Skip to main content
sharethis

China Labour Bulletin (CLB) สื่อที่ติดตามประเด็นแรงงานในประเทศจีนชี้ว่าสหภาพแรงงานต้องกดดันแบรนด์แฟชั่นระดับโลก ในการลดผลกระทบต่อคนทำงานทั้งการเลิกจ้างและแช่แข็งค่าแรง จากการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ทางธุรกิจในอุตสาหกรรมแฟชั่น


ภาพประกอบสร้างจากเทคโนโลยี AI ของ Image Creator from Microsoft Designer

  • การหดตัวของอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายทั่วโลกนำไปสู่การประท้วงอย่างกว้างขวางในจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในรายงานพิเศษนี้ China Labour Bulletin (CLB) แสดงให้เห็นถึงความพยายามร่วมกันของคนทำงานในการปกป้องสิทธิของตนในช่วงภาวะตลาดตกต่ำในปี 2023
  • การย้ายโรงงานภายในภูมิภาคนี้มักนำไปสู่การละเมิดสิทธิแรงงานและปฏิกิริยาที่หลากหลายตามบริบทของท้องถิ่น แบรนด์แฟชั่นชื่อดังระดับโลกควรมีส่วนร่วมในการตรวจสอบแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับแรงงานของซัพพลายเออร์ทั่วทั้งเครือข่ายการผลิตขนาดใหญ่
  • การศึกษาเรื่องการจัดตั้งองค์กรของคนทำงานและการเป็นตัวแทนสหภาพแรงงานที่แตกต่างกันในภูมิภาคนี้แสดงให้เห็นว่าคนทำงานและสหภาพแรงงานจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากกฎหมายและเครื่องมือใหม่ ๆในการตรวจสอบสถานะกิจการ เพื่อประสานงานกันและต่อสู้กับความท้าทายระดับโลก

China Labour Bulletin (CLB) สื่อที่ติดตามประเด็นแรงงานในประเทศจีนเปิดเผยว่านับตั้งแต่ปี 2023 การเคลื่อนไหวร่วมกันของคนทำงานในภาคอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของจีนได้เพิ่มขึ้นอย่างมากในมณฑลชายฝั่ง เช่น กวางตุ้ง เจ้อเจียง และฝูเจี้ยน ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานที่เน้นการส่งออกส่วนใหญ่ จำนวนการประท้วงของคนทำงานผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายใน 'แผนที่การประท้วงของ CLB' (CLB's Strike Map ) เพิ่มขึ้นจาก 12 ครั้งในไตรมาส 1/2023 เป็น 29 ครั้งในไตรมาส 4/2023 และยังคงมีต่อเนื่องมาจนถึงในไตรมาส 1/2024 โดยมีการบันทึกไว้ 26 กรณี


สถิติการประท้วงของคนทำงานอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าในจีน | ที่มา: CLB Strike Map

ตลอดปี 2023 แผนที่การประท้วงของ CLB ได้บันทึกเหตุการณ์การเคลื่อนไหวร่วมกันของคนทำงานผลิตเสื้อผ้าไว้ 94 กรณี ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับปี 2022 ที่มีเพียง 6 กรณี การนัดหยุดงานและการประท้วงกระจุกตัวอยู่ในโรงงานที่ผลิตผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป เช่น เสื้อผ้า (30 กรณี) รองเท้า (25 กรณี) คนทำงานประท้วงการค้างจ่ายค่าจ้างและเงินประกันสังคม รวมทั้งเรียกร้องค่าชดเชยการเลิกจ้างเมื่อโรงงานประกาศปิดตัว

การนัดหยุดงานประท้วงที่เกี่ยวข้องกับการลดค่าจ้างและการเลิกจ้างก็เกิดขึ้นในประเทศแถบเอเชียใต้และอาเซียน ซึ่งซัพพลายเออร์และแบรนด์ดังต่าง ๆ ได้ย้ายห่วงโซ่อุปทานของตนเข้ามา การประท้วงที่โดดเด่นที่สุดเกิดขึ้นโดยคนทำงานผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายหลายพันคนในบังกลาเทศเมื่อปลายเดือน ต.ค. 2023 ซึ่งคนทำงานเรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมในธากาและเขตอุตสาหกรรม Gazipur การประท้วงแม้ว่าจะนำเสนอเพียงแค่เน้นเรื่องการเพิ่มค่าจ้าง แต่ก็ปะทุขึ้นท่ามกลางโรงงานที่ดำเนินการด้วยกำลังการผลิตที่จำกัด หรือแม้แต่ที่ต้องปิดตัวลง

ในรายงานพิเศษนี้ CLB จะแสดงให้เห็นว่ากลยุทธ์ทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปของแบรนด์แฟชั่นระดับโลก ได้นำไปสู่การประท้วงในจีนและในวงกว้างในเอเชียใต้และอาเซียน โดยมีตัวอย่างในบังกลาเทศ เวียดนาม และอินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังจะแสดงให้เห็นว่ากลุ่มบริษัทแฟชั่นละเว้นจากการจัดการโดยตรงกับการละเมิดแรงงานในห่วงโซ่อุปทานของตน ตลอดจนความขัดแย้งระหว่างโรงงานและคนทำงาน แบรนด์แฟชั่นข้ามชาติควรดำเนินการตรวจสอบสถานะกิจการอย่างเพียงพอ เพื่อประเมินผลกระทบจากการตัดสินใจของตนต่อคนทำงาน

แบรนด์แฟชั่นระดับโลกลดคำสั่งซื้อ ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ทั่วประเทศจีน เอเชียใต้ และอาเซียนในปี 2023

แบรนด์แฟชั่นระดับโลกส่วนใหญ่ชะลอการขยายตัวในปี 2023 Adidas เปิดเผยในรายงานประจำปีว่าพวกเขาขาดทุนครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี ส่วน H&M แม้จะมียอดขายสุทธิเพิ่มขึ้น 6% แต่ทั้งสองบริษัทเน้นการ "ควบคุมต้นทุน" ซึ่งหมายถึงการลดการสั่งซื้อจากโรงงานผู้รับจ้างผลิต มีการปรับคำสั่งซื้อให้ยืดหยุ่นเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ไปจนถึงการปิดร้านค้า

หลังวิกฤตการเงินในปี 2008 อุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายเข้าสู่วัฏจักรของการขยายตัวและการแข่งขัน การเข้ามาของผู้ค้าปลีกออนไลน์และบริษัทใหม่ในเอเชีย ทำให้มีการเพิ่มการผลิตมากขึ้นในอุตสาหกรรมนี้ ในขณะที่การเติบโตของอุปสงค์ไม่สามารถตามทัน บทความในวารสารที่ศึกษาเกี่ยวกับวิกฤตในอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายอ้างคำพูดของเลขาธิการสหพันธ์เครื่องนุ่งห่มระหว่างประเทศ (International Apparel Federation) ว่า "มีความไม่สมดุลอย่างมากระหว่างอุปสงค์และอุปทาน" ส่งผลให้ "แรงกดดันด้านราคาเกิดจากการผลิตมากเกินไป" การผลิตมากเกินไปของอุตสาหกรรมก่อนโควิด-19 ระบาดใหญ่ทั่วโลกอยู่ที่ 30-40% ในแต่ละปี และผลิตภัณฑ์มากกว่า 20% (ไม่เคยถูกใช้) ก็ถูกทิ้งที่หลุมฝังกลบ

แบรนด์แฟชั่นระดับโลกจ้างโรงงานรับจ้างผลิตภายนอกมาหลายทศวรรษ เพื่อตอบสนองต่อสภาวะตลาดใหม่และรักษาผลกำไร บริษัทต่าง ๆ ได้ย้ายห่วงโซ่อุปทานออกจากจีนเพื่อค้นหาแรงงานที่ราคาถูกกว่า บังกลาเทศและเวียดนามเป็น 2 ประเทศ ที่ได้รับเงินทุนมากที่สุด อัตราการเติบโตการส่งออกของกัมพูชาและเมียนมายังเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเติบโตมากกว่า 700% ตั้งแต่ปี 2019 แม้จีนยังคงเป็นผู้ส่งออกเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายรายใหญ่ที่สุดของโลก แต่ส่วนแบ่งมูลค่าการส่งออกก็ลดลงจาก 37% เป็น 32% ระหว่างปี 2010-2022

การขยายตัวทางภูมิศาสตร์ของอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายในทศวรรษที่ผ่านมา หมายความว่าเมื่อแบรนด์แฟชั่นระดับโลกตัดสินใจลดคำสั่งซื้อเพื่อรักษาผลกำไรในปี 2023 จึงเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อคนทำงานทั้งในจีน เอเชียใต้ และอาเซียน

คนทำงานภาคการผลิตเสื้อผ้าในจีนประท้วงการลดค่าจ้าง เนื่องจากคำสั่งซื้อลดลง

ตั้งแต่ปี 2023 การนัดหยุดงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายส่งออกในจีนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เมื่อวันที่ 14 เม.ย. 2023 พนักงานที่บริษัท Jiaxing Quang Viet Garment ในมณฑลเจ้อเจียงออกมาประท้วงเรื่องค่าแรง โรงงานของไต้หวันแห่งนี้ผลิตสินค้าให้กับ Adidas, New Balance และแบรนด์ชื่อดังอื่น ๆ

เนื่องจากแบรนด์แฟชั่นระดับโลกได้ลดคำสั่งซื้อเสื้อผ้ากีฬา ผ้าฝ้าย และเสื้อโค้ทขนเป็ดของโรงงาน พนักงานพบว่าเงินเดือนของพวกเขาที่ต่ำกว่า 4,000 หยวน นั้นต่ำกว่าที่โฆษณาไว้ในประกาศรับสมัครงานอย่างมาก ที่ระบุว่าคนงานสามารถทำเงินได้ 7,000 ถึง 10,000 หยวนต่อเดือน พนักงานเรียกร้องให้ตัวแทนโรงงานออกมาชี้แจงในเรื่องนี้

ระหว่างเหตุการณ์นี้ เจ้าหน้าที่จากสหภาพแรงงานท้องถิ่นได้แจ้งกับ CLB ว่าพนักงาน "เข้าใจผิดไปเอง" และบริษัท "ได้อธิบายสถานการณ์แล้ว" พนักงานกลับมาทำงานหลังจากการประท้วงนาน 4 วันและได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นเพียง 100 หยวนต่อเดือน

การประท้วงครั้งใหญ่อีกครั้งเกิดขึ้นที่โรงงานรองเท้า Yangzhou Baoyi ในมณฑลเจียงซู เมื่อพนักงานกว่า 1,000 คน นัดหยุดงานตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย.-7 ธ.ค. 2023 เพื่อเรียกร้องค่าชดเชยการเลิกจ้าง มีการเปิดเผยว่าบริษัท Pou Chen ของไต้หวัน ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์รองเท้ารายใหญ่ที่สุดในโลกและบริษัทแม่ของโรงงานแห่งนี้ รายได้ลดลงถึง 7.7% ในปี 2023 หลังจากที่ลูกค้าอย่าง Adidas และ Nike ลดคำสั่งซื้อ


การประท้วงที่โรงงานรองเท้า Yangzhou Baoyi

พนักงานกล่าวว่าในปี 2023 มีการทำงานล่วงเวลาเพียงเล็กน้อย ดังนั้นเงินเดือนพื้นฐานที่ใช้ในการคำนวณค่าชดเชยจากการเลิกจ้างจึงไม่สะท้อนถึงระดับรายได้ปกติของพวกเขา และค่าชดเชยที่ได้จึงต่ำ พวกเขายังประท้วงเรื่องนายจ้างค้างจ่ายประกันสังคมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ทั้งสองกรณีนี้แสดงให้เห็นว่าการลดความเสี่ยงของบริษัท ได้ส่งผลกระทบไปที่คนทำงานแทน เนื่องจากการลดค่าจ้างและย้ายฐานการผลิต คนทำงานจึงได้นัดหยุดงานประท้วง ซึ่งบางครั้งก็สามารถเรียกคืนผลประโยชน์คืนได้บางส่วน ในขณะที่สหภาพแรงงานอย่างเป็นทางการในจีน มักจะไม่เข้ามาเป็นตัวแทนของคนทำงานและสนับสนุนข้อเรียกร้องทางกฎหมายของพวกเขา

คนทำงานในบังกลาเทศเรียกร้องให้มีการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำอย่างเหมาะสม แต่โรงงานกลับโยนความรับผิดชอบให้กับแบรนด์แฟชั่นระดับโลกและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

การประท้วงครั้งใหญ่โดยคนทำงานในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของบังกลาเทศในช่วงปลายเดือน ต.ค. 2023 แสดงให้เห็นว่า ซัพพลายเออร์พยายามซ่อนตัวอยู่หลังแบรนด์แฟชั่นระดับโลก ในประเด็นการขึ้นค่าแรงเพียงเล็กน้อย เนื่องจากค่าแรงขั้นต่ำสำหรับอุตสาหกรรมเสื้อผ้าในบังกลาเทศจะได้รับการปรับปรุงทุก ๆ 5 ปี และการขึ้นค่าแรงครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2018 ซึ่งไม่สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คนทำงานและสหภาพแรงงานได้เรียกร้องให้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 208 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน

คนทำงานเรียกร้องให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างเหมาะสม หลังจากสมาคมผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปแห่งบังกลาเทศ (BGMEA) เสนอขึ้นค่าแรงเป็น 90 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน และคณะกรรมการค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลเสนอตัวเลขสุดท้ายที่ 113 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งไม่ตรงตามความต้องการของพวกเขา  หลังการประท้วงปะทุ เหล่าคนทำงานถูกปราบปรามอย่างรุนแรง มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 4 คน และอีกหลายร้อยคนถูกเลิกจ้าง

สมาคม BGMEA ซึ่งเป็นสมาคมของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม ได้โยนความผิดไปที่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและแบรนด์แฟชั่นระดับโลก เพื่อปกป้องข้อเสนอการขึ้นค่าแรงที่ต่ำของตนเอง ในเดือน มี.ค. 2023 สมาคม BGMEA อ้างว่า บริษัทผู้ซื้อและแบรนด์ต่างชาติสั่งซื้อสินค้าในปริมาณน้อยแทนที่จะเป็นการสั่งซื้อจำนวนมาก ส่งผลให้การผลิตของโรงงานลดลง ประธานบริหารของสมาคมตัวแทนผู้ประกอบการอีกแห่งหนึ่ง คือ สมาคมผู้ผลิตและส่งออกสิ่งทอแห่งบังกลาเทศ (BKMEA) ให้สัมภาษณ์ว่า ปริมาณการสั่งซื้อที่ลดลงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้โรงงานเดินเครื่องจักรได้เพียง 50% ในปี 2023

โดยการเน้นย้ำถึงภาวะการเงินที่ตึงเครียดของโรงงาน สมาคม BGMEA ยืนยันว่าโครงสร้างค่าแรงใหม่นั้นสมเหตุสมผล สมาคมฯ ได้ออกมาปกป้องจุดยืนของตนเองอย่างเปิดเผยในเดือน พ.ย. 2023 โดยอ้างว่ามีความจำเป็นต้องรักษาระดับค่าแรงที่ค่อนข้างต่ำของแรงงานบังกลาเทศไว้ เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของบริษัท โดยไม่คำนึงถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เกิดขึ้น

การประท้วงในบังกลาเทศแสดงให้เห็นว่า แม้สหภาพแรงงานและคนทำงานจะยืนกรานเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่เจ้าของโรงงานที่เป็นซัพพลายเออร์ก็ยังคงต่อต้านการขึ้นค่าแรง และโยนความผิดไปที่รูปแบบการสั่งซื้อของแบรนด์แฟชั่นระดับโลกว่าเป็นตัวการค่าแรงต่ำ แม้ว่าการผลักดันนี้จะเป็นระหว่างคนทำงานกับโรงงาน แต่ผลกระทบจากการตัดสินใจของซัพพลายเออร์ในภูมิภาคและแบรนด์ต่างประเทศ ล้วนส่งผลกระทบต่อทั้งสองกลุ่ม

เกิดการนัดหยุดงานประท้วงเมื่อโรงงานซัพพลายเออร์ในเอเชียใต้และอาเซียนผลักภาระไปให้คนทำงาน

นอกจากการประท้วงขนาดใหญ่และต่อเนื่องของคนทำงานในบังกลาเทศเมื่อ พ.ย. 2023 แล้ว การลดคำสั่งซื้อและการตัดราคาจากแบรนด์แฟชั่นระดับโลกยังนำไปสู่การประท้วงขนาดเล็กในประเทศต่าง ๆ ในเอเชียใต้และอาเซียน CLB ได้รวบรวมกรณีที่น่าสนใจบางกรณี ไว้ดังนี้:

  • 10 ก.พ. 2024 พนักงานของโรงงานเสื้อผ้าสำเร็จรูป 2 แห่งในเมืองนารายันกานจ์ บังกลาเทศ ได้ทำประท้วงหลังจากถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าชดเชยที่เหมาะสม โรงงานหนึ่งอยู่ภายใต้กลุ่ม Crony Group ซึ่งอ้างว่าผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ต่าง ๆ เช่น Tom Tailor, Kroger, Zara, Mango และแบรนด์ดังอื่น ๆ ส่วนอีกโรงงานหนึ่งอยู่ภายใต้กลุ่ม Rupashi Group ซึ่งผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ Zara, Inditex, Pull&Bear และ Forever 21
  • 30 พ.ค. 2023 พนักงานในโรงงานผลิตเสื้อผ้า 3 แห่งในชวา อินโดนีเซีย เผชิญกับการเลิกจ้างครั้งใหญ่ โรงงานเสื้อผ้าทั้ง 3 แห่งกำลังเจรจากับสหภาพแรงงาน เนื่องจากบริษัทที่ไม่เปิดเผยชื่อมีปัญหาในการจ่ายค่าชดเชย
  • 25 ส.ค. 2023 คนทำงานหลายร้อยคนในเวียดนาม ประท้วงต่อต้านแผนการเลิกจ้างของบริษัท Nobland ซึ่งผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่เป็นชาวเกาหลีใต้ บริษัทกล่าวว่าการลดคำสั่งซื้อทำให้ต้องปรับโครงสร้างโดยการเลิกจ้างพนักงาน สำหรับพนักงานต้องการจ้างต่อ บริษัทเสนอระบบเงินเดือนแบบใหม่ที่ขึ้นอยู่กับผลผลิต ซึ่งผลักดันให้คนทำงานทำงานหนักขึ้น

CLB ชี้ว่าแบรนด์แฟชั่นระดับโลกต้องสร้างมาตรการคุ้มครองแรงงานที่ดีขึ้น โดยเฉพาะเมื่อบริษัทซัพพลายเออร์ใช้วิธีการต่าง ๆ เพื่อรักษาความสามารถในการทำกำไรและผลักดันภาระไปยังคนทำงาน แนวโน้มแสดงให้เห็นว่าคนทำงานถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าชดเชยที่เหมาะสม การเรียกร้องให้เพิ่มค่าแรงก็ถูกขัดขวางโดยกลุ่มนายจ้างและรัฐบาล บางครั้งคนทำงานไม่มีทางเลือกนอกจากต้องยอมรับระบบค่าจ้างแบบใหม่และต้องทำงานหนักขึ้นในขณะที่จำนวนพนักงานลดลง

สหภาพแรงงานท้องถิ่นต้องเจรจาต่อรองกับแบรนด์แฟชั่นระดับโลก

ในการประท้วงของคนทำงานผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายในประเทศจีนทั้งหมดที่ CLB รวบรวมเมื่อปี 2023 ไม่พบว่าแบรนด์แฟชั่นระดับโลกเข้ามามีส่วนร่วมในการเจรจาระหว่างโรงงานและพนักงาน ในกรณีที่มีการเจรจา เช่น ในกรณีของบริษัท Jiaxing Quang Viet Garment และโรงงานรองเท้า Yangzhou Baoyi มีเพียงฝ่ายบริหารของโรงงานและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเท่านั้นที่เข้าร่วมการเจรจา

สำหรับการประท้วงครั้งใหญ่ในบังกลาเทศเกี่ยวกับการต่อรองค่าจ้างขั้นต่ำ แบรนด์แฟชั่นระดับโลกโดยส่วนใหญ่มักสงวนท่าที บริษัทเช่น Levi Strauss & Co กล่าวว่าได้ "สนับสนุนให้รัฐบาลบังกลาเทศสร้างกระบวนการที่ยุติธรรม น่าเชื่อถือ และโปร่งใสสำหรับการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำอย่างสม่ำเสมอ" มีเพียง Patagonia ที่แสดงการสนับสนุนค่าจ้างขั้นต่ำที่ 208 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่คนทำงานร้องขอ โดยทั่วไปแล้ว แบรนด์แฟชั่นระดับโลกปฏิเสธที่จะยอมรับว่าตนเองมีอิทธิพลในการกดดันโรงงานได้ นักวิชาการที่ศึกษาอุตสาหกรรมแฟชั่นจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียชี้ว่า แรงกดดันต่อโรงงาน "เริ่มต้นจากแบรนด์และผู้ค้าปลีก [...] มันเป็นการสนทนาที่อุตสาหกรรมแฟชั่นพยายามหลีกเลี่ยงอยู่เสมอ"

ในอินโดนีเซีย ผลของการเจรจาระหว่างสหภาพแรงงานกับโรงงานก็ถูกจำกัดอย่างมากโดยแบรนด์แฟชั่นระดับโลก สหภาพแรงงาน Serikat Pekerja Nasional (SPN) เปิดเผยว่าโรงงานได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องการเพิ่มค่าแรง โดยอ้างว่าคำสั่งซื้อของแบรนด์เหล่านั้นมีมูลค่าต่ำเกินไป หลังจากที่แบรนด์หนึ่งได้ลดคำสั่งซื้อมากกว่า 30% ค่าจ้างของพนักงานจึงลดลง 25% สหภาพแรงงาน SPN พยายามขอคำชี้แจงจากสาขาของแบรนด์นั้นในอินโดนีเซีย แต่ถูกปฏิเสธ ขณะเดียวกัน ฝ่ายบริหารของโรงงานปฏิเสธคำขอรายละเอียดของคำสั่งซื้อในระหว่างการเจรจาด้วยเช่นกัน

เพื่อให้แบรนด์แฟชั่นระดับโลกเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อรองราคาและพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ CLB ชี้ว่าต้องสนับสนุนให้สหภาพแรงงานในจีนและประเทศอื่น ๆ เจรจาต่อรองกับแบรนด์เหล่านี้เกี่ยวกับค่าจ้าง สวัสดิการ ความปลอดภัยในการทำงาน และสภาพแวดล้อมในการทำงานอื่น ๆ ในกรณีของบริษัท Jiaxing Quang Viet Company, CLB ได้ยกตัวอย่างคำตัดสินของศาลชั้นกลางของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งได้ตัดสินลงโทษแบรนด์สัญชาติเนเธอร์แลนด์ฐานผิดสัญญาการยกเลิกใบสั่งซื้อที่โรงงานของซัพพลายเออร์ในเวียดนาม  กรณีนี้กระตุ้นให้สหภาพแรงงานท้องถิ่น สนใจรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการเชื่อมโยงปัญหาที่คนทำงานเผชิญกับแบรนด์แฟชั่นระดับโลกมากขึ้น และหารือเกี่ยวกับวิธีการสนับสนุนคนทำงานเมื่อโรงงานประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ

CLB ชี้ว่าจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องนำแบรนด์แฟชั่นระดับโลกเข้าสู่โต๊ะเจรจากับสหภาพแรงงาน เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เนื่องจากปัญหาหลายอย่างที่คนทำงานในห่วงโซ่อุปทานต้องเผชิญ ล้วนมีต้นเหตุมาจากบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้อยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น.


ที่มา:
Garment workers’ unions must engage global brands on impacts of changing business strategies on workers’ rights (China Labour Bulletin, 16 May 2024)
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net