Skip to main content
sharethis

ภาคประชาสังคม และชุมชนชาวโรฮีนจาในประเทศไทย แถลงขอให้ยุติการสังหารและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจาที่อาศัยในประเทศเมียนมา ทันที และขอนานาชาติเข้าแทรกแซงและคุ้มครองชาวโรฮีนจาผู้รอดชีวิต หลังจากเมื่อ พ.ค. 2567 สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมทางตอนเหนือรัฐยะไข่เลวร้ายลง กองกำลัง AA มีเอี่ยวกับการสังหาร และวางเพลิงเผาบ้านเรือนชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่

 

17 มิ.ย. 2567 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า กลุ่มชุมชนชาวโรฮีนจาในประเทศไทย และกลุ่ม Rohinya Unity Group ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ถึงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของชาวโรฮีนจาที่อาศัยในทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ หลังช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา พวกเขาตกเป็นเป้าหมายความรุนแรง ความโหดร้าย และแผนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ จากกองกำลังอาระกัน (AA) และรวมถึงกองทัพพม่า

ย้อนไปเมื่อปี 2540 ชาวโรฮีนจาตกเป็นเป้าหมายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยกองทัพพม่า ทำให้ชาวโรฮีนจาหลายแสนคนต้องอพยพหนีออกจากประเทศเมียนมา แต่ปัจจุบัน หลังสถานการณ์การสู้รบไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ชาวโรฮีนจา ผู้นับถือศาสนาอิสลาม กำลังตกเป็นเป้าหมายความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสังหารชีวิต ข่มขืน วางเพลิงเผาบ้านเรือน ปล้นสะดม และอื่นๆ ซึ่งทั้งหมดนี้กระทำโดยฝ่ายต่อต้านกองทัพพม่า ‘อาระกันอาร์มี’ หรือ กองทัพอาระกัน (AA) ทำให้ชาวโรฮีนจาหลายคนกังวลว่า จะมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์พวกเขาขึ้นมาอีกครั้ง

หลายคนอาจคุ้นชื่อนี้ เพราะเมื่อปลายปีที่แล้ว AA เป็นหนึ่งในกองทัพที่เป็นพันธมิตรร่วมกับกองกำลังปะหล่อง (TNLA) และโกก้าง (MNDAA) ในนามกองกำลังพันธมิตรสามพี่น้อง (Three Brotherhood Alliance) ในการสนธิกำลังโจมตีค่ายกองทัพพม่าในทางตอนเหนือของรัฐฉาน ในชื่อปฏิบัติการ 1027 เพราะว่าปฏิบัติการเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2566

ทั้งนี้ ชาวโรฮีนจาเคยตกเป็นเป้าหมายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เมื่อปี 2560 โดยชาวโรฮีนจากว่า 750,000 คนต้องอพยพออกจากประเทศเมียนมาไปที่บังคลาเทศ  หลังเมื่อ 25 เม.ย. 2560 กองทัพพม่า หรือทัตมาดอ เริ่มปฏิบัติการโจมตีอันโหดร้ายต่อชาวมุสลิม ชาติพันธุ์โรฮีนจา ในรัฐยะไข่ และมีการเผาหมู่บ้านที่ชาวโรฮีนจาอาศัยอยู่ทั่วภูมิภาค ‘มองดอ’ (Muangdaw) หลังมีข่าวว่ากองกำลังโรฮีนจาโจมตีค่ายกองทัพพม่า

แถลงการณ์ของภาคประชาสังคมโรฮีนจา ระบุถึงเหตุการณ์เมื่อ 17 พ.ค. 2567 ชาวโรฮีนจาไตกเป็นเป้าหมายของการถูกโจมตี สังหาร และถูกวางเพลิงเผาบ้านเรือน โดยกองกำลัง AA ซึ่งสมาชิกนับถือศาสนาพุทธ ได้บังคับชาวโรฮีนจาให้อพยพออกจากพื้นที่ มีการสังหารพลเรือนชาวโรฮีนจาหลายร้อยคน ขณะที่หลายพันคนได้รับบาดเจ็บและสูญหาย มีการวางเพลิงเผาบ้านเรือนและธุรกิจของชาวโรฮีนจากว่า 8,000 หลังคาเรือน ขณะที่ประชาชนโรฮีนจากว่า 2 แสนคนไม่สามารถลี้ภัยได้ เนื่องจากถนนและทางเดินถูกสกัดกั้นโดยกองทัพพม่า ซึ่งผลักดันให้ชาวโรฮีนจาอยู่ในพื้นที่ของ AA นอกจากนี้ ภาคประชาสังคมยืนยันว่า พวกเขามีแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือที่ยืนยันว่าการกระทำทั้งหมดนี้มาจากกองกำลัง AA

แถลงการณ์ของภาคประชาชนโรฮีนจา ระบุถึงสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมของชาวโรฮีนจา ปัจจุบัน มีประชากรชาวโรฮีนจาอาศัยอยู่ในเขตอิทธิพลของ AA อยู่ราว 5 แสนราย และอยู่ในความเสี่ยงของการตกเป็นเหยื่อประหัตประหาร นอกจากนี้ ชาวโรฮีนจากำลังเผชิญภาวะขาดแคลนอาหารและน้ำ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางอย่างเด็กและสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ ขณะที่ผู้ได้รับบาดเจ็บจากการโจมตียังเข้าไม่ถึงการรักษา อีกทั้ง เสียงระเบิด และการยิงปืนใหญ่อย่างต่อเนื่อง ยังส่งผลกระทบทางด้านจิตใจต่อชาวโรฮีนจาอย่างมาก พวกเขาเหล่านี้ยังเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือทั้งภาคประชาสังคมในและต่างประเทศ โดยทางภาคประชาสังคมของโรฮีนจามีข้อเรียกร้องขอให้สภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติมีมาตรการเรียกประชุมโดยเร่งด่วนเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร็ว

นอกจากปัญหาข้างต้น ทางแถลงการณ์ยังระบุถึงการบังคับชาวโรฮีนจาเข้ารับการเกณฑ์ทหารทั้งในกองทัพ AA และกองทัพพม่า โดยชาวโรฮีนจาจะได้รับการศึกทหารเพียงเล็กน้อย และจะถูกผลักให้ลงไปในสนามรบเพื่อใช้เสมือนโล่ห์มนุษย์ นอกจากนี้ มีเหตุให้เชื่อได้ว่ามีการวางแผนโจมตีหมู่บ้านชาวโรฮีนจา ก่อนขยายไปสู่การทำลาย ปล้นสะดม และความโหดร้ายในรูปแบบอื่นๆ เช่น การลักพาตัว ทรมาน ข่มขืน และบังคับให้ย้ายถิ่นฐาน ซึ่งชาวโรฮีนจาหลายพันคนไม่มีที่ให้ไป ประชาคมโลกต้องไม่เมินเฉยต่อความเลวร้ายที่เกิดขึ้นต่อผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมที่เกิดขึ้นต่อชาวโรฮีนจา ไม่ว่าจะกระทำโดยกองทัพพม่า หรือกองทัพอาระกัน ยังไม่ได้รับการรายงานโดยสื่อมวลชนเท่าที่ควร

แถลงการณ์ ระบุทิ้งท้ายว่า กลุ่มภาคประชาสังคมชาวโรฮีนจา กลุ่ม Rohinya Unity Group และชุมชนชาวโรฮีนจาในประเทศไทย จึงนำเสนอข้อมูลส่วนนี้ เพื่อเรียกร้องยุติความรุนแรง และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ชาวโรฮีนจา ทางตอนเหนือ รัฐยะไข่โดยทันที พร้อมเรียกร้องให้นานาชาติเข้าคุ้มครอง และช่วยเหลือผู้รอดชีวิต

รายละเอียดแถลงการณ์

ชาวโรฮีนจา ผู้นับถือศาสนาอิสลามจากรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา ต้องอดทนอดกลั้นต่อการถูกประหัตประหารและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ภายในประเทศที่ส่วนใหญ่ศาสนาพุทธมีอิทธิพลเหนือกว่าศาสนาอื่นๆ ชาวโรฮีนจาถูกบังคับและขับไล่จนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในเรื่อยมา การอพยพครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ปี 2540 ประชาชนชาวโรฮีนจาหลายล้านคนอพยพออกมาจากเมียนมา เพราะกองทัพพม่าพยายามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่ช่วงที่ผ่านมาความโหดร้ายที่เกิดกับชาวโรฮีนจาทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นจากกองทัพที่ต่อต้านกองทัพพม่าอย่างกองกำลังอาระกัน (AA) ชาวโรฮีนจาในฝั่งตะวันตกของประเทศเมียนมาอยู่ในความเสี่ยงต่อการถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ สภาสิทธิมนุษยชนและความมั่นคงแห่งสหประชาชาติต้องแก้ไขความเสี่ยงและเหตุฉุกเฉินด้านสิทธิมนุษยชนที่กำลังเลวร้ายลงในทางตอนเหนือของรัฐยะไข่โดยการเรียกประชุมสมัยพิเศษ กองกำลัง AA ซึ่งสมาชิกประกอบไปด้วยชาวพุทธที่ต่อต้านกองทัพพม่ามาตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา แต่อย่างไรก็ตาม อคติอันสุดโต่งและรุนแรงของกลุ่ม AA ต่อชาวโรฮีนจา ได้นำไปสู่ความรุนแรง การประหัตประหาร และกระฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

เมื่อ 17 พ.ค. 2567 AA ใช้กำลังขับไล่ประชาชนทั้งหมดในเมืองบูติดอง (Buthidaung) ซึ่งพื้นฐานแล้ว เป็นเขตที่ประชาชนชาวโรฮีนจาอาศัย ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ ชาวโรฮีนจาหลายครอบครัวถูกขับไล่โดยไม่มีทรัพย์สินติดตัว เว้นแต่เสื้อผ้าที่แบกไว้บนแผ่นหลัง ขณะที่บ้านของพวกเขาถูกปล้นสะดม โรฮีนจาตกเป็นเป้าหมายการร่วมมือกันสังหาร การวางเพลิงแบบเต็มรูปแบบ และการยิงปืนใหญ่ ซึ่งเริ่มตั้งแต่เมื่อเวลา 9.30 น. บ้านเรือนและธุรกิจของชาวโรฮีนจามากกว่า 8,000 หลังถูกเผาทำลาย มีการสังหารประชาชนหลายร้อยคน และอีกหลายพันคนได้รับบาดเจ็บและสูญหาย ชาวโรฮีนจามากกว่า 2 แสนรายต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในภายในเมืองบูติดอง ไม่สามารถแสวงหาการลี้ภัยหรือหลบหนี เนื่องจากกองกำลัง AA และกองทัพพม่า (ทัตมาตอ) มีการบล็อกถนนและเส้นทางเดิน และมีการผลักดันให้ชาวโรฮีนจากลับไปในพื้นที่อิทธิพลของกองกำลัง AA แหล่งข่าวที่น่าเชื่อถืออ้างว่าสมาชิกกองทัพอาระกันเป็นผู้ก่อการโจมตีเหล่านี้ สภาสิทธิมนุษยชนต้องเรียกประชุมสมัยพิเศษฉุกเฉิน เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ครั้งนี้ เพราะมีเด็กหลายร้อยคนกำลังร้องไห้เพราะขาดแคลนน้ำ อาหาร และที่หลบภัย ขณะที่ผู้บาดเจ็บอีกมากกำลังทรมานจากการเข้าไม่ถึงการรักษาเพราะการโจมตีของกลุ่ม AA หญิงตั้งครรภ์ขาดอาหารที่มีโภชนาการ และประชาชนอีกหลายคนโดยเฉพาะเด็กได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจอย่างหนักหน่วงจากปฏิบัติการทิ้งระเบิด และการระเบิดอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีองค์กรภาคประชาสังคม และภาคประชาสังคมสากล ให้ความช่วยเหลือผู้พลัดถิ่น การสื่อสารด้านอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดถูกปิดกั้นตั้งแต่มีการเริ่มโจมตีชาวโรฮีนจา ชาวโรฮีนจาไม่มีใครที่จะช่วยแบ่งปันความเจ็บปวด และคอยปลอบประโลมพวกเขา

กองทัพอาร์กัน ซึ่งมีจุดยืนต่อต้านกองทัพพม่าตั้งแต่หลังจากการทำรัฐประหารเมื่อ ก.พ. 2564 อย่างไรก็ตาม ตอนนี้พวกเขาหันปากกระบอกปืนเข้าใส่ชาวโรฮีนจาที่ไม่สามารถป้องกันตัวเองได้ เพื่อทำให้ภารกิจฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจา ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2559-2560 สำเร็จลุล่วง กองทัพพม่ากำลังก่ออาชญากรรมสงคราม ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่อชาวโรฮีนจาทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ เหตุการณ์เหล่านี้กำลังถูกสอบสวนจากศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) และกำลังอยู่ในขั้นตอนทางพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ภายใต้ความผิดอนุสัญญาฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยเมื่อเดือน ม.ค. 2563 ICJ ออกคำตัดสินชั่วคราว เนื่องจากพบว่ามีความเสี่ยงของการคุกคามที่ไม่อาจแก้ไขได้ในอนาคตต่อสิทธิของชาวโรฮีนจาในเมียนมาที่จะได้รับความคุ้มครองจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกัน ระหว่างการรอคำพิพากษา ได้มีการระบุถึงมาตรการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองสิทธิเหล่านั้น 4 ปี กับอีก 6 เดือนต่อมา ชาวโรฮีนจาทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา ยังคงตกเป็นเหยื่อของการประหัตประหารและการถูกปฏิเสธสิทธิของพวกเขา และพวกเขายังมีความเสี่ยงจากการถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ความรุนแรงในรัฐยะไข่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งจากกองทัพพม่า และกองกำลัง AA ซึ่งใช้กำลังบังคับเกณฑ์ทหารชาวโรฮีนจา ใช้พวกเขาเป็นเหมือนโล่ห์มนุษย์แม้ว่าพวกเขาจะได้รับการฝึกทหารเพียงเล็กน้อยเท่านั้น การสู้รบอย่างมียุทธศาสตร์พุ่งเป้าไปที่หมู่บ้านของชาวโรฮีนจา ก่อนนำมาสู่การทำลายล้าง การปล้นสะดม และความโหดร้ายรูปแบบอื่นๆ เช่น การลักพาตัว การทรมาน การข่มขืน และการบังคับให้ย้ายถิ่นฐาน ชาวโรฮีนจาหลายพันคนไม่มีที่ให้ไป ประชาคมโลกต้องไม่เมินเฉยต่อความเลวร้ายที่เกิดขึ้นต่อผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมที่เกิดขึ้นต่อชาวโรฮีนจาจากกระทำโดยกองทัพพม่า และกองทัพอาระกัน ยังไม่ได้รับการรายงานโดยสื่อมวลชน

การวิสามัญฆาตกรรมเกิดขึ้นเมื่อพลเรือนพยายามหลบหนีลูกหลงจากการยิงปะทะกัน ชาวโรฮีนจากลัวว่าจะมีแผนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นอีกครั้งจากนโยบายอพยพครั้งใหม่ของ AA มีชาวโรฮีนจามากกว่า 5 แสนคนอาศัยในพื้นที่อิทธิพลของกองกำลัง AA พวกเขากำลังเผชิญกับวิกฤตขาดแคลนอาหาร และน้ำ การอพยพครั้งถัดมามีการปล้นสะดมและทำลายบ้านเรือนของชาวโรฮีนจามากขึ้น การอพยพ การวางเพลิง และทำลายครั้งนี้มีความตั้งใจ เพราะว่าพื้นที่ความขัดแย้งอยู่ห่างออกไปถึงประมาณ 5 กิโลเมตร

ในการนี้ พวกเราองค์กรชาวโรฮีนจาที่ไม่ได้รับการจดจัดตั้ง และชุมชนชาวโรฮีนจาในประเทศไทย นำเสนอข้อมูลนี้ เพื่อเรียกร้องให้มีการยุติการนองเลือดและการกระทำฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่อชาวโรฮีนจาโดยทันที และขอเรียกร้องต่อประชาคมโลกให้เข้ามาแทรกแซง และคุ้มครองผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจาในเมืองบูติดอง มองดอ และอื่นๆ

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net