Skip to main content
sharethis
  • เครือข่ายครูแถลงปกป้องเสรีภาพวิชาการ และยืนเคียงข้างครูผู้สอน หลังมีคนร้องเรียนข้อสอบปากเปล่า ร.ร.วัดธาตุทอง อาจกระทบความมั่นคง ด้าน 1 ในองค์กรที่ร่วมออกแถลงการณ์ถูกฝ่ายความมั่นคงกดดันจนต้องถอนตัว
  • 'ธนวรรธน์' เครือข่ายนักการศึกษาและอาจารย์ ชี้แจงเรื่องข้อสอบปากเปล่าสามารถทำได้ และจุดมุ่งหมายของวิชาคือให้นักเรียนได้เข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมอย่างรอบด้าน โดยไม่มีคำตอบตายตัว
  • ตัวแทนครูขอสอน มองการยกเลิกข้อสอบ เป็นการลดแรงเสียดทานจากคนภายนอก และผู้มีอำนาจ แต่จะไม่เป็นผลดีต่อเสรีภาพการสอนและการศึกษา สร้างบรรยากาศความกลัว และครูจะไม่สามารถสอนนอกกรอบ นอกตำราได้   


20 มี.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก "ครูขอสอน" โพสต์ข้อความเมื่อ 14 มี.ค. 2567 กลุ่มครูขอสอน และเครือข่าย ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันปกป้องเสรีภาพวิชาการต่อข้อสอบรายวิชาสาระร่วมสมัย โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง 

แถลงการณ์ระบุว่า กรณีนี้สืบเนื่องจากมีการเผยแพร่ข้อสอบรายวิชาสาระร่วมสมัย รหัสวิชา ส33250 ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง จนเกิดเป็นกระแสวิจารณ์ในโลกสังคมออนไลน์ และมีผู้กล่าวหาว่าเป็นภัยคุกคาม และส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ นอกจากนี้ มีการตั้งคณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริง และให้ยกเลิกข้อสอบด้งกล่าว และมีการข่มขู่คุกคามครูผู้ออกข้อสอบ 

ภายในแถลงการณ์ ระบุต่อว่า เครือข่ายครู นักการศึกษา นักเรียน และคนทำงาน มองว่า หัวข้อการสอบรายวิชานั้นเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงและเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นภายในสังคม และวิชาสาระร่วมสมัย ซึ่งอยู่ในกลุ่มสาระสังคมศึกษาฯ และมีหัวใจและจุดมุ่งหมายของการสอนให้นักเรียนเข้าใจ และตั้งคำถามต่อปรากฏการณ์ทางสังคม และสถานการณ์โลก เป็นปกติวิสัย อีกทั้ง นักเรียนยังมีสิทธิที่จะได้เรียนรู้ วิพากษ์ วิจารณ์เรื่องราวต่างๆ รู้เท่าทันโลก การสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง ตลอดจนยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งเป็นทักษะที่มีความสำคัญต่อการใช้ชีวิต และอยู่ร่วมกันในสังคมปัจจุบัน และอาจารย์ผู้ออกข้อสอบเองก็มีหลักเกณฑ์ประเมินที่ถูกต้อง 

แถลงการณ์ ระบุว่า ดังนั้น การกล่าวหาว่าข้อสอบเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงนั้น ทางกลุ่มมองว่าเป็นการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การเรียนรู้ คุณค่า และความหมาย ต้องไม่มีการใช้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจจากทั้งราชการหรือบุคคลอื่นๆ ลิดรอนและจำกัดสิทธิของผู้เรียนหรือผู้สอน อันจะนำไปสู่การนำเสนอ ถกเถียง และแสดงออกซึ่งข้อเท็จจริง และความเห็นเกี่ยวกับประเด็นความรู้และความเป็นไปของสังคม และเป็นหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตย 

ดังนั้น แถลงการณ์จึงมีข้อเรียกร้องทั้งหมด 3 ข้อใหญ่ ประกอบด้วย 1. ปกป้องเสรีภาพ และความเป็นอิสระของการเรียน กระบวนการสอน การวัดผลประเมินผล วิธีการสอน การถกเถียง และอื่นๆ กรณีที่เกิดขึ้นที่มีการกล่าวหาข้อสอบดังกล่าวไม่ควรถูกตีความให้กว้างจนเกินไป จนส่งผลกระทบต่อการปิดกั้นการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาชาติ การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ประเด็นทางสังคมเชื่อว่าเป็นสิ่งจำเป็นให้ผู้เรียนได้พัฒนาความคิด วิเคราะห์ ประเมิน ไปจนถึงการสร้างองค์ความรู้ของตัวเองขึ้นมา ซึ่งจะนำไปสู่การอยู่ในสังคมที่หลากหลายและเท่าทันโลก เป็นทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 และการเป็นพลเมืองโลกต่อไป

2. ต้องยุติการคุกคามผู้สอน และการกล่าวหาเพื่อสร้างความเข้าใจผิดต่อสังคม ขณะเดียวกัน กระบวนการตรวจสอบต้องเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซงที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งอาจนำไปสู่การสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวให้เกิดขึ้นในสังคม 

3. ขอยืนเคียงข้างและให้กำลังใจอาจารย์ และนักการศึกษา ในฐานะผู้กระทำการในการสร้างสรรค์กระบวนการเรียนรู้ ซึ่งนำมาสู่การช่วยยกระดับคุณภาพผู้เรียนให้มีสมรรถนะสำคัญ มีชุดคุณค่าที่เป็นประชาธิปไตยสากล ตลอดจนมีความกล้าหาญที่จะแสดงจุดยืนและการตั้งคำถามต่อสังคม 

นอกจากนี้ ธนวรรธน์ สุวรรณปาล สมาชิกกลุ่มครูขอสอน หนึ่งเครือข่ายที่ร่วมออกแถลงการณ์ โพสต์ข้อความบนโซเชียลมีเดีย เอ็กซ์ เปิดเผยว่า หลังออกแถลงการณ์ หนึ่งในเครือข่ายได้ร่วมออกแถลงการณ์ปกป้องเสรีภาพการสอนและเสรีภาพทางวิชาการนั้น ได้ถูกฝ่ายความมั่นคงโทรกดดัน

จากการสอบถามเพิ่มจากธนวรรธน์ เขายืนยันว่าเป็นเรื่องจริง โดยเครือข่ายที่ถูกคุกคามเป็นเครือข่ายจากภาคใต้ ถูกฝ่ายความมั่นคงโทรมาหากดดันจนต้องถอนตัวจากแถลงการณ์ดังกล่าว

 

 

ย้อนปมกลุ่มปกป้องสถาบันร้องเรียนข้อสอบ ร.ร.วัดธาตุทอง

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มปกป้องสถาบันชื่อว่า "ประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน" (ปภส.) นำโดย ทรงชัย เนียมหอม ประธานกลุ่ม ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนถึงโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง จ.กรุงเทพฯ หลังมีการเผยแพร่ข้อสอบวิชาสาระร่วมสมัย ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ภาคเรียนที่ 2/2566 โดยเป็นการสอบปากเปล่า (Oral Test) และจะมีการสอบในวันที่ 11-12 มี.ค. 2567 

วิธีการสอบ นักเรียนจะได้จับฉลาก 1 ในคีย์เวิร์ดจากทั้งหมด 50 คีย์เวิร์ด ซึ่งคีย์เวิร์ดดังกล่าวมาจากข้อมูล ข่าวสาร และเหตุการณ์ทั้งในประเทศไทยและสังคมโลกช่วงปี 2565-2566 จากนั้น นักเรียนผู้สอบต้องพูดอธิบาย 'คีย์เวิร์ด' ที่ได้ภายในเวลา 3 นาที หลังจากตอบคำถามแล้ว ครูผู้สอบจะถามคำถามอีก 2 คำถาม และให้เวลานักเรียนตอบอีก 2 นาที


สามารถดูคีย์เวิร์ดได้ตามภาพ


ประธาน ปภส. ให้สัมภาษณ์กับสื่อ เปิดเผยว่า ที่มายื่นหนังสือร้องเรียนกับผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทองวันนี้ เนื่องจากการสอบปากเปล่ามีคีย์เวิร์ดที่หมิ่นเหม่กระทบต่อความมั่นคง เช่น 112 ลี้ภัยทางการเมือง สถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย ขบวนเสด็จ สิทธิมนุษยชน คุกมีไว้ขังคนจน คนเท่ากัน หรือคนไม่เท่ากัน นิติสงคราม และอื่นๆ

ทรงชัย แสดงความกังวลว่า การสอบปากเปล่าจะทำให้เขาไม่สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ว่าครูสอนอะไรให้นักเรียน และเนื่องด้วยวันที่ 11-12 มี.ค. 2567 เขาทราบว่าจะมีการสอบดังกล่าว จึงจะขอมาตั้งกล้องวิดีโอบันทึกภาพขณะมีการสอบวิชานี้ด้วย

"ถ้าเป็นการสอบตามปกติจะไม่เกิดความกังวลใจเลย เราสามารถตรวจสอบย้อนหลังก็ได้ ประชาชนสามารถดูได้ แต่นี่เป็นสอบปากเปล่า การสอบในห้อง และให้คะแนนในห้อง ไม่รู้ว่าเขาเอาอะไรให้เด็กในจังหวะนั้น เอาข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือมีข้อมูลที่บิดเบือนให้เด็ก ไม่รู้ เราไม่สามารถไว้ใจได้เลย" ทรงชัย กล่าว 

ยกเลิกสอบแล้ว 

ในวันเดียวกัน (11 มี.ค.) หลังจาก ปภส. ได้เข้าไปยื่นหนังสือแล้ว ทรงชัย ได้ให้สัมภาษณ์ว่า รองผู้อำนวยการโรงเรียนวัดธาตุทองแจ้งเขาว่า ร.ร.ได้รับคำสั่งเร่งด่วนจากสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) กรุงเทพมหานคร เขต 2 ให้ "ยกเลิกการสอบในรูปแบบนี้ออกไปทั้งหมดแล้ว" และมีการตั้งคณะทำงานสืบสวนการสอบข้อเท็จจริง 

ต่อมา เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2567  เพจเฟซบุ๊ก "สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว" ระบุว่า ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการรับทราบแล้ว และได้สั่งการให้ สพม. กทม.เขต 2 ตรวจสอบข้อเท็จจริง และรายงานให้ทราบภายใน 7 วัน ในระหว่างนี้ให้สั่งยกเลิกข้อสอบวิชาสาระร่วมสมัย ของชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เด็ดขาด ขณะเดียวกัน ก็ไปทำความเข้าใจกับครูที่ออกข้อสอบวิชานี้ด้วย

ด้านสื่อเว็บไซต์สื่อ "The Active" อ้างอิงข้อมูลจากแหล่งข่าว ระบุว่า ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯ ได้ขอให้โรงเรียนแก้รูปแบบข้อสอบไม่ให้เป็นข้อสอบปากเปล่า และให้ตัดคีย์เวิร์ดบางคำออก 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จุดมุ่งหมายของข้อสอบ

ธนวรรธน์ สุวรรณปาล ตัวแทนเครือข่ายครูขอสอน ซึ่งเป็นกลุ่มผลักดันสิทธิเสรีภาพของครู และนักเรียน ได้ให้สัมภาษณ์กับประชาไท เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2567 เผยว่า จากการที่เขาได้พูดคุยกับอาจารย์ที่ออกข้อสอบ วิชา "สาระร่วมสมัย" มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เด็กและนักเรียนเข้าใจเหตุการณ์และปรากฏการณ์ต่างๆ ในประเทศไทยและสังคมโลกอย่างรอบด้าน และมองเห็นมุมมองที่หลากหลาย

ธนวรรธน์ กล่าวว่า ตามหลักการวัดและประเมินผลมีหลากหลายวิธี การสอบปากเปล่า เป็นเครื่องมือหรือวิธีการหนึ่งที่สามารถทำได้ เมื่อเป็นการทดสอบ ครูจะเน้นการพูดคุยเพื่อดูว่าตัวผู้เรียนเข้าใจเรื่องเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน

สมาชิกครูขอสอน ระบุว่า ส่วนที่มาของ 'คีย์เวิร์ด' ที่ถูกตั้งคำถามนั้น จากการคุยกับอาจารย์ผู้ออกข้อสอบ มาจากบทสนทนาในห้องเรียน ซึ่งตัวผู้เรียนสามารถเข้าถึงได้จากข้อมูลข่าวสารบนสื่อออนไลน์ทุกวัน พวกเขาอาจพบเจอจากการเล่นเฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ (ชื่อใหม่คือ 'เอ็กซ์') โดยจุดมุ่งหมายคือการแลกเปลี่ยนในห้องเรียน เพื่อให้เด็กลองไปค้นคว้า ทำความเข้าใจเรื่องนี้อย่างหลากหลายจากแหล่งข้อมูลต่างๆ 

ธนวรรธน์ สุวรรณปาล ตัวแทนเครือข่ายครูขอสอน (ถ่ายโดย กันต์ แสงทอง)

"ความมุ่งหมายของครูผู้สอนจึงต้องการให้เขา (นักเรียน) เข้าใจ และสามารถมองเห็นมุมมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมได้ และทำให้เขาเข้าใจด้วยว่าเวลาที่จะให้ความเห็นอะไรต่างๆ มันมีหลักการ หรือมีหลักฐาน หรือมีข้อมูลที่มันอ้างอิงได้ ขณะเดียวกันเอง มุมมองต่อเรื่องราวนั้นๆ ข้อมูลนั้นๆ มันก็มีหลากหลายในสังคม เพราะว่าเขาก็ต้องกลับไปอยู่สังคม ความคิดที่มันแตกต่างกัน และเขาจะสื่อสารอย่างไร" ตัวแทนกลุ่มครูผู้สอน กล่าว 

การวัดผลประเมินผล คือไม่มีคำตอบตายตัว มีแต่การอธิบายโดยมีแหล่งข้อมูลที่ถูกต้องและรอบด้าน

สำหรับการวัดผลประเมินผล ซึ่งถูกตั้งคำถามจากผู้วิจารณ์ว่าอาจารย์อาจมีการสอนหรือครอบงำนักเรียนด้วยชุดความรู้ที่ไม่ถูกต้องหรือไม่นั้น ธนวรรธน์ กล่าวว่า แน่นอนว่าอาจารย์มีหลักเกณฑ์ประเมินผล ซึ่งเกณฑ์จะดูว่านักเรียนมีความเข้าใจเชื่อมโยงกับเหตุการณ์นั้นหรือคีย์เวิร์ดมากน้อยขนาดไหน มีการอ้างอิงข้อมูลอย่างไร และวิธีการในการสื่อสาร การพูด การใช้คำเป็นอย่างไร โดยไม่ได้ตัดสินว่า “คำตอบนั้นเป็นอย่างไร”

"นักเรียนสามารถตอบซ้าย หรือตอบขวา ก็ได้ แต่ต้องบอกให่ได้ว่ามาจากมุมมอง หรือแหล่งข้อมูลจากไหน และอย่างไร" ธนวรรธน์ กล่าว

ตรวจสอบได้ แต่ที่ทำมันล้ำเส้นจนกลายเป็นการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการ

แกนนำครูขอสอน กล่าวว่า เขาไม่ได้บอกว่าข้อสอบตรวจสอบไม่ได้ แต่ว่ามันมีการคิดไปเอง หรือคิดว่าจากจุดนี้จะนำไปสู่อีกจุดหนึ่งที่เป็นความหายนะวายป่วง ใหญ่โต เกินความเป็นจริง และมันสร้างบรรยากาศการปิดกั้นเสรีภาพทางการศึกษาว่า ตกลงมันมีเรื่องที่เราคิดไม่ได้จริงๆ ใช่ไหม

แกนนำครูขอสอน มองว่า ข้อเรียกร้องของกลุ่มปกป้องสถาบันที่ต้องการมาตั้งกล้องถ่ายวิดีโอตอนสอบ เขามองว่าเป็นการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการอย่างมาก เพราะว่าห้องเรียนควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการถกเถียง วิจารณ์ และนักเรียนเขามีสิทธิที่จะตอบอย่างไรก็ได้ตามที่เขาเข้าใจ แต่การกระทำนี้เป็นการแทรกแซงที่ไม่เป็นธรรม 

การยกเลิกข้อสอบจะกระเทือนเสรีภาพการสอน

ธนวรรธน์ มองว่า โดยหลักการข้อสอบไม่ได้ผิดอะไรอย่างแน่นอน และมองว่าการยกเลิกการสอบปากเปล่าของโรงเรียน เป็นกลยุทธ์เพื่อการลดแรงเสียดทานจากบุคคลที่มาร้องเรียนจากภายนอก หรือผู้มีอำนาจ เพื่อตัวคุณครูเอง เพื่อตัวโรงเรียนเอง หรือสำนักงานเขตฯ ที่อาจจะโดนกดดันมาอีกทาง แต่ต้องคิดว่าทำอย่างไรที่จะไม่กระทบต่อจุดยืนเสรีภาพทางวิชาการ 

ธนวรรธน์ เชื่อว่า การยกเลิกข้อสอบปากเปล่าของโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทองจะส่งผลกระทบต่อการออกข้อสอบและการเรียนของโรงเรียนอื่นๆ แน่นอน ดังนั้น การออกแถลงการณ์ของกลุ่มครูขอสอน และเครือข่ายอาจารย์และนักการศึกษา เพื่อสื่อสารต่อสังคม และยืนยันว่าการออกข้อสอบของครูโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทองไม่ได้เป็นเรื่องผิด เรียกร้องให้มีการยุติการข่มขู่คุกคามอาจารย์ผู้สอน อีกทั้ง ต้องการให้กำลังใจและขอยืนหยัดเคียงข้าง ครูอาจารย์ และนักการศึกษา ที่พยายามเปลี่ยนแปลงและกล้าหาญที่พยายามแสดงจุดยืนในการเปลี่ยนแปลงห้องเรียนหรือว่าการจัดศึกษาเพื่อผู้เรียน

รัฐต้องยืนยันในเสรีภาพทางการศึกษา ไม่ไหวเอนตามกระแส สร้างบรรยากาศความกลัวในการเรียนการสอน

ธนวรรธน์ ฝากข้อเสนอถึงภาครัฐ ในฐานะองค์กรที่ต้องยืนยันหลักเสรีภาพทางวิชาการ 1. ทุกคนต้องเคารพสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพทางการศึกษา 2. ต้องมีหลักการ และไม่เอนไหวไปตามกระแสสังคม หรือผู้มีอำนาจ 

3.  อยากให้รักษาหัวใจความเป็นมนุษย์ของครูและการสอนเอาไว้ ไม่งั้นการศึกษาจะก้าวไปข้างหน้าไม่ได้ มันจะผลิตซ้ำความกลัว และครูจะไม่กล้าคิดกล้าสอนอะไรใหม่ๆ ให้กับนักเรียน

ก่อนหน้านี้มีคนถามว่า ถ้าไม่ผิดแล้วจะกลัวอะไร แต่พวกเราไม่ทราบเลยว่า เส้นขอบมันอยู่ตรงไหน เราอาจจะเห็นเส้นนั้นแล้ว แต่ก็มีคนพยายามขยับออกไปเรื่อยๆ ว่าเรื่องนี้ได้หรือไม่ได้ ซึ่งสุดท้ายด้วยบรรยากาศความกลัวแบบนี้จะทำให้ครูและผู้สอนก้มหน้าก้มตาสอนไปวันๆ ไม่ตั้งคำถามและไม่คิดอะไรใหม่ๆ

"ก็เลยอยากจะฝากว่า คุณมีหลักการและกระดูกสันหลังที่จะยึดกับมัน ไม่ใช่อ่อนไหวไปตาม ไม่ได้บอกว่าไม่ต้องฟังเสียงวิจารณ์ แต่เราก็ต้องมีหลักการและกระดูกสันหลัง พอที่จะยืนหยัดต่อคนที่ทำงาน หรืออยู่หน้างาน ผิดก็ว่าผิด แต่อะไรที่ต้องปกป้องหลักการไว้ ก็ต้องปกป้อง" สมาชิกกลุ่มครูขอสอน กล่าว

หมายเหตุ: เมื่อ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวมีการโทรติดต่อขอสัมภาษณ์ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) จากกรณียกเลิกข้อสอบโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง และเสรีภาพการศึกษา แต่เลขาธิการฯ ติดประชุม และจะติดต่อกลับหากทางว่าจะให้สัมภาษณ์ 

นอกจากนี้ ทางผู้สื่อข่าวติดต่อไปยัง สพม. กทม.เขต 2 ตามเบอร์โทรศัทพ์ ที่ปรากฏบนเว็บไซต์ http://www.sesao2.go.th/contact แล้ว แต่ไม่สามารถติดต่อขอความคืบหน้ากรณียกเลิกข้อสอบ และให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบ 

รายละเอียดแถลงการณ์

มีการเผยแพร่ข้อสอบรายวิชาสาระร่วมสมัย รหัสวิชา ส33250 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง กรุงเทพมหานคร และเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์หลังสื่อมวลชนหยิบข้อความที่โพสต์ผ่านสังคมออนไลน์ โดยกล่าวหาว่า เป็นภัยคุกคาม ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และได้มีการตั้งคณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริง และให้ยกเลิกข้อสอบดังกล่าว รวมไปถึงการข่มขู่คุกคามครูผู้สอนรายวิชาดังกล่าวจากบุคคลต่างๆ

ต่อกรณีดังกล่าวเครือข่ายครู นักการศึกษา นักเรียนและคนทำงานเห็นว่า ประเด็นหัวข้อในการสอบรายวิชานั้น เป็นประเด็นร่วมสมัยที่มีการถกเถียงและเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม และรายวิชาสาระร่วมสมัยอยู่ในกลุ่มสาระสังคมศึกษาฯ ที่มีหัวใจอยู่ที่การเรียนรู้โลกกว้าง การตั้งคำถามต่อปรากฏการณ์ที่อยู่ในสังคมไทยจึงเป็นเรื่องปกติวิสัย ทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้ผู้เรียนได้สืบสอบ อภิปราย พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ ประเมินค่า การวิพากษ์วิจารณ์และรู้เท่าทันโลก การสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง ตลอดจนยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งล้วนแต่เป็นทักษะที่มีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตและอยู่ร่วมกันในสังคมปัจจุบัน นอกจากนั้น รายวิชาดังกล่าวยังมีรูปแบบการวัดประเมินผลที่หลากหลายและครูผู้สอนมีเกณฑ์การให้คะแนนที่ชัดเจน ด้วยเหตุนี้ การข่มขู่คุกคาม และการสั่งยกเลิกข้อสอบดังกล่าวจากประเด็นหัวข้อที่ถูกกล่าวหาว่าส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาตินั้น จึงถือเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการสร้างการเรียนรู้ที่มีคุณค่าและมีความหมาย ตลอดจนเป็นหลักประกันว่า ต้องไม่มีการใช้อำนาจหรือความสัมพันธ์เชิงอำนาจทั้งโดยราชการหรือบุคคลอื่น ในการลิดรอนหรือจำกัดสิทธิของผู้สอนและผู้เรียนในอันที่จะเสนอ ถกเถียง และแสดงออกซึ่งข้อเท็จจริงและความเห็นของตนในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับความรู้และความเป็นไปของสังคมอันเป็นพื้นฐานสำคัญข้อหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย เราไม่อาจสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนมีอำนาจได้ หากเสรีภาพทางวิชาการไม่ได้รับการคุ้มครอง

ในการนี้ เครือข่ายครู นักการศึกษา นักเรียนและคนทำงาน จึงขอแสดงจุดยืนต่อกรณีข้อสอบรายวิชาสาระร่วมสมัย โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง กรุงเทพมหานคร ดังต่อไปนี้

1. ปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ อันหมายรวมถึงความเป็นอิสระของผู้สอนในเรื่องที่เกี่ยวกับกิจกรรมการสอน การจัดกระบวนการเรียนรู้และการวัดประเมินผล การเลือกประเด็นหรือกำหนดเนื้อหาของเรื่องที่จะสอน การกำหนดวิธีการสอน ตลอดจนการแลกเปลี่ยนข้อเท็จจริงและความคิดเห็นในชั้นเรียน การปิดกั้นและตัดสินว่าข้อสอบดังกล่าวนั้นไม่เหมาะสมเพียงเพราะหัวข้อเรื่องที่ใช้นั้นไม่เป็นธรรม ความมั่นคงของชาติไม่ควรถูกตีความให้กว้างจนปิดกั้นการเรียนรู้และการพัฒนาความรู้ความเข้าใจทางสังคมของเยาวชนและประชาชน ซึ่งแท้จริงแล้วคือรากฐานสำคัญของประเทศชาติ การจัดการเรียนการสอนที่ใช้ประเด็นทางสังคม เป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาผู้เรียนให้สามารถคิดวิเคราะห์ ประเมินค่า สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมที่แตกต่างหลากหลาย และเท่าทันโลก ซึ่งล้วนแต่เป็นทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 ในฐานะพลเมืองและพลโลก

2. ต้องยุติการคุกคาม ข่มขู่ และใส่ความเพื่อสร้างความเข้าใจผิดในสังคมต่อตัวบุคคล และกระบวนการสืบสวนหาข้อเท็จจริงจะต้องให้อำนาจสถานศึกษาดำเนินการโดยปราศจากการแทรกแซงที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งอาจนำไปสู่การสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวให้เกิดขึ้นในสังคม

3. ยืนหยัดเคียงข้าง และเป็นกำลังใจให้ครู อาจารย์ และนักการศึกษาในฐานะผู้กระทำการ (Agency) ในการสร้างการเปลี่ยนแปลง ทั้งในการจัดการเรียนรู้ การสร้างสรรค์หลักสูตร กระบวนการเรียนรู้ การวัดประเมินผล และนวัตกรรมทางการศึกษาที่จะช่วยยกระดับคุณภาพผู้เรียนให้มีสมรรถนะสำคัญ มีชุดคุณค่าประชาธิปไตยที่เป็นสากล ตลอดจนมีความกล้าหาญในการแสดงจุดยืนและการตั้งคำถามต่อสังคม

"ศาสตร์จะงอกงามหากมีการแลกเปลี่ยนอย่างเสรี"
- อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

เครือข่ายครู นักการศึกษา นักเรียนและคนทำงาน
1. ครูขอสอน
2. สังคมศึกษาทะลุกะลา
3. Inskru -พื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอน
4. สหภาพคนทำงาน Workers' Union
5. ก่อการครู
6. อะไรอะไรก็ครู
7. นักเรียนเลว
8. มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) Makhampom
9. ก่อการสิทธิเด็ก
10. Math misconcepts
11. PLC Reform
12. BlackBox
13. คลินิกวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
14. ศูนย์พหุวัฒนธรรมและนโยบายการศึกษา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
15. วันนั้นเมื่อฉันสอน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net