Skip to main content
sharethis

'คนทำงานในอุตสาหกรรมรถยนต์ของจีน' กำลังลำบาก จากการแข่งขันที่ดุเดือดและการเปลี่ยนผ่านสู่ 'รถยนต์ไฟฟ้า' (EV) ในตลาดรถยนต์จีน สื่อที่ติดตามประเด็นแรงงานแนะแก้ปัญหาด้วยบทเรียน 'การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม' จาก 'สหรัฐฯ-เยอรมนี'


ภาพประกอบสร้างจากเทคโนโลยี AI ของ Image Creator from Microsoft Designer

  • China Labour Bulletin (CLB) สื่อที่ติดตามประเด็นแรงงานในประเทศจีน ระบุว่าช่วงปี 2023 คนทำงานชาวจีนในอุตสาหกรรมยานยนต์ประท้วงบ่อยครั้งมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2015
  • การแข่งขันอย่างเข้มข้นและการเปลี่ยนผ่านสู่ 'รถยนต์ไฟฟ้า' (EV) ส่งผลกระทบต่อคนทำงานในหลายบริษัท พวกเขากำลังเผชิญกับการเลิกจ้างโดยไม่มีค่าชดเชย การค้างชำระเงินเดือน การลดค่าจ้าง และการเพิ่มปริมาณงาน
  • CLB ชี้ว่าโครงการริเริ่มเพื่อ 'การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม' (Just transition) โดยสหภาพแรงงานเยอรมันและสหรัฐอเมริกาถือเป็นบทเรียนที่มีคุณค่าสำหรับสหภาพแรงงานในจีน

China Labour Bulletin (CLB) สื่อที่ติดตามประเด็นแรงงานในประเทศจีน รายงานว่าในปี 2023 แผนที่การประท้วงแรงงานของ CLB บันทึกการประท้วงเรียกร้องสิทธิโดยคนทำงานในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ของจีน มีถึง 21 ครั้ง สูงสุดตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา โดยปี 2023 ถือเป็นปีแห่งการแข่งขันอันดุเดือดระหว่างผู้ผลิตรถยนต์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ จากการประท้วงเรียกร้องสิทธิทั้งหมด 21 ครั้งนั้น เกี่ยวข้องกับผู้ผลิตรถยนต์ 10 ครั้ง และผู้ผลิตชิ้นส่วน 11 ครั้ง

ช่วงปี 2023 แม้ปริมาณยอดขายรถยนต์ทุกประเภทและยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จะทำสถิติใหม่ แต่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กหลายแห่งต้องปิดตัวหรือหยุดการผลิต คนทำงานของบริษัทเหล่านี้ประท้วงเรียกร้องสิทธิกรณีนายจ้างค้างจ่ายค่าจ้างและไม่จ่ายเงินชดเชยการเลิกจ้าง ขณะเดียวกัน คนทำงานบางส่วนในบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำก็ประสบปัญหาการเลิกจ้างด้วยเช่นกัน โดยคนทำงานที่เหลืออยู่มีปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นและค่าจ้างที่ลดลง ในฝั่งผู้ผลิตรถยนต์แบบดั้งเดิมก็เผชิญความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้า คนทำงานต้องเผชิญกับการเลิกจ้าง การย้ายงาน และการลดค่าแรง

คนทำงานและสหภาพแรงงานในเยอรมนีและสหรัฐอเมริกา ก็กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านสู่รถยนต์ไฟฟ้าเช่นกัน แต่พวกเขาได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของ 'การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม' (Just transition) ซึ่งหมายถึงการปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ต้องเกิดความเป็นธรรมกับทุกคนที่เกี่ยวข้อง มีการสร้างโอกาสในการทำงานที่ดีและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สหภาพแรงงานในเยอรมนีและสหรัฐฯ มีทั้งประสบการณ์และความสำเร็จในการลดการสูญเสียตำแหน่งงาน มีโครงการฝึกทักษะใหม่ให้คนทำงาน และการจัดตั้งสหภาพแรงงานในโรงงานใหม่เพื่อส่งเสริมงานที่มีคุณภาพ ประสบการณ์เหล่านี้มีค่าสำหรับสหภาพแรงงานของจีน ที่ยังไม่ได้มีการรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านสู่รถยนต์ไฟฟ้าต่อคนทำงานอย่างจริงจัง

คนทำงานเรียกร้องนายจ้างจ่ายค่าจ้าง หลังบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ขนาดเล็กทยอยปิดตัวในจีน

ต้นปี 2023 รัฐบาลกลางของจีนได้ยุติโครงการอุดหนุนผู้บริโภคที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ส่งผลให้ Tesla ลดราคารถรุ่นยอดนิยมลง จุดชนวนสงครามราคาระหว่างผู้ผลิตรถยนต์ในจีน

บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กได้รับผลกระทบหนัก และในบรรดาบริษัทรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของจีนก็มีเพียง Tesla และ BYD เท่านั้นที่ผ่านจุดคุ้มทุนไปแล้วและสร้างผลกำไรได้ 2 บริษัทนี้ถือเป็นผู้นำระดับท็อป ตามมาด้วยบริษัทขนาดรองที่มียอดขายมากกว่า 100,000 คันต่อปีในช่วงปี 2022-2023 (เช่น Aion, Li Auto, NIO, Xiaopeng และ Leapmotor) นอกเหนือจากนี้จะถือเป็นบริษัทขนาดเล็ก หลายแห่งหยุดการผลิตและค้างค่าจ้าง สวัสดิการประกันสังคม และเงินชดเชยการเลิกจ้างในปี 2023

จากการประท้วงเรียกร้องสิทธิ 10 ครั้ง ของพนักงานบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในปี 2023 นั้น มี 4 ครั้งเกี่ยวข้องกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก ตัวอย่างเช่นในเดือน มิ.ย. 2023 พนักงานราว 2,000 คน ของ Aiways ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงผู้บริหารและผู้ถือหุ้นของบริษัท เรียกร้องค่าจ้างค้างจ่ายและเงินประกันสังคม ในขณะนั้นพนักงานไม่ได้รับเงินเดือนมา 3 เดือน แต่ไม่มีใครตอบสนองต่อข้อกังวลและคำร้องของพวกเขา สายโทรศัพท์และข้อความถูกเพิกเฉย นอกจากนี้ พวกเขายังถูกสั่งให้ทำงานทางไกลจากที่บ้านแบบไม่มีกำหนด แทนที่จะได้รับการเลิกจ้างและค่าชดเชยที่ถูกต้อง พวกเขากล่าวว่า "ชีวิตครอบครัว สถานการณ์ทางการเงิน และแผนการในอนาคตของเราได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง...ความทุ่มเททำงานของเราควรได้รับการตอบแทนที่ยุติธรรม นี่คือสิทธิของเรา แต่ตอนนี้เรากำลังถูกทอดทิ้งให้อยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้าย เต็มไปด้วยความผิดหวังและความโกรธแค้น"

Airways มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าเพียง 536 คันในช่วงไตรมาส 1/2023 นอกจากนี้ บริษัทรถยนต์อื่น ๆ ที่มียอดขายน้อยกว่านั้นก็ได้หยุดการผลิตลงเช่นกัน ส่งผลให้เกิดการประท้วงของคนทำงานที่เรียกร้องค่าจ้างและเงินประกันสังคมที่นายจ้างไม่ได้จ่ายให้พวกเขา

'ค่าจ้างลดลง-ปริมาณงานเพิ่มขึ้น' ในบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของจีน


ที่มาภาพ: JOHN LLOYD (CC BY 2.0) 

ข้อพิพาทแรงงานเกิดขึ้นที่ Tesla และ BYD ด้วยเช่นกัน ส่วนใหญ่เกิดจากการลดค่าจ้าง ในเดือน เม.ย. 2023 พนักงานของ Tesla ในเซี่ยงไฮ้ได้โพสต์ข้อความทางออนไลน์ระบุว่าเงินค่าตอบแทนตามผลงานถูกลดลงอย่างไม่เป็นธรรมจำนวน 2,000 หยวน  พนักงานกล่าวว่าฝ่ายบริหารอ้างว่าการลดค่าตอบแทนตามผลงานนี้เพราะเกิดจากอุบัติเหตุในเดือน ก.พ. 2023 ซึ่งคร่าชีวิตพนักงานวัย 31 ปี รายหนึ่งไป โดยรายงานการสอบสวนของรัฐบาลระบุว่าสาเหตุของอุบัติเหตุเกิดจากความผิดพลาดในการทำงานของพนักงาน 2 คน (รวมถึงผู้เสียชีวิต) และทาง Tesla ควรปรับปรุงการจัดการด้านความปลอดภัย แต่พนักงานกลับรู้สึกสับสนและไม่เชื่อว่าอุบัติเหตุจะนำไปสู่การลดค่าตอบแทนตามผลงานของพนักงานทุกคนในโรงงานที่เซี่ยงไฮ้ พนักงานยังได้ร้องเรียนไปถึง Elon Musk บน Twitter อีกด้วย  เหตุการณ์นี้ได้รับความสนใจจากสื่ออย่างกว้างขวางและ Musk สัญญาว่าจะตรวจสอบเรื่องนี้  ต่อมาในเดือน ก.ค. 2023 พนักงานหลายคนเผยว่าพวกเขาได้รับเงินค่าตอบแทนตามผลงานเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 2/2023 แต่ก็ไม่แน่ชัดว่ามีพนักงานจำนวนเท่าไหร่ที่ได้เพิ่ม

ในส่วนของโรงงาน BYD ในเมืองฉางชา มณฑลหูหนาน ตามรายงานของสื่อฉบับหนึ่งระบุว่าพนักงานถูกลดเงินเดือนและมีการลาออกพร้อมกันในช่วงไตรมาสที่ 2/2023 พนักงานคนหนึ่งบอกว่าปริมาณงานของเขาเพิ่มขึ้น 50% เมื่อเทียบกับปี 2022 แต่ค่าจ้างรายเดือนของเขาลดลงประมาณ 1,000 หยวน สื่ออีกแห่งระบุว่าเงินเดือนของพนักงานอาวุโสในโรงงานที่ฉางชาอยู่ที่ประมาณ 3,000 หยวนต่อเดือนเท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าค่าจ้างเฉลี่ยของภาคการผลิตทั่วประเทศอยู่มาก (5,850 หยวน) หรือค่าจ้างเฉลี่ยในฉางชา (7,131 หยวน) พนักงานยังไม่พอใจกับวิธีการจัดสรรโบนัสและค่าปรับของฝ่ายบริหาร เนื่องจากค่าปรับมักจะสูงกว่าโบนัส มีการวิเคราะห์ว่าการขยายตัวของ BYD ในปี 2022 นั้น นำไปสู่สินค้าคงคลังเพิ่มขึ้นและแรงงานส่วนเกินในปี 2023 ประกอบกับการปรับเปลี่ยนสายการผลิตในหลายเมือง ทำให้พนักงานในฉางชาต้องรับผลกระทบจากตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป

บริษัทและซัพพลายเออร์ที่เน้นผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปเผชิญความยากลำบากในการเปลี่ยนผ่านสู่รถยนต์ไฟฟ้า


ที่มาภาพ: China Labour Bulletin

บริษัทรถยนต์แบบดั้งเดิมที่มีสัดส่วนการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ 'เครื่องยนต์สันดาปภายใน' (ICE) สูงก็ประสบปัญหายากลำบากเช่นกันในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัทเหล่านี้มักจะเป็นกิจการร่วมค้า (JV) ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างบริษัทจีนและบริษัทต่างชาติ กิจการร่วมค้าที่เกี่ยวข้องกับบริษัทเยอรมัน (เช่น FAW-Volkswagen) และบริษัทญี่ปุ่น (เช่น GAC-Toyota) เคยประสบความสำเร็จสูงสุด ทว่าในช่วงไม่กี่ปีมานี้ กลับสูญเสียส่วนแบ่งตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไป เนื่องจากการปรับตัวสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้าค่อนข้างล่าช้า สงครามราคาในปี 2023 ที่เริ่มต้นจากบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าได้ลุกลามมายังกิจการร่วมค้าที่เน้นผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน ส่งผลให้พวกเขาเสียส่วนแบ่งตลาดมากขึ้นไปอีกและต้องมีการเลิกจ้างพนักงานตามมา

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ SAIC-Volkswagen ซึ่งยอดขายรถยนต์ลดลง จากประมาณ 2 ล้านคัน ในปี 2019 มาเหลือไม่ถึง 1.2 ล้านคัน ในปี 2023 ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า ของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 75,000 คัน ในปี 2022 ซึ่งถือว่าตามหลังบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าน้องใหม่ที่อยู่ในระดับรอง ๆ ลงไปด้วยซ้ำ

SAIC-Volkswagen ได้ปิดโรงงานผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในแห่งหนึ่งในเมืองอันติง เซี้ยงไฮ้ บริษัทได้เลิกจ้างพนักงานจ้างเหมาช่วงในทั้งฝ่ายผลิตและฝ่ายวิจัย "พนักงานจ้างเหมาช่วง" (หรือพนักงานจากบริษัทจัดหางาน) หมายถึงการใช้คนกลางในการจ้างงานเพื่อทำงานชั่วคราว เป็นฤดูกาล หรืองานเสริมเท่านั้น โดยพนักงานประเภทนี้จะได้รับการคุ้มครองน้อยกว่าพนักงานประจำในแง่ของเงินชดเชยการเลิกจ้างและเงื่อนไขอื่น ๆ  อย่างไรก็ตาม บริษัทต่าง ๆ มักใช้พนักงานจ้างเหมาช่วงขอบเขตงานเกินกว่าหน้าที่ เพื่อลดต้นทุนและลดความรับผิดชอบ ตามคำให้การของพนักงานจ้างเหมาช่วงในฝ่ายวิจัย บางคนที่ถูกเลิกจ้างได้ทำงานในโรงงานผลิตที่เมืองอันติงมาเป็นเวลา 7-8 ปีแล้ว และอาจคุ้นเคยกับงานมากกว่าพนักงานประจำเสียด้วยซ้ำ

แผนการของ SAIC-Volkswagen คือการลดการผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในและย้ายออกจากเซี่ยงไฮ้ เปลี่ยนพื้นที่ในเซี่ยงไฮ้เป็นฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแทน พนักงานที่เหลืออยู่ในเซี่ยงไฮ้ได้รับการฝึกอบรมและสามารถทำงานในโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและโรงงานอื่น ๆ ในเซี่ยงไฮ้ได้ กระนั้น พนักงานบางส่วนยังคงเผชิญกับช่วงเวลาทำงาน (กะ) ที่ลดลง รวมถึงเงินเดือนและสวัสดิการที่น้อยลงด้วย

'จ้าว' พนักงานคนหนึ่งเผยว่าเขาเคยมีรายได้ 8,000 หยวน หรือกระทั่งเกิน 10,000 หยวนต่อเดือน แต่ตอนนี้ทำได้เพียง 3,000-4,000 หยวนเท่านั้น บางโรงงานเหลือเพียงกะเดียวที่เริ่มตอนตีสี่เพื่อลดค่าไฟฟ้า 'จาง' พนักงานอีกคนหนึ่งกล่าวว่า "เพื่อประหยัดไฟฟ้า แม้ว่าอุณหภูมิจะร้อนถึง 34 องศาเซลเซียส ก็ยังไม่มีการเปิดแอร์"

ผลกระทบยังลามไปถึงบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ อีกด้วย โรงงานผลิตเกียร์รถยนต์แห่งเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ SAIC-Volkswagen และเป็นผู้จัดหาชุดเกียร์ส่งกำลัง ได้เลิกจ้างพนักงานประมาณ 300 คน ในเดือน พ.ค. 2023 และยุติสัญญาจ้างงานกับนักศึกษาจบใหม่ ทั้ง ๆ ที่บริษัทนี้เน้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในและพอมีกำไรอยู่บ้าง แต่ SAIC-Volkswagen ตัดสินใจปรับโครงสร้างเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่รถยนต์ไฟฟ้า

รูปแบบที่คล้ายกันนี้สามารถพบได้ใน GAC-Toyota ที่มีการเลิกจ้างแรงงานพนักงานเหมาช่วง/ชั่วคราวประมาณ 1,000 คน ในเดือน ก.ค. 2023 พนักงานที่เหลืออยู่ก็เจอปัญหาการลดชั่วโมงทำงานและเงินเดือนลง พนักงานชั่วคราวบางคนมาจากโรงงาน FAW-Volkswagen ใกล้เคียง (ซึ่งมีการเลิกจ้าง) และตอนนี้พวกเขาก็ถูกเลิกจ้างอีกครั้ง หลายคนจำต้องผันตัวเองไปเป็นคนทำงานแพลตฟอร์มในบริษัทขนส่งแทน ตามบทสัมภาษณ์ของสื่อ พนักงานที่เหลืออยู่ไม่ต้องการย้ายไปโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพราะต้องทำงานล่วงเวลามากขึ้นแต่กลับได้ค่าจ้างต่ำลง

แนวโน้มการจ้างงานโดยรวมในประเทศจีน

โดยทั่วไป การจ้างงานในภาคการผลิตรถยนต์ของจีนนั้นมีจำนวนมากกว่า 4 ล้านตำแหน่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และได้เพิ่มขึ้นในปี 2023 แต่ก็ยังไม่ถึงระดับก่อนการระบาดใหญ่ของโควิด-19 การจ้างงานที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้าถือเป็นแหล่งจ้างงานสำคัญ ในปี 2023 การจ้างงานที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 32% ในขณะที่การจ้างงานโดยรวมภายในภาคการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นเพียง 5% เท่านั้น จำนวนพนักงานของ BYD เพิ่มขึ้นจากประมาณ 200,000 คน ในปี 2020 เป็นประมาณ 600,000 คน ในปี 2022 และมีโรงงานมากกว่า 20 แห่ง ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างหรือเพิ่งสร้างเสร็จ

อย่างไรก็ตาม มีความกังวลว่ากระบวนการผลิตแบบอัตโนมัติกำลังคืบคลานเข้ามา แม้ว่า BYD จะเป็นที่รู้จักในด้านการใช้แรงงานคนแบบเข้มข้น แต่โรงงานใหม่ ๆ ของบริษัทกลับมีระดับการใช้ระบบอัตโนมัติที่สูงขึ้น ตามรายงานของสื่อ Tesla ได้มีการเลิกจ้างพนักงานและกำลังติดตั้งอุปกรณ์ระบบอัตโนมัติในโรงงานผลิตแบตเตอรี่ที่เซี่ยงไฮ้ รายงานของ Energy Foundation เกี่ยวกับแนวโน้มการจ้างงานในอุตสาหกรรมรถยนต์ของจีนระบุว่า ในปี 2020 การผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน ทุก ๆ 10,000 คัน จะต้องมีนักวิจัย 143 คน และคนทำงานฝ่ายผลิต 1,052 คน เข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนตัวเลขสำหรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้านั้นอยู่ที่นักวิจัย 1,156 คน และคนทำงานฝ่ายผลิต 3,709 คน Energy Foundation คาดการณ์ว่าตัวเลขเหล่านี้จะลดลงต่ำกว่ารถยนต์เครื่องยนต์สันดาปเมื่ออุตสาหกรรมนี้พัฒนาถึงจุดอิ่มตัว

CLB ชี้ว่าคนทำงานและสหภาพแรงงานต้องเตรียมพร้อมสำหรับทั้งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ตำแหน่งงานด้านรถยนต์ไฟฟ้าในบริษัทต่าง ๆ ดังที่กล่าวไว้ว่าคนทำงานอาจเผชิญกับการเลิกจ้างทั้งในบริษัทรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปและรถยนต์ไฟฟ้า  พร้อมด้วยปัญหาต่าง ๆ เช่น เงินชดเชยการเลิกจ้างที่ไม่เพียงพอ การลดเงินเดือน การทำงานล่วงเวลาเพิ่มขึ้น การถูกโยกย้ายงาน และการสูญเสียคุณภาพของงานและการจ้างงานอย่างเป็นทางการ แม้ว่าการเปลี่ยนผ่านสู่รถยนต์ไฟฟ้าจะมีความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่การจ้างงานและสิทธิแรงงานก็จำเป็นต้องได้รับการปกป้อง ทว่าสหภาพแรงงานในจีนยังไม่ได้แก้ไขปัญหาเหล่านี้และวางแผนระยะยาว ทั้งนี้ประสบการณ์ของแรงงานและสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์ของเยอรมนีและสหรัฐอเมริกาสามารถเป็นตัวอย่างที่ดีได้

ความกังวลของคนทำงานในเยอรมันและสหรัฐฯ เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านสู่รถยนต์ไฟฟ้า

ในเยอรมนีและสหรัฐฯ สหภาพแรงงานแสดงความกังวลเกี่ยวกับการสูญเสียงานอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนผ่านสู่รถยนต์ไฟฟ้า สหภาพแรงงาน IG Metall ในเยอรมนีและ UAW ในสหรัฐฯ กังวลว่าเนื่องจากระบบส่งกำลังของรถยนต์ไฟฟ้ามีความซับซ้อนและชิ้นส่วนที่น้อยกว่าเครื่องยนต์สันดาป การเปลี่ยนผ่านดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดการสูญเสียงาน ขณะที่ตัวบริษัทต่าง ๆ เองก็ระบุว่าการทำให้ผลิตภัณฑ์เรียบง่ายขึ้นเพื่อรองรับรถยนต์ไฟฟ้านั้น อาจนำไปสู่การลดชั่วโมงการทำงานลงได้ถึง 30% ต่อคัน ความกังวลของสหภาพแรงงานยิ่งทวีขึ้น เมื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของกระบวนการอัตโนมัติและการทำให้สายการผลิตเรียบง่ายขึ้น

วิทยานิพนธ์ในปี 2023 โดยซาเฟอร์ ออร์เนค (Zafer Ornek) ได้ระบุถึงคนทำงานในงานอุตสาหกรรมยานยนต์ 3 กลุ่มหลัก ที่มีแนวโน้มสูญเสียงานจากการเปลี่ยนผ่านสู่รถยนต์ไฟฟ้าในเยอรมนี ได้แก่ (1) กลุ่มคนทำงานชั่วคราว/คนทำงานเหมาช่วงที่รับจ้างผ่านตัวแทนในบริษัทผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ (2) คนทำงานฝีมือที่มีความชำนาญเฉพาะด้านการผลิตเครื่องยนต์สันดาป และ (3) คนทำงานในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งมักเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนทางอ้อมให้กับบริษัทผลิตรถยนต์ใหญ่

คนทำงานชั่วคราวนั้นมักจะได้รับผลกระทบกลุ่มแรกเช่นเดียวกับในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจรอบก่อน ๆ ส่วนคนทำงานฝีมืออายุมากที่มีโอกาสฝึกอบรมใหม่น้อยกว่าก็อาจต้องเผชิญกับการเกษียณก่อนกำหนด ส่วน SMEs นั้นก็มักถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมโครงการวิจัยและพัฒนาของบริษัทผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ ซึ่งมีอำนาจต่อรองมากกว่าและสามารถโอนความเสี่ยงและต้นทุนไปยัง SMEs ได้  ดังนั้น SMEs จึงมีความสามารถในการปรับตัวและเติบโตจากการเปลี่ยนผ่านสู่รถยนต์ไฟฟ้าน้อยกว่า  นอกจากนี้ ทั้งคนทำงานชั่วคราวและคนทำงานใน SMEs ส่วนใหญ่มักไม่ได้สังกัดสหภาพแรงงาน จึงมักเปราะบางและได้รับความเสี่ยงสูงกว่า

ความกังวลที่คล้ายกันนี้มีปรากฏอยู่ในรายงานเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าของ UAW ซึ่งเรียกร้องให้บริษัทต่าง ๆ และภาครัฐสนับสนุนการฝึกทักษะใหม่ให้คนทำงานและ SMEs ภายในประเทศ รวมถึงส่งเสริมการจัดตั้งสหภาพแรงงาน UAW เป็นตัวแทนของคนทำงานชั่วคราวและลดระยะเวลาที่คนทำงานชั่วคราวจะได้เป็นพนักงานประจำในการเจรจาต่อรองร่วมกันในปี 2023 ด้วย

สหภาพแรงงานยังกังวลเกี่ยวกับสถานที่ตั้งและคุณภาพงานด้านการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานแบตเตอรี่ ตามรายงานของ UAW ระบุว่าการจ้างงานระบบส่งกำลังกระจุกตัวอยู่ในภูมิภาคตะวันตกกลางของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง ขณะเดียวกัน โรงงานแบตเตอรี่จำนวนมากกลับตั้งอยู่ทางใต้ ซึ่งไม่ค่อยยอมรับแนวคิดสหภาพแรงงาน นอกจากนี้ บริษัทรถยนต์ "Big 3" (General Motors, Ford Motor Company และ Chrysler) ยังปฏิเสธที่จะรวมโรงงานแบตเตอรี่ที่เป็นกิจการร่วมค้าของพวกเขาไว้ในข้อตกลงหลักกับ UAW โดยอ้างว่าโรงงานเหล่านี้เป็นนิติบุคคลแยกต่างหาก


ที่มาภาพ: China Labour Bulletin

ยอร์จ ฮอฟมัน (Jörg Hofmann) ประธานสหภาพแรงงาน IG Metall ได้ออกมาเตือนถึงการสูญเสียงานที่อาจเกิดขึ้นในเยอรมนี อันเนื่องมาจากการลงทุนของภาครัฐและเอกชนที่ไม่เพียงพอในโรงงานผลิตรถยนต์ที่มีอยู่ นอกจากนี้ยังไม่มีการยืนยันได้ว่าตำแหน่งงานใหม่จะเกิดขึ้นที่ใดและภายใต้เงื่อนไขอย่างไร ยิ่งไปกว่านั้น ทั้งสหภาพแรงงานของสหรัฐฯ และเยอรมนีมีความกังวลว่าโรงงานแบตเตอรี่จะถูกว่าจ้างผลิต (Outsource) ให้กับบริษัทชั้นนำในจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

สหภาพแรงงานเรียกร้องการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนผ่านสู่รถยนต์ไฟฟ้า


ที่มาภาพ: UAW International Union 

สหภาพแรงงานสหรัฐฯ และเยอรมนีได้ตอบสนองอย่างแข็งขันต่อการเปลี่ยนผ่านสู่รถยนต์ไฟฟ้าด้วยการเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม พร้อมความพยายามที่จะปกป้องสิทธิของคนทำงาน แนวทางแรกคือการลงทุนจากภาครัฐและภาคเอกชนในการปรับปรุงโรงงานที่มีอยู่เดิม รวมถึงโรงงานใหม่ในพื้นที่ควบคู่ไปกับการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะให้แก่แรงงาน แนวทางที่สองคือการจัดตั้งสหภาพแรงงานในโรงงานรถยนต์ไฟฟ้า/แบตเตอรี่ รวมถึงโรงงานในภูมิภาคที่ไม่ค่อยนิยมสหภาพแรงงาน เพื่อรับรองและส่งเสริมงานที่มีคุณภาพภายใต้สหภาพแรงงาน รวมทั้งการเพิ่มอำนาจต่อรองของสหภาพแรงงานเมื่อต้องเผชิญหน้ากับบริษัทผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่

ในการเจรจาต่อรองร่วมของ UAW ในปี 2023 สหภาพแรงงานได้นัดหยุดงานประท้วงเพื่อต่อรองให้มีส่วนร่วมกับการตัดสินใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ การลงทุน และการปิดโรงงานของบริษัทรถยนต์ Big 3 นอกจากนี้ UAW ยังทำข้อตกลงกับ Stellantis ให้กลับมาเปิดโรงงานผลิตรถยนต์ Belvidere Assembly ในรัฐอิลลินอยส์อีกครั้ง หลังจากการปิดตัวลงได้สร้างความเสียหายอย่างหนักแก่คนทำงานและชุมชนท้องถิ่น Stellantis ยังจะเพิ่มตำแหน่งงานอีก 1,000 ตำแหน่ง ที่โรงงานแบตเตอรี่แห่งใหม่ในพื้นที่ดังกล่าว UAW ยังบรรลุข้อตกลงกับบริษัท Big 3 ให้รวมคนทำงานโรงงานแบตเตอรี่บางส่วนไว้ในข้อตกลงหลักร่วมกับสหภาพแรงงาน รวมถึงยกระดับค่าจ้างและสวัสดิการของคนทำงานในโรงงานเหล่านั้น อีกทั้ง UAW ยังมุ่งมั่นใช้แรงผลักดันจากผลงานการเจรจาต่อรองเพื่อจัดตั้งสหภาพแรงงานในโรงงานทางภาคใต้ ซึ่งรวมถึงโรงงานของบริษัทต่างชาติและบริษัทสหรัฐฯ ที่ต่อต้านแนวคิดสหภาพแรงงานเช่น Tesla

ในเยอรมนี สหภาพแรงงานและสภาแรงงานได้เจรจารับรองการจ้างงานและโครงการพัฒนาทักษะใหม่กับบริษัทขนาดใหญ่ เช่น Daimlerในปี 2020 Daimler ได้ประกาศแผนลดตำแหน่งงานหลายพันตำแหน่งในเยอรมนี  อย่างไรก็ตาม มีการเจรจาให้หลักประกันการจ้างงานไปจนถึงปี 2029 บริษัทยังได้ให้คำมั่นว่าจะลงทุน 35 พันล้านยูโรในโรงงานที่ตั้งอยู่ในเยอรมนี (รวมถึงการผลิตมอเตอร์ไฟฟ้า) อีกทั้งยังมีข้อตกลงว่าประเด็นการจัดหาชิ้นส่วนทั้งภายในและภายนอกจะต้องมีการเจรจากับสภาแรงงานด้วย  นอกจากนี้ โครงการพัฒนาทักษะใหม่ก็ดำเนินการอย่างต่อเนื่องใน Daimler มีพนักงานประมาณ 20,000 คน ได้รับการอบรมในด้านยานยนต์ไฟฟ้าในปี 2020

CLB ชี้ว่าประสบการณ์ของสหภาพแรงงานในเยอรมนีและสหรัฐฯ มีคุณค่าสำหรับสหภาพแรงงานของจีนที่ยังไม่ได้มีแผนการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านสู่รถยนต์ไฟฟ้าที่มีต่อคนทำงานประเภทต่าง ๆ เมื่อการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวดำเนินไปพร้อมกับการแข่งขันที่สูงขึ้นและสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป มีแนวโน้มว่าคนทำงานจะเผชิญกับการเลิกจ้าง การโยกย้ายงาน การค้างค่าจ้าง ค่าชดเชยไม่เพียงพอ และการลดคุณภาพและความมั่นคงของงาน

การสนับสนุนจากสหภาพแรงงานในการปกป้องตำแหน่งงาน การพัฒนาทักษะใหม่ของคนทำงาน การยกระดับคุณภาพงาน และการให้โอกาสคนทำงานมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้านการผลิตถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการทำให้การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมเกิดขึ้นจริงในบริบทของจีน ยิ่งไปกว่านั้น ขณะที่มีการบังคับใช้หรือกำลังพิจารณากฎหมายว่าด้วยห่วงโซ่อุปทานชุดใหม่ในยุโรป สหภาพแรงงานและภาคประชาสังคมสามารถใช้เครื่องมือทางกฎหมายดังกล่าวเพื่อเรียกร้องให้ผู้ผลิตรถยนต์ปลายน้ำรับผิดชอบในการจัดการและแก้ไขการละเมิดสิทธิแรงงานในส่วนต้นน้ำของห่วงโซ่อุปทานได้ด้วยเช่นกัน

 

ที่มา:
Auto workers bear the brunt of competition and EV transition in Chinese market, international just transition initiatives provide valuable lessons (China Labour Bulletin, 29 April 2024)
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net