Skip to main content
sharethis

‘กัณวีร์’ เผย กมธ.กฎหมายฯ เตรียมเสนอสภาฯ แก้ปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ ครอบคลุม 4 กลุ่มใหญ่ ระบุยังมีช่องโหว่ กฎหมายคนเข้าเมือง หวังวงเสวนาจะมีข้อเสนอแนะ

20 พ.ค. 2567 ทีมสื่อพรรคเป็นธรรม รายงานต่อสื่อมวลชนว่า วันนี้ (20 พ.ค.) ที่อาคารรัฐสภา กัณวีร์ สืบแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยก่อนการสัมมนา เรื่อง ”การบังคับใช้กฎหมายคนเข้าเมือง ผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายคนเข้าเมือง และแนวทางในการแก้ไขกฎหมายตรวจคนเข้าเมือง“ ว่า วันนี้เป็นการจัดงานของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน เป็นผลงานของคณะอนุกรรมาธิการการพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน เรื่องการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ ซึ่งได้มีผลสรุปมาแล้ว ทั้งการศึกษาในพื้นที่ จัดทำข้อสังเกต เพื่อนำเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ทางอนุกมธ.จึงจัดสัมมนาขึ้น โดยร่วมมือกันระหว่างภาคประชาสังคม นักวิชาการ และฝ่าย กมธ. ในการแก้ไขกฎหมาย

"เราเล็งเห็นว่าการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติครอบคลุม 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ลี้ภัย แรงงานข้ามชาติ ผู้ไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ไร้เอกสารแสดงตน และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การค้ามนุษย์ โดยส่วนใหญ่จะไม่มีสัญชาติไทย ดังนั้น สัมมนาวันนี้การพูดถึงเรื่องกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองเป็นกฎหมายหลัก แต่แท้จริงแล้วยังมีกฎหมายลูกที่มาซ้อนอยู่ เราจะพูดถึง 4 กลุ่ม ที่ไม่เคยได้รับความสนใจจากเวทีสาธารณะ ว่าจะจัดการอย่างไร เขามีตัวตนหรือไม่ในประเทศไทย และหากมีตัวตน อาศัยอยู่ในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ทำไมเราถึงไม่มองเห็นปัญหาตรงนี้ เราเห็นถึงสุญญากาศด้านกฎหมาย กมธ. เราจึงจะดำเนินการแก้ไขกฎหมายให้รองรับสิทธิในการเป็นมนุษย์ หรือสิทธิมนุษยชนของ 4 กลุ่มนี้"

กัณวีร์ กล่าวว่า หลังจากเปิดสภาฯแล้ว ทางคณะกรรมาธิการ จะเสนอผลการศึกษานี้ต่อสภาฯ แต่ตนเองไม่แน่ใจว่าต้องใช้เวลานานขนาดไหน ซึ่งหากถูกพิจารณาในสภาฯแล้ว ตนเองคาดหวังสูง เนื่องจากเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่ได้เกี่ยวกับผลประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะฉะนั้น หลักการครั้งนี้ ตั้งแต่เปิดสภามา จะเห็นว่ามี สส.ให้ความสำคัญกับการสิทธิมนุษยชนอย่างสูง ทาง กมธ.เสนอตามหลักสิทธิมนุษชน และหลักสิทธิมนุษยธรรมด้วย จึงมีความคาดหวังสูงว่าจะได้รับการรองรับ เห็นชอบในสภาฯ และหลังจากนั้นจะเป็นมติเสนอให้ ครม. ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

กัณวีร์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้รัฐบาลมีความอ่อนตัวมากขึ้นกว่าเดิมในเรื่องงานด้านมนุษยธรรม และสิทธิมนุษชน  จึงมีความคาดหวังทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร เพราะกฎหมายมีอยู่แล้วในการดูแลคน 4 กลุ่มนี้ แต่จะทำอย่างไรให้กฎหมายเหล่านี้มีประสิทธิภาพสูงมากที่สุด ดังนั้น การเสนอครั้งนี้จะเป็นการอุดรูรั่วสุญญากาศทางกฎหมายคนเข้าเมือง และเสนอนโยบายเชิงรุกมากขึ้นกว่าเดิม

ขณะที่กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.พรรคประชาชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการกฏหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ได้กล่าวเปิดสัมมนา โดยย้ำว่าปัญหากฎหมายเข้าเมือง เป็นปัญหาหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ นอกจากแรงงานต่างด้าวแล้ว ยังมีผู้ลี้ภัย และผู้หนีภัยการสู้รบ ที่กระทบกับประเทศไทย ซึ่งผลการลงพื้นที่ของ อนุกมธ.ได้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ เพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาต่อไป

ด้านกัณวีร์ นำเสนอรายงาน ปัญหาและแนวทางการแก้ไขแบบยั่งยืนเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ และการเสวนา เรื่องพระราชบัญญติคนเข้าเมืองพ.ศ.2522 การบังคับใช้ ผลกระทบ ข้อท้าทาย และการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางกฎหมาย สำหรับการบริหารจัดการผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐาน โดย พล.ต.ต.พงษ์นคร นครสันติภาพ ผู้บังคับการศูนย์ฝึกอบรมคนเข้าเมือง นายทรงกลด ขาวแจ้ง กระทรวงมหาดไทย นายศิววงศ์ สุขทวี ผู้แทนเครือข่าย องค์กรด้านประชากรข้ามชาติ MWG ,MS JoannaFrancessca Dabao องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน IOM ,เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐและ ผศ.ดร.ดารุณึ ไพศาลพาณิชย์กุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนายอดิศร เกิดมงคล เครือข่าย องค์กรด้านประชากรข้ามชาติ MWG

และช่วงบ่ายมีการเสวนาเรื่อง การปฏิรูปกฎหมายคนเข้าเมืองเพื่อตอบโจทย์ประเทศภายใต้บริบทสังคมผู้สูงอายุ ข้อเสนอจากภาคส่วนต่างๆต่อการแก้ไขกฎหมายคนเข้าเมือง และการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนประชากร โดย ศ.เกียรติคุณ อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์ ปภาวดี สลักเพชร ผู้เชี่ยวชาญด้านสถานะบุคคลและสิทธิ ชลธิชา แจ้งเร็ว สส.พรรคก้าวไกล นิลุบล พงษ์พยอม ผู้แทนกลุ่มนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าว รวมถึงมีคณะกรรมาธิการเข้าร่วมประชุม เช่น ศศินันท์ ธรรมนิธินันท์ สส.พรรคก้าวไกล ด้วย

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net