Skip to main content
sharethis

รายงานพิเศษจาก China Labour Bulletin แม้ว่ารัฐบาลจีนจำเป็นต้องเพิ่มอายุเกษียณเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางประชากร แต่แผนดังกล่าวก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในระบบประกันสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานย้ายถิ่นไม่มีสัญญาจ้าง ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายในการได้รับเงินบำนาญที่เพียงพอ


ที่มาภาพ: Jonathan Kos-Read (CC BY-ND 2.0)

  • แผนการของรัฐบาลจีน ในการเพิ่มอายุการเกษียณถูกวิพากษ์วิจารณ์จากแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานย้ายถิ่น
  • เป็นเรื่องยากสำหรับแรงงานย้ายถิ่น ที่จะหางานที่จ่ายเงินประกันสังคมให้ครบ 15 ปี ซึ่งเป็นข้อกำหนดเบื้องต้นสำหรับการรับบำนาญเมื่อเกษียณอายุ แรงงานกังวลว่าการปฏิรูปอายุเกษียณจะทำให้สถานการณ์ของพวกเขาแย่ขึ้น
  • มีความแตกต่างในการครอบคลุมและสิทธิประโยชน์ของประกันสังคมระหว่างแรงงานในเมืองกับแรงงานอพยพ แรงงานอพยพหลายคนยังคงต้องทำงานหลังจากเกษียณอายุ โดยได้รับสิทธิประโยชน์จากประกันสังคมน้อยหรือไม่มีเลย การจ้างงานที่ไม่มั่นคงและไม่เป็นทางการในทุกภาคส่วนของจีน เป็นเหตุผลสำคัญและอาจจะยังคงมีต่อไปพร้อมกับการเติบโตของเศรษฐกิจแบบ gig economy

China Labour Bulletin (CLB) สื่อที่ติดตามประเด็นแรงงานในประเทศจีน รายงานเมื่อช่วงเดือน ก.ค. 2024 ว่า ขณะนี้ประเทศจีนกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านประชากรอย่างรุนแรง โดยมีอัตราการเกิดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และการที่อายุเกษียณต่ำได้นำไปสู่การลดลงอย่างต่อเนื่องของประชากรวัยทำงาน ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ประชากรวัยทำงานลดลงเหลือ 61.3% ในปี 2023 จาก 62% ในปี 2022 แรงงานที่ลดลงและประชากรสูงอายุกำลังสร้างแรงกดดันต่อระบบบำนาญของจีนอย่างมาก การคาดการณ์ปัจจุบันระบุว่า หากไม่มีการแทรกแซง ทรัพยากรของระบบประกันสังคมจะหมดลงภายในปี 2035

เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายเหล่านี้ รัฐบาลจีนได้ประกาศแผนในเดือน มี.ค. 2021 ที่จะค่อย ๆ เพิ่มอายุเกษียณเป็น 65 ปี ภายในปี 2045 แม้ว่าการปฏิรูปนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการแก้ไขปัญหาด้านประชากร แต่ก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากแรงงานที่รู้สึกว่าความกังวลของพวกเขาไม่ได้รับการพิจารณาอย่างเพียงพอ

แรงงานบางคนชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างมากระหว่างประเภทของแรงงานที่ได้รับประโยชน์จากการเกษียณอายุในจีน ความแตกต่างที่ชัดเจนนี้ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐบางคนได้รับเงินบำนาญมากกว่าเงินเดือนของแรงงานโรงงานวัยกลางคน เป็นการแสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมในระบบบำนาญ ไม่เพียงแต่จะเพิ่มความท้าทายทางการเงินของแรงงานบางคน แต่ยังเน้นย้ำถึงความไม่ยุติธรรมในระบบบำนาญปัจจุบัน

CLB ยกตัวอย่างการตั้งคำถามของเหล่าแรงงานคอปกน้ำเงินบางส่วน ดังนี้:

“เราสามารถเสนอให้แรงงานคอปกขาวเกษียณอายุที่ 80 ปี ในขณะที่แรงงานปกน้ำเงินเกษียณอายุที่ 50 ปี ได้หรือไม่?”

“แรงงานคอปกน้ำเงินที่อายุเกิน 45 ปี แทบจะหางานที่มีการจ่ายค่าประกันสังคมให้ไม่ได้เลย”

แรงงานยังกังวลเกี่ยวกับอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นในเศรษฐกิจปัจจุบัน และไม่พอใจกับการต้องรอรับบำนาญนานขึ้น

“ในขณะที่แรงงานวัยหนุ่มสาวกำลังเผชิญกับการว่างงาน แรงงานสูงอายุก็ไม่สามารถเกษียณได้…”

“ในความเป็นจริง พวกเราสนับสนุนการเกษียณอายุก่อนกำหนด (แทนที่จะเลื่อนออกไป) เพื่อให้คนหนุ่มสาวมีโอกาสได้งานมากขึ้น”

โดยทั่วไปแล้ว แรงงานคอปกน้ำเงินหลายคนไม่สนับสนุนการเลื่อนอายุเกษียณ เพราะพวกเขาเห็นว่าการวางแผนเช่นนี้จะทำให้พวกเขาต้องทำงานนานขึ้นและจ่ายค่าประกันสังคมมากขึ้น และมีหลักประกันเพียงน้อยนิดที่ว่าจะได้รับสิทธิประโยชน์มากขึ้น

โดยปกติแล้ว แรงงานย่อมไม่พอใจที่การจ่ายบำนาญถูกเลื่อนออกไปและต้องทำงานนานขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ซ่อนอยู่ที่สำคัญคือ แรงงานคอปกน้ำเงินในจีนส่วนใหญ่เป็นแรงงานย้ายถิ่นและมีการจ้างงานไม่มั่นคง 
พวกเขาไม่มีความเชื่อมั่นในระบบประกันสังคมในปัจจุบัน หลายคนกลัวว่าการเลื่อนอายุเกษียณหมายความว่าพวกเขาจะสูญเสียสิทธิประโยชน์ที่พวกเขาควรจะได้รับเมื่อแก่ตัวลง

การเกษียณไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับอายุเพียงอย่างเดียว

ที่มาภาพ: alejandroavilacortez/pixabay

นโยบายอายุเกษียณในจีน มีกฎหมายกำหนดอายุเกษียณสำหรับผู้ชายที่ 60 ปี และสำหรับผู้หญิงระหว่าง 50 ถึง 55 ปี ถือว่าเก่าและไม่สะท้อนกับการเปลี่ยนแปลงทางประชากรของประเทศอีกต่อไป แม้อายุขัยเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่อายุเกษียณที่แท้จริงในจีนยังคงอยู่ที่เพียง 54 ปี ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ที่ 64.4 ปี อย่างมาก แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่รัฐบาลต้องพิจารณาเพิ่มอายุเกษียณให้เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน

นโยบายบำนาญในปัจจุบันของจีน ระบุว่าแรงงานสามารถรับบำนาญได้เมื่อถึงอายุเกษียณที่กำหนดตามกฎหมาย และมีการจ่ายเงินประกันสังคมมาแล้วอย่างน้อย 15 ปี ดังนั้น แรงงานคอปกน้ำเงินจึงมักพึ่งพานโยบายนี้ในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์เมื่อพวกเขามีคุณสมบัติตามที่กำหนด

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ได้หมายความว่าแรงงานทุกคนจะหยุดทำงานหลังอายุเกษียณ ในความเป็นจริง เนื่องจากความแตกต่างของการคุ้มครองทางสังคมระหว่างคนmeงาน เป็นเรื่องปกติที่แรงงานบางคนที่อายุมากกว่า 60 ปีจะยังคงทำงานอยู่แม้ว่าพวกเขาจะได้รับเงินบำนาญก็ตาม แรงงานเหล่านี้ไม่สามารถเซ็นสัญญาจ้างงานกับนายจ้างได้อย่างถูกกฎหมาย หลายคนต้องทำงานภายใต้สัญญาบริการในภาคส่วนต่างๆ เช่น การสุขาภิบาลและการก่อสร้าง หรือเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย โชคร้ายที่ไม่มีสัญญาจ้างงานอย่างเป็นทางการ นายจ้างจึงไม่มีข้อผูกพันที่จะจ่ายเงินประกันสังคมให้กับพวกเขา

ในปี 2024 ท้องถิ่นหลายแห่งได้เพิ่มอายุจำกัดสำหรับคนขับแท็กซี่เป็น 65 ปี ก่อนหน้านี้ บางท้องถิ่นกำหนดให้คนขับแท็กซี่เกษียณเมื่ออายุครบ 50 ปี ทำให้คนขับเหล่านี้ไม่สามารถเซ็นสัญญาจ้างงานได้อีก เนื่องจากพวกเขาได้ถึงวัยเกษียณแล้ว

ในเดือน พ.ค. 2024 แรงงานรถไฟใต้ดินเสิ่นหยาง ได้ประท้วงว่าพวกเขาไม่สามารถจ่ายค่าประกันสังคมได้หากพวกเขาเข้าร่วมบริษัทหลังอายุ 50 ปี บริษัทระบุว่า "ไม่ใช่ว่าเราไม่ต้องการจ่ายค่าประกันสังคมให้แรงงาน แต่มีกฎหมายที่ห้ามเราจ่ายเงินให้กับผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี"

ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำล่าสุดในจีน ยังส่งผลกระทบต่อการจ่ายเงินประกันสังคมของแรงงานด้วย เพราะบางคนหยุดจ่ายเพื่อเก็บเงินไว้ใช้มากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานบางคนตอนนี้เลือกที่จะจ่ายเงินเพียง 15 ปี เพื่อรับบำนาญขั้นต่ำในเมืองที่พวกเขาเกษียณ และแรงงานบางคนก็หยุดจ่ายค่าประกันสังคมตั้งแต่เกิดโรคโควิด-19 ระบาด เก็บไว้เฉพาะค่าประกันสุขภาพพื้นฐานไว้ และบางครอบครัวเลิกจ่ายทั้งประกันสังคมและประกันสุขภาพ หลายคนบอกว่าพวกเขาอาจพิจารณากลับมาจ่ายใหม่ในอนาคต ส่วนใหญ่พวกเขาจะจ่ายค่าประกันสังคมรวมกันเพียง 15 ปี ซึ่งเพียงพอที่จะรับบำนาญพื้นฐาน โชคร้ายที่หมายความว่าแรงงานย้ายถิ่นจะได้รับบำนาญที่ต่ำกว่าแรงงานในเมืองมาก หรืออาจไม่ได้รับบำนาญเลย

ความจริงที่ว่าแรงงานบางคนลดการจ่ายเงินประกันสังคม ในขณะที่บางคนยังทำงานต่อไปหลังอายุเกษียณ แสดงถึงความแตกต่างในการคุ้มครองบำนาญระหว่างแรงงานในจีน ในขณะที่แรงงานหลายคนได้รับบำนาญที่ดีและเกษียณอายุงานอย่างมีความสุข แต่แรงงานหลายล้านคนในจีนได้รับเงินสมทบที่ไม่เพียงพอ และกังวลเกี่ยวกับการเลื่อนการจ่ายบำนาญที่ล่าช้า ยิ่งไปกว่านั้น บางคนไม่รับประกันว่าจะได้รับบำนาญเลย

แรงงานในเมืองมักได้บำนาญภายในอายุเกษียณตามกฎหมาย

เช่นเดียวกับหลาย ๆ ด้านของระบบประกันสังคมในจีน มีความแตกต่างอย่างมากระหว่างแรงงานในเมืองและแรงงานย้ายถิ่นมาจากชนบท ในเขตเมือง สัดส่วนของผู้ที่เกษียณอายุก่อนอายุ 50 ปี สูงกว่าแรงงานในชนบท 2 เท่า (63.4%) เทียบกับ (31.1%) หนึ่งในเหตุผลสำคัญของความแตกต่างนี้ คือความแตกต่างที่ชัดเจนในเรื่องการครอบคลุมบำนาญและจำนวนเงินที่ออมไว้ในกองทุนบำนาญ ซึ่งแตกต่างกันอย่างมากระหว่างพื้นที่เมืองและชนบท

ในอดีต แรงงานในเมืองจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานในรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานรัฐ พึ่งพาแนวคิด "ชามข้าวเหล็ก" ซึ่งคือการจ้างงานตลอดชีวิตและรับรองว่าจะมีบำนาญ แรงงานในเมืองไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าประกันสังคมประจำปี และพวกเขาได้รับการรับรองว่าจะได้บำนาญพร้อมการคุ้มครองทางการแพทย์เมื่อถึงอายุเกษียณ ดังนั้นพวกเขามักจะเกษียณเมื่อถึงอายุเกษียณตามกฎหมาย

แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงจากระบบชามข้าวเหล็กไปเป็นระบบสัญญาจ้าง แต่แนวโน้มการเกษียณอายุสำหรับแรงงานในเมืองก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก โดยส่วนใหญ่จะเกษียณอย่างมีความสุขเมื่อถึงอายุเกษียณเพราะพวกเขาสามารถพึ่งพาบำนาญได้ อย่างไรก็ตาม การเกษียณอายุในเขตเมืองยังคงเกิดขึ้นก่อนอายุเกษียณอย่างเป็นทางการ ส่วนหนึ่งของวิถีปฏิบัตินี้สะท้อนถึงมรดกจากทศวรรษ 1990 ในการปรับโครงสร้างรัฐวิสาหกิจ – การเกษียณก่อนกำหนดยังเป็นวิธีหนึ่งในการปลดพนักงานภายใน 5 ปีก่อนอายุเกษียณ นอกจากนี้ โครงการบำนาญสำหรับแรงงานในเมืองยังอนุญาตให้เกษียณก่อนกำหนดได้ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพหรือสภาพการทำงานที่เป็นอันตราย โดยมีการสนับสนุนจากนายจ้าง อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากการศึกษาสุขภาพและการเกษียณอายุของจีน (CHARLS) ชี้ให้เห็นว่าการเกษียณก่อนกำหนดมักได้รับการอนุมัติอย่างเสรี

แรงงานย้ายถิ่นกำลังต่อสู้เพื่อรับบำนาญ

ที่มาภาพ: sumanamul15/pixabay

ในทางกลับกัน แรงงานย้ายถิ่นได้รับเงินบำนาญที่ต่ำกว่ามาก ซึ่งนำไปสู่ความกังวลเกี่ยวกับเงินออมที่เพียงพอ สำหรับการดูแลตนเองและครอบครัวในวัยเกษียณ ดังนั้น หลายคนยังคงทำงานต่อหลังอายุเกษียณ บางครั้งจนกระทั่งไม่สามารถทำงานได้แล้ว ส่งผลให้สัดส่วนการเกษียณอายุระหว่างแรงงานในเมืองและชนบทมีความแตกต่างกันอย่างมาก

การประท้วงล่าสุดในภาคการผลิตแสดงให้เห็นถึงความไม่เพียงพอของระบบประกันสังคม ในการให้ความคุ้มครองและการชดเชยที่เพียงพอแก่แรงงานย้ายถิ่นเมื่อเผชิญกับการปิดโรงงาน CLB พบว่าการประท้วงหลายกรณี  เช่น ในหยางโจวและจงซาน แรงงานประท้วงที่โรงงานตัดสินใจย้ายและไม่เต็มใจจ่ายเงินให้แรงงานในตอนแรก โรงงานในหยางโจวมีกำหนดย้ายไปอินโดนีเซียเพื่อหาแรงงานราคาถูกกว่า และโรงงานในจงซานมีกำหนดย้ายไปมณฑลกว่างซี

ในกรณีของหยางโจว CLB พบว่าโรงงาน Baoyi ละเมิดข้อกำหนดหลายประการของกฎหมายแรงงาน ซึ่งรวมถึงการไม่จ่ายเงินประกันสังคมและกองทุนที่อยู่อาศัย เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2023, CLB ได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมซึ่งระบุว่าการที่ Baoyi ไม่จ่ายเงินประกันสังคม ถือเป็น “ปัญหาทางประวัติศาสตร์” ด้วย “เหตุผลที่สมเหตุสมผลและถูกต้องตามกฎหมาย” ที่ไม่บังคับใช้กฎหมายในเรื่องนี้

ในขณะเดียวกัน โรงงาน Baoyi ซึ่งรู้ว่าจะต้องเลิกจ้างพนักงาน ตัดสินใจลดค่าจ้างของแรงงานในปีสุดท้ายของการดำเนินงาน เพื่อให้แพ็คเกจการชดเชยการเลิกจ้างมีต้นทุนที่ต่ำที่สุด

ในกรณีของจงซาน ไปไกลกว่านั้น โดยแรงงานจำได้ว่าฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่โรงงาน Wing Ming ใช้กลยุทธ์ทุกวิถีทางเพื่อให้พนักงาน "ลาออกโดยสมัครใจ" โรงงานมีประวัติการไม่จ่ายค่าประกันสังคมมาเป็นเวลานาน และสิ่งนี้ยังถูกใช้เพื่อให้แรงงานต้องเลือกระหว่างเงินชดเชยจำนวนน้อยหรือการจ่ายค่าประกันสังคม แม้จะขัดกับกฎหมายแรงงาน แต่แรงงานต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง แรงงาน Wing Ming รายหนึ่งที่ลงนามในข้อตกลงลาออกในเดือน มิ.ย. 2023 ได้เขียนว่า

“เราไปขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่พวกเขาไม่ช่วย ไม่มีใครบังคับใช้กฎหมาย สำนักแรงงานยืนข้างโรงงาน ในฐานะแรงงานย้ายถิ่น เราทำอะไรไม่ได้ นอกจากถูกปฏิบัติแบบนี้ ที่ซึ่งนโยบายประกันสังคมของเราไม่ถูกบังคับใช้ในท้องถิ่น”

ดังนั้น แรงงานย้ายถิ่นส่วนใหญ่จะโชคดีอย่างยิ่งหากพวกเขาอยู่ในโรงงานที่จ่ายเงินเข้าระบบประกันสังคมอย่างถูกกฎหมาย และพวกเขาได้รับการรับรองว่าจะได้รับบำนาญเมื่อถึงอายุเกษียณ แรงงานย้ายถิ่นหลายคนพอใจกับการได้รับบำนาญ แม้ว่าพวกเขาจะมีข้อมูลน้อยมากเกี่ยวกับวิธีการคำนวณเงินสมทบและการจ่ายเงินที่พวกเขาสามารถคาดหวังได้ตามกาลเวลา การขาดความรู้นี้หมายความว่าแรงงานย้ายถิ่นไม่ทราบวิธีการเพิ่มผลประโยชน์จากระบบบำนาญ พวกเขามักจะยอมจ่ายเงินสมทบขั้นต่ำเป็นเวลา 15 ปี และรับบำนาญที่ค่อนข้างต่ำเป็นการตอบแทน แรงงานแทบไม่เคยได้รับการปรึกษา และสหภาพแรงงานก็ไม่สนับสนุนการเจรจาต่อรองระดับองค์กร ดังนั้นพวกเขาอาจไม่สามารถเรียกร้องผลประโยชน์เพิ่มเติมได้

ขาดบำนาญ: ปัญหาของแรงงานที่ไม่มีสัญญาจ้างและระบบ 'หูโข่ว'

แรงงานย้ายถิ่นยังไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมในระบบบำนาญของเมือง ข้อมูลจากกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และประกันสังคมแสดงให้เห็นว่าในปี 2017 มีเพียง 22% ของแรงงานย้ายถิ่นที่เข้าร่วมโครงการบำนาญของคนทำงานในเมือง ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าระบบบำนาญพื้นฐานของประเทศจีน นับตั้งแต่ปี 2017 ไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลใหม่จากกรมนี้

แรงงานย้ายถิ่นบางส่วนไม่มีสัญญาจ้างงาน ซึ่งหมายความว่าพวกเขาไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินสมทบจากนายจ้างในโครงการบำนาญ และการทำงานที่ไม่มีสัญญาจ้าง ก็ไม่ถูกนับรวมในระยะเวลา 15 ปี ของระบบประกันสังคม สำนักงานสถิติแห่งชาติไม่ได้เผยแพร่ตัวเลขสัญญาจ้างแรงงานของแรงงานย้ายถิ่นตั้งแต่ปี 2017 แต่ในเวลานั้นคาดว่ามีเพียงประมาณ 35.1% ของแรงงานย้ายถิ่นที่มีสัญญาจ้างงาน หากไม่มีสัญญา นายจ้างของแรงงานย้ายถิ่นเหล่านี้ไม่มีหน้าที่ทางกฎหมายที่จะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนบำนาญ ซึ่งหมายความว่าแรงงานจากชนบทที่ย้ายถิ่นมาในเมืองจะได้รับความคุ้มครองบำนาญน้อยมากหรือไม่มีเลย

ปัญหานี้เป็นปัญหาเฉพาะในภาคการก่อสร้าง ซึ่งแรงงานจำนวนมากทำงานแบบไม่เป็นทางการและไม่มีสัญญาจ้าง ตัวอย่างเช่น ในเจิ้งโจว แรงงานหลายคนประสบปัญหาในการหางาน พวกเขามักรออยู่ใต้สะพานเพื่อรอรถบรรทุกของบริษัทก่อสร้างมาสอบถามเรื่องงานและค่าจ้างรายวัน นายจ้างรู้ว่าตลาดแรงงานหดตัวและความต้องการงานก่อสร้างสูงในหมู่แรงงานชนบทที่ย้ายถิ่นมาในเมือง ดังนั้นพวกเขาสามารถจ่ายค่าจ้างต่ำมากหรือไม่จ่ายเลย และไม่ให้สิทธิ์ประกันสังคมตามกฎหมาย ปล่อยให้แรงงานต้องหาเลี้ยงชีพด้วยตัวเอง

งานที่ไม่มั่นคงและไม่เป็นทางการ มักไม่มีการคุ้มครองตามกฎหมายใด ๆ เท่าที่ผ่านมา เมื่อแรงงานย้ายถิ่นเกษียณอายุ พวกเขามักจะได้รับเงินบำนาญเพียงน้อยนิด ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ในปี 2020 จำนวนเงินนี้ต่ำเพียง 174 หยวน หรือประมาณ 25 ดอลลาร์ฯ ต่อเดือน ซึ่งต่ำกว่าที่แรงงานในเมืองได้รับอย่างมาก ที่ 3,326 หยวนต่อเดือน

แรงงานชนบทที่ย้ายถิ่นมาในเมืองยังเผชิญกับความครอบคลุมประกันสังคมที่ต่ำเนื่องจาก 'ระบบหูโข่ว' (hukou system) อันเป็นระบบการจดทะเบียนถิ่นที่อยู่เพื่อเข้าถึงบริการประกันสังคม สุขภาพ และการศึกษา ซึ่งมักจะกีดกันพวกเขา ในปลายปี 2022 ประชากรที่อยู่ในเขตเมืองของจีนคิดเป็น 65% ของประชากรทั้งหมด แต่มีเพียง 3 ใน 4 ที่มีหูโข่ว หมายความว่า 1 ใน 4 ของแรงงานในเขตเมือง ที่มหาวิทยาลัยชิงหัวประมาณไว้ราว 200 ล้านคน ไม่ได้รับสิทธิ์เข้าถึงบริการเหล่านี้

ยิ่งไปกว่านั้น ไม่ใช่แรงงานย้ายถิ่นทุกคนที่จะได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน – แรงงานบางกลุ่มเผชิญกับการเลือกปฏิบัติมากกว่าคนอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น ในเมืองกวางโจว ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางหลักสำหรับแรงงานจากชนบทตั้งแต่การเปิดประเทศของจีน หูโข่วเกือบทั้งหมด 100,000 ใบที่ได้รับการอนุมัติในแต่ละปีถูกมอบให้กับผู้อยู่อาศัยในมณฑลกวางตุ้งที่อยู่รอบ ๆ ในขณะที่กีดกันแรงงานจากมณฑลใกล้เคียงเช่น หูหนานและเสฉวน ในสองเมืองที่มีประชากรมากที่สุดของจีน ได้แก่ ปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ ได้มีการนำมาตรการมาป้องกันแรงงานย้ายถิ่น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการจำกัดประชากรให้ไม่เกิน 23 ล้านและ 25 ล้านตามลำดับ

แม้แต่แรงงานในเมือง ยังประสบปัญหาโดยเฉพาะการเพิ่มเงินสมทบบำนาญฝั่งลูกจ้างมาตั้งแต่ปี 2016 ขณะที่เงินสมทบฝั่งนายจ้างลดลงจาก 20% เหลือเพียง 16% เนื่องจากค่าธรรมเนียมสมทบที่เพิ่มขึ้น แรงงานบางคนอาจเลือกใช้ประกันเอกชนแทน เช่น การคุ้มครองทางการแพทย์

นอกจากนี้ แรงงานภาคบริการในระบบเศรษฐกิจแพลตฟอร์มที่เติบโตอย่างรวดเร็วของจีน แทบไม่ได้รับความคุ้มครองภายใต้ระบบบำนาญปัจจุบัน เช่นเดียวกับแรงงานย้ายถิ่น แรงงานแพลตฟอร์มเหล่านี้จำนวนมากทำงานโดยไม่มีสัญญาจ้าง หรือหากมี ก็มักจะไม่ได้รับสิทธิ์ที่พวกเขาควรได้รับตามกฎหมาย ตัวอย่างเช่น การประมาณการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) แสดงให้เห็นว่าระหว่างปี 2018-2021 จำนวนคนส่งอาหารที่มีสัญญาจ้างงานอย่างเป็นทางการลดลงครึ่งหนึ่งจาก 43.3% เหลือเพียง 20.7% ในขณะที่จำนวนแรงงานที่ไม่มีสัญญาเลยเพิ่มขึ้นถึง 41.6% ในปี 2021

ผลที่ตามมาคือ คนงานส่งอาหารมีอัตราการครอบคลุมประกันสังคมต่ำมาก (ประมาณ 50% ในปี 2021) นอกจากนี้ การศึกษาแรงงานแพลตฟอร์มในเมืองปักกิ่ง เฉิงตู และหางโจวแสดงให้เห็นว่ามีเพียง 20% ของแรงงานที่ได้รับความคุ้มครองโดยบำนาญที่รัฐสนับสนุน ซึ่งหากไม่มีนายจ้างก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินสมทบให้แรงงาน ดังนั้น แรงงานภาคบริการได้รับการครอบคลุมด้านบำนาญที่ต่ำมาก

การเลือกปฏิบัติต่อแรงงานสูงวัย

นอกจากนี้ คนจำนวนมากในจีนพบว่ามีความยากลำบากในการหางานในโรงงานหลังจากอายุ 40 ปี และหากพวกเขายังส่งเงินสมทบประกันสังคมได้ไม่ถึง 15 ปี พวกเขาก็ไม่สามารถขอรับสวัสดิการเกษียณอายุได้ การเลือกปฏิบัติด้านอายุต่อแรงงานสูงวัยในตลาดแรงงานเป็นปัญหาร้ายแรงในจีน ตัวอย่างเช่น แม้แต่ผู้ที่มีอายุเกิน 35 ปี ก็พบความยากลำบากในการหางานในสาขาไอที และโรงงานก็มักจะไม่เต็มใจที่จะจ้างแรงงานที่มีอายุมากกว่า 40 ปี

คนหนุ่มสาวก็มีปฏิกิริยาในเชิงลบต่อการเพิ่มอายุเกษียณเช่นกัน ส่วนใหญ่เกิดจากความกลัวการแข่งขันในตลาดงาน ท่ามกลางภาวะการว่างงานของคนหนุ่มสาวที่สูงสุดในรอบหลายปี (15.9%) คนหนุ่มสาวและบัณฑิตจบใหม่จำนวนมากรู้สึกว่าการขยายตลาดแรงงานไปยังผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี จะทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโอกาสการได้งานที่ลดน้อยลงของพวกเขา

มองไปสู่อนาคต

CLB มองว่าการเพิ่มอายุเกษียณเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาระบบประกันสังคมได้ ระบบประกันสังคมที่ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องมีการจัดการรายได้ที่โปร่งใสเพื่อสร้างความไว้วางใจของผู้มีส่วนร่วมและรับประกันผลประโยชน์ในอนาคต

ในขณะที่รัฐบาลจีนกำลังเริ่มจัดการกับความท้าทาย ในด้านจำนวนแรงงานที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัย การเพิ่มอายุเกษียณโดยไม่ต้องปฏิรูประบบประกันสังคมยังไม่เพียงพอ ดังที่เราได้เห็นแล้วว่าอายุไม่ใช่ตัวทำนายการเกษียณที่ดีที่สุดเสมอไป การรับรองว่าบุคคลจะได้รับเงินบำนาญเพียงพอต่อความต้องการของตน มีบทบาทสำคัญมากขึ้น ดังนั้นการมุ่งเน้นแก้ปัญหานี้ไม่ควรเป็นเพียงการชะลออายุเกษียณเท่านั้น แต่ต้องทำให้คนทำงานมีความมั่นใจในระบบประกันสังคม

หากรัฐบาลจีนมีความประสงค์จะดำเนินการตามแผนเลื่อนอายุเกษียณออกไปเป็น 65 ปี ก็ต้องคำนึงถึงสิ่งสำคัญหลายประการก่อน สิ่งสำคัญที่สุดคือรัฐบาลจะต้องปรึกษาคนทำงานและทำงานร่วมกับสหภาพแรงงาน ACFTU เพื่อนำเสียงเหล่านี้มาสู่โต๊ะเจรจา เพื่อให้คนทำงานได้มีส่วนร่วมในนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขา

CLB แนะนำให้ทั้งลูกจ้างและนายจ้างมารวมตัวกันเพื่อเจรจาเรื่องค่าธรรมเนียมเงินสมทบและการจ่ายเงินประกันสังคม เพื่อแก้ไขความไม่สมดุลอย่างมากระหว่างคนทำงาน ไม่ว่าจะเป็นในเมือง ในชนบท หรือผู้ย้ายถิ่น นอกจากนี้ จะต้องมีการปฏิรูประบบหูโข่วที่เลือกปฏิบัติ เพื่อให้คนทำงานได้รับสิทธิ์เข้าถึงเงินบำนาญและบริการทางสังคมอื่น ๆ อย่างเท่าเทียมกัน ตามเงื่อนไขเดียวกัน ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นผู้ย้ายถิ่นหรือคนทำงานในเมือง


ที่มา:
Challenges and concerns surrounding China's retirement age reform (China Labour Bulletin, 12/7/2024)
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net