Skip to main content
sharethis

รอบสัปดาห์ที่ผ่านมาผลจากการสลายตัวของพายุ 'ไต้ฝุ่นยางิ' กลายเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ทำให้ฝนตกหนักและเกิดภัยพิบัติน้ำท่วมหลายในพื้นที่ 'เวียดนาม-ลาว-พม่า' เช่นเดียวกับไทย


ภาพน้ำท่วมที่เมืองน้ำจ๋างรัฐฉานใต้ ที่เพจ Know Shan State โพสต์เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2567 

14 ก.ย. 2567 รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ผลจากการที่ พายุ 'ไต้ฝุ่นยางิ' ได้สลายตัวกลายเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ทำให้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้านของไทย

เวียดนาม

เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2567 ข่าวสดออนไลน์รายงานอ้างสื่อต่างประเทศ ระบุว่าสถานการณ์ในพื้นที่ชานกรุงฮานอย หนึ่งในพื้นที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากน้ำท่วมสูงและส่งผลต่อประชาชนมากกว่า 15,000 คน น้ำเริ่มระดับลงแล้ว และประชาชนบางส่วนทยอยกลับบ้านเพื่อทำความสะอาดล้างดินโคลนที่มากับกระแสน้ำ

ขณะเดียวกันกระทรวงเกษตรเวียดนามยังเปิดเผยด้วยว่ามีไก่และเป็ดกว่า 1.5 ล้านตัวจมน้ำตาย เช่นเดียวกับหมู วัว และควายรวมกันราว 2,500 ตัว

ทั้งนี้เวียดนามมียอดผู้เสียชีวิต ณ วันที่ 12 ก.ย. เพิ่มเป็นอย่างน้อย 197 ราย สูญหายราว 128 ราย และพืชผลทางการเกษตรมากกว่า 1.5 ล้านไร่ถูกน้ำท่วมเสียหาย

ลาว

เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2567 เว็บไซต์ จส.100 รายงานอ้างสื่อต่างประเทศ ระบุว่าหลังจากพายุไต้ฝุ่นยางิพัดถล่มเวียดนามเสียหายหนัก ก่อนลดความเร็วลมมาเป็นพายุโซนร้อน ขณะพัดถล่มภาคเหนือของลาวเมื่อวันอาทิตย์  (8 ก.ย. 2567) เกิดฝนตกหนักและเกิดเหตุดินถล่มในพื้นที่ภาคเหนือของลาว สื่อท้องถิ่นของลาว รายงานว่า มีชายคนหนึ่งเสียชีวิต ถูกกระแสน้ำซัดไปขณะช่วยเหลือชาวบ้านคนอื่นๆ ขณะเดียวกัน หน่วยกู้ภัยของลาว อยู่ระหว่างลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ประสบภัย นอกจากนี้ ทางการลาว สั่งปิดสนามบินแขวงหลวงน้ำทา ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศชั่วคราวเนื่องจาก ระดับน้ำท่วมสูง และมีการยกเลิกเที่ยวบินระหว่างกรุงเวียงจันทน์กับแขวงหลวงน้ำทา ตั้งแต่วันที่ 10 ก.ย. 2567 ไปจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงใหม่

นอกจากนี้มีรายงานว่าเกิดเหตุน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง และเกิดเหตุดินถล่มในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือของลาว โดยเฉพาะแขวงหลวงน้ำทา เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่เสียหายหนักที่สุด โดยทรัพย์สินและของใช้ส่วนตัวของชาวบ้านได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ชาวบ้านหลายคนติดค้างอยู่ในบ้านเรือนในพื้นที่ประสบภัย จากระดับน้ำแม่น้ำทาเพิ่มขึ้นจนล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมบ้านเรือนในย่านชุมชนริมแม่น้ำ มีน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มต่ำ

ส่วนแขวงอื่น ๆ ของลาวที่ประสบภัยน้ำท่วม เช่น หลวงพระบาง,อุดมไซ,บ่อแก้วและแขวงไชยบุรี หรือ ไซยะบูลี ทางตะวันตกสุดของลาว ซึ่งมีชายแดนติดต่อกับจังหวัดเชียงราย ทางภาคเหนือของประเทศไทย ขณะที่ ชาวบ้านหลายคนในลาวได้แชร์คลิปวิดีโอและภาพถ่ายทางสื่อออนไลน์ แสดงให้เห็นว่ามีชาวบ้านติดค้างอยู่ในบ้านเรือนที่ถูกน้ำท่วมมิดหลังคาบ้าน ขณะที่บางคนต้องขึ้นไปอยู่บนหลังคาบ้าน เพื่อหนีอันตรายจากน้ำท่วมที่เพิ่มขึ้น

ทางการลาวอยู่ระหว่างเร่งขนส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์ไปแจกจ่ายแก่ชาวบ้านในพื้นที่ประสบภัย ขณะเดียวกัน มีการเปิดรับบริจาคสิ่งของจำเป็น เช่น อาหาร น้ำดื่มขวดและอื่นๆ เพื่อนำไปมอบให้กับชาวบ้านที่เดือดร้อนจากเหตุน้ำท่วม ด้านสำนักพยากรณ์อากาศของลาว เตือนประชาชนทั่วประเทศให้ระวังน้ำท่วม เนื่องจาก ยังมีฝนตกหนักต่อเนื่อง และมีลมกระโชกแรง

สถานการณ์ที่แม่น้ำโขง กรมอุตุนิยมวิทยาและเขื่อนพลังน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของลาว เตือนว่า ระดับน้ำของแม่น้ำโขงในแขวงหลวงพระบางสูงถึง 17.50 เมตร เมื่อวันพุธ (11 ก.ย. 2567) ใกล้ระดับที่เป็นอันตรายคือ 18 เมตร พร้อมเตือนชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในชุมชนริมแม่น้ำให้ขนย้ายสิ่งของสำคัญต่อการดำรงชีวิตและขนสัตว์เลี้ยงไปยังพื้นที่สูง เพื่อความปลอดภัย ขอให้ชาวบ้านติดตามข้อมูลข่าวเรื่องสภาพอากาศและทำตามคำแนะนำจากหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อความลดความเสี่ยงอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินให้มากที่สุด

พม่า

เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2567 ผู้จัดการออนไลน์รายงานอ้างสื่อต่างประเทศ ระบุว่าฝนที่ตกหนักได้ซัดกระหน่ำพม่า หลังจากไต้ฝุ่นยางิพัดเข้าเวียดนามเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมและดินถล่มทั่วภูมิภาค และทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แม่น้ำสายต่าง ๆ ในพม่าทะลักล้นเข้าท่วมพื้นที่โดยรอบ การสื่อสารล่ม และทำให้ประชาชนต้องพลัดถิ่นมากกว่า 53,000 คน ทางการระบุ

ที่กรุงเนปีดอ บางพื้นของเมืองหลวงมีน้ำท่วมสูงถึง 5 เมตร กระแสน้ำซัดกวาดบ้านเรือนพังเสียหาย หลังจากฝนตกหนักตั้งแต่วันจันทร์ ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจนถึงหลังคาบ้านหลายร้อยหลังในหมู่บ้านรอบเมืองหลวง ทำให้ประชาชนบางส่วนติดอยู่บนหลังคา

ในรัฐฉานตอนเหนือ หลายเมืองได้รับผลกระทบจากระดับน้ำที่เพิ่มสูง ที่ทำให้ประชาชนไม่มีไฟฟ้าหรือโทรศัพท์ใช้

ส่วนรัฐกะเหรี่ยง ทางตอนใต้ของประเทศ แม่น้ำเมยเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมเมืองเมียวดีเมื่อวันอังคาร

ในเมืองตองอู ที่อยู่ห่างจากนครย่างกุ้งราว 220 กิโลเมตร ผู้คนประมาณ 600 คน ต้องหลบภัยในอาคารของโรงเรียนหลังจากหนีออกจากบ้านที่อยู่ใกล้แม่น้ำสิตตองที่เชี่ยวกราก เจ้าหน้าที่กู้ภัยเผยกับสื่อต่างประเทศ

หน่วยดับเพลิงกล่าวว่าได้กู้ศพ 17 ศพจากหมู่บ้านที่ถูกน้ำท่วมในภาคมัณฑะเลย์ตั้งแต่วันพุธ ส่วนทีมกู้ภัยอีกทีมหนึ่งพบร่างผู้หญิงเสียชีวิต 1 คน ใกล้กับกรุงเนปีดอ หนึ่งในอาสาสมัครของทีมกู้ภัยระบุ “ทั้งหมู่บ้านจมอยู่ใต้น้ำ ผู้คนต้องอยู่บนหลังคาบ้านและตามต้นไม้ทั้งวันทั้งคืน” อาสาสมัคร กล่าว

เล ฉ่วย ซิ อู เจ้าหน้าที่จากกระทรวงสวัสดิการสังคม บรรเทาทุกข์ และตั้งถิ่นฐาน กล่าวว่ารัฐบาลทหารยังไม่มีตัวเลขผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต ทางการได้เปิดค่ายพักพิงประมาณ 50 แห่ง สำหรับผู้ประสบภัยน้ำท่วมราว 70,000 คน ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นใกล้กรุงเนปีดอ ภาคพะโค รัฐกะยา รัฐมอญ และรัฐฉาน

วิน นาย นักอุตุนิยมวิทยาระบุว่ามีแนวโน้มว่าจะมีน้ำท่วมมากขึ้นในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดีทางตอนใต้ของพม่า ขณะที่น้ำไหลลงสู่แม่น้ำอิรวดี

ประชาชนมากกว่า 3.3 ล้านคนในพม่า ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นตามการระบุของสหประชาชาติ โดยส่วนใหญ่จำต้องอพยพหลบหนีออกจากบ้านของตนเองเนื่องจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหารของกองทัพในปี 2564

ด้าน เพจ Know Shan State  ได้โพสต์สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศพม่า ไว้ดังนี้

น้ำท่วมหนักเขตเมืองหลวงรัฐฉาน เสียชีวิตแล้วกว่า 60 คน

สำนักข่าวชายขอบรายงานอ้างสำนักข่าว Mekong News และสำนักข่าว Tai TV Online ระบุว่าสืบเนื่องมาจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนักตั้งแต่วันที่ 10-13 ก.ย. 2567  ส่งผลให้เกิดเหตุน้ำท่วมหนัก น้ำป่าและดินถล่มที่เมืองกะลอ หรือเมืองกาดล้อ ในจังหวัดตองจี เมืองหลวงของรัฐฉาน ประเทศพม่า ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุอุทกภัยแล้วกว่า 60 คน และยังสูญหายอีกอย่างน้อย 80 คน โดยหน่วยงานบรรเทาทุกข์ในพื้นที่ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ทั่วถึง เพราะมีประชาชนได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก

เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์รายหนึ่งเผยว่า น้ำป่าจากลำห้วยได้ไหลทะลักอย่างแรงทำให้มีประชาชนสูญหายและเสียชีวิตจำนวนมากเท่าที่ค้นพบร่างผู้เสียชีวิต อย่างไรก็ตามผู้สูญหายนั้น จนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบชะตากรรม โดยหน่วยงานบรรเทาทุกข์พยายามเข้าไปช่วยเหลืออย่างเต็มที่ในพื้นที่ที่สามารถเข้าไปถึงได้ นอกจากนี้ยังมีเหตุดินถล่มในตัวเมืองกะลอและตามถนนหลายแห่ง ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือในตัวเมืองกะลอ เขต 2, 3 และ 4

ชาวบ้านในพื้นที่ยังเผยว่า ความสูญเสียและความสูญหายคาดว่าจะสูงกว่าที่มีการออกมาระบุ เนื่องจากสัญญาณโทรศัพท์ไม่สามารถใช้งานได้ในช่วงที่เกิดน้ำท่วม นอกจากนี้หน่วยงานที่เข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมยังมีน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนของผู้ประสบภัย

เหตุอุทกภัยรุนแรงครั้งนี้ ทำให้มีบ้านเรือนเสียหายนับ 500 หลังคาเรือน และคาดการณ์กันว่า มีผู้เสียชีวิตราว 100 คน เมืองใกล้เคียงอย่างเมืองอ่องปานก็ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมด้วยเช่นเดียวกัน และยังต้องการความช่วยเหลืออีกเป็นจำนวนมาก

ขณะที่สำนักข่าว Irrawaddy รายงานว่า ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์พม่ากำลังเปรียบเทียบความช่วยเหลือของกองทัพไทยและกองทัพพม่า เช่น ในขณะที่กองทัพอากาศไทยร่วมกับภาคเอกชนนำเฮลิคอปเตอร์บรรทุกอาหารและยารักษาโรคมอบให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วมในจังหวัดเชียงราย แต่ในตรงกันข้าม กองทัพอากาศพม่ากลับยังใช้เครื่องบินติดอาวุธโจมตีตามพื้นที่ต่างๆในประเทศ แม้ขณะนี้เกิดภัยพิบัติน้ำท่วมก็ตาม นั่นแสดงให้เห็นถึงกองทัพพม่าไม่เคยใยดีต่อประชาชนของตัวเอง

ผู้ใช้โซเชียลมีเดียชาวพม่ารายหนึ่งโพสต์ว่า“กองทัพอากาศพม่าทำตัวเหมือนกับกองทัพอากาศไทย แต่แทนที่จะทิ้งอาหารหรือความช่วยเหลือ กลับทิ้งระเบิดใส่พลเรือน”
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net