน่วยงานของรัฐ เพื่อทำให้เหยื่อเกิดความหวาดกลัว และความรู้สึกไม่ปลอดภัยในการเรียกร้องความยุติธรรมให้ผู้ถูกบังคับสูญหาย ทั้งนี้ การสอดแนม การพรางตัวของเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลอื่นโดยคำสั่งของเจ้าหน้าที่ยังเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายทั้งการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคล และขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากล รวมถึงอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี และกำลังจะเข้าเป็นภาคี คืออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (ICPPED) ซึ่งให้ความสำคัญในการคุ้มครองเหยื่อและครอบครัว อีกทั้งยังรับรองสิทธิที่จะทราบความจริง และการได้รับความยุติธรรมจากรัฐ 

อังคณากล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ตนจึงมีหนังสือฉบับนี้มายังท่านในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ตามพระราชบัญญัติพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจในการให้ความคุ้มครองแก่ผู้เสียหาย ตามมาตรา 32 ที่ระบุว่า “ให้หน่วยงานที่มีอำนาจสืบสวนสอบสวนในคดีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ รายงานให้ผู้เสียหายทราบถึงผลความคืบหน้าของคดีอย่างต่อเนื่องและให้คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจติดตามผล ความคืบหน้าของคดีและดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพภาพและความปลอดภัย ชดเชย เยียวยา และฟื้นฟูความ เสียหายทางร่างกายและจิตใจ ให้คำปรึกษาแนะนำด้านกฎหมาย และสนับสนุน ช่วยเหลือด้านการดำเนินคดี โดยการมีส่วนร่วมจากผู้เสียหาย” รวมถึง มาตรา 19(3) คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจในการ “กำหนดนโยบายและมาตรการฟื้นฟูและเยียวยาด้านร่างกายและจิตใจแก่ผู้เสียหาย อย่างครอบคลุม โดยคำนึงถึงการทำให้กลับสู่สภาพเดิมเท่าที่จะเป็นไปได้” ทั้งนี้ สิทธิในการทราบความจริง (right to truth) ความยุติธรรม (right to justice) และการรักษาความทรงจำ (memorization) ถือเป็นการสิทธิของครอบครัว โดยรัฐมีหน้าที่รับประกันในสิทธิดังกล่าว 

“ดิฉันในฐานะครอบครัวสมชาย นีละไพจิตร จึงมีหนังสือฉบับนี้มายังท่านเพื่อโปรดดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจในการคุ้มครองสวัดิภาพของครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหาย ยุติการคุกคามด้วยการสอดแนม และการทำให้เกิดความหวาดกลัวโดยหน่วยงานของรัฐโดยทันที ขอให้มีการสืบสวนสอบสวนโดยพลันถึงผู้มีคำสั่งให้ทำการสอดแนม ทั้งนี้หน่วยงานต่าง ๆ ควรให้ความเคารพครอบครัวในการรำลึกผู้ถูกบังคับสูญหาย การเรียกร้องให้รัฐเปิดเผยความจริง และการให้ความยุติธรรมให้แก่บรรดาผู้ถูกบังคับสูญหาย โดยการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม และชดใช้เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยคำนึงถึงการทำให้กลับสู่สภาพเดิม” ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนภรรยาทนายสมชาย กล่าว 

ขณะที่ปรานม สมวงศ์ จาก Protection International กล่าวว่า กอ.รมน. มักเป็นหน่วยงานที่ส่งคนมาคุกคามในลักษณะดังกล่าวนี้กับนักปกป้อง​สิทธิฯ ไม่ใช่เฉพาะ​กรณี​นี้เท่านั้น มาแบบไม่แนะนำตัว ไม่เปิดเผย เป็นภาระของนักปกป้องสิทธิณ ต้องไปหาว่าเป็นใคร ลักษณะ​การแอบถ่ายและเฝ้าติดตาม​แบบไม่เปิดเผยตัวแบบนี้ และเป็นที่มีพฤติกรรมข่มขู่คุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและญาติที่เป็นเหยื่อของการบับคับสูญหายแบบนี้มาตลอด ที่เรามาในวันนี้เราอยากทราบว่ากระทรวงยุติธรรมจะมีมาตรการอย่างไรในการคุ้มครองผู้เสียหายและนักปกป้อง​สิทธิ​ เพราะที่ผ่านมาเมื่อมีการคุกคามด้วยการถ่ายรูปเจาะ จะมีการคุกคามเพิ่มเติมตามมาทีหลังด้วยตามไปหานักปกป้องสิทธิที่บ้าน การข่มขู่​ ครอบครัว​ องค์กร​รวมถึงการฟ้องร้องดำเนินคดี 

ในวันดังกล่าวมีครอบครัวของผู้ถูกบังคับให้สูญหายเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมากจึงไม่ควรมีการคุกคามในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นเลย หากเจ้าหน้าที่รัฐจะมาสังเกตุการณ์ก็ต้องลงทะเบียนล่วงหน้าใส่เครื่องแบบให้เรียบร้อยและมาแนำนำตัวเพื่อให้ญาติสามารถประเมินความปลอดภัยได้เพราะขนาดคุณอังคณายังถูกคุกคามในลักษณะดังกล่าวแล้วนักปกป้องสิทธิคนอื่นก็คงถูกคุกคามไม่ต่างกันไม่อยากให้ถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่อง​ปรกติ นอกจากนี้ กสม.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ต้องคุ้มครองนักปกป้องสิทธิ ก็ได้พูดในเวทีเสวนาในวันนั้นว่าทำงานกับกอ.รมน. จึงอยากให้กระทรวงยุติธรรมประสานกับกสม.เรื่องท่าทีในการทำงานของกสม.ด้วย และอยากให้ประสานกับกอ.รมน.ให้ยุติพฤติกรรมการคุกคามที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่ใดที่มีการเคลื่อนไหว​ของนักปกป้อง​สิทธิ​มนุษยชน​ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net