Skip to main content
sharethis

ผู้ว่าฯ โคราชรับข้อเสนอกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดนด่านขุนทด 5 ข้อในการลงตรวจสอบเหมืองโปแตชของ ‘ไทยคาลิ’ โดยมีมีสมาชิกของกลุ่มอยู่ในคณะกรรมการตรวจสอบด้วย ทางผู้ว่าฯ เตรียมลงพื้นที่ 31 พ.ค.นี้ดูความเดือดร้อนชาวบ้าน

เมื่อ 27 พ.ค. 2567 กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด กว่า 100 คน รวมตัวกันที่ลานย่าโม จ.นครราชสีมาเพื่อชุมนุมเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีคำสั่งอย่างเป็นรูปธรรมในการปิดเหมืองแร่โปแตชในพื้นที่ และมีแนวทางแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้นมาก่อนแล้ว

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ที่ปรึกษากลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ได้เรียกร้องให้ในการประชุมในประเด็นเรื่องเหมืองต้องมีชาวบ้านจากกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเข้าร่วมการตรวจสอบเหมืองด้วย เพราะที่ผ่านมามีแต่การเชิญแต่ราชการหรือมีการจัดตั้งกลุ่มชาวบ้านที่เอาเหมืองฝ่ายเดียวเข้าประชุมแล้วอ้างว่าเป็นคนจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ มาร่วมประชุมแล้ว และยังมีการอ้างว่าได้ส่งหนังสือเชิญถึงแล้ว แต่พวกเขาไม่เคยได้รับหนังสือมีแต่หน่วยงานราชการที่ได้ ทำเหมือนชาวบ้านไม่มีตัวตน

สุปราณี ทองอุไร กล่าวถึงผลกระทบจากเหมืองว่า ในปี 2562 เมื่อเริ่มทำเหมืองได้มีการขุดเจาะอุโมงค์และเขาเอาน้ำไม่อยู่ และมีน้ำเกลือผุดขึ้นมาตามหัวไร่ปลายนาของพวกเรา ในปีแรกๆ มีความเสียหายคือน้ำที่ผุดออกมาเป็นน้ำดำน้ำสนิม ปลาเริ่มตายหญ้าที่วัวเคยอยู่เคยกินก็ตายเป็นหย่อมๆ พอมาปีที่สองและสามก็ตายมากขึ้นมาเรื่อย ๆ พอมาอยู่ในช่วงปี 2563-2564 ในช่วงที่เราลุกขึ้นมาต่อสู้เรื่องเหมืองแร่ เพราะที่บ้านของเราเลี้ยงวัว ความฝันเราอยากทำเป็นฟาร์มวัวเราเลี้ยงวัวไว้เยอะ เราผลัดเอาวัวลงไปกินหญ้าในนาที่เหลืออยู่แค่ทุ่งสองทุ่งจากความเสียหายที่เหมืองได้ทำไว้ และวัวได้ตกลงไปในหลุมที่ดินทรุดตัว ต้องให้เพื่อนบ้านช่วยกันเอารถไถดึงขึ้น และอีก 2-3 วันต่อมาวัวก็ตายลง

สุปราณี กล่าวว่า แจ้งผู้ใหญ่บ้านให้มาตรวจสอบผลกระทบแต่ไม่ได้รับความสนใจและบอกว่าเป็นภัยธรรมชาติ ไม่ได้เกิดจากเหมือง ไม่รู้ว่าผู้ใหญ่บ้านคิดไปเองหรือมีส่วนได้ส่วนเสียหรือไม่อย่างไร ผลกระทบที่เกิดทำให้ความฝันที่จะมาปักหลักดูแลพ่อแม่เลี้ยงลูกที่ด่านขุนทดก็ล้มไปต้องมีหนี้สินเพราะจากที่เคยปลูกข้าวขายได้ทุกปีช่วงเวลาไม่มีรายได้ก็ยังเอาข้าวมาขายได้ แต่ทุกวันนี้ต้องซื้อทุกอย่างแหล่งน้ำก็ไม่มี อยากให้ปิดเหมืองเพราะทำให้หมู่บ้านเสียหาย

สำราญ ตุ๋นเจริญ เล่าถึงผลกระทบที่ตนได้รับมาตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งมีน้ำไหลหลากมาท่วมบ่อเก็บกักน้ำเสียของเหมืองแร่ ทำให้น้ำท่วมข้าวที่ชาวบ้านหว่านไว้ ชาวบ้านเรียกร้องไปยัง อบต. แต่เขาช่วยชาวบ้านไม่ได้เลย โดยบอกว่าไม่ได้เกิดขึ้นจากเหมืองที่ทำเหมืองแร่โปแตซ ซึ่งทำให้เกิดความเค็มมากกว่าน้ำทะเลถึง 3 เท่า ทำให้ข้าว กุ้ง หอย ปู ปลา ตายลง ทรัพยากรธรรมชาติของเราถูกทำลายไปจนหมดสิ้น จึงขอให้ผู้ว่าฯ ลงไปแก้ไขปัญหาและยับยั้งเหมืองแร่โปแตซ เราต้องการปิดเหมืองและต้องการให้เหมืองออกไปจาก จ.นครราชสีมาของเรา

ผู้ว่าฯ โคราชมาเจรจา

จากนั้นเวลา 16.27 น.ชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าฯ จ.นครราชสีมา และทีมงานได้ลงมาเจรจากับกลุ่มนักปกป้องสิทธิมนุษยชนฯ โดยตัวแทนกลุ่มได้เล่าถึงผลกระทบเหมืองโปแตซที่เกิดขึ้นให้ผู้ว่าฯ ฟังโดยเฉพาะสถานการณ์ของหมู่บ้านสระขี้ตุ่น ที่มีความกังวลในเรื่องการขุดเจาะอุโมงค์ใหม่ที่ดอนหนองโพธิ์ 3 อุโมงค์ โดยเฉพาะประเด็นน้ำท่วมที่เป็นน้ำเค็มที่จะกระทบน้ำสำหรับอุปโภค

ต่อมาเวลา 17.30 น. มีการจัดเวทีประชุมระหว่างตัวแทนกลุ่มนักปกป้องสิทธิมนุษยชนฯ กับผู้แทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องโดยมีผู้ว่าฯ จ.นครราชสีมาเป็นประธาน

จุฑามาศ ศรีหัตถผดุงกิจ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด กล่าวว่า กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดมีข้อเสนอต่อที่ประชุม 5 ข้อ คือ

1.ขอให้มีการตรวจสอบผลกระทบที่เกิดขึ้นที่ ต.หนองไทร โดยเฉพาะกรณีอุโมงค์แนวเอียงที่ใช้ขุดการขุดเจาะแร่โปแตชและเกลือหิน เกิดความผิดพลาดจนทำให้เกิดเหตุการณ์น้ำทะลักเข้าท่วมอุโมงค์ เมื่อปี พ.ศ. 2563 ซึ่งนับแต่มีการขุดเจาะอุโมงค์ดังกล่าว ทำให้ในพื้นที่เกิดปัญหาผลกระทบมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดินเค็ม น้ำเค็ม หรือการที่บ้านเรือนถูกกัดกร่อนจากความเค็ม ขณะนี้เป็นเวลาเกือบ 4 ปีแล้ว นับแต่อุโมงค์ถูกน้ำท่วม แต่เรายังไม่เห็นความคืบหน้าของการตรวจสอบใดๆ ในขณะที่ผลกระทบในพื้นที่รุนแรงขึ้นในทุกปี

2.ขอให้ยุติการดำเนินการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการทำเหมือง และบ่อน้ำทั้งหมด 3.ขอให้ยุติการดำเนินกิจการแต่งแร่ด้วยโรงงานผลิตเกลือบริสุทธิ์เนื่องจากโรงงานผลิตเกลือบริสุทธิ์เป็นส่วนหนึ่งของการทำเหมือง และเป็นการแต่งแร่ ที่ถือเป็นจุดสำคัญที่เป็นสาเหตุของผลกระทบที่เกิดขึ้น และคาดว่าที่ขณะนี้ผลกระทบยังไม่ลดลงก็อาจเป็นเพราะการดำเนินการของโรงต้มเกลือดังกล่าว ดังนั้นเพื่อให้เกิดกระบวนการตรวจสอบผลกระทบ ที่ครอบคลุมและมีความชัดเจน จึงต้องหยุดยั้งความเสี่ยงทั้งหมดที่จะก่อให้เกิดผลกระทบในพื้นที่เอาไว้ก่อน จึงต้องหยุดโรงงานผลิตเกลือบริสุทธิ์ด้วย

4.ต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะดอนหนองโพธิ์ที่สภาพพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการทำเหมือง

5.ขอให้ตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงตาม 1. และตรวจสอบความเสี่ยงที่อาจเกิดผลกระทบจากการทำอุโมงค์ใหม่โดยคณะทำงานชุดดังกล่าว ต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วม โดยให้สัดส่วนของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด ครึ่งหนึ่ง โดยหากพบว่ามีการกระทำความผิดจริง ให้คณะทำงานเป็นผู้เสนอมาตรการในการชดใช้ความเสียหายต่อระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต และทรัพย์สิน ของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง

อานันท์ ฟักสังข์ รักษาการรองอธิบดี กพร. กล่าวว่า จะนำเรื่องนี้กลับไปเสนอต่ออธิบดี ยืนยันว่าหน่วยงานราชการต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ต้องเข้าใจสถานการณ์ว่าทุกคนมีสิทธิกันทุกฝ่าย เราก็กลัวถูกฟ้องหากดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างไรก็ตามวันที่ 24 เม.ย. ได้ลงพื้นที่เพื่อรับทราบข้อมูล แต่ตนยืนยันว่าไม่ทราบว่ามีเวทีรับฟังความเห็น 2 เวที ซึ่งข้อมูลแต่ละฝ่ายไม่ได้นำไปหักล้างกัน แต่เป็นข้อมูลที่รอบด้านที่จะนำไปตัดสินใจต่อไป ยืนยันว่าเราดูแลประชาชน ถ้าประชาชนเดือดร้อนทั้งฝ่ายผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน เราจะแสวงหาข้อมูลเพื่อนำเสนอผู้มีอำนาจพิจารณาต่อไป และยืนยันว่าดำเนินการโดยยึดหลักกฎหมาย หากกระทำโดยขัดกฎหมายส่วนราชการก็ต้องรับผิดชอบเช่นกัน

ผู้ว่าฯ รับข้อเสนอ

ด้านชัยวัฒน์ กล่าวสรุปว่า วันนี้ถือว่ารับข้อเสนอร่วมกันของทั้งฝ่ายประชาชนและผู้ร่วมประชุม ให้ไปดูการแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงให้เร็วที่สุด ถ้าเซ็นวันนี้ได้ก็ให้จบในวันนี้ ส่วนวันที่ 31 ต.ค. ตนขอลงพื้นที่ไปดูความเดือดร้อนชาวบ้านหากเป็นไปได้ก็จะไปคนเดียว ซึ่งต่อไปหากตนไปคุยกับกลุ่มเห็นต่างก็ขอให้เข้าใจว่าเป็นเรื่องที่ต้องรับฟัง และขอให้อย่าระแวงกัน

จากนั้นผู้ว่าฯ จ.นครราชสีมาและตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด ได้ลงนามข้อตกลงในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและประชาชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่โปแตชของบริษัทไทยคาลิ จำกัด ในพื้นที่ ต.หนองไทร ต.หนองบัวตะเกียดและ ต.โนนเมืองพัฒนา  อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ที่ได้ลงนามร่วมกับผู้ว่าฯ จ.นครราชสีมา ประกอบด้วย

1.ให้มีการตรวจสอบผลกระทบที่เกิดขึ้นที่ ต.หนองไทร อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา โดยเฉพาะกรณีอุโมงค์แนวเอียงที่ใช้ขุดเจาะแร่โปแตชและเกลือหิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งดำเนินการตรวจสอบ และชี้แจงต่อประชาชนโดยเร็ว เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่มีความรุนแรงและยังเกิดขึ้นทุกวัน

2. ให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ยุติการดำเนินการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการทำเหมืองโดยเร่งด่วน และยุติการเพิกเฉยต่อการดำเนินการเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการก่อนได้รับอนุญาตอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการทำคันคูและขุดบ่อน้ำเพิ่มที่ดอนหนองโพธิ์ ซึ่งเป็นจุดที่จะขุดเจาะอุโมงค์ใหม่ และการปรับสถานที่ต่าง ๆ ตามแผนผังใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดการกระทำความผิดซ้ำอีก ทั้งนี้ให้เป็นไปตามระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

3.ให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ยุติการดำเนินกิจการแต่งแร่ด้วยโรงงานผลิตเกลือบริสุทธิ์โดยเร่งด่วน เพื่อให้เกิดกระบวนการตรวจสอบผลกระทบที่ครอบคลุมและมีความชัดเจน และเป็นการหยุดยั้งความเสี่ยงทั้งหมดที่จะก่อให้เกิดผลกระทบในพื้นที่เอาไว้ก่อน ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง 4. ให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่จัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ใหม่ทั้งหมดโดยเร่งด่วน ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

5. ตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงผลกระทบและตรวจสอบความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการทำอุโมงค์ใหม่ของเหมืองแร่โปแตชบริษัทไทยคาลิ จำกัด โดยผู้ว่าฯ จ.นครราชสีมาจะแต่งตั้งคณะทำงานชุดดังกล่าว ในวันที่ 27 พ.ค.2567 โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วม โดยคณะทำงานดังกล่าวมีผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาเป็นประธาน และคณะทำงานให้มีสัดส่วนของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดจำนวนกึ่งหนึ่งของคณะทำงาน หากคณะทำงานพบว่ามีการกระทำความผิดจริง ให้คณะทำงานเป็นผู้เสนอมาตรการในการชดใช้ความเสียหายต่อระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต และทรัพย์สินของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองโดยเร่งด่วน

นอกจากนั้นยังมีการลงนามในข้อตกลงการตั้งคณะทำงานตรวจสอบผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่โปแตซฯ โดยคณะทำงานประกอบด้วย ผู้ว่าฯ จ.นครราชสีมา เป็นหัวหน้าคณะทำงาน โดยมีตัวแทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะทำงาน เช่น ผู้แทนสำนักงานนโยบายแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)  ผู้แทน กพร. อุตสาหกรรมจ.นครราชสีมา ผอ.ทสจ.นครราชสีมา นายแพทย์สาธารณสุขจ.นครราชสีมา เป็นต้น ขณะที่ตัวแทนภาคประชาชน ประกอบด้วย กมล ประณีตพลกรัง จงดี มินขุนทด สุปราณี ทองอุไร บำเพ็ญ ไชยรักษ์ เดือนรุ่ง มูลขุนทด อาภา หวังเกียรติ จุฑามาศ ศรีหัตถผดุงกิจ เป็นต้น โดยมีผอ.กลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรม สำนักงานจ.นครราชสีมา เป็นเลขานุการ และสุธีรา เปงอิน เป็นเลขานุการร่วม

ต่อมาเวลา 22.00น. กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดได้อ่านข้อตกลงที่ทำร่วมกับทางผู้ว่าฯ จ.นครราชสีมา และร้องเพลงร่วมกัน ก่อนประกาศยุติการชุมนุมเพื่อเดินทางกลับไปเตรียมความพร้อมในการต้อนรับผู้ว่าฯ จ.นครราชสีมาที่จะลงพื้นที่ในวันที่ 31 พ.ค.นี้

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net