Skip to main content
sharethis

สถิติของ ILO ชี้ว่าการที่ผู้หญิงรับผิดชอบดูแลเด็กมากกว่าผู้ชาย ทำให้พวกเธอถูกกีดกันใน 'ตลาดแรงงาน' แนะให้ประเทศต่าง ๆ ปรับปรุงการเข้าถึงบริการดูแลเด็กที่เพียงพอ เข้าถึงได้ มีคุณภาพ และราคาย่อมเยา รวมทั้งให้การลางานที่ได้รับค่าจ้างแก่พ่อแม่ที่มีลูกเล็ก


ที่มาภาพ: ILO

ครอบครัวเป็นหน่วยพื้นฐานที่สำคัญของสังคม โครงสร้างและรูปแบบของครอบครัวมีอิทธิพลอย่างมากต่อบทบาทและการตัดสินใจในการทำงานของสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงและผู้ชาย

เมื่อเดือน พ.ค. 2023 องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้เผยแพร่ชุดข้อมูลจากการสำรวจโครงสร้างของครอบครัวที่ส่งผลต่อการเข้าร่วมในตลาดแรงงานของผู้หญิงและผู้ชาย

ตลอดชีวิตของผู้คน อาจมีการเข้าหรือออกจากตลาดแรงงาน แต่โดยรวมแล้ว ผู้ใหญ่ในวัยทำงานหลัก คือ ผู้ที่มีอายุระหว่าง 25-54 ปี เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มเข้าร่วมในตลาดแรงงานมากที่สุด หลายคนในกลุ่มนี้ต้องเป็นที่พึ่งพาให้กับเด็ก ญาติ ผู้สูงอายุ หรือบุคคลที่มีความพิการ ซึ่งต้องการการดูแลและสนับสนุน รวมถึงการสนับสนุนทางการเงิน โดยในรายงานชิ้นนี้จะมุ่งเน้นไปที่ผู้ใหญ่ในกลุ่มอายุนี้

ทั่วโลก 34% ของผู้ใหญ่ในวัยทำงานหลักมีลูกที่อายุต่ำกว่า 6 ปี อย่างน้อย 1 คน ในกลุ่มนี้ 53.4% อาศัยอยู่ในครอบครัวคู่สมรส 43.2% อาศัยอยู่ในครอบครัวขยาย และ 3.4% อาศัยอยู่ในครอบครัวพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว) สำหรับผู้ที่มีลูกเล็ก ครอบครัวคู่สมรสเป็นรูปแบบที่พบบ่อยที่สุดในทุกกลุ่มรายได้ของประเทศ ยกเว้นในประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง ที่ครอบครัวขยายพบมากกว่าครอบครัวคู่สมรสเล็กน้อย

ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา อัตราการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานทั่วโลกของผู้ที่มีอายุ 25-54 ปี ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม เมื่อแยกตามเพศจะพบแนวโน้มที่แตกต่างกัน ซึ่งชี้ให้เห็นถึงช่องว่างที่มีอยู่ต่อเนื่องและมีความสำคัญระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย ตั้งแต่ปี 2004 สัดส่วนผู้หญิงที่มีส่วนร่วมในตลาดแรงงานเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยในปี 2023 ผู้หญิงที่มีอายุ 25-54 ปี มีส่วนร่วมในตลาดแรงงานเพียง 64.5% (เพิ่มขึ้นจากปี 2004 เพียง 1.1%) ขณะที่ผู้ชายอายุ 25-54 ปี มีส่วนร่วมถึง 92% (ลดลงจากปี 2004 เพียง 1.1%) ทำให้ช่องว่างระหว่างเพศในตลาดแรงงานของผู้ที่มีอายุ 25-54 ปี ทั่วโลกอยู่ที่ 27.5% ในปี 2023

ช่องว่างการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานนี้แตกต่างกันอย่างไรตามประเภทของครอบครัว

การวิเคราะห์ข้อมูลจากการประเมินแบบจำลองของ ILO (ILOEST) เผยให้เห็นว่าองค์ประกอบของครัวเรือนมีอิทธิพลอย่างมากต่อช่องว่างระหว่างเพศ โดยเฉพาะเมื่อมีเด็กเข้ามาเกี่ยวข้อง การมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานของผู้หญิงได้รับอิทธิพลจากการมีลูกเล็กมากกว่าผู้ชาย มีงานวิจัยของ ILO ในปี 2018 ชี้ให้เห็นว่าความรับผิดชอบในการดูแลเด็กมักตกเป็นภาระของผู้หญิงเนื่องจากบรรทัดฐานทางเพศ โดยผู้ชายมักถูกมองว่าต้องเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว ข้อมูลนี้เพิ่มเติมจากงานวิจัยชิ้นอื่นที่พบว่าผู้หญิงที่มีลูกอายุน้อยกว่า 6 ปี ในครอบครัวคู่สมรสและครอบครัวขยายมีอัตราการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ตรงกันข้ามกับแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีลูกเล็ก ซึ่งเผชิญกับความท้าทายเฉพาะที่มักบังคับให้พวกเธอต้องมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานมากขึ้น

ในเชิงตัวเลข การมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานของผู้หญิงที่มีลูกเล็กในครอบครัวคู่สมรสและครอบครัวขยายลดลง 12% และ 14% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ไม่มีบุตรเล็ก ในขณะที่อัตราการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานของผู้ชายที่สูงอยู่แล้วมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเมื่อมีลูกเล็ก โดยเพิ่มขึ้น 3% ในครอบครัวคู่สมรส และลดลง 0.6% ในครอบครัวขยายเมื่อเทียบกับผู้ชายที่ไม่มีลูกเล็ก

จากรูปแบบทางเพศที่แตกต่างนี้ ช่องว่างระหว่างเพศในครอบครัวคู่สมรสและครอบครัวขยายที่มีลูกเล็ก สูงเกือบ 2 ใน 3 เมื่อเทียบกับบุคคลที่ไม่มีลูกเล็ก ช่องว่างระหว่างเพศของการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานนั้นน่าตกใจ โดยมีถึง 38% ในครอบครัวคู่สมรส และ 36% ในครอบครัวขยายที่มีลูกเล็ก เปรียบเทียบกับช่องว่างระหว่างเพศสำหรับบุคคลที่ไม่มีลูกเล็กนั้นมีเพียง 23%

ช่องว่างระหว่างเพศในตลาดแรงงานยังคงคล้ายคลึงกัน

ทั่วโลก ช่องว่างระหว่างเพศในตลาดแรงงานยังคงคล้ายคลึงกันระหว่างผู้ที่อาศัยอยู่ในครอบครัวคู่สมรสและครอบครัวขยาย อย่างไรก็ตาม พลวัตของการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานของผู้หญิงแตกต่างกันอย่างมากในกลุ่มรายได้ต่าง ๆ ในโครงสร้างครัวเรือนเหล่านี้ อาจคาดการณ์ได้ว่าการอาศัยอยู่กับครอบครัวขยายอาจช่วยลดภาระการดูแลเด็กของแม่ ซึ่งอาจทำให้การเข้าร่วมในตลาดแรงงานเพิ่มขึ้น แต่ในประเทศทั้งกลุ่มที่มีรายได้สูงและรายได้ต่ำ แนวโน้มตรงข้ามกลับเกิดขึ้น ผู้หญิงในครอบครัวขยายที่มีลูกเล็กมีสัดส่วนในตลาดแรงงานที่ต่ำกว่าผู้ที่อยู่ในครอบครัวคู่สมรส ดังนั้นจึงไม่สามารถกล่าวได้โดยทั่วไปว่าครอบครัวแบบใดที่จะเอื้อต่อการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานของผู้หญิงมากกว่ากัน สิ่งนี้อาจสืบเนื่องมาจากลักษณะของครัวเรือน เช่น ความมั่งคั่ง ระดับการศึกษา บรรทัดฐานทางวัฒนธรรม และจำนวนบุตร อาจมีอิทธิพลแตกต่างกันต่อการตัดสินใจของโครงสร้างครัวเรือนในแต่ละประเทศ

พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว โดยเฉพาะแม่เลี้ยงเดี่ยว เผชิญกับความท้าทายในการปรับสมดุลระหว่างการทำงานและความรับผิดชอบในการดูแลเด็ก สำหรับพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวหลายคน พวกเขาเป็นผู้หาเลี้ยงตนเองและลูกแต่เพียงผู้เดียว ความจำเป็นทางการเงินนี้มักบังคับให้แม่เลี้ยงเดี่ยวต้องเบี่ยงเบนจากบรรทัดฐานทางเพศแบบดั้งเดิม ทั่วโลก การมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานของแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีลูกเล็กอยู่ที่ 71% สูงกว่าผู้หญิงที่ไม่มีลูกเล็กอยู่ 3% ความรับผิดชอบทางการเงินนี้ผลักดันให้สัดส่วนการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานของแม่เลี้ยงเดี่ยวสูงขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่ำและต่ำกว่าปานกลางมากกว่าผู้หญิงที่ไม่มีลูกเล็ก (17% และ 10% ตามลำดับ) และมีอัตราใกล้เคียงกันในประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง สิ่งนี้ทำให้ช่องว่างระหว่างเพศเพศในตลาดแรงงานของพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวแคบลง โดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้ต่ำ ช่องว่างระหว่างเพศเมื่อเทียบกับพ่อเลี้ยงเดี่ยวอยู่ที่เพียง 4% เท่านั้น

ทำอย่างไรจึงจะลดช่องว่างระหว่างเพศในตลาดแรงงาน

ความแตกต่างของช่องว่างระหว่างเพศในตลาดแรงงานที่เห็นในกลุ่มรายได้และประเภทครอบครัวต่าง ๆ มีจุดเน้น 2 ประการสำคัญ คือ ประการแรก ช่องว่างระหว่างเพศขยายกว้างขึ้นเมื่อมีลูกเล็กในครอบครัวคู่สมรสและครอบครัวขยายในทุกกลุ่มรายได้ ประการที่สอง แม้ว่าการมีลูกเล็กและความรับผิดชอบในการดูแลที่เกี่ยวข้อง ดูเหมือนจะอธิบายส่วนสำคัญของช่องว่างระหว่างเพศในประเทศที่มีรายได้สูง ปานกลางระดับสูง และต่ำ แต่ก็ไม่ได้อธิบายทั้งหมด ในขณะที่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำกว่าปานกลาง การมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานของผู้หญิงที่ไม่มีลูกเล็กยังคงต่ำมาก และช่องว่างระหว่างเพศก็สูงอย่างยิ่ง สิ่งนี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของปัจจัยอื่น ๆ นอกจากความรับผิดชอบในการดูแลเด็กที่ทำให้การมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานของผู้หญิงต่ำ เช่น บรรทัดฐานทางเพศที่เข้มงวด ความรับผิดชอบในการดูแลอื่น ๆ ที่ไม่ได้รับค่าจ้าง นโยบายการทำงานที่มีการเลือกปฏิบัติ และการเข้าถึงการศึกษา การฝึกอบรม และงานที่จำกัด

มีช่องว่างระหว่างเพศที่สำคัญซึ่งเด่นชัดเป็นพิเศษเมื่อพิจารณาจากการมีลูกเล็ก ในทุกกลุ่มรายได้ ผู้หญิงต้องแบกรับภาระในการดูแลเด็กมากเกินไป แม่ที่มีลูกเล็กในครอบครัวคู่สมรสและครอบครัวขยายลดการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับผู้หญิงในครัวเรือนที่ไม่มีลูกเล็ก ในทางตรงกันข้าม สัดส่วนของแรงงานผู้ชายที่สูงอยู่แล้วมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเมื่อมีลูกเล็ก

เพื่อการลดช่องว่างระหว่างเพศในตลาดแรงงานของครอบครัวที่มีลูกเล็ก ประเทศต่าง ๆ สามารถปรับปรุงการเข้าถึงบริการดูแลเด็กที่เพียงพอ เข้าถึงได้ มีคุณภาพ และราคาย่อมเยา รวมทั้งให้การลางานที่ได้รับค่าจ้างแก่พ่อแม่ที่มีลูกเล็ก นอกจากนี้ควรมีการดำเนินนโยบายที่ครอบคลุมขึ้น เช่น ส่งเสริมทางเลือกในการทำงานที่ยืดหยุ่น ให้บริการดูแลอื่น ๆ (เช่น บริการดูแลระยะยาว) ลงทุนในด้านการศึกษาและการฝึกอบรมสำหรับผู้หญิงและผู้ชาย รับรองการจ่ายค่าจ้างที่เท่าเทียม และจัดการกับการเลือกปฏิบัติทางเพศทั้งในและนอกสถานที่ทำงาน ส่วนในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ การลงทุนในบริการสาธารณะ (และแรงงานที่เกี่ยวข้อง) รวมถึงโครงสร้างพื้นฐาน เช่น น้ำและสุขาภิบาล พลังงานสะอาด ที่อยู่อาศัยและการขนส่งที่มีคุณภาพดี สามารถปรับปรุงสุขภาพ ความเป็นอยู่ และโอกาสในการทำงานของผู้หญิงในครัวเรือนที่ถูกกีดกันมากที่สุด.


ที่มา:
Women with young children have much lower labour force participation rates (Paloma Carrillo, ILOSTAT, 14 May 2024) 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net